ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดประทานพระธรรมเทศนาในทุกขนิโรธคามินีปฏิทาอริยสัจ มีใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางธรรมปฏิบัติ คือมรรคมีองค์ 8 นี้สามารถดับทุกข์ให้สำเร็จซึ่งพระนิพพาน เป็นความจริงแท้แห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นเป็นประธาน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 นี้ทุก ๆ พระองค์ เพราะว่าเป็นวิธีเผาผลาญกิเลสราคะ และให้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด
1. มรรคมีองค์ 8
มรรคมีองค์ 8 ประการนั้น ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันต ะสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ สัมมาสติ
1.1 สัมมาทิฏฐิ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าสัมมาทิฏฐินั้น ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่กล้าหาญ ยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์สามารถรู้ในทุกขอริยสัจ รู้ในทุกข มุทัยอริยสัจ รู้ในทุกขนิโรธอริยสัจ รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ แล้วปฏิบัติถอนเสียซึ่งอวิชชาและตัณหา
1.2 สัมมาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะนั้น ได้แก่ ความคิดตริตรองไปในอันที่จะบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ดำริไปในอันที่จะไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรแก่กัน ดำริไปในอันที่จะเจริญพรหมวิหาร 4 มีเมตตา เป็นต้น ดำริไปในอันที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง
1.3 สัมมาวาจา
สัมมาวาจานั้น ได้แก่ วจีสุจริต 4 ประการ คือ
1. มุสาวาทา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการโกหก มายา ล่อลวงสับปลับ ให้ผู้อื่นเสียทรัพย์สินสิ่งของ
2. ปิสุณาวาจา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการกล่าววาจาส่อเสียด ให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนใจ ให้เคืองแค้นขัดใจ ให้ได้รับความฉิบหาย
3. ผรุสวาจา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการกล่าววาจาหยาบคาย
4. สัมผัปปลาปวาจา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการกล่าวคำตลกคะนอง เพ้อเจ้อ ไร้สาระ
1.4 สัมมากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะนั้น ได้แก่ กายสุจริต 3 ประการ คือ
1. ปาณาติปาตา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์มีชีวิตให้ถึงตาย
2. อทินนาทานา เวรมณี หมายถึง เว้นจากการลอบลักทรัพย์ของผู้อื่น หรือการถือเอาของของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยที่เจ้าของมิได้อนุญาต
3. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี คือ เว้นจากการล่วงประเวณีด้วยบุตรภรรยาหรือสามีของผู้อื่น
กายสุจริต 3 ประการนี้ไซร้ ตคาคตตรัสเทศนาชื่อว่า "สัมมากัมมันตะ"
1.5สัมมาอาชีวะ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าสัมมาอาชีวะนั้นมุ่งเน้นถึงพระสาวกในบวรพุทธศาสนานี้พึงปฏิบัติตนละเสียซึ่งมิจฉาอาชีวะ คือเลี้ยงชีวิตโดยมิชอบธรรม ประกอบด้วยอเนสนา คือหลอกลวงด้วยการอวดอุตริมนุสธรรม ออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ ใช้เงินลงทุนหาผลประโยชน์ต่อลาภด้วยลาภ คือให้แต่น้อยเพื่อหวังตอบแทนมาก เป็นหมอเวทมนตร์เสกเป่า เป็นหมอรักษาโรค เป็นต้น พึงปฏิบัติตนอยู่ในสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม ให้เป็นที่สรรเสริญแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย
1.6 สัมมาวายามะ
สัมมาวายามะนั้น ได้แก่สัมมัปปธาน หรือความเพียร 4 ประการ คือ
1. เพียรละเสียซึ่งอกุศลอันเกิดขึ้นแล้วให้ขาดไปจากสันดาน
2. เพียรระวังปิดกั้นอกุศลทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิด มิให้บังเกิดขึ้นได้
3. เพียรสร้างกุศลทั้งหลายที่ยังไม่บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นในสันดานให้จงได้
4. บรรดากุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว จงพากเพียรให้ถาวรวัฒนาขึ้นในสันดานให้จงได้
1.7 สัมมาสติ
สัมมาสติ ได้แก่สติปัฏฐาน 4 ประการ คือ
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
4. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
1.7.1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ คือการเห็นกายต่าง ๆ ซึ่งซ้อนกันอยู่ภายในกายมนุษย์นี้นับตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝัน จนกระทั่งถึงกายธรรมระดับต่าง ๆ
การตามเห็นกายในกายนี้ทำอย่างไร เมื่อพระโยคาวจรวางใจไว้ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ได้มั่นคงถูกส่วนแล้ว ก็จะได้เห็นดวงใสบริสุทธิ์ มีชื่อว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ครั้นดำเนินจิตเข้าสู่กลางดวงปฐมมรรคนั้นแล้ว ใจก็จะดำเนินเข้าสู่ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทั นะตามลำดับ ต่อจากนั้นก็จะได้เห็นกายมนุษย์ละเอียดซึ่งมีลักษณะหน้าตาเหมือนกับตัวเรา แต่สวยงามกว่า เมื่อถึงกายมนุษย์
ละเอียดได้แล้ว ใจก็จะหยั่งรู้ได้เองว่า อ้อ...ชีวิตนี้มิได้มีเพียงแต่กายมนุษย์เปลือกนอกเท่านั้น หรือ
ชีวิตของเรามิได้สิ้นสุดลงที่เชิงตะกอนเท่านั้น ยังมีชีวิตภายในอันประเสริฐกว่าซ้อนอยู่อีก กายมนุษย์ละเอียดนั้นก็จะมองเห็นกายมนุษย์หยาบเหมือนบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ชั่วคราว เมื่อเห็นไปตามความเป็นจริงแล้ว ใจก็จะปล่อยวางจากกายมนุษย์หยาบเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียด เกิดความรู้สึกไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายมนุษย์หยาบและสิ่งที่เนื่องด้วยกายมนุษย์หยาบ เช่น บุตร ภรรยาสามี ทรัพย์สมบัติ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความทุกข์ก็มิอาจแล่นเข้าไปถึงกายภายในได้ ความทุกข์นั้นผ่านมา แล้วก็จะผ่านไป
การที่บุคคลโดยทั่วไปรู้สึกเป็นทุกข์โทมนั ก็เพราะยังมิได้เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด จึงยังมีอุปาทานยึดมั่นในตัวเราของของเราอยู่อย่างเหนียวแน่น แม้บางครั้งจะพิจารณาด้วยปัญญาอันหยาบตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาที่ตรัสไว้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลาย ก็เป็นเพียงแค่ความนึกคิด อาจจะระงับความทุกข์ลงได้บ้างชั่วครู่ชั่วยาม แล้วก็รบกวนจิตใจให้เกิดทุกข์ต่อไปอีก มิอาจสามารถตัดความทุกข์โทมนัส ให้เป็นสมุจเฉทเด็ดขาดลงได้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ตามเข้าไปเห็นกายในกาย
เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว ความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง ด้วยเหตุว่าอุปาทานยึดมั่นถือมั่นลดลง พร้อมกันนั้นความรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบาน อันเป็นความสุขในจิตใจก็จะเกิดขึ้น ทำให้กายมนุษย์ละเอียดมีกำลังใจเพียรพยายามดำเนินจิตเข้าไปสู่ภายในกลางของกลางยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก ด้วยประจักษ์แจ้งแล้วว่ายิ่งเข้าไปภายในก็ยิ่งมีความสุข
