หลักการเจริญภาวนา สมถวิปัสสนากรรมฐาน

วันที่ 29 มิย. พ.ศ.2560

หลักการเจริญภาวนา สมถวิปัสสนากรรมฐาน

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,   สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , หลักการเจริญภาวนา สมถวิปัสสนากรรมฐาน

 

               พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทั้งอดีตปัจจุบัน อนาคต ล้วนทรงสอนให้สัตว์โลก

  • ละชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ
  • ทำความดี ด้วยกาย วาจา ใจ
  • ทำใจให้ผ่องใส

              การที่จะทำใจของตนให้ดีตามนี้ได้มีหลักคือสมถวิปัสสนา อันเป็นวิชชาสำคัญในพระพุทธศาสนา ตามพระบาลีว่า

              เทฺว เม ภิกฺขเว วิชฺชาภาคิยา ฯ "ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย วิชชามี ๒ อย่าง คือ

             สมถะ คือ ความสงบระงับ วิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้ง

             สมถะ เป็นขึ้นแล้ว ต้องการให้จิตเป็นขึ้น จิตเป็นขึ้น ต้องการให้ความกำหนัดยินดีหมดไป

             วิปัสสนา เป็นขึ้นแล้วต้องการทำให้ปัญญาเป็นขึ้น ปัญญาเป็นขึ้น ต้องการให้ความไม่รู้จริงอันใดที่ อยู่กับจิตใจหมดไป"

              สมถะ เป็นวิชชาต้น แปลว่าสงบระงับใจ

              วิปัสสนา เป็นขั้นสูง แปลว่า เห็นแจ้ง

              "สมถะ  วิปัสสนา ๒ อย่างนี้ เป็นธรรมอันสุขุม ลุ่มลึกในทางพระพุทธศาสนา ผู้พูดได้ศึกษามาตั้งแต่บวชพอบวชออกจากโบสถ์แล้วได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นอีกวัน หนึ่งก็เรียนทีเดียว ไม่ได้หยุดเลย บัดนี้ทั้งเรียนด้วยทั้งสอนด้วยทั้ง ๒ อย่างนี้" สมถะและวิปัสสนามีภูมิแค่ไหน

               สมถะมี ๔๐ ภูมิ คือกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูปฌาน ๔

                วิปัสสนามี ๖ ภูมิ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘  อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทธรรม (เป็นธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น)

                 เริ่มต้นการเรียนภูมิของสมถะ "ต้องทำใจหยุดก่อน" ตรงตามความหมายว่าสงบนิ่ง

                 ใจ ประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ รวมกันเป็นจุดเดียว อยู่ที่เบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ

ความเห็น อยู่ที่ท่ามกลางกาย

ความจำ อยู่ที่ท่ามกลางเนื้อหัวใจ

ความคิด อยู่ที่ท่ามกลางดวงจิต

ความรู้ อยู่ที่ท่ามกลางดวงวิญญาณ

                  ใจเป็นของลึกซึ้ง เวลาเรานั่งอยู่ที่นี่ ใจสอดไปถึงบ้าน นรก สวรรค์ นิพพานก็ได้ ถ้าว่ารู้แคบ ก็สอดไปได้แคบ รู้กว้างสอดไปได้กว้าง ถ้ารู้ละเอียดหรือหยาบก็สอดไปได้ แล้วแต่ความรู้ความเห็น ของมัน

                   เราต้องรวมใจ ให้เห็น จำ คิด รู้ หยุดเป็นจุดเดียวที่กลางกายมนุษย์ ตรงตำแหน่งสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กข้างใน ที่ขึงด้าย ตัดกันเหนือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนั้นเป็นที่ตั้งดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไข่ไก่

                   ที่สอนให้เอาพระของขวัญไปจรดที่กลางดวงนั้น ที่เขาบอกว่า ตั้งใจจะทำบุญทำกุศล เราจะรักษา ศีลเจริญภาวนา ต้องเอาใจหยุด ตรงกลางนั้น เมื่อเอาใจหยุดได้ ใช้สัญญาจำให้มั่นหยุดนิ่งบังคับเชียว ถ้าไม่นิ่งใช้บริกรรมภาวนาบังคับไว้

                   "พอใจหยุดเท่านั้นถูกตัวสมถะแล้ว หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะ หยุดนั้นเอง เป็นตัวสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมสำเร็จหมด โลกจะได้รับความสุขใจ ต้องหยุดตามส่วนของโลกธรรมจะได้รับความสุข ต้องหยุดตามส่วนของธรรม"

                  ท่านได้แนะนำไว้ตามวาระพระบาลีว่า

                  "นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี"

