อริยธนคาถา ๑
(ทรัพย์ของพระอริยเจ้า)
๑ มีนาคม ๒๔๙๗
นโม.....
ยสฺส สทฺธา ตถาคเต.....
พระพุทธเจ้าทรงประทานอริยทรัพย์ไว้ให้พวกเราทั้งหลาย ผู้ไม่มีทรัพย์ในโลกนี้เป็นเครื่องอุ่นใจ
ยสฺส ความเชื่อไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่ด้วยดีแล้วในพระตถาคตเจ้าศีลที่ดีงามอันพระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญแล้ว ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ความเห็นซึ่งเป็นธรรมชาติตรงนักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า บุคคลนั้นเป็นคนไม่จน เป็นคนมั่งมี ความเป็นอยู่ของ คนนั้นไม่เล่าจากประโยชน์
๑. ความเชื่อซึ่งตั้งมั่นด้วยดีแล้วในพระตถาคตเจ้าอย่างไม่คลอนแคลน
"ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราตถาคต คือ ธรรมกาย
คือ เชื่อในธรรมกาย ให้เห็นธรรมกาย ให้เป็นธรรมกาย แก้ไขธรรมกายให้สะอาดผ่องใสมากยิ่งขึ้น ให้เห็นแจ่มใสเหมือนกระจกส่องเงาหน้าตลอดเวลา
เชื่อแน่นอนว่าธรรมกายเป็นใหญ่ "ธรรมกายนั่นเองเป็นใหญ่สิ่งอื่นใหญ่กว่านี้ไม่มี หมดทั้งสากลโลก หมดในธาตุในธรรมที่จะเป็นใหญ่กว่าธรรมกายนี้ไม่มี"
ใจไม่คลอนแคลนอย่างไร
ใจต้องนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายทีเดียว ลืมตาก็แจ่มอยู่กับธรรมกาย หลับก็หลับเข้าที่อยู่กับธรรมกาย ตื่นขึ้นก็ติดอยู่กับดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายแจ่มจ้าอยู่เสมอ
เป็นโคตรภูบุคคลก็ยังกลับกลอกอยู่ ให้เข้าไปอีกถึงพระโสดา พระ สกทาคา ถึงพระอนาคากามราคะ พยาบาทอย่างละเอียดหมดไป แต่ก็ยังไม่ถึงวิราคธาตุวิราคธรรม
ให้ทำให้สูงขึ้นไปอีก คือละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาให้ได้ จนเข้าถึงพระอรหัต จึงจะไม่กลับกลอกเหมือนเสาเขื่อนักไว้ ลมพัดมาก็ไม่เขยื้อน
"เชื่อในธรรมกายลงไปแค่ชีวิต แน่นแค่ชีวิต แม้จะตายเสียก็ตายไปเถอะที่จะไม่ให้เชื่อ ธรรมกายละก็ เป็นไม่ได้เด็ดขาด ฆ่าเสียก็ยอม ตายก็ตายไป" จึงจะตั้งมั่นด้วยดีแล้วในพระตถาคตเจ้า
๒. ศีลอันดีงามที่พระอริยเจ้าทรงสรรเสริญ
เป็นศีลบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เจตนา ผ่องแผ้วไม่มีราคีที่เรียกว่า กัลยาณศีล เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เห็นศีลดวงใสบริสุทธิ์เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
ดวงศีลใหญ่เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ซึ่งมีขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่
ของใหญ่อยู่ในของเล็กได้อย่างไร
เปรียบดังกระจก หรือกล้องถ่ายรูป ย่อมดึงภาพของใหญ่เท่าไรเข้าไปก็ได้
ดวงนี้แหละจบวินัยปิฎก เพราะพระอรหันต์ต้องเข้ากลางดวงศีลนี้เท่านั้น จะไปสักกี่กายก็ตาม ต้องเริ่มที่ดวงศีลดวงนี้ ศีลดวงนี้จึงเป็นทางมรรคผล เรียกว่า "อธิศีล" ไม่ใช่ "ปกติศีล"
"ถ้าปฏิบัติพระพุทธศาสนาเข้าถึงศีลดวงนี้ไม่ได้ละก็ ไม่ถูกทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ให้รู้ชัดอย่างนี้ีเดียว เมื่อรู้ชัดอย่างนี้ละก็ที่เข้าถึงแล้วก็อุตส่าห์พยายามเลื่อมใสในธรรมต่อไปที่เข้ายังไม่ถึงก็อุตส่าห์พยายามเข้าให้ถึงให้เป็นหนึ่งแน่ลงไป ไม่ให้เสียทีที่มาประสบพบพระพุทธศาสนา ถ้าว่ามีศีล อันดีงามที่พระอริยเจ้าใคร่"
๓. ความเลื่อมใสในพระสงฆ์
๓.๑ ความเลื่อมใสตามแบบปุถุชน เริ่มแรกก็เลื่อมใสพระภิกษุสามเณรที่ท่านประพฤติดีสำรวม ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่มีที่ติ เป็นอายุพระพุทธศาสนา
ดังเช่น "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" ทรงเห็นนิโครธสามเณรที่สำรวมกาย วาจา ใจ ดีไม่มีที่ติถึง กับเพียรนิมนต์ให้มาแสดงธรรมบนที่นั่งของพระองค์ใต้เศวตฉัตร สั้น พระองค์ทรงฟังธรรมแล้ว เลื่อมใสศรัทธา บำรุงพระพุทธศาสนา เพราะสามเณรที่ฉลาดเฉลียว ประพฤติดี
