อุทานคาถา

วันที่ 05 สค. พ.ศ.2560

อุทานคาถา

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , อุทานคาถา

 

(ธรรมที่ทำให้สิ้นสงสัย ๑)

๒๑ มีนาคม ๒๔๙๗

นโม.....
ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา...

 

                    เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งขึ้นด้วยพระองค์เอง ปรารภถึงธรรมว่าเป็นของอัศจรรย์นัก

                     ยทา หเว ปาตุภวนฺติ  "เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป"

                     "ธรรมที่เกิดขึ้นแก่พราหมณ์ ถ้าว่าไม่รู้จัก ฟังสัก ๑๐๐ ครั้งก็ไม่ได้เรื่อง อุทานคาถานี้ลึกซึ้งอยู่ ไม่ใช่ของง่าย เผอิญจะต้องกล่าวไว้ย่อ เรียกว่า อุทานคาถา" ธรรมนั้นมีอยู่ที่มนุษย์ทุกคน เรียก "ดวงธรรม" บางคนเห็น บางคนไม่เห็น เหมือนคนตาบอด พระพุทธเจ้ารับสั่งในเรื่องธรรมว่า ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น "ทิฏฐธมฺมสุขวิหารี"

                      พวกได้ธรรมกาย มีธรรมปรากฏแก่ตัวเสมอ ติดอยู่กับใจคนนั้นสว่างไสว ถ้าปฏิบัติดี ก็สว่างเหมือนดวงอาทิตย์เวลากลางวัน

                      ธรรมมีหลายดวงสว่างต่างกัน เหมือนประทีปเล็กก็สว่างน้อยกว่า มนุษย์มีธรรมทุกคน เรียกดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ตั้งแต่ดวงธรรม กายมนุษย์ ถึงกายธรรมพระอรหัต

                     "เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวง ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป" เพราะใจไปติดอยู่เสียกับธรรม เห็นธรรมแล้ว ก็หมดสงสัย


ธรรมน่ะอยู่ที่ไหน

                     มนุษย์อยู่ที่ไหน ธรรมอยู่ที่นั่น เรียกดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ ใจติดกับดวงธรรมกายมนุษย์ ได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่มนุษย์นั้นแล้ว

                     ถ้าใจกายมนุษย์ละเอียดติดที่ศูนย์กลางดวงธรรมกายมนุษย์ละเอียด ธรรมนั้นก็ปรากฏแก่กายมนุษย์ละเอียด

                    เป็นเช่นนี้ผ่านกายต่างๆ จนถึงกายอรหัตละเอียด ติดอยู่เสมอไม่หลุด ได้ชื่อว่า ธรรมปรากฏ

                    "ธรรมอันนี้แหละเป็นตัวจริงละ ให้เอาใจติดอยู่ตรงนี้แหละ อย่าไปเที่ยวหาอื่นให้มันอื่นจากศูนย์กลางกายมนุษย์ กลางกายของตัวไปเลย ตรงนั้นแหละ เอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นแหละ ถ้ายังไม่เห็นนานๆ ก็เห็นเอง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเอง ที่ไปหาที่อื่น ไปหาธรรมในป่าในดอนในดงกันยกใหญ่ทีเดียวเพราะไม่เห็นพอไป เห็นเข้าแล้ว โธ่..ผ้าโพกหัวหาแทบตาย ไม่เห็น อยู่บนหัวนี่เอง ไปหาธรรมแทบตาย ธรรมอยู่กลางของตัวนั่นเอง"

                    มนุษย์ยังสงสัยกันอยู่ว่า ธรรมอยู่ที่ไหนแน่ จึงควรเอาใจจรดตรงศูนย์กลางกาย นานๆ เข้า ก็จะเห็นเอง ไม่ใช่ที่ไปหาธรรมกันตามป่า แต่อยู่ในตัวเอง

                    "เพราะพราหมณ์นั้น ได้รู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ"


ธรรมเกิดแต่เหตุอย่างไร

                    เมื่อเพ่งพินิจดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ รู้ทีเดียวว่าธรรมเกิด แต่เหตุที่มนุษย์ทำ ถ้ามนุษย์บริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ อย่างถ่องแท้ ถึงได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ทำความ บริสุทธิ์จะเป็นอสุรกายสัตว์เดรัจฉานสัตว์นรก เพราะธรรมนั้นดำขุ่นหมองเศร้ามัวไปหมด

                     ทั้งกายมนุษย์ และกายมนุษย์ละเอียดทั้ง ๒ กาย เป็นกายที่มารวมกันทำความบริสุทธิ์ของตัวไว้ทั้งกาย วาจา ใจ ไม่มีร่องเสียเลย

                     เมื่อบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ เช่นนี้แล้ว

                     พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา จึงอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญต่อไปด้วย

                     ทาน ตามกำลัง ตามกาลสมัย

                     ศีล ให้ยิ่งขึ้นไปทั้งกาย วาจา ใจ

                     สุตะ ฟังธรรม

                     จาคะ ให้อภัย ยิ้มแย้มแจ่มใสแก่กันและกัน

                     ปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์สูงต่ำ ดีชั่ว ผิดชอบ เป็นผู้ใหญ่มีใจโอบอ้อม เป็นผู้น้อย ก็เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เคารพกันตามหน้าที่พรรษา อายุ และคุณธรรม

                     ทำได้อย่างนี้ได้ชื่อว่า "แตกกายทำลายขันธ์จากโลกมนุษย์นี้ทำดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์บังเกิดขึ้น"

                     ยังเวียนว่ายในกามภพยังสุขไม่พอ รู้ทีเดียวว่าธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากเหตุทำขึ้น บำรุงขึ้นให้เป็น จึงทำรูปฌานต่อ บำเพ็ญความดีทั้ง ๕ ข้อข้างต้นต่อ ถูกส่วนเห็นดวงปฐมฌานทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และด้วยอำนาจความดีทั้ง ๕ ข้อ เกิดธรรมเป็นกายรูปพรหมทำยิ่งขึ้นเช่นนี้อีกถึง กายธรรม พระอรหัต

                     เหตุของศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นี่แหละให้เข้าถึงกายธรรมได้ กายธรรมโคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา ถึงอรหัตทั้งหยาบและละเอียด ก็ทำแบบนี้ พราหมณ์ก็รู้ว่าธรรม เกิดแต่เหตุ เหตุที่กระทำลงไปอย่างนี้ไม่กระทำไม่เกิด

                    ยโต ขยํ ปจฺจยานํ เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้จัก ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย

เมื่อพราหมณ์เดินขึ้นไปเป็นลำดับจนถึงกายพระอรหัต ก็รู้ชัดถึงความสิ้นไปไม่มีปัจจัยตรึงไว้บังคับไว้อันเกิดจาก

                    - ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ที่ชะลอกายมนุษย์ไว้ได้นี้เพราะ อภิชฌา พยาบาทมิจฉาทิฏฐิ เป็นตัวบังคับธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ทั้งหยาบละเอียด

                   - กายทิพย์หยาบละเอียดมีโลภะ โทสะ โมหะ

                   - กายรูปพรหมหยาบละเอียด ถูกราคะ โทสะ โมหะ บังคับไม่ให้ขึ้นไปจากภพ

                   - กายอรูปพรหมหยาบละเอียด เพราะกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย บังคับ ให้พ้นจากภพไม่ได้

                  -กายธรรมโคตรภูหยาบละเอียด เพราะสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นสังโยชน์เป็นปัจจัยป้องกันไม่ให้หลุดไปจากโคตรภูบุคคลได้

                   -พระโสดาหยาบละเอียด ยังมี กามราคะ พยาบาท

                   -พระสกทาคาหยาบละเอียด ยังมี กามราคะ พยาบาท อย่างละเอียด

                   -พระอนาคาหยาบละเอียด ยังมีรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา (สังโยชน์เบื้องสูง)ทำให้เป็นพระอรหัตไม่ได้ เป็นลิ่ม สลัก อยู่อย่างนี้

                   จะให้หลุดท่านจึงเดินทางศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ บรรลุพระอรหัตหลุดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา เรียกขีณาสโว "ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว" คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ทิฏฐาสวะ ไม่มีในพระอรหัต

                  พราหมณ์จึงรู้ความสิ้นไปของปัจจัย เป็นพระอรหัตแล้วหลุดจากปัจจัยหมด เป็น สมุทเฉทปหาน

                  ยทา หเว ปาตุภวนฺติ เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดำรงอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ผุดขึ้นมากำจัดมืด กระทำอากาศให้ ว่างฉะนั้น

                  เมื่อเข้าถึงพระอรหัต ไม่มีค่ำ มีแต่สว่าง เพราะดวงธรรมเต็มที่แล้ว (เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว) เทียบเหมือนดวงอาทิตย์อุทัย กำจัดมืด แต่ดวงธรรมสว่างทะลุตลอด ใต้แผ่นดิน ก็สว่างหมดเหนือดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ในถ้ำ เหว ปล่อง ตับ ไต ไส้พุง

                  ท่านจึงยืนยันว่า นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา แสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญาไม่มี ดวงธรรมนั้นแหละให้เกิดปัญญาสว่าง ไม่มีที่กำบังได้

                   "ฟังพอดีพอร้าย ไม่รู้เรื่อง เมื่อเป็นของลึกซึ้งขนาดนี้ละก็ จำเอาไว้ว่าเราจะต้องทำให้เป็นเหมือนอย่างนี้ นี่ี่เขาเป็นธรรมกาย เขารู้หนา"

                   "ผู้ที่ไม่เห็น ไม่เป็นปรากฏ ก็เท่ากับตาบอดไปไหนไม่รอด ติดอยู่แค่กายมนุษย์นี่เอง ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็ไม่เห็น ไม่เป็นกับเขา เมื่อไม่เห็นไม่เป็นกับเขา ก็ไม่มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ก็เป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ไม่มีสุข ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ก็เป็นสุข"

                   ธมฺมสุขวิหารี ถ้ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ก็เป็นสุขในปัจจุบันสันตาเห็น

                   อกาลิโก เข้าถึงดวงธรรม เป็นสุขเดี๋ยวนั้น ไม่ต้องผลัดเวลา ไม่มีกาลเวลา

                   เอหิปสฺสิโก เป็นดวงสว่างกับใจ อาจเรียกผู้อื่นเข้ามาดู "เหมือนกับเทศน์ให้ฟังอย่างนี้แหละ เรียกบุคคลผู้อื่นให้เข้ามาดูได้ เป็นดวงขนาดนั้น โตเท่านั้นสว่างถึงนั่น"

                   โอปนยิโก ไม่ใช่เป็นของแข็ง น้อมเข้าไว้ในใจได้ จะไว้ที่ไหนก็ได้  ซ้ายขวาหน้าหลัง

                   ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ผู้รู้ รู้ได้เฉพาะตัว ใครเข้าถึงใครก็รู้ ใครทำเป็นใครก็เห็น ใครได้ใครก็ถึง ใครไม่ได้ ใครก็ไม่ถึง ใครไม่เป็น ใครก็ไม่เห็นเท่านั้น

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.041105532646179 Mins