                   หยุดนั้นเป็นตัวสำคัญ เมื่อใจหยุด เราก็ต้องหยุดในหยุด หยุดในหยุดอยู่นั่นเอง ไม่มีถอยหลังกลับ และใจที่หยุดต้องถูกกลาง จึงจะถูกสิบ พอถูกสิบก็จะเข้าถึงศูนย์ ดังโบราณว่า

                    "เห็นสิบแล้วเห็นศูนย์ เป็นเค้ามูล สืบกันมา เที่ยงแท้แน่นักหนา ตั้งอนิจจาเป็นอาจิณ จุติแล้ว ปฏิสนธิ ย่อมเวียนวนอยู่ทั้งสิ้นสังขาราไม่ยืนยิน ราคีสิ้นเป็นตัวมา"

โลกกับธรรมอาศัยกัน

                     ทางโลกสัตว์โลกมาเกิดในโลกได้ ต้องอาศัยสิบแล้วตกศูนย์

                     ทางธรรม ไปนิพพานก็ต้องอาศัยสิบศูนย์ เข้าสิบ คือใจหยุดแล้วเห็น "ศูนย์" คือ เห็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ผุดขึ้น เรียก "ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน" (ดวงปฐมมรรค) เป็นหนทางเบื้องต้นทางเดียวของมรรคผลนิพพาน จึงเรียกอีกชื่อว่า "เอกายนมรรค" แปลว่า หนทางเอกไม่มีสอง

                     พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ จะเข้าสู่นิพพาน ไปทางนี้ทางเดียวไม่ ซ้ำกัน ไม่มีทางแยก แต่ว่า การไปบางท่านเร็ว บางท่านช้า ถึงได้ชื่อว่าไม่ ซ้ำกัน แล้วแต่นิสัยวาสนาที่สั่งสมอบรมไว้

                     หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดถูกส่วนเป็นดวงใสหรือดวงปฐมมรรค หยุดในหยุด กลางของหยุดเข้าไปเรื่อยๆ จะเป็นดวงเป็นลำดับ อีก ๕ ดวง คือ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

                      อาศัยการเข้ากลางดวงต่างๆ ๖ ดวง ดังกล่าวจะเข้าถึง ๑๘  กาย ดังต่อไปนี้

๑) กายมนุษย์

๒) กายมนุษย์ละเอียด (เป็นกายฝัน ที่เรามักเห็นเวลาหลับ)

๓) กายทิพย์

๔) กายทิพย์ละเอียด

๕) กายรูปพรหม

๖) กายรูปพรหมละเอียด

๗ ) กายอรูปพรหม

๘ ) กายอรูปพรหมละเอียด (ถึงแค่กายนี้ เป็นขั้นสมถะ)

 ๙ ) กายธรรม

๑๐) กายธรรมละเอียด

๑๑) กายธรรมพระโสดา

๑๒) กายธรรมพระโสดาละเอียด

๑๓) กายธรรมพระสกิทาคา

๑๔) กายธรรมพระสกิทาคาละเอียด

๑๕) กายธรรมพระอนาคา

๑๖) กายธรรมพระอนาคาละเอียด

๑๗ ) กายธรรมพระอรหัต

๑๘ ) กายธรรมพระอรหัตละเอียด

                   กายธรรม เป็นรูปเหมือนพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกส่องเงาหน้า หน้าตักโตเท่าใด ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายก็เท่ากัน กลมรอบตัว อยู่กลางกายธรรม ธรรมกายเป็นตัว พุทธรัตนะ ดวงธรรมนั้นเป็นธรรมรัตนะ

                   เมื่อถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียดนี้แล้ว หลุดจากกิเลสเสร็จกิจในพระพุทธศาสนาทั้งสมถะและวิปัสสนา

                   "ตั้งแต่กายมนุษย์ถึงกายอรูปพรหมละเอียด แค่นั้นเรียกว่าขั้นสมถะ ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด จนกระทั่งกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด เป็นขั้นวิปัสสนาทั้งนั้น ที่เรามาเรียนสมถวิปัสสนาวันนี้ ต้องเดินแนวนี้ ผิดแนวนี้ไม่ได้ และก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผิดอย่างนี้ไปไม่ได้ ผิดอย่างนี้ไปก็เลอะเหลว"

                    เมื่อเข้าถึงกายใดได้ ก็ยึดกายนั้นเป็นแบบต่อๆ ไป จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมอรหัตละเอียด

                    "จะไปทางนี้ต้องหยุดทางธรรมเริ่มต้นต้องหยุดตั้งแต่ต้นจนกระทั่งพระ อรหัต ถ้าไม่หยุดก็ไปไม่ได้ชัดทีเดียว แปลกไหมล่ะทางโลกเขาต้องไปกัน ปราดเปรียว ว่องไวคล่องแคล่วต้องเล่าเรียนกันมากมาย จนกระทั่งรู้เท่าทันเหลี่ยมคูผู้คนตลอดสาย จึงจะปกครองโลกได้ เจริญรุ่งเรืองได้ แต่ว่าจะไปทางธรรมนี่แปลก หยุดเท่านั้นแหละไปได้ หยุดอย่างเดียวเท่านั้น"

                     หลวงพ่อวัดปากน้ำเล่าเรื่องพระองคุลิมาล เพื่อแสดงให้เห็นว่า คำว่า "หยุด" เป็นคำใน คัมภีร์พระพุทธศาสนา

                     ในสมัยพุทธกาล ณ กรุงสาวัตถี ครอบครัวพราหมณ์ปุโรหิตให้กำเนิดบุตรชาย ตรวจดูรู้ว่าจะกลายเป็นโจรร้าย จึงนำไปทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์เห็นยังเล็กจึงให้เลี้ยงไว้ แล้วให้การศึกษาอย่างดี ตั้งชื่อว่า "อหิงสกกุมาร" แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียนใคร

                     ครั้นโตขึ้นได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เป็นที่รักของอาจารย์มาก ต่อมาอาจารย์ถูกลูกศิษย์ที่เหลือยุยง จนถึงกับหลอกให้อสิงสกกุมารไปตัดนิ้วคนมา ๑,๐๐๐ นิ้วแล้วจึงจะสอนวิชชาเจ้าโลกให้ เพื่อลวงให้อหิงสกกุมารถูกฆ่าตายไปเอง

                    ในวันสุดท้ายที่จะตัดนิ้วครบ ๑,๐๐๐ นิ้ว พระพุทธองค์เสด็จไปโปรด องคุลิมาลเห็นพระพุทธองค์ก็ไล่ฟัน แต่พระองค์ก็ถอยห่างออกไปทุกที องคุลิมาลร้องเรียกให้หยุด พระองค์จึงตรัสว่า "สมณะหยุดแล้ว แต่ท่านไม่หยุด"

                      พุทธองค์ทรงแสดงธรรมจนองคุลิมาลเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และขอบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา เป็นพระอสีติมหาสาวกองค์สุดท้าย คือองค์ที่  ๘๐ ของพระองค์ต่อไป

                     ถ้าไม่หยุด จะปฏิบัติศาสนาสัก ๔๐ - ๕๐ ปี อายุ ๑๐๐ - ๑๓๐ ปี หยุดเข้าสิบเข้าศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ไม่ได้ ก็ไม่ถูกศาสนาสักทีวิธีเจริญภาวนา

                    นั่งคู้บัลลังก์ ขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดหัวแม่มือข้าง ซ้าย ตั้งตัวตรง

                     วิธีทำสมถวิปัสสนา ต้องมี "บริกรรมภาวนา" กับ "บริกรรมนิมิต" คู่กัน

                      ฐานที่ ๑ บริกรรมนิมิต ให้กำหนดเครื่องหมายเป็นดวงใสเหมือนเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่าแก้วตา อย่าให้ใจแว่บไปที่อื่น ผู้หญิงกำหนดเข้าปากช่องจมูก ซ้าย ผู้ชายกำหนดเข้า ปากช่องจมูกขวา บริกรรมภาวนา เพื่อประคองบริกรรมนิมิตนั้นว่า"สัมมาอะระหัง" ตรึกนึกถึงดวงใจ ใจหยุดอยู่กลางดวงใจ

                      ฐานที่ ๒ เลื่อนไปที่เพลาตา หญิงอยู่ ซ้ายชายข้างขวา ตรงหัวตาที่มูลตาออก ตามช่องลม หายใจเข้าออกข้างใน

                      ฐานที่ ๓ เลื่อนจากเพลาตา เข้าไปกลางกักศีรษะข้างในพอดี ต้องกลับตาเข้าไปข้างหลัง ให้ตาค้างเหมือนคนชักจะตาย จนค้างแน่นให้ความเห็นกลับไปข้างหลัง แล้วค่อยๆ ให้เห็นกลับเข้าข้างใน

                     ฐานที่ ๔ เลื่อนไปที่ปากช่องเพดานที่อาหารสำลัก

                     ฐานที่ ๕ เลื่อนไปปากช่องคอ

                     ฐานที่ ๖ เลื่อนไปกลางตัวสุดลมหายใจเข้าออกสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กพอดี

