ปรมัตถ์ : อกุศลจิต
(อกุศลจิต ๑๒ ดวง)
๑ ตุลาคม ๒๔๙๖
นโม.....
ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา.....
พระพุทธศาสนามีปิฎก ๓ คือ วินัยปิฎกสุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก (อภิธรรมปิฎก)
พระพุทธเจ้าทรงเทศน์พระปรมัตถ์ครั้งแรกที่ดาวดึงส์ ถวายพระพุทธมารดาและหมู่เทวดา เป็นเวลา ๓ เดือน ในเวลารุ่งเช้า เมื่อพระองค์เสด็จบิณฑบาตและเสวยในป่าหิมพานต์ทรงแสดงพระปรมัตถ์นี้แก่พระสารีบุตรที่ปฏิบัติพระองค์ในป่าหิมพานต์ทุกวัน เพื่อพระสารีบุตรจะได้นำมาเทศน์ให้มนุษย์ฟัง
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศน์พระปรมัตถ์จบ เสด็จลงจากดาวดึงส์ที่เมืองสังกัสนคร ทรงเปิดโลก ให้สัตว์นรก เทวดา มนุษย์เห็นกันและกันพร้อมกัน ในคราวนั้น สรรพสัตว์ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า แม้กระทั่งมดดำ มดแดง
"ไม่ใช่เป็นของง่าย ถ้าจะเทียบละก็ ต้องเข็มเล็กๆ ด้ายเส้นเล็กๆ เย็บตะเข็บผ้าจึงจะละเอียดได้ ถ้าเข็มโตไป ด้ายเส้นโต จะเย็บตะเข็บผ้าให้เล็กลงไปไม่ได้ฉันใดก็ดี ปรมัตถปิฎกเป็นของละเอียด ต้องปัญญาละเอียดไปตามกัน จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจ"
"คัมภีร์ปรมัตถ์นี่เป็นหลัก เป็นประธาน ให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว เพราะเป็นเนื้อธรรมจริงๆ" เนื้อความในพระปรมัตถ์จัดเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
จิต เป็นดวง จำแนกออกไปถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง ถ้าแยกพิสดารออกไปตามฌานทั้ง ๕
เจตสิก จำแนกออกไปถึง ๕๒ ดวง
รูป จำแนกออกไปถึง ๒๘ รูป (มหาภูต ๔ อุปาทยรูป ๒๔)
นิพพาน ๓ (คือ กิเลส นิพพาน ขันธนิพพานธาตุนิพพาน)
หลวงพ่อวัดปากน้ำได้แสดงตัวอย่างเรื่องอกุศลจิต ๑๒ ดวงเอาไว้ดังต่อไปนี้ในจิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวงนั้น มีอกุศลจิต ๑๒ ดวง อันเป็นต้นเหตุให้บุคคลทั้งหลายทำชั่ว
"อกุศลจิต ๑๒ ดวง" แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก คือ
จิตโลภ ๘ ดวง
จิตโกรธ ๒ ดวง
จิตหลง ๒ ดวง
จิตโลภ มี ๘ ดวง
จิตโลภดวงที่ ๑ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก มีความเห็นผิด และเกิดขึ้นตามลำพัง ไม่มีใครกระตุ้น ไม่ว่าในที่ลับหรือที่ใดๆ
ตัวอย่าง เราเห็นทรัพย์ก้อนหนึ่งเป็นของคนอื่น เราก็รู้ว่าเป็นของเขา ทรัพย์นั้นก็ก้อนใหญ่อยู่เป็นแสนๆ ล้านๆ พอจะเลี้ยงชีพได้ เราไม่เคยคิดไว้ก่อนว่าจะขโมย แต่พอเห็นทรัพย์นั้นในที่ที่เจ้าของเผลอ ใจก็ยินดีปลาบปลื้มชนิดปล่อยชีวิตจิตใจ ทันทีที่ใจคิดยินดีเองว่า ถ้าเราเอาเราก็รวย ความยินดีมาก เกิดขึ้นเองแล้วเป็นความเห็นผิด โดยไม่มีใครชักชวน พอคว้าเอามาซ่อนก็ถือว่าสำเร็จสมความปรารถนา ของตัว และไม่มีใครรู้เห็นด้วยเลย
จิตโลภเกิดขึ้นแล้วเป็นอกุศล ต้องไปนรก รับทุกข์แน่นอน
จิตโลภดวงที่ ๒ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก มีความเห็นผิด โดยการถูกกระตุ้นหรือชักจูง
ตัวอย่าง เห็นทองคำ ๑ ก้อน หรือสายสร้อยราคานับแสน เป็นของหลวง มีคนเอามาซ่อนไว้ หรือตกหล่นไว้ให้เห็น พอเห็นเข้าก็รู้แล้วว่าราคามาก แต่ไม่กล้าลักเพราะกลัวติดคุก จึงมาเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็เชียร์ให้เอาจึงแอบไปเอามาสมปรารถนา
จิตโลภดวงที่ ๓ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก แต่ไม่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง
ตัวอย่าง เห็นสิ่งของของคนอื่นที่มีค่า จะเป็นเงินทองหรือเสื้อผ้าก็ตามที่ใช้ได้ทั้งนั้น เห็นแล้วก็รู้ว่ามีเจ้าของ ถ้าเราเอาไปเราก็เอาไปลงทุนตั้งตัวได้ มิฉะนั้นก็จนอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าหากเขาจับได้ก็ต้องติดคุก ถึงจับไม่ได้ เราก็ต้องได้รับผลชั่ว เพราะเราขโมยเขา แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะเราจนก็ต้องขอไปที จึงขโมยมาเป็นของตัวเองด้วยความยากจน โดยไม่มีใครกระตุ้น และไม่มีความเห็นผิดเพราะรู้ว่าเป็นบาปเป็นกรรม
จิตโลภดวงที่ ๔ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่มีความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นชักจูง
ตัวอย่าง เห็นเพชรราคานับล้าน แต่ไม่ใช่ของเรา เห็นแล้วก็คิดว่า ราคามากขนาดนี้เมื่อไรเราจะมีบ้าง แต่ไม่กล้า เพราะกลัวติดคุก กลัวบาป จึงนำเรื่องไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็ยุให้ขโมยเลยไปลักเพชรมาสมปรารถนา
จิตโลภดวงที่ ๕ จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ แต่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง ได้ก็เอาไม่ได้ก็แล้วไป
จิตโลภดวงที่ ๖ จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ มีความเห็นผิด และมีผู้กระตุ้น
จิตโลภดวงที่ ๗ จิตอยากได้พอประมาณ แต่ไม่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง
จิตโลภดวงที่ ๘ จิตที่อยากได้พอประมาณ แต่ไม่มีความเห็นผิด มีคนกระตุ้น
จิต ๔ ดวงก่อนกับ ๔ ดวงหลังไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ ที่ดวงก่อนเกิดขึ้นด้วยความอยากมาก ๔ ดวงหลังยินดีพอประมาณ จิต ๘ ดวงนี้ มันก็อยู่ในตัวเรานี่เอง เกิดขึ้นกับเรามาบ้าง แต่ว่าเราไม่รู้จักมัน ยังมีกว้างกว่านี้ แค่นี้เป็นเพียงชั้นหนึ่งโดยย่อ
จิตโทสะ มี ๒ ดวง
จิตโทสะดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยลำพัง
ตัวอย่าง เราไปในสถานที่ใดๆ หรืออยู่ในบ้าน ไม่มีใครชักจูงหรือทำอะไรให้โกรธ ใจก็โกรธเอง ด้วยอาการต่างๆ ใครพูดกระทบนิดๆ หน่อยๆ ก็แปลบๆ ขึ้นมา ไม่มีใครรู้เรื่องด้วยเลย อย่างนี้ เขาเรียกว่า โทสะจริต
จิตโทสะดวงที่ ๒ เกิดขึ้นโดยมีคนชักจูงหรือกระตุ้น
ตัวอย่าง สามียั่วให้ภรรยาโกรธ หรือคนอื่นยั่วให้โกรธด้วยรูป เสียง กลิ่น รส ที่ไม่ชอบใจ
จิตหลง มี ๒ ดวง
จิตหลงดวงที่ ๑ คือ จะทำอะไรไม่ตัดสินใจแน่นอนลงไป เมื่อลังเลไม่ตกลงใจ ก็ทำอะไรไม่ได้ และเมื่อทำลงไปก็จะมีทั้งผิดกับถูก
ตัวอย่าง เรารักษาศีลอยู่ แต่เมื่อเจอทรัพย์หรือสัตว์ เราจะลักฆ่าไปเป็นอาหาร หรือเราจะรักษาศีลดี ถ้าไม่ลักไม่ฆ่าเราก็อดเราก็จน อย่างนี้เรียกว่าจิตหลง ถ้าทำลงไปด้วยอำนาจจิตหลง ถ้าทำผิด มันก็ผิดไป ถ้าทำถูกก็ถูกไป แต่ในที่นี้เป็นทางผิด เพราะว่าเป็นอกุศลจิต
จิตหลงดวงที่ ๒ คือ อาการทำโดยจิตฟุ้งซ่าน ครึ่งบ้าครึ่งดี
ตัวอย่าง เหวี่ยงลูกแรงด้วยความฟุ้งซ่าน ไม่ได้ตั้งใจให้ตาย แต่ลูกตาย เลยติดคุก
จิตหลง ๒ ดวงนี้ ต้องคอยระวัง เพราะทำให้เราเดินทางผิด
"จิต ๑๒ ดวงนี้แหละมันควบคุมเราอยู่ ให้ไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เราตกต่ำเลวทรามลงไปด้วยประการใดๆ ก็เพราะจิต ๑๒ ดวงนี่เอง ต้องควบคุมไว้ให้ดี ต้องเล่าเรียนเสียให้ชัดทีเดียว ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมันเสียแล้ว มันก็จะข่มเหงเราตามชอบใจ ในตัวของเรานี้ไม่ใช่ที่อื่น"
"วัดปากน้ำเริ่มลงมือเล่าเรียนกันแล้ว พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้สอนปรมัตถปิฎกนี้ ผู้สอนปรมัตถ์ ไม่ใช่เล่นๆ หนา ต้องมีภูมิพอ ต้องมีการศึกษาพอถ้าไม่มีการศึกษาพอละก็ ลูกศิษย์สู้ครู ถามกันเจ๊งแน่ทีเดียว ไม่ต้องสงสัยละเพราะเป็นของที่ลึกซึ้งนัก ถามเจ๊งแน่ ถามติดแน่ทีเดียว"
"ปรมัตถปิฎก เป็นเนื้อหนังพุทธศาสนาจริงๆส่วนวินัยปิฎกเป็นข้อห้าม ข้อทรามไม่ให้ทำชั่วด้วยกาย วาจาสุตตันตปิฎกเป็นตัวอย่างว่าทำอย่างนี้ได้สุข พ้นทุกข์ไตรวัฏฏ์ ไปนิพพาน ยังไม่ใช่เนื้อหนังของธรรม"
"ส่วนปรมัตถปิฎก นี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้น ในประเทศไทยเรียนกันแต่เลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาผิวเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลาย เพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป เหตุนี้เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี"