มรรคมีองค์ 8 เกิดพร้อมกับกุศลกรรมทั้งปวง

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

มรรคมีองค์ 8 เกิดพร้อมกับกุศลกรรมทั้งปวง

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจสี่ , ระดับมรรคมีองค์ 8 เกิดพร้อมกับกุศลกรรมทั้งปวง  , มรรคมีองค์ 8

     มรรคทั้ง 8 ประการนี้ ย่อมบังเกิดในภูมิทั้ง 4 คือ กามาพจรภูมิ รูปาพจรภูมิ อรูปาพจรภูมิ และโลกุตรภูมิ เมื่อบังเกิดในโลกุตรภูมิ ก็ได้ชื่อว่าโลกุตรมรรค เมื่อบังเกิดในกามาพจรภูมิก็ได้ชื่อว่าโลกิยมรรค มรรคอันเป็นโลกีย์นั้น คือสัตบุรุษผู้มีศรัทธาสร้างกุศลอันประกอบด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และ ดับฟังพระธรรมเทศนาเป็นสำคัญ หมายความว่าบุคคลบำเพ็ญทานครั้งใด ครั้งนั้นก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ถ้ารักษาศีลครั้งใดครั้งนั้นก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ถ้าได้บำเพ็ญเพียรภาวนาและ ดับฟังพระธรรม
เทศนาเวลาใด เวลานั้นก็ได้ชื่อว่า บำเพ็ญมรรคมีองค์ 8 ทั้งนี้เพราะมรรคทั้ง 8 ประการนี้เกิดพร้อมด้วยศีล ทาน และการกุศลทั้งปวงนั้นทุก ๆ ครั้ง

     ขณะใดที่พระโยคาวจรบำเพ็ญมรรคมีองค์ 8 ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และถูกต้องตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือส่งใจเข้าไปอยู่ในตัว ตั้งมั่นอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 แล้ว ใจจะปล่อยวางจากอารมณ์ภายนอก ครั้นปฏิบัติได้ถูกส่วน ก็จะเห็นดวงใสะอาดบริสุทธิ์เกิดขึ้น ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นั่นเอง ดวงใสนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างเล็กมีขนาดเท่าดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ดวงปฐมมรรคนี้เกิดขึ้นจากการประชุมพร้อมกันของมรรคมีองค์ 8หรือเรียกว่า มรรคสมังคี ซึ่งเป็นต้นทางเดินของใจไปสู่อายตนนิพพาน

    เมื่อโยคาวจรดำเนินจิตบรรลุถึงดวงปฐมมรรคแล้ว ถ้าวางจิตนิ่งอยู่กับที่ จิตก็อาจจะถอนกลับมาสู่อารมณ์ภายนอกดังเดิม ดังนั้นท่านจึงสอนมิให้วางจิตอยู่กับที่ แต่ให้ดำเนินจิตเข้าสู่กลางดวงปฐมมรรคนั้น ไม่ช้ามรรคสมังคีก็จะขยายออกกว้าง จิตก็จะดำเนินเข้าสู่ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ตามลำดับ ดวงเหล่านี้มีลักษณะซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เมื่อดำเนินจิตต่อไปอีกก็จะพบกายในกายตามหลักสติปัฏฐาน 4 ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอนไว้ว่า ให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ กายต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ภายในนั้น หากเป็นกายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาก็จงปล่อยวางเสีย แล้วดำเนินจิตผ่านไปเรื่อย ๆ จนเข้าถึงกายธรรม ซึ่งเป็นกายละเอียดที่สุด

      กายต่าง ๆ อันตกอยู่ในไตรลักษณ์ และอยู่ระหว่างดวงปฐมมรรคกับกายธรรมนั้น ได้แก่ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม และกายอรูปพรหมละเอียด กายเหล่านี้ล้วนประกอบด้วยเบญจขันธ์ หรือขันธ์ 5 อันได้แก่ รูป เวทนาสัญญาสังขาร และวิญญาณ

   ส่วนกายธรรมนั้นมิได้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ จึงเรียกว่า ธรรมขันธ์ ด้วยเหตุว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันประกอบกันขึ้นเป็นกายธรรมนั้น ถูกกลั่นจนใสะอาดบริสุทธิ์ กระนั้นก็ตามกายธรรมก็ยังถูกจำแนกแจกแจงออกเป็นหลายระดับด้วยกัน ด้วยเหตุว่ามีความบริสุทธิ์ต่างกัน

    กายธรรมระดับต้นสุด ซึ่งอยู่ถัดจากกายอรูปพรหมละเอียดเข้าไปนั้น คือ กายธรรมโคตรภู ถัดไปเป็นกายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด กายธรรมพระอนาคามีกายธรรมพระอนาคามีละเอียด กายธรรมพระอรหัต กายธรรมพระอรหัตละเอียด รวมทั้งสิ้น 10 กายด้วยกัน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.047471582889557 Mins