ภารสุตตคาถา ๑

วันที่ 13 กค. พ.ศ.2560

ภารสุตตคาถา ๑

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , ภารสุตตคาถา

 

๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๖

นโม.....
ภารา หเว ปญจกฺขนฺธา.....

 

                          ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นภาระอันหนัก หนักตั้งแต่อยู่ในท้องมารดา โตขึ้นก็เป็นกายหนักขึ้น ไปไหนมาไหนไม่รวดเร็ว ต้องไปตามกาลของขันธ์ ต้องลำบากในการบริหารและรักษาจนกว่าจะตาย

                          แม้ไปเกิดเป็นเทวดา พรหม อรูปพรหมสัตว์นรกสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกายก็ยังมีขันธ์ ๕ เป็นภาระอันหนักทั้งนั้น

                          ท่านจึงได้ยืนยันตามพระบาลีว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา

                          ขันธ์ทั้ง ๕ นี้เป็นของหนัก การถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ในโลก การทิ้งภาระที่หนักนั้น ได้ชื่อว่า เป็นผู้ถอนตัณหาทั้งรากได้ หมดกระหายไปนิพพานได้

                          หมดทั้งสากลโลก เอาขันธ์ ๕ ของตัวเองไปไม่ได้ แม้ไม่ทิ้ง ถึงเวลาตาย ก็เอาไปไม่ได้ แม้ของ คนอื่นๆ ก็เอาไปไม่ได้

                            "ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างเกิด ตาย ตายคนเดียว เกิด เกิดคนเดียว เราอยู่คนเดียวนะนี่นะ ไม่ได้อยู่หลายคน อยู่กี่คนก็ช่าง ตายไปด้วยกันไม่ได้ เกิดคนเดียว ตายคนเดียวทั้งนั้น จะแฝดหรือจะติดกันอย่างไรก็ตามเถิด คนละจิตคนละใจทั้งนั้น ต่างคนต่างมาต่างคนต่างไป ต่างคนต่างตาย ต่างคนต่างเกิด"

                          ดังนั้น จึงต้องรู้จักการถอดขันธ์ ๕ วางขันธ์ ๕

                          ผู้ที่จะถอดวางขันธ์ ๕ ต้องตั้งอยู่ใน "สังวรกถา" ต้องอาศัยความรู้ความเห็นแยบคาย ต้องละทิ้งความยินดีในอารมณ์นั้นๆ

                          ผู้ที่เห็นอารมณ์งามใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

                          ไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้งหลาย

                          ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร

                           มีความเกียจคร้าน

                           อยู่ในอาการอันบัณฑิตพึงรังเกียจ

                           มีความเพียรเลวทราม

                           "มารย่อมประหารบุคคลนั้นได้ เหมือนลมประหารต้นไม้อันมีกำลังทุพพลภาพได้ฉันนั้น" ผู้สำรวมตา หู จมูก ฯลฯ ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ ผู้สำรวมแล้วในอินทรีย์ทั้งสิ้น ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

                            ขันธ์ทั้ง ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราแบกหนักแล้ว ยังอวดดีไปแบกของคนอื่นอีก หญิงก็ดีชายก็ดีแอบไปแบกอีก ๕ ขันธ์รวมของตัวเป็น ๑๐ ขันธ์ หนักเข้าหลุดออกมาอีก ๕ ขันธ์ เป็น ๑๕ ขันธ์ นานๆ หลายๆ ปีก็มาอีก เป็น ๒๕ ขันธ์ หรือ สมภารแบกตั้งพันขันธ์ ( สมภาร แปลว่า หนักพร้อม) พ่อบ้าน แม่บ้าน พ่อครัว แม่ครัว ที่ทุกข์ยากลำบากเพราะแบกขันธ์ทั้งนั้น ถ้าปล่อยได้ เป็นสุขแท้ๆ


วิธีปล่อยขันธ์ ๕

                              ทางปริยัติ ต้องรู้จักขันธ์ ๕ จริงๆ ว่า คือ อะไร องค์ประกอบของขันธ์ ๕ โดยย่อ ได้แก่

