อุปาทานขันธทุกข์

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

อุปาทานขันธทุกข์
 

      ปัญจุปาทานักขันธา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุปาทานขันธทุกข์ ตามอรรถกถาวิภังค์และคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงอุปาทานขันธทุกข์ทั้ง 5 ไว้ว่า เป็นที่เกิดแห่งทุกขอริยสัจ มีชาติทุกข์ เป็นต้น และมียัมปิจฉังนลภติทุกข์ เป็นประการสุดท้าย กองทุกข์เหล่านี้เปรียบประดุจพื้นแผ่นดินอันเป็นที่เกิดแห่งพฤกษชาตินานาพันธุ์ อีกประการหนึ่งเล่า กองทุกข์เหล่านี้ย่อมเบียดเบียนและสังหารอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 อยู่เป็นนิจนิรันดร์ ไม่มีวันเว้นว่าง เปรียบประดุจเพลิงป่าอันไหม้ลามล้างผลาญติณชาติและพฤกษชาติอยู่เนือง ๆ นั่นเอง

     อนึ่ง เครื่องหมายวงกลมซึ่งใช้เป็นเป้าในการพุ่งหอก แหลน หลาว หรือการยิงธนูของชนทั้งหลายที่ต้องการประลองฝีมือและฝึกความแม่นยำฉันใด อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 แห่งเราท่านทั้งปวง ก็เป็นเป้าหมายแห่งกองทุกข์ทั้งหลายฉันนั้น นอกจากนี้อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี้ ยังเปรียบประดุจโคตัวโต ไม่ว่าจะเดินไป ณ แห่งหนใด จะยืนอยู่ ณ ถานที่ใด บรรดายุง เหลือบ ริ้น แมลงหวี่ ย่อมติดตามตอมกายโคไป ณ ถานที่นั้น ๆ อุปมาข้อนี้ฉันใด อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี้ ไม่ว่าเราท่านจะจุติปฏิสนธิในภพใด ๆ ก็ดี กองทุกข์ทั้ง 12 ประการ ก็ย่อมติดตามไปเบียดเบียนบีฑาในภพนั้น ๆ เป็นนิจนิรันดร์ ไม่เว้นว่างห่างไกล นี้ก็มีอุปไมยเหมือนเหล่าแมลงอันติดตามตัวโคไปฉันนั้น

         นอกจากนี้ อุปาทานขันธ์ 5 ยังเปรียบเสมือนบ้าน ไม่ว่าจะไปตั้งอยู่ ณ สถานที่ใดๆ มหาโจรทั้งหลายย่อมติดตามไปคอยจี้ปล้น ฉกชิง ลักขโมยถึง ถานที่นั้น ๆ กองทุกข์ทั้ง 12 ประการ ย่อมเปรียบเสมือนมหาโจรทั้งหลาย ที่คอยติดตามไปเบียดเบียนล้างผลาญขันธ์ทั้ง 5 แห่งสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้

         บรรดากุลบุตรผู้มีปัญญาปรารถนาจะเลี่ยงให้พ้นจากกองทุกข์ดังพรรณนามาแล้ว ก็จงอย่าได้มีใจยินดีในอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 แต่พึงพิจารณาให้เห็นโทษในอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั้นว่าย่อมประกอบด้วยทุกข์ในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในที่สุด ในเบื้องต้นนั้นมีชาติทุกข์เป็นรากเหง้า ชราทุกข์และพยาธิทุกข์นั้นเป็นท่ามกลางส่วนมรณทุกข์นั้นเป็นยอดสุด

       อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นี้ ท่านแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ รูปธรรม กับนามธรรม รูปธรรม ได้แก่ รูปขันธ์ เพราะว่าย่อมฉิบหายด้วยวิโรธิปัจจัย อันได้แก่ ความเย็น ความร้อนเป็นต้นส่วนเวทนาขันธ์สัญญาขันธ์สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์นั้นจัดเป็นนามธรรม เพราะว่าเกี่ยวข้องน้อมไปในอารมณ์ทั้งปวง มีรูปารมณ์ หรือสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา เป็นต้น

        กุลบุตรผู้มีปัญญาทั้งหลายเมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว ก็พึงปลงธรรมสังเวชในรูปธรรมและนามธรรมเสียเถิด พึงพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาเป็นรูปธรรมนามธรรมนี้ ย่อมประกอบไปด้วยชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณทุกข์ ไม่มีเว้นสักรายเดียว

       สำหรับปุถุชนคือบุคคลผู้ยังหนาด้วยกิเลส เพราะไม่เคย สดับฟังพระธรรมเทศนานั้นเล่าเมื่อทุกข์ทั้งปวงเป็นต้นว่า ชราทุกข์ก็ดี พยาธิทุกข์ก็ดี มรณทุกข์ก็ดี มาถึงตัวก็จะสะดุ้งตกใจโศการ่ำไห้ไปต่าง ๆส่วนบุคคลผู้เป็นอริยสาวกเคยได้ฟังพระธรรมเทศนาแห่งตถาคตแล้ว เมื่อทุกข์ทั้งปวงมาถึง ก็อาจระงับดับลงได้ด้วยมีปัญญาพิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ถึงจะมีอิทธิฤทธิ์มากมายปานใด จะมีอิ ริยยศและบริวารมากมายเพียงใด ทุกข์เหล่านี้จะได้เกรงกลัวมิกล้าเข้ามาเฉียดกราย จะเว้นหน้าไว้สักคนเดียวก็หามิได้ ทุกข์เหล่านั้นบุกเข้ามาประชิดทำลายทั่วทุกตัวตน ด้วยเหตุนี้ตถาคตจึงตรัสเทศนาว่า ทุกขอริยสัจนั้นพระอริยเจ้า
ทั้งหลายท่านเห็นกองทุกข์โดยแท้ เป็นความจริงของพระอริยเจ้า

       อันที่จริงนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ท่านย่อมตรัสรู้ทุกขอริยสัจทั้งปวงด้วยพระ ยัมภูญาณ คือเห็นด้วยปัญญาของพระองค์เองส่วนพระอัครสาวกก็ดี พระอสีติมหาสาวกก็ดี พระปกติสาวกก็ดี ท่านได้รู้เห็นกองทุกข์เหล่านี้ด้วยสุตมยญาณ คือ ได้ฟังพระธรรมเทศนาจึงได้รู้ได้เห็นโดยแท้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประทานพระธรรมเทศนาชื่อว่า ทุกขอริยสัจ ว่าเป็นความจริงของพระอริยเจ้า

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.002082347869873 Mins