เนื่องจากธรรมชาติของกายต่าง ๆ ที่ซ้อน ๆ กันอยู่นั้น มีศูนย์กลางกายอยู่ตรงฐานที่ 7 ตรงกันหมด ดังนั้นการปฏิบัติโดยการวางใจไว้ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ทำนองเดียวกับการเริ่มต้นเข้าสู่ดวงปฐมมรรคจนบรรลุกายมนุษย์ละเอียด ใจก็จะเข้าถึงกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดกายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด จนบรรลุถึงกายธรรมระดับต่าง ๆ
ใจของกายธรรมนั้นมีญาณอันวิเศษ จึงสามารถมองเห็นว่ากายต่าง ๆ นับตั้งแต่กายมนุษย์จนถึงกายอรูปพรหมละเอียดนั้นล้วนเป็นเบญจขันธ์ คือตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์อันประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ยังเป็นโลกิยะ จึงยังข้องอยู่ในไตรวัฏฏ์ คือ กิเลสกรรมและวิบากส่วนใจของกายธรรมนั้นยิ่งระดับสูงขึ้นก็ยิ่งบริสุทธิ์ผ่องใสยิ่งขึ้น มีความสุขยิ่งขึ้นตามลำดับ กายธรรมนั้นเล่าก็เป็นโลกุตระ มิได้ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ จึงเรียกว่าธรรมขันธ์ญาณของกายธรรมนั้นนอกจากจะสามารถพิจารณาไตรลักษณ์ได้แล้ว ยังสามารถพิจารณาอริยสัจ 4 ได้อีกด้วย เหล่านี้คืออริยมรรค อันนำไปสู่อริยผล และโลกุตรธรรมอันเป็นอมตะในที่สุด
ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสอนให้พระภิกษุเจริญโลกุตรฌาน เพื่อให้งัดจากกาม งัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อปหานเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ เมื่อบรรลุปฐมฌานย่อมประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติสุข และเอกัคคตา การพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เนือง ๆ เช่นนี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
1.7.2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนานี้ ในระดับต้นนั้นคือ การเห็นสุข ทุกข์ไม่สุขไม่ทุกข์ อยู่กลางกายมนุษย์ละเอียด ไม่ว่าสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์นั้นล้วนมีลักษณะสัณฐานเป็นดวงกลมอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด จะต้องเห็นกายก่อนแล้วจึงเห็นเวทนา กล่าวคือในขณะที่จะดูกายนั้นต้องกำหนดใจไว้ ณ ศูนย์กลางกายมนุษย์ ครั้นเมื่อเห็นกายมนุษย์ละเอียดแล้ว ก็จะเห็นเวทนาเป็นดวงกลม อยู่กลางกายมนุษย์ละเอียดนั้น เวทนาของกายมนุษย์นั้นเป็นเวทนาที่อยู่นอกเวทนาของกายมนุษย์ละเอียด ดังนั้นเวทนาของกายมนุษย์จึงเป็นเวทนาภายนอกส่วนเวทนาของกายมนุษย์ละเอียดเป็นเวทนาภายใน
ดังนั้น พระโยคาวจรผู้เจริญฌาน เมื่อสามารถตามเห็นกายในกายเข้าไปภายในตามลำดับ ย่อมเห็นเวทนาในเวทนาไปพร้อมกันตามลำดับด้วย
ตราบใดที่พระภิกษุผู้เจริญฌานพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนือง ๆ อยู่ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน ใจของผู้เจริญโลกุตรฌานก็จะเย็นลง ขณะเดียวกันก็มีความรู้รอบคอบ มีสติมั่นคง ไม่ฟันเฟอน ไม่เผลอ ดังพระบาลีว่า อาตาปี มฺปชาโน ติมา เช่นนี้แล้วย่อมกำจัดอภิชฌา โทมนัสตลอดจนสังโยชน์ทั้งปวงออกเสียได้ในที่สุด
1.7.3 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ การพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เนือง ๆ นั้นคือ ถ้าจิตระคนด้วยราคะก็ทราบชัดว่าจิตระคนด้วยราคะ จิตปราศจากราคะก็ทราบชัดว่าปราศจากราคะ จิตระคนด้วยโทสะก็ทราบชัดว่าระคนด้วยโทสะ จิตปราศจากโทสะก็ทราบชัดว่าปราศจากโทสะ จิตระคนด้วยโมหะก็ทราบชัดว่าระคนด้วยโมหะ จิตปราศจากโมหะก็ทราบชัดว่าปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็ทราบชัดว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็ทราบชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตตั้งมั่นก็ทราบชัดว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็ทราบชัดว่าไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นก็ทราบชัดว่าจิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้นก็ทราบชัดว่าไม่หลุดพ้น
การพิจารณาเห็นจิตในจิตนั้นทำอย่างไร ตามธรรมชาตินั้นที่ตั้งถาวรของใจมนุษย์ตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ใจย่อมประกอบด้วยดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ซ้อนกันอยู่ดวงนอกสุดคือดวงเห็น หรือดวงกายก็เรียก เป็นที่ตั้งของเห็น ธาตุเห็นอยู่ตรงศูนย์กลางดวงกายถัดจากดวงเห็นเข้าไปก็คือดวงจำ หรือดวงใจก็เรียก เป็นที่ตั้งของจำ ธาตุจำอยู่ตรงศูนย์กลางดวงใจถัดจากดวงจำเข้าไปคือดวงคิด หรือดวงจิตก็เรียก เป็นที่ตั้งของคิด ธาตุคิดอยู่ตรงศูนย์กลางดวงจิตถัดจากดวงคิดเข้าไปคือดวงรู้ หรือดวงวิญญาณก็เรียก เป็นที่ตั้งของรู้ ธาตุรู้อยู่ศูนย์กลางดวงวิญญาณนั้นเอง
ธาตุเห็น จำ คิด รู้ ทั้ง 4 ประการที่ซ้อนกันอยู่นี้ อาจแสดงให้เข้าใจได้ง่าย โดยแผนภูมิต่อไปนี้ คือ
( แผนภูมิ แสดงการซ้อนของธาตุเห็น จำ คิด รู้ ที่อยู่ภายในใจของเราทุกคน )
เห็น จำ คิด รู้ 4 ประการนี้สามารถจะไปถึงสถานที่ใด ๆ ในโลกนี้เพียงชั่วพริบตาเดียวดังที่เรียกกันว่า เราส่งใจไป นั่นหมายความว่า กายมนุษย์ละเอียดของเราถูกส่งไป บุคคลที่บรรลุธรรมกายแล้ว จะสามารถเห็นกายมนุษย์ละเอียดของเราได้ชัดเจน รู้ว่าเรากำลังไปยุ่งอยู่ ณ ที่ใด จำหน้าตาจำตัวของผู้เป็นเจ้าของกายมนุษย์ละเอียดนั้นได้ดี
เห็น จำ คิด รู้ 4 อย่างนี้ รวมซ้อนกันเป็นจุดเดียวกันเป็นกายละเอียด แยกกันไม่ได้ถ้าแยกกันเมื่อใดกายละเอียดก็ถึงแก่มรณกรรมเมื่อนั้น เมื่อกายละเอียดจุติไปแล้ว กายมนุษย์หยาบจะดำรงชีวิตอยู่ได้นั้นอย่าพึงหวังเลย แม้เพียงการได้เห็นจิตแห่งกายมนุษย์ซึ่งถือว่าเป็นจิตภายนอก และการได้เห็นจิตแห่งกายมนุษย์ละเอียด ซึ่งถือว่าเป็น จิตภายใน อันดับแรก ก็ยุ่งยากซับซ้อนถึงเพียงนี้ จึงมิจำเป็นต้องพรรณนาว่า การเห็นจิตของกายภายในต่าง ๆ นั้นจะยุ่งยากซับซ้อนสักเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความยุ่งยากซับซ้อนนั้น คือเรื่องของ "ปัญญา" อันเป็นสิ่งมีคุณค่ามหาศาล พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีจึงได้กล่าวว่า
"นี่ถ้าว่าทำธรรมกายเป็นละก็ มันฉลาดกว่ามนุษย์หลายสิบเท่าเชียวนะ นี่พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดก็ฉลาดกว่าเท่าหนึ่งแล้วสูงกว่าเท่าหนึ่งแล้ว เข้าถึงกายทิพย์ก็สองเท่าแล้ว กายทิพย์ละเอียดก็สามเท่าแล้ว กายรูปพรหมก็ สี่เท่า กายรูปพรหมละเอียดก็ห้าเท่า กายอรูปพรหมก็หกเท่า กายอรูปพรหมละเอียดก็เจ็ดเท่า เข้าถึงกายธรรมและกายธรรมละเอียดก็แปดเก้าเท่าเข้าไปแล้ว มันมีความฉลาดกว่ากันอย่างนี้นะ ให้รู้จักว่าของสูงของต่ำอย่างนี้"
การพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เนือง ๆ จิตนั้นหมายถึงเฉพาะดวงจิต ซึ่งมีหน้าที่คิด แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะได้มีหน้าที่เห็น จำ หรือรู้ ก็หามิได้ ทั้งมิอาจสามารถจะแลกเปลี่ยนหน้าที่กับดวงเห็น ดวงจำ และดวงรู้ได้เลย อุปมาเสมือนดวงจันทร์ก็มิอาจจะกระทำหน้าที่แทนดวงอาทิตย์ได้ฉะนั้น
