ธรรมรักษาผู้ประพฤติธรรม
๑๒ มกราคม ๒๔๙๗
นโม.....
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ.....
เริ่มต้นแห่งธรรมที่รักษาผู้ประพฤติธรรม ตามพระบาลีว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ฯ ธรรมนั้นแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่บุคคลสั่งสมไว้ดีแล้วนำความสุขมาให้
ข้อนี้แหละเป็นอานิสงส์ในธรรมความประพฤติดี
ผู้ประพฤติธรรมดีเรียบร้อยไม่ไปสู่ทุคติ
"ธรรม" คือ ความดี มีเป็นระดับชั้น ถ้าไม่มีความชั่วเจือปนเลย เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม
ธรรมแสดงตามปริยัติ
ธรรม แยกเป็น ๔ ประการ
๑. คุณธรรม ให้ผลตามกาล ดีฝ่ายเดียวให้ผลเป็นสุขฝ่ายเดียว เรียกคุณธรรม ถ้าฝ่ายชั่ว ย่อมให้ผลเป็นทุกข์
๒. เทศนาธรรม พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้
ไพเราะในเบื้องต้น คือ ศีล ตลอดจนกระทั่งถึง ดวงศีล
ไพเราะในท่ามกลาง คือ สมาธิ ตลอดจนกระทั่งถึง ดวงสมาธิ
ไพเราะในเบื้องปลาย คือ ปัญญา ตลอดจนกระทั่งถึง ดวงปัญญา
๓. ปริยัติธรรม หลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก เปรียญ ๓-๙
๔. นิสัตตนิชีวธรรม ยกรูปกับวิญญาณออก เหลือแต่เวทนาสัญญาสังขาร ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่ชีวิต
ธรรมทางปฏิบัติ
ธรรม หมายถึง ดวงธรรมใสบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ๆ ที่ทำให้เป็นมนุษย์ มนุษย์ละเอียด ถึงกายอรหัตละเอียด มีขนาดต่างๆ เรียกว่า ธมฺโม สำเร็จมาจากเจตนาบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ
เมื่อเข้าถึงดวงธรรมของกายต่างๆ นี้ได้ ธาตุธรรมนั้นแหละ รักษาผู้ประพฤติธรรม ยิ่งสะอาดใส"ใจหยุดนิ่งหนักขึ้น ก็ยิ่งรักษาผู้นั้น ไม่ตกไปในที่ชั่ว"
เริ่มแรกธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น บริสุทธิ์ สนิททั้งกาย วาจา ใจ คืออยู่ในศีลตลอด ไม่มีผิดจากความประสงค์ของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เลย ตรงกับบาลีกล่าวไว้ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ ฯ
ชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ไม่กระทำเป็นเด็ดขาด ดีด้วยกาย วาจา ใจทำจนสุดความสามารถทำใจของตนให้ผ่องใส
ธมฺโม สุจิณฺโณ
ธรรมดวงนั้น ถ้าสั่งสมให้สะอาดมากขึ้น จึงเรียกว่า "ธรรมอันบุคคลสั่งสมดีแล้ว" ย่อมมีอานิสงส์ คือ
ธรรมนั้นย่อมนำสุขมาให้ ใจไม่เศร้าหมอง
ไม่ไปสู่ทุคติ มีแต่สุคติฝ่ายเดียว
"ธาตุธรรมนั้นแหละรักษาผู้ประพฤติธรรมละ ถ้าเห็นเข้าแล้วก็รักษาผู้นั้น ไม่ตกไปในที่ชั่ว อย่าทิ้งท่านก็แล้วกัน อย่าผละจากท่าน ถ้าว่าห่างจากธรรมนั้นไม่รับรอง"
ดังนั้นถ้าความประพฤติไขว้เขว ไม่อยู่กับธรรม เห็นดวงใสเช่นนี้ไม่ได้ ก็เป็นคนเหลวไหลหลอกตัวเอง เพราะอยากได้ความสุข แต่ไปทางทุกข์ ถ้าหลอกตัวเองได้เช่นนี้ ก็โกงคนอื่นได้เหมือนกัน
"หลอกตัวเองเป็นอย่างไร ตัวอยากได้ความสุข แต่ไปประพฤติทางทุกข์เสียมันก็หลอกตัวเอง อยู่อย่างนี้ละสิ ตัวเองอยากได้ความสุข แต่ความประพฤตินั้นหลอกตัวเองเสีย ไปทางทุกข์เสีย มันหลอกอยู่อย่างนี้ ใครเข้าใกล้มันก็โกง โกงทุกเหลี่ยมนั่นแหละ ถ้าลงหลอกตัวเองได้ มันก็โกงคนอื่นได้ ไว้ใจไม่ได้ทีเดียว เหตุนี้พุทธศาสนาท่านตรง ตรงตามท่านละก็มรรคผลไม่ไปไหน"
