ข้อสรุปของทุกขนิโรธอริยสัจ

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

ข้อสรุปของทุกขนิโรธอริยสัจ

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจสี่ , ข้อสรุปของทุกขนิโรธอริยสัจ  , ทุกขนิโรธอริยสัจ

     สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้ว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ คือการดับตัณหาด้วยอริยมรรคให้ขาดจากกมลสันดานเป็นสมุจเฉทปหาน แท้จริงนั้น เมื่อตัณหาถูกดับให้หมดสิ้นไปแล้วกองทุกข์ย่อมไม่เกิดแก่บุคคล ด้วยเหตุนี้จึงมักจะกล่าวกันทั่วไปว่า ทุกขนิโรธอริยสัจคือการดับทุกข์ อย่างไรก็ตามธรรมชาติของบุคคลนั้น ย่อมมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นนาย มีใจเป็นหัวหน้า ดังพุทธภาษิตว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมาฯ แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นหัวหน้าสำเร็จได้ด้วยใจ ดังนั้นคนเราจะรู้สึกสุขหรือทุกข์ย่อมขึ้นอยู่กับใจ จะเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิย่อมขึ้นอยู่กับใจ จะขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นนั้นหามิได้ ด้วยเหตุนี้ธรรมในพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นการพันาจิตใจเป็นประการสำคัญ

  การพัฒนาจิตใจนั้นคืออย่างไร ในเชิงปฏิบัตินั้นพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้อธิบายเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจไว้ว่า หยุด...สำเร็จทุกอย่าง

     คือการทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 โดยธรรมชาติ ใจของคนเรานั้นประกอบด้วยความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ทั้ง 4 อย่างนี้มีลักษณะสัณฐานเป็นดวงกลม 4 ดวงซ้อนกันอยู่ตามลำดับ คือชั้นนอกสุดเป็นดวงเห็น และในสุดเป็นดวงรู้ ตราบใดที่ดวงทั้งสี่ซ้อนกันเป็นจุดเดียว ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ตราบนั้นก็จะได้เห็นต้นทางไปสู่พระนิพพาน ซึ่งเรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่โดยปกติใจคนเรามักจะซัดส่าย ฟุ้งซ่าน ยากที่จะหยุดนิ่งลงได้ จึงเป็นเหตุให้ดวงเห็น จำ คิด รู้ ทั้ง 4 นั้นแยกย้ายกระจัดกระจายออกไปคนละทิศคนละทาง เปรียบเสมือนกลุ่มบุคคลอันปราศจากความสมานสามัคคี ย่อมยากที่จะรวมพลังกันปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อนี้ฉันใด ใจของบุคคลที่ฟุ้งซ่านซัดส่ายก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จในกิจต่าง ๆ ฉันนั้น

     สำเร็จทุกอย่าง นั้นเป็นอย่างไร โดยความหมายของคำศัพท์นั้นย่อมมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองแล้ว แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ย่อมประสงค์จะเน้นถึงโลกุตรธรรมเป็นสำคัญ ในเมื่อเราสามารถที่จะทำใจหยุดนิ่งจนแลเห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานอันเป็นต้นทางไปสู่พระนิพพานแล้ว จะรอช้าอยู่ใยเล่า ใยจึงไม่ดำเนินจิตไปตามเส้นทางสายกลางสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพานเล่า เพราะฉะนั้นสำเร็จทุกอย่างย่อมหมายถึงพระนิพพานเป็นแน่แท้

     โดยเหตุนี้ ในบางครั้งพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ จึงมักแสดงพระธรรมเทศนาว่า นิโรธนั้นคือ หยุด ซึ่งหมายถึงการทำใจให้หยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อันจะส่งผลให้บรรลุถึงความหลุดพ้น คือ พระนิพพานเป็นที่สุด แต่ในบางครั้งก็มักแสดงว่า ดับเป็นนิโรธจะเข้าถึงซึ่งความดับได้ เพราะบริบูรณ์ด้วยศีลสมาธิ ปัญญาสิ่งอื่นจะนำไปสู่ความดับนั้นไม่มีทั้งหมดนี้เห็นด้วยตาธรรมกาย รู้ชัดด้วยญาณของธรรมกาย ดังนั้นนิโรธอริยสัจ ย่อมหมายถึงการดับตัณหาก็ได้ หรือการทำใจให้หยุดนิ่งก็ได้ เพราะทั้งสองสิ่งนี้ล้วนเป็นเสมือนประทีปนำทางไปสู่มรรคผลนิพพานทั้งสิ้น

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.073955166339874 Mins