                     ฐานที่ ๗   เหนือกลางตัวขึ้นมา ๒ นิ้วมือ จากฐานที่ ๖ มีศูนย์ ๕ ศูนย์ คือ

ศูนย์กลาง คือ อากาศธาตุ

ศูนย์ข้างหน้า คือธาตุน้ำ

ศูนย์ข้างขวา คือธาตุดิน

ศูนย์ข้างหลัง คือธาตุไฟ

ศูนย์ข้างซ้าย คือธาตุลม

                     เครื่องหมายใสสะอาด ตรงช่องอากาศขาดกลาง ตรงนั้นเรียกว่า ศูนย์ ศูนย์เป็นที่เกิด - ตาย

                     เวลาสัตว์ไปเกิดมาเกิด ก็มาอยู่ในที่สิบ อยู่ในกลางดวงนั้น

                     พ่อแม่ประกอบธาตุธรรมถูกส่วนก็ตกศูนย์ พอตกศูนย์ ก็ลอยขึ้นมาเหนือกลางตัว ๒ นิ้วมือ เป็นดวงกลมใสเท่าฟองไข่แดงของ ไข่ไก่ เรียกว่า "ศูนย์"

                     จะไปนิพพานก็ต้องเข้า "ศูนย์"

                      "จะตายจะเกิดเดินตรงกันข้าม ถ้าจะเกิดก็เดินนอกออกไป ถ้าจะไม่เกิด ก็ต้องเดินในเข้าไป กลางเข้าไว้ หยุดเข้าไว้ ไม่คลาดเคลื่อน... ที่ใจเราวุ่นวายอยู่นี่ มันทำอะไร มันต้องการจะเวียนว่ายตายเกิด ถ้าใจเรานิ่งอยู่ในกลาง นั้นมันจะเลิก เวียนว่ายตายเกิด"

                      เราต้องทำใจหยุดอยู่ที่ "ศูนย์" จนเห็น "ดวงธรรม" กลางของกลางต่อไป จนพบดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

                       "นั่งภาวนาทำใจให้หยุด ให้หยุดสักกระพริบตาเดียวเท่านั้น ที่สร้างโบสถ์ วิหารศาลาการเปรียญสู้ไม่ได้หรอก...พิจารณาความแปรผันของเบญจขันธ์ ร่างกายว่าไม่เที่ยงยักเยื้องแปรผันเป็นของปฏิกูล เท่านี้บุญมากกว่า... ให้เรา แสวงหาเขตบุญในพระพุทธศาสนา ให้มั่นเชียวนะ ให้ใจหยุดเป็นตัวสำคัญ หยุดนี้ เป็นทางมรรคผลนิพพาน พวกให้ทานรักษาศีลยังไกลกว่า หยุดนี้ ใกล้นิพพานนัก"

                        "พอหยุดนิ่งไม่ต้องบริกรรมเพ่งเฉย วางอารมณ์เฉย ให้หยุดอยู่นั่นแหละ อย่า ไปนึกถึงมืด ว่างนะ หยุดนั่นแหละเป็นตัวสำเร็จ ที่บอกแล้วสมณะหยุดๆ พระองค์ให้นัยไว้ว่าสมณะหยุดแล้วท่านไม่หยุด นี่หยุดนี่แหละเพียรตรงนี้ให้ มันได้ตรงนี้ซะก่อน อื่นไม่ต้องไปพูดมากนักใหญ่โตมโหฬาร พูดหยุดตรงนี้ให้ มัน ตกลงกันก่อน ไอ้ที่หยุดอยู่นี่เขาทำกันได้นะ วัดปากน้ำมีตั้ง  ๘๐ กว่า ถ้าไม่หยุด ก็เข้าไปถึงธรรมกายไม่ได้"

                        "เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งทำกับเขาไม่ได้เชียวหรือทำไมจะไม่ได้ทำจริงเข้า ทำไม่จริงต่างหากล่ะมันไม่ได้ จริงละก็ได้ทุกคน จริงแค่ไหน จริงแค่ชีวิตสิ เนื้อ เลือด จะแห้งเหือดหมดไปไม่ว่า เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ถ้าไม่ได้ไม่ลุกจากที่ นี่จริง แค่นี้ได้ทุกคน

                         ฉันเอง ๒ คราว ไม่ได้ตายเถอะ นิ่ง พอถึงกำหนดก็ได้ ไม่ตายสักที พระ ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รูปนั้น ประกอบความเพียร ด้วยจตุรังคะวิริยะด้วยองค์ ๔... เราเป็นลูกศิษย์ก็จริงเหมือนกัน"

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.036146899064382 Mins