ใน อคฺคปฺสาทสูตร ได้วางหลัก "การเลื่อมใสในธรรมโดยความเป็นของเลิศ" ธรรมที่แสดงมาแล้วเป็นธรรมอันเลิศทั้งนั้น และเคารพโดยความเป็นของเลิศ ต้องไม่ปล่อย เข้าถึงแล้วใจจรดอยู่กลาง ไม่ปล่อยวาง ตั้งแต่ดวงธรรมของกายมนุษย์จนกระทั่งถึงพระอรหัตเป็นชั้นๆ ไป
๑. เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ
ธรรมกาย คือ พระพุทธเจ้าผู้เลิศ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู โสดาสกทาคา อนาคา อรหัต ทั้งหยาบและละเอียด เป็น "ทักขิไณยบุคคล" อย่างเยี่ยม
๒. เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ
ดวงธรรมทุกดวง ตั้งแต่ดวงธรรมของกายมนุษย์ถึงพระอรหัต เมื่อเข้าไปอยู่ในกลางดวง ก็หมดความกำหนัดยินดี เป็นธรรมปราศจากยินดีสงบระงับ ต้องการสุขก็เข้าไปอยู่กลางดวงธรรมนั้นทุกดวงเป็นสุขแสนสุขแบบเดียวกันหมด
๓. เลื่อมใสในพระสงฆ์อันเลิศ
คือ เข้าถึงกายละเอียดของกายมนุษย์ทิพย์ พรหม อรูปพรหม และธรรมกายละเอียดของ กายธรรมโคตรภู โสดาสกทาคา อนาคา อรหัต พระสงฆ์เป็นบุญเขตอย่างยอด ถ้าใครบริจาคกับพระสงฆ์ หรือเลื่อมใสได้ผลเป็นมหัศจรรย์
เมื่อได้ถวายทานในท่านผู้เลิศ คือพระพุทธเจ้า ในธรรม ในพระสงฆ์แล้ว จึงมีอานิสงส์
ย่อมได้ความเป็นผู้เลิศ ไปเกิดเป็นเทวดา ก็ได้เกิดในวิมาน เป็นมนุษย์ก็เกิดในปราสาท ในกองสมบัติ
ย่อมได้บุญอันเลิศ ย่อมเจริญ ได้สมบัติปัจจุบันทันตาเห็น เป็นเศรษฐี คหบดี ละโลกนี้ไปได้สมบัติเทวโลก พรหมโลกมีอายุ วรรณะสุขะ พละ ยศ เกียรติคุณ
"เป็นหลักยืนยันว่า ธรรมนั่นแหละ รักษาผู้ประพฤติธรรมได้จริง" ความหมายของ "ผู้ประพฤติธรรม"
"สุขธมฺมวิหาร" แปลว่า "ผู้มีธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข" ในทางปริยัติ ผู้ปฏิบัติเพียงเจตนาบริสุทธิ์ภายนอก ด้วยกาย วาจา ใจ ในทางปฏิบัติ ผู้มีธรรม คือ ผู้ที่วางใจอยู่ในกลางดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ให้ละเอียดจนเห็นกายมนุษย์ละเอียด จนครบทั้ง ๑๘ กาย ในทางปฏิเวท ตั้งแต่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็ถือเป็นปฏิเวทแล้ว ปฏิเวทตามส่วนเป็นลำดับจนถึงกายธรรมอรหัตละเอียด
"แต่ว่าผู้เรียนปริยัติ ผู้เรียนบาลีท่านไม่เห็นท่านก็เรียนตามศัพท์ของท่านไป เมื่อท่านเป็นท่านก็เรียนตามความเห็นของท่าน นี่เรื่องนี้สำคัญ เพราะเหตุนั้น การปฏิบัติศาสนาหรือนับถือศาสนา ถ้าว่าศึกษาไม่ได้หลักพระพุทธศาสนาแล้ว จะนับถือไปสัก ๕๐ ปีก็เอาเรื่องไม่ได้ ถ้าได้หลักแล้วจึงจะเอาเรื่องได้ เพราะฉะนั้นวัด ปากน้ำได้หลักแล้ว เพราะวัดใดวัดหนึ่งสั่งสมพวกมีธรรมกายมากไม่ได้เหมือนวัดปากน้ำ วัดปากน้ำสั่งสมมากเวลานี้ ขนาด ๑๐๐ ขาดเกินไม่มากทั้งอุบาสก อุบาสิกา พระ เณร"
"ผู้เทศน์ต้องคอยคุม ถ้าไม่คุมละก็ไปสูงไม่ได้ มารมันปัดลงต่ำเสีย มันแนะนำให้วางเป้าหมายใจดำเสีย ไม่จรดอยู่ที่เป้าหมายใจดำ ที่ผู้เทศน์คอยคุมไว้ ละก็ถูกเป้าหมายใจดำ ตรงกันข้ามกับพวกพญามาร ถ้าว่าไม่คุมไว้แล้วเป็นลูกศิษย์พญามารเสียแล้ว มารเอาไปใช้เสียแล้ว
เหตุนั้นเมื่อมาพบของจริงเช่นนี้แล้วทั้งพระเณรอุบาสกอุบาสิกา ควรปล่อยชีวิตค้นเอาของจริง รักษาของจริงไว้ให้ได้ เมื่อได้แล้วจะยิ้มในใจของตัวอยู่เสมอไป มีความเดือดร้อนใดๆ เห็นว่าพระพุทธศาสนานี่เป็น นิยยานิกธรรมจริง นำสัตว์ออก จากทุกข์ได้จริง ในปัจจุบันทันตาเห็นทีเดียว"