"ภิกษุสามเณรในยุคนี้ ถ้าประพฤติตัวดีถึงขนาดนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นอายุพระพุทธศาสนา เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชุมชนทั้งหลาย"
๓.๒ ความเลื่อมใสที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีก คือการปฏิบัติให้เข้าถึงจิตใจ คือถึงธรรมกาย ซึ่งเป็นพระตถาคตเจ้า จะเข้าถึงธรรมกาย ต้องเข้าทางศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ
เราเป็นมนุษย์ ก็ต้องเลื่อมใส"กายมนุษย์ละเอียด"ที่รักษาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ไว้รวมทั้งดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายต่างๆ เข้าไปเรื่อยก็อาศัยกายต่างๆ เลื่อมใสไปตามลำดับจนถึง"ธรรมกาย ละเอียดที่รักษาดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายไว้" ธรรมกายละเอียดนี้เป็นพระสงฆ์แท้ๆ (สังฆรัตนะ)
ความเลื่อมใสในพระสงฆ์นั้น คือ การเลื่อมใสว่าธรรมกายละเอียด (พระสงฆ์) รักษาดวงธรรม ที่ทำให้เป็นธรรมกายไว้
"นี่แหละพระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญนัก พระสงฆ์นั้นท่านประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แหละ เป็นหน้าที่รักษาดวงธรรมนั่นแหละท่านถึงได้ยืนยันตามตำรับตำราว่า สงฺเฆน ธาริโต ธรรมอันพระสงฆ์ทรงไว้ ดวงธรรมที่ทำให้กายธรรมพระสงฆ์ทรงไว้"
๔. ความเห็นซึ่งเป็นธรรมชาติตรง
เราจะลงความเห็นอย่างไรจึงจะเห็นตรง เช่น ลงความเห็นได้ว่าคนที่วิชชากัน คนไหนผิด คนไหนถูก ถ้าถูกจึงจะเป็นธรรม
"ความเห็นซึ่งเป็นธรรมชาติตรงนั้น ตรงตลอด ตรงทำนองคลองธรรมตั้งแต่ ศีลบริสุทธิ์มาเห็นศีลบริสุทธิ์ว่าถูก นอกจากนั้นไม่บริสุทธิ์ ไม่ถูก แล้วก็เห็นศีลที่บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ ศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ ก็เห็นถูกตรงตามรอยศีล ไม่เคลื่อนจากศีล แล้วก็เลื่อมใสในพระสงฆ์" ในบทท้ายท่านแสดงหลักไว้ว่า ธมฺมทสฺสนํ เห็นธรรมนั่นเอง
เห็นธรรม คือเห็นอะไร
คือ เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถึงกายอรหัตละเอียด (๑๘ กาย)
เห็นดวงธรรมเหล่านั้น ได้ชื่อว่า ธมฺมทสฺสนํ เห็นตรงทางอื่นก็อาศัยธรรมเหล่านี้ทั้งนั้น ความถูกตามดวงธรรมนั้น
"เดี๋ยวนี้พวกเราทั้งหมดนี่แหละทั้งภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เห็นตรงน่ะมีกี่องค์ล่ะ พระเณร อุบาสก อุบาสิกา มีกี่คนที่เห็นตรงน่ะ ในวัดปากน้ำนี้มี ๑๕๐ กว่าคนแล้วนะ"
ดวงธรรมนี่มาจากไหน
เมื่อกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ ก็เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อเพิ่มความบริสุทธิ์ทั้งศีลสัจจะ จาคะ ปัญญา ก็ถึง ดวงธรรม กายทิพย์ ถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานก็ถึง "กายรูปพรหม" เพิ่มอรูปฌาน ๔ ก็ถึง ดวงธรรมกายอรูปพรหม
เดินศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงดวงธรรม กายธรรม และเข้าถึงกายโสดา สกทาคา อนาคา อรหัต ตามลำดับ
เห็นอย่างนี้จึงเรียกว่า เห็นตรง หรือเห็นธรรม
"ถ้าเราไม่อยากเป็นคนจนอยากเป็นคนมั่งมีแล้ว ต้องมีธรรม ๔ ประการ นี้อย่าให้เคลื่อน ให้มีไว้ในตัวเสมอ ถ้าเคลื่อนแล้วละก็ใจจะไม่ผ่องใสจะคิดถึงแต่สมบัติบ้าๆ เข้าใจแค่สิ่งหยาบๆ เที่ยวคว้าเรื่อยเปื่อยทีเดียว วุ่นวายไปตามกัน"
ถ้าไม่มีทั้ง ๔ ประการนี้ประจำใจ แม้เป็นอยู่ก็เปล่าประโยชน์
ผู้มีปัญญาจึงควร
-ประกอบความเชื่อในพระตถาคตเนืองๆ
- ประกอบศีลไว้เนืองๆ
-ประกอบความเลื่อมใสไว้เนืองๆ
-แก้ไขความเห็นของตัวให้ตรงไว้เนืองๆ
ทรัพย์อันประเสริฐในพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนี้ ภิกษุสามเณรให้เข้าถึงธรรม ๔ ประการนี้