๑. รูป คือ ร่างกาย ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ

๒. เวทนา เป็นดวงสุขเวทนา ก็ใสทุกขเวนาก็ขุ่น

๓.สัญญา ความจำ เป็นดวงต่างกัน ดีชั่ว หยาบ ละเอียด เลว ประณีต

๔.สังขาร เป็นดวงคิดดี คิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว

๕. วิญญาณ ความรู้ ก็เป็นดวงอีกเหมือนกัน

                           การปล่อยวางขันธ์ ๕ทำไม่ง่าย ปล่อยไม่เป็น ปล่อยได้ยาก เหมือนเด็กกำไฟปล่อยไม่เป็นยิ่งร้อนยิ่งกำไฟแน่น


พวกไม่ปล่อยวางขันธ์ ๕ มี ๒ ประเภท

                            ๑. พวกที่ปล่อยวางไม่ได้ มี ๒ แบบ

๑.๑ พวกที่ไม่อยากปล่อย รู้แล้วว่าปล่อยวางอย่างไร แต่ไม่ยอมปล่อย ไม่อยากปล่อย เพราะเสียดายขันธ์ อยากจะได้ขันธ์ ๕ มากขึ้น เหมือนพรานติดเบ็ด ถ้าปลาเล็กๆ พอปล่อยได้ ถ้าปลาใหญ่เสียดายต้องใส่เรือไป

๑.๒ พวกที่ปล่อยไม่ได้ รู้และอยากจะปล่อย แต่เครื่องติดมี ปล่อยไม่ถนัด เหมือนนกติดแร้ว ได้แก่ ผู้ครองเรือนอย่างเราๆ ที่มีความรับผิดชอบอยู่

                           ๒. พวกที่ปล่อยวางไม่เป็น

                               คือพวกที่ไม่ได้เล่าเรียน ไม่ได้ฟังธรรม ขาดการฝึกฝนใจในธรรมของสัตบุรุษหรือของพระพุทธเจ้า


หลักในการทำความสำรวม เพื่อละเบญจขันธ์เบื้องต้น

๑. พิจารณาว่าเป็นของไม่ดี ไม่งาม เป็นของหนักจริงๆ

๒.สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มากระทบ ไม่ให้ความชอบไม่ชอบกระทบได้

๓. ต้องขยันหมั่นเพียร

๔. ต้องมีศรัทธา เชื่อมั่นว่าปล่อยได้จริงสำรวมดีทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ชื่อว่าหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ได้จริงๆ ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ


ทางปฏิบัติ

                        จะปฏิบัติได้จริง ต้องเห็นขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูปสัณฐานโตอย่างไร แล้วก็ดูความจริงของมันว่า ยึดไว้จะเป็นทุกข์อย่างไร คือ

                        ต้องทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ตรงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดนิ่ง เข้ากลางของกลาง เป็นลำดับไป เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกาย ในกายด้วยการหลุดจากธรรมที่ปนด้วยกิเลสในกายต่างๆ จนถึงกายธรรมพระอรหัต จึงพ้นเด็ดขาด เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม เป็นพระอรหันต์ ถึงที่สุด

                         ความจริงพอถึงกายธรรมหยาบละเอียดก็ไปนิพพานได้แล้ว แต่ยังเป็นตทังควิมุตติ ต้องกลับมาอีก

                         หากหลุดแค่พระโสดา เป็นอริยบุคคล แต่ยังไม่พ้นไตรวัฏฏ์ อาศัยกามภพ รูปภพอยู่ แต่ว่าอาศัยอยู่แต่เปลือกนอก เพราะข้างในล่อนจากเปลือกนอกเสียแล้ว

                         "ที่แสดงในทางขันธ์ ๕ เป็นของหนัก แล้วคิดสละขันธ์ ๕ นั่นได้ ด้วยความระมัดระวังนี้เป็นทางปริยัติ เป็นลำดับไปจนเข้าถึงถอดกายเป็นชั้นๆ ออกไป แล้วจนกระทั่งถึงพระอรหัต ถึงวิราคธาตุวิราคธรรม ในแนวนั้นเป็นทางปฏิบัติ ปฏิเวทก็เป็นชั้นๆ เคยแสดงแล้ว"

 

การเล่าเรียนในทางพุทธศาสนา ต้องเรียนทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท เช่นนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013529976209005 Mins