ตัณหา 3

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

ตัณหา 3

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจสี่ , ตัณหา 3 , ทุกข์

      สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งตัณหาออกเป็น 3 ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

      1. กามตัณหา คือ ความทะยานอยากของจิตอันเต็มไปด้วยความโลภ เป็นความทะยานอยากในกามคุณ 5 อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เป็นความทะยานอยากของบุคคลที่มีความเห็นว่า กามคุณ 5 คือสิ่งที่สามารถบันดาลความสุขได้อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงตั้งความปรารถนาจะได้บังเกิดในโลกมนุษย์หรือ วรรค์ ซึ่งได้ชื่อว่า กามภพ บุคคลที่มีความเห็นเช่นนี้ต่างพยายามบำเพ็ญทาน รักษาศีล และสร้างกุศลทั้งปวง เพื่อให้บรรลุความปรารถนาที่ตั้งไว้ เช่นนี้จัดว่าเป็นกามตัณหา ตถาคตตรัสเรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

      2. ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ ภว หรือ ภพ เป็นความทะยานอยากของจิตบุคคลที่มีความเชื่อว่า การได้ไปบังเกิดเป็นพรหมจะไม่ต้องประสบกับความชราและมรณะ จะมีภาวะคงที่เช่นนั้นตลอดไป จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจพากเพียรเจริญฌานสมาบัติ ด้วยจิตปรารถนาจะไปบังเกิดในพรหมโลก

    สมณพราหมณ์ที่มีความเชื่อเช่นนี้ มีประสบการณ์จากการพากเพียรปฏิบัติเจโตสมาธิทำจิตให้บริสุทธิ์ ผ่องใสปราศจากอุปกิเล จึงสามารถระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในอดีตกาลนับด้วยร้อยชาติ พันชาติ แสนชาติสามารถระลึกได้ว่า ในอดีตชาติตนเคยเป็นอะไร ในภพใดมีชื่อโคตรอย่างไร มีผิวพรรณอย่างไร เคยเสวยสุขและทุกข์อย่างไร เมื่อจุติจากภพหนึ่งแล้วไปบังเกิดอีกภพหนึ่งจนกระทั่งมาบังเกิดในภพนี้ ประสบการณ์จากการเจริญฌานสมาบัติของสมณพราหมณ์เหล่านี้ อย่างสูงสุดอยู่ในระดับรูปภพหรือภาวะแห่งรูปพรหมนั่นเอง สมณพราหมณ์เหล่านี้จึงมีความเชื่อมั่นว่า พรหมเป็นผู้ประเสริฐสุดและเที่ยงแท้ ดังนั้นในชาตินี้เมื่อตนต้องมาบังเกิดในโลกมนุษย์ จึงพากเพียรเจริญฌานสมาบัติ เพื่อให้ได้กลับไปบังเกิดในพรหมโลกอีก ความเห็นเช่นนี้จัดเป็นภวตัณหา ตถาคตตรัสเรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

     3. วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในวิภพ เป็นความปรารถนาในจิตของสมณพราหมณ์ที่มีความเชื่อว่า ถ้าได้ไปบังเกิดในอรูปภพ เป็นอรูปพรหม จะไม่ต้องกลับมาบังเกิดในโลกมนุษย์อีก จะดับสังขารหมดสิ้น ณ อรูปภพนั้น แล้วเข้าสู่พระนิพพาน

    สมณพราหมณ์ที่มีความเชื่อเช่นนี้ มีประสบการณ์จากการพากเพียรปฏิบัติเจโตสมาธิทำจิตให้บริสุทธ์ ผ่องใสปราศจากอุปกิเลสได้ทิพยจักษุ พากเพียรปรารภขันธ์ในอนาคต เพื่อตามศึกษาดูว่า หลังจากความตายแล้วอัตตาจะเป็นอย่างไร มณพราหมณ์ในกลุ่มนี้มีประสบการณ์สูงสุดอยู่ที่อรูปภพ คือภพของอรูปพรหม ไม่สามารถเห็นไปไกลกว่านั้น ผลจากการเจริญฌานสมาบัติทำให้มีความเห็นว่า การได้ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม เมื่อกายแตกแล้วอัตตาย่อมขาดสูญ ดังนั้นในชาตินี้เมื่อตนต้องบังเกิดเป็นมนุษย์ จึงพากเพียรเจริญฌานสมาบัติเพื่อให้ได้ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม ความเห็นเช่นนี้จัดเป็นวิภวตัณหา ตถาคตตรัสเรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

          นักปราชญ์ผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า ตัณหา 3 ประการนี้ ได้ชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ เพราะว่าเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกองทุกข์ต่าง ๆ ได้กล่าวมาแล้วว่า กามตัณหาซึ่งปรารถนาเบญจกามคุณทั้ง 5 นั้น เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกองทุกข์ในกามภพ ภวตัณหา และวิภวตัณหานั้น เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกองทุกข์ในพรหมโลกทั้งสองชั้น คือ รูปภพ และอรูปภพ ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอธิบายอรรถแห่ง มุทัยว่า กองทุกข์ทั้งปวงนั้นย่อมเกิดมาจากตัณหาสิ่งเดียว จะได้เกิดมาแต่สิ่งอื่นก็หามิได้ ถ้าเว้นจากตัณหาเสียแล้ว ชาติทุกข์ ชราทุกข์
และมรณทุกข์นั้น จะไม่มีเป็นอันขาด

         นักปราชญ์ผู้มีปัญญาควรพิจารณาปลงธรรมสังเวชเถิดว่า ตัณหาตัวนี้นี่แหละที่พาให้สัตว์ว่ายเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารอยู่เป็นเวลานานแสนนานนับภพนับชาติมิได้ โดยไม่เห็นฝังหรือไม่เห็นสถานที่ใดพอจะเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้เลย ได้แต่วนไปเรื่อย ๆ ตถาคตจึงตรัสเรียกตัณหาว่า มุทัย เพราะตัณหานี้เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกองทุกข์ทั้งปวง พระอริยเจ้าย่อมได้เห็นเหตุนี้ประจักษ์แจ้งแล้ว จึงมีบัญญัติเรียกชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ


1.1 กามตัณหาพาไปสู่อบายภูมิ
      ตัณหาทั้งหลายล้วนบังเกิดจากความโลภแห่งจิตฝ่ายอกุศล จึงล้วนเป็นบาปทั้งสิ้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาว่า โลภจิตนี้มีลักษณะยึดมั่นถือมั่นในวัตถุที่ตนรักใคร่ปรารถนาอย่างไม่มีละ ไม่มีวาง จิตของบุคคลนั้นรัดรึงตรึงติดอยู่กับวัตถุสิ่งของที่ตนปรารถนาอย่างเหนียวแน่น เปรียบประดุจดังวานรติดตัง ธรรมดาของวานรที่ติดตังนั้น แรกทีเดียวจะติดเฉพาะตรงที่นั่งก่อน ด้วยความคิดจะดึงก้นให้พ้นจากตรงที่นั่ง วานรจึงใช้เท้าทั้งสี่ยันเพื่อจะพยุงตัวขึ้น อนิจจา! เท้าทั้งสี่นั้นก็ติดตังเข้าไปอีก รวมเป็นติดห้าแห่ง วานรจึงใช้
ปากกัด ปากก็ติดตังเข้าไปอีก รวมเป็นหกแห่ง วานรนั้นจึงไม่สามารถจะไหวติงกายได้ เรื่องนี้มีอุปมาฉันใด โลภจิตย่อมมีลักษณะให้รู้สึกรักใคร่รัดรึงตรึงตราอยู่ในวัตถุสิ่งของที่ตนปรารถนาก็มีอุปไมยฉันนั้น

        โลภจิตนี้คอยกระตุ้นให้อารมณ์ข้องติดตรึงตราอยู่ในวัตถุซึ่งตนรักใคร่พอใจอยู่เป็นเนืองนิจ เปรียบประดุจดังชิ้นเนื้อที่บุคคลโยนลงในภาชนะกระเบื้องร้อน ๆ เนื้อนั้นก็จะติดกรังอยู่กับกระเบื้องร้อนนั้นเอง ฉันใดก็ดี โลภจิตเมื่อบังเกิดขึ้นบ่อย ๆ หลายครั้งหลายคราว ย่อมจะทำให้อารมณ์ของบุคคลตรึงตราอยู่ในสิ่งของทั้งปวงซึ่งตนรักใคร่ปรารถนา ก็มีอุปไมยฉันนั้น

      อันตัณหาคือโลภจิตนี้ เมื่อฝังแน่นอยู่ในกมลสันดานของบุคคลใด บุคคลนั้นก็มิอาจจำแนกแจกทานแก่สมณะ พราหมณาจารย์ ยาจก วณิพก หรือเด็กกำพร้าอนาถา ด้วยเหตุว่ารักใคร่หวงแหนแน่นหนา ยากที่จะหยิบยกออกไปทำบุญให้ทาน เพราะน้ำใจติดแทรกชำแรกอยู่ในอณูแห่งสิ่งของอันเป็นสมบัติของตนแล้ว เปรียบประดุจผ้าขาวซึ่งบุคคลย้อมด้วยเขม่าไฟผสมกับน้ำมันยาง ธรรมดาผ้าขาวที่ย้อมด้วยเขม่าผ มน้ำมันยางนั้น แม้นำไปซักสักร้อยครั้งพันครั้งหรือมากกว่านั้น ก็มิอาจจะทำให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ดังเดิมได้ เขม่ากับน้ำมันยางจะติดตรึงอยู่กับผ้านั้นจนกว่ารอยเปื้อนจะขาดไป ข้อนี้มีอุปมาฉันใด โลภะจิตที่บังเกิดกล้าจนกระทั่งฝังแน่นอยู่ในกมลสันดานแล้ว ย่อมจะทำให้บุคคลรักใคร่หวงแหนสมบัติแห่งตน มิยอมหยิบยกออกบริจาคเป็นทาน ก็มีอุปไมยฉันนั้น

      พึงทราบไว้เถิดว่า ตัณหาคือโลภจิตนี้ ถ้าบังเกิดฝังแน่นอยู่ในกมลสันดานของบุคคลใดแล้ว ก็อาจจะชักพาบุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิเป็นแน่แท้ เปรียบประดุจกระแสน้ำอันไหลเชี่ยว ธรรมดาแม่น้ำที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกรากย่อมจะพัดพาเอาจอกแหนตลอดจนสรรพสิ่งทั้งปวงให้ลอยไปสู่มหาสมุทรฉันใด ตัณหาคือโลภจิตนี้ก็ย่อมพาสรรพสัตว์ทั้งปวงให้ลอยไปสู่อบายภูมิฉันนั้น


1.2 จักรวาลนี้คับแคบเกินกว่าจะบรรจุกามตัณหา
      อันตัณหานี้ย่อมบังเกิดพอกพูนอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งปวงเป็นอันมากสุดจะพรรณนาโดยเหตุนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาว่า ตัณหาอันบังเกิดในสันดานแห่งสัตว์ทั้งปวงนี้ มีปริมาณมากกว่ามากนัก ถ้าตัณหานี้บังเกิดมีรูปทรงดังเช่นต้นไม้หรือภูเขา จักรวาล ของเรานี้ก็คงจะคับแคบยิ่งนัก ไม่มีที่ว่างพอที่จะบรรจุตัณหาแห่งบุคคลทั้งปวง เพราะเหตุว่าบุคคลผู้นี้ก็ปรารถนา ผู้โน้นก็ปรารถนา อันความปรารถนาของบุคคลแต่ละคน ๆ จะขนใส่ลงสำเภาก็คงจะบรรทุกได้ไม่หมดสิ้น

      ตัณหานี้หากบังเกิดมีในกมลสันดานเมื่อใด ก็จะเป็นเหตุให้บุคคลกระทำอกุศลกรรมเป็นต้นว่า ปาณาติบาต เมื่อนั้นอกุศลกรรมอันชั่วช้าสามานย์ มิควรที่บุคคลจะพึงกระทำได้เลยแต่ถ้าลุแก่อำนาจตัณหาแล้ว ก็อาจจะกระทำได้ทุกสิ่งทุกประการ

      หากตัณหาหนาแน่นอยู่ในสันดานแล้ว บุคคลย่อมกระทำอกุศลกรรมอันลามกต่าง ๆ นานาได้ เหตุนี้ตถาคตจึงตรัสเทศนาว่า ตัณหาคือความปรารถนารักใคร่ยินดีในขันธาทิโลก นี้เป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ เพราะเป็นที่เกิดแห่งกองทุกข์


1.3 เหตุแห่งอกุศลกรรม คือกามตัณหา
      สัตว์ทั้งหลายอันประกอบด้วยกามตัณหา คือปรารถนาเบญจกามคุณในมนุษยโลกนี้ ย่อมกระทำอกุศลกรรม 10 ประการ คือ กายทุจริต 3 วจีทุจริต 4 มโนทุจริต 3

            กายทุจริต 3 ประการนั้น ได้แก่

1. กระทำปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
2. กระทำอทินนาทาน คือ การฉกชิง ลักขโมย ฉ้อโกงสิ่งของของผู้อื่น
3. กระทำกาเมสุมิจฉาจาร คือ ประพฤติล่วงประเวณีภรรยา หรือสามีของผู้อื่น

            วจีทุจริต 4 ประการนั้น ได้แก่

1. กล่าวมุสาวาท คือ โกหกมายา ไม่กล่าวตามพุทธวจนะ ไม่กล่าวตามตัวบทกฎหมาย
2. กล่าววาจาส่อเสียดผู้อื่น เพราะเห็นแก่อามิสินจ้าง
3. กล่าวผรุสวาท คือ คำหยาบช้า
4. กล่าวสัมผัปปลาปวาท คือ ตลกคะนอง เพ้อเจ้อไร้สาระ

           มโนทุจริต 3 ประการนั้น ได้แก่

1. อภิชฌา คือ โลภะจิตที่มุ่งหมายจะเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน
2. พยาบาท คือ ผูกกรรมอาฆาตจองเวรแก่ผู้อื่น
3. มิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นผิดเป็นชอบ

       อกุศลทุจริต หรือบางทีเรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 ประการนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งแต่เมื่อกามตัณหาบังเกิดขึ้นในกมลสันดานแล้ว บุคคลย่อมกระทำได้โดยไม่กลัวบาป ไม่ละอายบาป น้ำจิตที่ไม่เคยหยาบช้า ไม่เคยกล่าววาจาชั่วช้าลามก แต่ถ้ามีตัณหาปรารถนาในเบญจกามคุณเกิดขึ้นส่งเสริมอยู่ในสันดาน บุคคลก็อาจหาญกล่าววาจาชั่วร้ายได้ เมื่อถึงแก่ความตายแล้วย่อมมีอบายเป็นที่ไป เพราะเหตุนี้ตถาคตจึงตรัสเทศนาว่า กามตัณหาเป็นปัจจัยให้บังเกิดกองทุกข์ในกามภพ เรียกชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

        อนึ่งสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนามนุษยสมบัติก็ดี เทวสมบัติในฉกามาพจร วรรค์ทั้ง 6 ชั้นนั้นก็ดี จึงอุตสาหะวิริยะพากเพียรบำเพ็ญทาน รักษาศีลสร้างกองกุศลอันประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ครั้นจุติจิตได้ไปบังเกิดในมนุษยโลก ได้เสวยมนุษยสมบัติในมนุษยโลกก็ดี หรือบางทีได้ขึ้นไปบังเกิดใน วรรค์ชั้นฉกามาพจร ได้เสวยทิพยสมบัติในเทวโลกก็ดี เหล่านี้ก็ยังจัดเป็นกามตัณหา เป็นปัจจัยให้บังเกิดกองทุกข์ เรียกชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ


1.4 ภวตัณหาและวิภวตัณหา คล้องสัตว์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏ
        อีกประการหนึ่งนั้น โยคาวจรกุลบุตรผู้ประกอบความเพียรปฏิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยมีจิตปรารถนาจะไปบังเกิดในรูปภพและอรูปภพ ครั้นได้ฌานสมาบัติสมความปรารถนาแล้ว จึงได้ไปบังเกิดในชั้นรูปพรหมทั้งหลายบ้าง ในอรูปพรหมทั้ง 4 ชั้นนั้นบ้าง ด้วยมีสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิว่า รูปพรหมและอรูปพรหมนั้นไม่มีความแก่ความชรา ไม่มีพยาธิและมรณะ ทิฏฐิหรือความคิดเช่นนี้ก็จัดได้ว่าเป็นภวตัณหาและวิภวตัณหา เป็นเหตุปัจจัยให้บังเกิดกองทุกข์ ทั้งนี้เพราะความปรารถนาเช่นนั้น จะยังให้สัตว์ทั้งหลายเวียน
ตายเวียนเกิดเวียนถือกำเนิด ประกอบด้วยจุติและปฏิสนธิอยู่ร่ำไป ยังไม่สามารถสิ้นภพสิ้นชาติ ขาดจากกองทุกข์ในวัฏสงสาร ตถาคตจึงตรัสเรียกชื่อว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจ

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00217311779658 Mins