จิตนั้นมีลักษณะสัณฐานอย่างไร จิตอันบริสุทธิ์ หรือที่เรียกว่า ภวังคจิต นั้นมีลักษณะเป็นดวงกลมใสเท่าตาดำข้างนอกของคนเรา ใสบริสุทธิ์ ใสเกินใสดวงจิตที่ใสนี้ เมื่อระคนด้วยราคะอันมีลักษณะเป็นสีแดง ดวงจิตนั้นย่อมเปลี่ยน ภาพไปตามสิ่งที่เข้ามาปะปน มิอาจจะใสบริสุทธิ์ดังเดิมได้ ครั้นจิตระคนด้วยโทสะเล่า ก็จะเสมือนถูกระคนด้วยน้ำเขียวและดำ หากจิตระคนด้วยโมหะ ก็จะเปลี่ยนจากความใสบริสุทธิ์ไป เสมือนระคนด้วยสีแห่งโคลนตม
อันสภาวะแห่งจิตนี้ มีเกิดและดับไปเป็นธรรมดาสภาวะอันเกิดดับนี้ เป็นสภาวะความเปลี่ยนแปลงของจิตการพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ นั้นคืออย่างไร การพิจารณาเห็นจิตภายนอกนั้นคือ เห็นจิตแห่งกายมนุษย์ การพิจารณาเห็นจิตภายในนั้นคือ เห็นจิตแห่งกายมนุษย์ละเอียดว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีการเกิดดับ เกิดดับอย่างไร เมื่อพระโยคาวจรเห็นอยู่เนือง ๆ เป็นธรรมดาอย่างชัดแจ้งทั้งความเกิดความดับแล้ว ก็จงตั้งสติมั่นให้จิตมีอยู่เพียงสักแต่ว่ารู้สักแต่ว่าอาศัยความระลึก อันตัณหาและทิฏฐิเข้าไปอาศัยมิได้เลยไม่ถือมั่นอะไรเลยในโลก รู้ว่าปล่อยวางแล้ว ไม่ติด ไม่แตะอะไร ๆ แล้ว การรู้ชัด ๆ เห็นชัด ๆ เช่นนี้ คือการพิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ
1.7.4 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นธรรมภายในและภายนอกอยู่เนือง ๆ การพิจารณาเห็นธรรมภายในนั้นคือ เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดส่วนการพิจารณาเห็นธรรมภายนอกนั้นคือ เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ หากปราศจากดวงธรรมเหล่านี้เสียแล้ว กายต่าง ๆ ก็มิอาจดำรงอยู่ได้ ขณะที่พระโยคาวจรเจริญสมถภาวนาและวิปัสนาภาวนา ครั้นบรรลุกายต่าง ๆ ย่อมได้เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายต่าง ๆ ไปพร้อมกันด้วย เมื่อได้บรรลุแล้วย่อมประจักษ์แจ้งแห่งความเป็นจริง เกิดปัญญาหยั่งรู้ในสัจธรรมไปตามลำดับ อันเป็นปัจจัยให้สามารถลดละตัณหาทั้งปวงอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เสียได้
1.8. สัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธินั้นเป็นอย่างไร ภาวะที่จิตสงัดจากกิเลสกามและวัตถุกามแล้ว เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานสมาธิจิตในฌานทั้ง 4 ระดับนี้ ตถาคตเรียกชื่อว่าสัมมาสมาธิ
การจำแนกฌานสำหรับฌานนั้นมีการจัดเป็นสองอย่าง คือ
1. จตุกนัย
2. ปัญจกนัย
1. จตุกนัย คือ การแบ่งฌานออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
1.1 ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา
1.2 ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์ 3 คือ ปีติสุข เอกัคคตา
1.3 ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์ 2 คือสุข และเอกัคคตา
1.4 จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์ 2 คือ เอกัคคตา และอุเบกขา
2. ปัญจกนัย คือ การแบ่งฌานออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
2.1 ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ 5 เช่นเดียวกับปฐมฌานในจตุกนัย
2.2 ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์ 4 คือ วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา
2.3 ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์ 3 คือ ปีติสุข เอกัคคตา
2.4 จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์ 2 คือสุข และเอกัคคตา
2.5 ปัญจมฌาน ประกอบด้วยองค์ 2 คือ เอกัคคตา และอุเบกขา
จะเห็นว่า ไม่ว่าจะจัดแบ่งแบบไหน ฌานทุกระดับล้วนมีสมาธิจิตเอกัคคตาเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree