เบญจขันธ์
๒๑ ธันวาคม ๒๔๙๖
นโม.....
อุปฺปชฺชนฺติ นิรุชฺฌนฺติ.....
ในตำรา กล่าวถึง "ขันธ์ ๕" ว่ามีสภาพที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วแตกสลายไป
สพฺเพ สงฺขารา เมื่อเห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ
เบญจขันธ์ทั้ง ๕ ประกอบด้วย
รูป ๑ ได้แก่ รูป คือ มหาภูตรูปทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
นาม ๔ ได้แก่ เวทนา คือ การรู้และรับอารมณ์ทุกข์สุข ไม่สุขไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ
สัญญา คือ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส
สังขาร คือ ความคิดดี คิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว
วิญญาณ คือ ความรู้แจ้งทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เบญจขันธ์ มีกำเนิดเป็นสังขาร ๔ แบบ คือ
๑. อัณฑชะ เกิดเป็นฟองไข่ ๑ ครั้ง แล้วฟักเป็นตัวอีก ๑ ครั้ง รวมเกิด ๒ ครั้ง เรียก เทวฺชาติ หรือ ทวิชาติ
๒.สังเสทชะ เกิดด้วยเหงื่อไคล เช่น เรือด ไร เหา เล็น มนุษย์เราก็เกิดด้วยเหงื่อไคลได้เหมือนกัน เช่น ลูกนางปทุมวดี ๔๙๙ คน เกิดด้วยมลทินของครรภ์
๓.ชลาพุชะ เกิดด้วยน้ำ เช่น มนุษย์ และสัตว์ต่างๆ
๔. อุปปาติกะ ลอยขึ้นบังเกิด ลอยขึ้นบังเกิดเป็นมนุษย์ เช่น นางอัมพปาลี เกิดที่คาคบมะม่วง ไม่มีพ่อไม่มีแม่ เกิดเป็นตัวขึ้นมาเฉยๆ อายุ ๑๔ -๑๕ ปี โปกขรสาฏิยพราหมณ์เกิดในดอกบัว หรือกายเทวดา กายรูปพรหม อรูปพรหม กายสัตว์นรก เปรต อสุรกาย กำเนิดเหล่านี้ล้วนประกอบด้วยขันธ์ ๕ มีรูป เวทนาสัญญาสังขาร วิญญาณทั้งสิ้น
ขันธ์ ๕ แบบกว้างๆ มี ๒ แบบ
๑. ฝ่ายชั่ว มีดวงธรรมที่ทำให้เกิด วัดเส้นผ่าศูนย์กลางรอบตัว ๒๐ วา มีชั่วฝ่ายเดียว ไม่มีดีเจือปนเลย (ชั่วที่สุด) แตกกายทำลายขันธ์ เกิดในโลกันต์ รองลงไป อเวจี จนถึงเดรัจฉาน เปรต อสุรกาย
๒. ฝ่ายดี ตั้งแต่มนุษย์ ขึ้นไปถึงอรูปพรหม ถ้าทำดีไม่มีชั่วเจือปนเลย วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว แตกกายทำลายขันธ์ไปนิพพาน
ขันธ์ ๕ มีแต่เกิด ดับ
มนุษย์หมดทั้งสากลโลก ต่างเกิดและดับ จะแก้ไขอย่างไรก็ไม่ได้
เรียนรู้เรื่องเกิดดับนี้ ต้องเรียนวิชชาธรรมกาย
พอมีธรรมกาย ก็เห็น เกิดดับ
ขันธ์ ๕ ของมนุษย์ และกายต่างๆ ถึงอรูปพรหมละเอียด ซึ่งอาศัยธรรมเหล่านั้น ก็มีเกิดดับตามสภาพ มีความยักเยื้องแปรผันเป็นปกติ
เราจะทำอย่างไร ถ้าดับแล้วไม่ได้เกิดในที่งดงาม ที่ร่ำรวย เป็นเศรษฐี เป็นคหบดี เป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาล แต่ไปเกิดที่เลวทราม ดังนั้น เราต้องประกอบความดีไว้เป็นเบื้องหน้า
เราะสังขารทั้งหลาย มีทั้งบุญและบาป ที่เรียกว่าสังขารปรุงให้เกิด เกิดเป็นสังขารแบบต่างๆ ตาม ๔ กำเนิด ดังกล่าว
หนทางบริสุทธิ์ ๓ ขั้น
ขั้นที่ ๑ "เมื่อใดเห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์" จิตก็ปล่อยหมด ไม่ยึดมั่นขันธ์ ๕ ไม่ห่วงไม่อาลัย เมื่อเห็นจริงตามนั้น ก็นึกถึงความเกิดดับนั้นทุกอิริยาบถ เกิดความเบื่อหน่าย ใจก็บริสุทธิ์เป็นหนทางหมดจด
ขั้นที่ ๒ "เมื่อใดเห็นว่า ความเกิดนั้นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข ก็ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์"สภาพอันไม่เที่ยง นั่นแหละเป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเกิดขึ้นเสื่อมไปบีบคั้นอย่างเดียว บีบคั้นให้สัตว์เดือดร้อนอยู่ด้วยชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ เป็นของทนได้ยาก เมื่อเห็นเช่นนี้ก็ไม่อยากได้เบญจขันธ์ ปล่อยเสีย ไม่ยึดถือ ใจว่างวางเสีย เอาธุระแต่ความบริสุทธิ์ของใจ เมื่อใจเย็นเป็นสุข ร่างกายก็สบายสมบูรณ์ เป็นหนทางหมดจดขั้นที่สอง
ขั้นที่ ๓ "เมื่อใดเห็นว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว" กายมนุษย์และกายต่างๆ ไม่อยู่ในอำนาจของเรา อัตภาพนี้ไม่ ใช่ตัว ไม่เป็นไปในอำนาจ แก้แก่ แก้เจ็บ แก้ตายไม่ได้ ยิ่งพยายามแก้ก็ยิ่งทุกข์ จึงเป็นข้าศึกแก่ตัว เพราะอัตภาพนี้เป็น สภาพว่างเล่าสู่ย่าตายายเรา ตายไปไม่เหลืออะไร ร้อยปีพันปีกระดูกก็หายหมด ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ธรรมที่ทำให้ เป็นกายนั้นๆ ก็ไม่ใช่ตัว
เมื่อใดเห็นเช่นนี้ ก็เบื่อหน่ายในทุกข์ เป็น "หนทางบริสุทธิ์"
หนทางบริสุทธิ์มีสายเดียว
เอาใจหยุดที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กลางของกลาง หยุดเรื่อยไป นั่ง นอน ยืน เดิน หยุดตั้งแต่ต้นจนพระอรหัต เรียก "หนทางบริสุทธิ์" "ทำใจหยุดไม่ได้ ก็ไม่พบทางบริสุทธิ์เลย เข้าทางบริสุทธิ์ไม่ถูกเลย หยุดนั่นแหละเป็นเป้าหมายใจดำของพุทธศาสนา" และยังเป็นโอวาทของพระบรม ศาสดาที่ทรงให้นัยแก่องคุลิมาล ว่า " สมณะหยุดแล้วท่านไม่หยุด"