อาทิตยปริยายสูตร
๒๕สิงหาคม ๒๔๙๖
นโม.....
เอวมฺเม สุตํ.....
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร จนทำให้ชฎิลเกิดความเลื่อมใสในพระองค์ แล้วจึงพร้อมใจกันไปแสดงความเชื่อนั้นต่อพระพักตร์ของพระเจ้าพิมพิสารพร้อมข้าราชบริพาร เพราะพระองค์นับถือชฎิลนี้ยิ่งนัก โดยชฎิลเหาะขึ้นไปในอากาศ แล้วลงมากราบพระบรมศาสดา ๓ ครั้ง ปฏิญาณตนว่าเป็นศิษย์พระบรมครู ชนทั้งหลายจำนวน ๑๑ นหุตได้ฟังพระธรรมของพระองค์ ในเวลาต่อมาก็เลื่อมใสสำเร็จมรรคผล ๑๑ นหุต อีก ๑ นหุต ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ และศาสนาพุทธได้ปักหลัก ณ กรุงราชคฤห์ โดยเริ่มที่เวฬุวนาราม สวนไม้ไผ่ ที่ถวายโดยพระเจ้าพิมพิสารนั่นเอง
พระสูตรนี้ พระองค์ทรงแสดงของร้อนให้ชฎิลเข้าใจ เพราะชฎิลทั้งหลายเคยบูชาไฟมาจนชำนาญ เป็นธรรมอันพระองค์ใช้ดับของร้อน
ตามพระบาลีว่า
สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ ดูกรภิกษุทั้งหลายสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลายสิ่งอะไร เล่าเป็นของร้อน
จกฺขํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ นัยน์ตาเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน ความสัมผัส ถูกต้องทางตาเป็นของร้อนความรู้สึกอารมณ์มีขึ้นเกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัส เป็นปัจจัย แม้อันใด เป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน
เกน อาทิตฺตํ ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะชาติ ร้อนเพราะความกำหนัดยินดี ร้อนเพราะความโกรธประทุษร้ายร้อนเพราะความหลงงมงาย ร้อนเพราะชาติ ความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย โสกะความแห้งใจ ปริเทวะ ความพิไรรำพัน ทุกข์เพราะความไม่สบายกาย โทมนัส เพราะความเสียใจ อุปายาส เพราะความคับแคบใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อน ฯลฯ
ในทำนองเดียวกันสิ่งที่มากระทบทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ล้วนเป็นของร้อนและร้อนเพราะ สาเหตุเดียวกัน คือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ชาติความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย โศก ความแห้งใจ ปริเทวะความพิไรรำพันทุกข์ความไม่สบายกาย โทมนัสความเสียใจ อุปยาสความคับ แค้นใจ
จึงต้องแก้ไขที่ "สาเหตุ" ต้องแก้ไขทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในรูป เสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบถูกต้องอายตนะทั้ง ๖ นั้น
"ให้ทำใจให้หยุด หยุดเสียอันเดียวเท่านั้นดับหมด พอหยุดได้เสียก็เบื่อหน่าย"
แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมต่อไปว่า
เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลายผู้ได้ฟังแล้ว เมื่อได้เห็นแล้วอย่างนี้ เบื่อหน่ายในตาบ้าง เบื่อหน่ายในรูปบ้าง เบื่อหน่ายในจักษุวิญญาณบ้าง เบื่อหน่ายในจักขุสัมผัสบ้าง ความรู้สึกอารมณ์ อันนี้เกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุสัมผัส เป็นปัจจัยแม้อันใด เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้างย่อมเบื่อหน่ายในความรู้นั้น ฯลฯ
คือ เบื่อหน่ายในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เบื่อหน่ายในความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เบื่อหน่ายในการสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมสิ้นกำหนัด พอสิ้นกำหนัด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นเกิดความรู้ขึ้นว่า พ้นแล้ว ดังนี้ พระอริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกแล้ว ฯลฯ
อาทิตตปริยายสูตร ว่าด้วยของร้อนที่มากระทบอายตนะทั้ง ๖ วิธีแก้ก็คือ "ให้ทำใจให้หยุด หยุด อันเดียวเท่านั้นดับหมด พอหยุดได้เสีย ก็เบื่อหน่าย"
การทำใจให้ "หยุด"
ต้องทำใจหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกาย ใสเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หยุดนิ่งเข้ากลางของกลาง ถึงดวงปฐมมรรค ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เมื่อเข้า ถึงกายมนุษย์ละเอียด อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ของกายมนุษย์หยาบหายไปหมด เหลือของมนุษย์ละเอียด
ใจก็หยุดในศูนย์กลางกายมนุษย์ละเอียด เข้ากลาง ๖ ดวง ผ่านกายต่างๆ ถึงกายธรรม เป็นวิราคธาตุวิราคธรรมส่วนหยาบ คือส่วนย่อย ยังมีเจือปนกามราคานุสัย อวิชชานุสัย ปฏิฆานุสัยบ้าง ก็หยุดเข้าถึงกายธรรมชั้นต่อไป เข้าถึงกายโสดา หมดสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส พระสกิทาคา กามราคะพยาบาทหยาบหมด เข้าถึงพระอนาคา กามราคะพยาบาทละเอียดหมด เหลือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จนเข้าถึงกายพระอรหัตหยาบและละเอียด รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา หลุดหมด เป็นวิราคธาตุวิราคธรรมแท้ เสร็จกิจในพระพุทธศาสนา
เมื่อเรารู้จักหลักจริงดังนี้ ให้ปฏิบัติตามแบบนี้ จะถูกทางมรรคผลนิพพาน กายธรรมอย่างหยาบ โคตรภู โสดา สกิทาคา อนาคา อรหัต อย่างหยาบเป็นตัวมรรค กายธรรมอย่างละเอียด โสดา สกิทาคา อนาคา อรหัต อย่างละเอียด เป็นตัวผล
ธรรมที่ทำให้เป็นกายโคตรภู โสดา สกิทาคา อนาคา อรหัต (พอถึงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัต) เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม ก็ถึงนิพพาน
"พอถูกส่วนเข้า ก็ดึงดูดกันรั้งกันไปเอง"
เหมือนมนุษย์ในโลกนี้ คนมั่งมีเขาก็เหนี่ยวรั้งคนมั่งมีไปรวมกัน คนยากจน มันก็เหนี่ยวรั้ง คนยากคนจนไปรวมกัน นักเลงสุรา ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ก็ไปรวมกันเพราะมีอายตนะดึงดูด
ในกามภพก็มีโลกายตนะ อายตนะรูปพรหม อรูปพรหม นิพพาน เป็นอายตนะอันหนึ่ง หมดกิเลส แล้วนิพพานก็ดึงดูดไปนิพพานเท่านั้น
ให้รู้จักหลักจริงอันนี้ จึงจะเอาตัวรอดได้