ต้องการหลุดพ้น ต้องดับตัณหา 3
อย่างไรก็ตาม โยคาวจรกุลบุตรทั้งหลายผู้ประกอบด้วยวิจารณปัญญาพิจารณาเห็นโทษภัยแห่งสังสารวัฏและอบายทุกข์โดยชัดแจ้ง จึงอุตสาหะพากเพียรบำเพ็ญกุศลนับตั้งแต่การบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญเมตตาภาวนา พิจารณาไตรลักษณ์ อันประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เป็นอารมณ์อยู่เนือง ๆ ยังน้ำจิตให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณโดยสม่ำเสมอ บำเพ็ญทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยปรารถนาจะพาตนให้พ้นจากวัฏสงสาร ตั้งเป้าหมายเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้จึงจะเป็นการปฏิบัติให้สิ้นภพสิ้นชาติให้ขาดจากกองทุกข์ทั้งปวง มิต้องเป็นห่วงอาวรณ์อาลัยอยู่ในภพทั้งสามเป็นการปฏิบัติเพื่อขจัดตัณหาทั้ง 3 ประการดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เวียนว่ายเสวยทุกข์อยู่ในภพทั้งสาม
พระธรรมเทศนาเกี่ยวกับตัณหา 3 อันเป็นเหตุปัจจัยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายเสวยทุกข์อยู่ในภพสามนี้ ยังมีปรากฏอยู่ในสูกรโปติกาวัตถุ ในนิพพานวรรค ซึ่งมีเนื้อความโดยย่อว่า
วันหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปทรงบาตรในเมืองราชคฤห์ทอดพระเนตรเห็นลูกสุกรเพศเมียตัวหนึ่งแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์เหลือบเห็นพระอาการเช่นนั้น จึงทูลถามถึงสาเหตุที่ทรงแย้มพระโอษฐ์ ต่อมาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าเรื่องนี้ว่า ลูกสุกรเพศเมียตัวนั้นเคยเกิดเป็นแม่ไก่อยู่ในบริเวณใกล้ศาลาโรงฉันแห่งหนึ่ง ในครั้งพระศาสนาของพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้าโน้น แม่ไก่นั้นได้ฟังเสียงสาธยายธรรมของภิกษุทั้งหลายเกี่ยวกับเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน จึงมีจิตยินดีเลื่อมใสศรัทธาในเสียงสาธยายธรรมนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ครั้นจุติจากชาติที่เป็นแม่ไก่นั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นพระราชธิดาในราชตระกูลหนึ่งมีนามว่า อุพพรีราชกัญญา อยู่มาวันหนึ่งอุพพรีราชกัญญาได้เข้าไปสู่สถานที่ถ่ายวัจจะหรือส้วมหลุมนางได้แลเห็นกองหนอนจำนวนมากมายในสถานที่นั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดปลงสังเวชแล้วได้สำเร็จปฐมฌาน เมื่ออุพพรีราชกัญญาอยู่ในราชตระกูลจนหมดอายุขัยแล้ว ก็จุติจากราชตระกูลไปบังเกิดในพรหมโลก ครั้นจุติจากพรหมโลกแล้ว ก็เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสารเรื่อยมาจนถึงมาบังเกิดเป็นสุกรในศาสนาของตถาคตดังที่เห็นปรากฏอยู่ในขณะนี้ พระอานนท์กับพระสงฆ์ทั้งหลายได้ ดับเหตุทั้งปวงแล้ว ก็มีความสังเวชเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังความสังเวชให้บังเกิดแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสเทศนาโทษแห่งภวตัณหาต่อไปอีกว่า ตามธรรมดาตัณหานี้เป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์ ถ้าท่านทั้งหลายปรารถนาจะดับทุกข์ ก็พึงปฏิบัติตนให้ตัณหาดับไปเสียก่อน จึงจะดับทุกข์ทั้งปวงได้เด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่สามารถดับทุกข์ทั้งปวงให้เด็ดขาดลงไปได้ ตราบใดที่ยังมีตัณหาอยู่ในกมลสันดาน ตราบนั้นกองทุกข์ทั้งปวงก็จะบังเกิดขึ้นเนือง ๆ ไม่มีสุดสิ้น เปรียบประดุจดังพฤกษชาติ ซึ่งบุคคลโค่นทิ้งโดยมิได้ขุดถอนราก ย่อมกลับฟนคืนชีพขึ้นมาอีกได้
ตามธรรมดาต้นไม้ใหญ่ที่บุคคลตัดทอนรอนรานเฉพาะกิ่งและลำต้น มิได้ขุดทำลายรากแก้วรากฝอยซึ่งหยั่งลึกลงในดิน เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปมิช้ามินาน ต้นไม้นั้นก็จะแตกกิ่งก้านสาขาใหญ่โตเหมือนดังเดิมอีก ข้อนี้ฉันใด ต้นไม้และกิ่งไม้ทั้งปวง ย่อมเปรียบเสมือนกองทุกข์ ซึ่งรากแก้วคือตัณหานุสัย ยังมิได้ถูกตัดขาดด้วยอำนาจพระอรหัตมรรคญาณฉันนั้น เพราะจะสามารถเจริญเติบใหญ่เหมือนกาลก่อนได้อีก
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า กระแสแห่งตัณหาทั้งหลายย่อมไหลไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอันเป็นที่รักใคร่เป็นที่เจริญใจของบุคคลโดยมิรู้สิ้นสุด กระแสแห่งตัณหานั้นเชี่ยวกรากแรงกล้ายิ่งนักสันดานแห่งบุคคลใดเลื่อนลอยไปตามกระแสแห่งตัณหาแล้วสันดานแห่งบุคคลผู้นั้นก็จัดว่าปราศจากปัญญา ไม่รู้จักพิจารณาเห็นผิดและชอบ คุณและโทษ บุญและบาป เมื่อปราศจากปัญญาแล้ว ทิฏฐิก็บังเกิดในสันดานนั้นเนือง ๆ มากไปด้วยทิฏฐิเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดีโดยตลอด ไม่สนใจการเจริญสมถวิปัสสนา เมื่อหาฌานและวิปัสสนาญาณมิได้สันดานก็มากไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐินั้นก็จะชักนำให้ก่ออกุศลกรรมต่าง ๆ เมื่อกระทำอกุศลกรรมต่าง ๆ ก็มีแต่จะนำมาซึ่งความฉิบหายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
1.1 ตัณหาเหมือนยางไม้
อันตัณหานี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงอุปมาไว้ว่าเหมือนยางมะพลับและยางรัก ซึ่งเป็นยางไม้อันเหนียวยิ่ง หากติดเข้ากับสิ่งใดแล้ว ก็จะกระชับแน่นมั่นคงยากที่จะหลุดถอนออกข้อนี้ฉันใด ยางคือตัณหานี้ก็ติดกระชับจิตสันดานให้บุคคลรักใคร่ ผูกพันติดอยู่ในอารมณ์ที่ตนปรารถนาอย่างไม่เคลื่อนคลายฉันนั้น ยางรักและยางมะพลับที่ติดกระชับอยู่อย่างมั่นคงมิได้หลุด มิได้ถอนนั้น เสมือนพระภิกษุที่ยังเป็นโลกิยจิต ยังรักใคร่พัวพันอยู่กับบาตร จีวร และเครื่องบริขารต่าง ๆ เพราะมียางคือตัณหาเป็นมูลเหตุสัตว์ทั้งหลายที่ส่งอารมณ์ไปในวัตถุกามและกิเลสกาม จะมีความชื่นชมโสมนัสและมีความกำหนัดติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น ก็อาศัยยางคือตัณหานี้เป็นมูลเหตุ
1.2 ตัณหาคือเครื่องจองจำอันเหนียวแน่นยิ่ง
อันบุคคลที่ลุแก่อำนาจตัณหานั้น ย่อมแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสแสวงหาความสุขในเบญจกามคุณสำคัญมั่นคงอยู่ว่า ถ้าบริบูรณ์ด้วยกามคุณแล้วก็เป็นสุข ครั้นเมื่อแสวงหาความสุขความยินดีในเบญจกามคุณอยู่เช่นนั้น ก็มีแต่จะต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกระแสวัฏสงสาร เวียนตายเวียนเกิด เวียนหนุ่มเวียนแก่ เวียนเจ็บไข้ มิอาจจะข้ามพ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดารสมรณะกันดารได้ เพราะเหตุลุแก่อำนาจตัณหา
อันบุคคลที่ลุแก่อำนาจตัณหา ตัณหาเข้าแวดล้อมค้ำชูอยู่นั้น ย่อมจะปรีดิ์เปรมเกษมสุขสบายกายและใจอยู่ได้ ก็แต่เฉพาะในขณะที่ความทุกข์ความพิบัติยังมาไม่ถึง ถ้าความทุกข์ความพิบัติมาถึงแล้วไซร้ ย่อมสะดุ้งตกประหม่าควบคุมสติไม่ได้ เปรียบประดุจกระต่ายซึ่งติดบ่วงนายพรานป่า อันกระต่ายซึ่งติดบ่วงของนายพรานป่าที่ดักไว้ในราวป่านั้น ย่อมมีกายประหวั่นพรั่นพรึงด้วยความกลัวนายพรานอย่างสุดชีวิต ตัณหานั้นเปรียบดังตัวนายพราน บุคคลที่ลุแก่อำนาจตัณหานั้นเปรียบประดุจกระต่าย ราวป่าอันเป็นที่อาศัยของกระต่ายนั้นเปรียบประดุจกามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ขณะเมื่อกระต่ายยังมิได้ติดบ่วงของนายพราน ย่อมมีความรื่นเริงบันเทิงใจโลดเต้นไปตามอัชฌาสัยของตนนั้น เปรียบประดุจดังบุคคลที่ลุแก่อำนาจตัณหา จึงขวนขวายแสวงหาความสุขความยินดีในเบญจกามคุณทั้ง 5 ประการ ขณะเมื่อกระต่ายติดบ่วงของนายพรานและมีความสะดุ้งตกใจสะท้านกายประหวั่นขวัญหายนั้นเปรียบดังพาลปุถุชนที่ลุแก่อำนาจตัณหา ซึ่งถูกบ่วงคือสังโยชน์มารัดรึงไว้ มิให้ล่วงพ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร และมรณกันดารได้
แท้จริงสัตว์ทั้งหลายที่ติดอยู่ในสังโยชน์ คือตัณหานั้น ย่อมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เวียนทุกข์ยากไม่รู้จักสิ้นสุด ไม่มีกำหนดว่าเมื่อใดจะพ้นภัย ด้วยเหตุนี้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงบรรเทาเสียซึ่งตัณหาเถิด อย่าได้เอื้อเฟื้ออาลัยอยู่ในตัณหาอันผลักดันให้เกิดปรารถนาในเบญจกามคุณนี้เลย พึงละสังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ทั้ง 10 อย่างดังนี้
- โอรัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ได้แก่
1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
2. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย
3. สีลัพพตปรามา คือ ความถือมั่นในศีลพรต
4. กามราคะ คือ ความติดใจในกามคุณ
5. ปฏิฆะ คือ ความกระทบกระทั่งในใจ
- อุทธัมภาคิยสังโยชน์ หมายถึงสังโยชน์เบื้องสูง ได้แก่
6. รูปราคะ คือ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต
7. อรูปราคะ คือ ความติดใจในอรูปธรรม
8. มานะ คือ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่
9. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง
แล้วจงปรารถนาพระนิพพานอันปราศจากราคะ โทสะ โมหะเถิด เพราะพระนิพพานนั้นเป็นที่เกษมสานต์บรมสุขโดยแท้ หาทุกข์สิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเจือปนมิได้ จงอุตสาหะพยายามแสวงหาพระอรหัตมรรคญาณ และประหารตัณหาเสียให้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท เพื่อจะได้บรรลุพระนิพพานอันอมตะนั้นเถิด
ผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงพิจารณาเถิดว่า ธรรมดาว่าบ่วง คือตัณหานี้ เป็นบ่วงอันมั่นคงบ่วงใด ๆ จะมั่นคงแน่นหนาเหมือนบ่วงตัณหานี้หามิได้เลย ถึงแม้เครื่องจองจำซึ่งทำด้วยเหล็ก เช่น โซ่ตรวนก็ดี ทำด้วยไม้ เช่น ขื่อและคาก็ดี ทำด้วยป่านและปอ เช่น เชือกสำหรับผูกมัดนักโทษก็ดี เครื่องผูกและเครื่องจองจำทั้งปวงนี้ ถึงจะผูกให้แน่นหนาเพียงใด ก็ไม่มั่นคงเหมือนดังเครื่องผูกเครื่องจองจำคือ ตัณหา
เครื่องจองจำอื่นนั้น ถ้าบุคคลปรารถนาจะตัดฟันด้วยมีดพร้าและขวานที่คมแล้ว ก็อาจจะตัดฟันเสียได้ แต่เครื่องจองจำคือตัณหานี้ ถึงแม้จะมีพร้าและขวานที่คมสักปานใด ก็มิอาจจะตัดฟันให้ขาดสะบั้นลงได้ เครื่องจองจำคือตัณหานี้ พ้นวิสัยที่จะตัดฟันให้ขาดสะบั้นด้วยคมพร้าและขวาน ด้วยเหตุนี้ตถาคตจึงตรัสว่า เครื่องจองจำคือตัณหานั้น เป็นเครื่องจองจำอันมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าเครื่องจองจำทั้งปวง
เครื่องมืออันจะใช้ตัดเครื่องผูกคือตัณหาให้ขาดสะบั้นลงได้ มีอยู่เพียงสิ่งเดียวคือพระอรหัตมรรคญาณ บุคคลผู้แสวงหาดาบคือพระอรหัตมรรคญาณนั้น พึงจะต้อง ละเสียซึ่งกามสุข อย่าได้เอื้อเฟื้อมีใจอาลัยในกามราคะ พึงยินดีในการรักษาศีล ปฏิบัติธุดงค์ และเพียรพยายามในการเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เพียรพยายามเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนกว่าจะได้ดาบ คือพระอรหัตมรรคญาณ ถ้าประสบผลสำเร็จเมื่อใดก็จะตัดรอนเครื่องผูกคือตัณหาให้ขาดสะบั้นลงได้เมื่อนั้น
1.3 ตัณหาเปรียบดังแมงมุม
สัตว์ทั้งหลายที่ยินดีด้วยกามราคะ ย่อมเกี่ยวข้องอยู่ด้วยกามราคะและอำนาจแห่งโทสะย่อมลุ่มหลงอยู่ด้วยอำนาจแห่งโมหะ ย่อมประพฤติตนไปตามกระแสแห่งตัณหา มิอาจจะล่วงพ้นจากข่ายคือตัณหานี้ได้ เปรียบประดุจดังแมงมุม ซึ่งชักใยขึงออกไปเป็นตาข่ายสำหรับดักสัตว์ เช่น เหลือบและยุง เป็นต้น
ธรรมดาว่าแมงมุมนั้น เมื่อชักใยออกเป็นตาข่ายไว้แล้ว ก็นอนอยู่ท่ามกลางตาข่ายนั้นถ้ามีสัตว์อื่นเป็นต้นว่าเหลือบและยุงบินมาติดตาข่ายที่ตนขึงไว้ ในทันทีที่ตาข่ายไหวสะเทือนถึงตน เจ้าแมงมุมก็จะไต่ออกไปตามใยอย่างรวดเร็ว แล้วจับเอาสัตว์นั้นมาเจาะกินเยื่อ มองเป็นภักษาหาร ครั้นกินเสร็จแล้ว แมงมุมก็เคลื่อนกลับเข้าไปนอนรอเหยื่ออยู่ ณ ที่เดิม จะได้ออกไปจากตาข่ายเสียก็หามิได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด อุปไมยก็เช่นเดียวกับบุคคลที่ยินดีอยู่ในกามราคะข้องเกี่ยวอยู่ด้วยโทสะ ลุ่มหลงอยู่ด้วยโมหะนั้น ย่อมประพฤติตนตามกระแสแห่งตัณหา ประพฤติตัวตามความปรารถนาของตน มิอาจจะหักห้ามใจตนให้หันเหออกพ้นจากกระแสแห่งตัณหาได้จึงต้องไหลเวียนไปตามอำนาจแห่งตัณหา เปรียบประดุจดังแมงมุมอันเวียนวนอยู่ในใยของตนนั้นเอง อันใยแมงมุมนี้ อริยชนผู้เป็นปราชญ์ทั้งหลายย่อมตัดให้ขาดลงได้ ด้วยอำนาจพระอรหัตมรรคญาณ ประหารให้เป็นสมุจเฉทมิให้กลับติดต่อเข้ากันอีกได้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree