การละกิเลส
ว่าในด้านภาวนา กายนี้มี ซ้อนกันเป็นชั้นๆ มีกายทิพย์ ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ กายรูปพรหม ซ้อนอยู่ในกายทิพย์ กายอรูปพรหม ซ้อนอยู่ในกายรูปพรหมกายธรรม ซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม คนเราที่ว่าตายนั้นคือ กายทิพย์กับกาย มนุษย์หลุดพรากออกจากกัน เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือก ฉะนั้น กายทิพย์ก็หยุดพรากจากกายมนุษย์ไป
การละกิเลสของพระองค์หลุดไปเป็นชั้นๆ ตั้งแต่กิเลสในกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหมเป็นลำดับไป
กิเลสในกายมนุษย์ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ
กิเลสในกายทิพย์ คือ โลภะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายรูปพรหม คือ ราคะ โทสะ โมหะ
กิเลสในกายอรูปพรหม คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย
ต่อแต่นี้ไปจึงชักเข้าถึงกายหนึ่ง คือกายธรรม หรือเรียกว่า ธรรมกาย เข้าชั้นโคตรภูจิต เรียกว่า โคตรภูบุคคล
โคตรภูบุคคลนี้เดินสมาบัติ เพ่งอริยสัจ ๔ เป็นอนุโลมปฏิโลม จนหลุดพ้นจากกิเลสพวกสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส แล้วตกศูนย์วับกลับ เป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่าพระโสดาบันละกิเลสได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาสีลัพพตปรามาส
แล้วกายโสดาบันนี้เดินสมาบัติเพ่งอริยสัจ ๔ เป็นอนุโลมปฏิโลมต่อ ไปถึงขีดสุด ละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะ พยาบาท ขั้นหยาบ จึงเลื่อนชั้น ขึ้นเป็นพระสกทาคามี
กายพระสกทาคามี เดินสมาบัติเพ่งอริยสัจ ๔ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถึงขีดสุดละกิเลสได้อีก ๒ คือกามราคะ พยาบาท ขั้นละเอียดจึงเลื่อนชั้น เป็นพระอนาคามี
แล้วกายพระอนาคามีเดินสมาบัติเพ่งอริยสัจ ๔ ทำนองเดียวกันนั้นต่อไป ถึงขีดสุดละกิเลสได้อีก ๕ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จึงเลื่อนขึ้นจากพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ จิตของพระองค์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากกิเลสทั้งมวล จึงได้พระเนมิตกนามว่า อรหํ
จากพระธรรมเทศนาเรื่อง
"พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ"