สัมมากัมมันตะ
คือ ความคิดที่จะเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
1. สัมมากัมมันตะอันเว้นจากปาณาติบาต
การเว้นที่เรียกว่า วิรัตินั้นมี 3 ประการ คือ
1. สัมปัตตวิรัติ คือ เว้นเมื่อประสบซึ่งหน้า
2. สมาทานวิรัติ คือ เว้นเพราะ สมาทานศีลสิกขาบทไว้
3. สมุจเฉทวิรัติ คือ เว้นด้วยตัดขาด
เรื่องราวของจักกนอุบาสกนั้นเป็นตัวอย่างอันดีของสัมมากัมมันตะ อันเป็นสัมปัตตวิรัติ กล่าวคือ จักกนอุบาสกถูกพี่ชายใช้ให้ไปหาเนื้อกระต่ายมาทำยาให้แก่มารดาผู้กำลังป่วยอยู่อุบาสกนั้นจับกระต่ายได้ตัวหนึ่ง ขณะที่กระต่ายส่งเสียงร้อง เขาก็คิดว่าหากจะฆ่าเอาชีวิตกระต่าย
เพื่อนำไปรักษาชีวิตมารดาของตนนั้นไม่เป็นการสมควรเลย คิดดังนั้นแล้วจึงปล่อยกระต่ายไปเสีย เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติ จัดเป็นสัมมากัมมันตะประการหนึ่ง
ยังมีเรื่องของอุบาสกอีกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างของสัมมากัมมันตะ อันเป็นสมาทานวิรัติมีเรื่องปรากฏว่า อุบาสกผู้หนึ่งสมาทานศีลในสำนักพระมหาเถระองค์หนึ่ง แล้วก็ไปไถนา เมื่อถึงเวลาพักจึงปล่อยโคไปกินหญ้า โคนั้นจึงหนีไปในป่า อุบาสกจึงถือมีดไปตามหาโค ขณะที่กำลังเดินอยู่อุบาสกผู้นั้นได้ถูกงูเหลือมรัดตรงเท้าพันขึ้นไป เขาจึงคิดว่าจะฟันงูด้วยมีด แต่นึกขึ้นได้ว่าตน มาทานศีลไว้แล้ว ไม่บังควรจะฆ่าสัตว์ คิดดังนั้นแล้วจึงไม่ได้ฆ่างู ครั้นถูกงูรัดเจ็บปวดมากขึ้นก็คิดจะฆ่างูอีก แต่พอนึกถึงศีลที่ตนรักษาก็ไม่ได้ฆ่างูนั้น อุบาสกคิดจะฆ่างูถึง 3 ครั้ง จึงได้รู้ว่าเหตุที่ตนคิดจะประทุษร้ายต่องูนี้ ก็เพราะมีมีดอยู่ในมือ จึงบอกตนเองว่า อย่าเลยเราจะทิ้งมีดเล่มนี้เสีย คิดเช่นนี้แล้ว ก็ปามีดทิ้งไปไกลและคิดว่า หากชีวิตของตนจะต้องดับสิ้นลงก็ขอให้สามารถรักษาศีลไว้ได้อย่างเหนียวแน่น อย่าให้ขาดเสีย ด้วยเดชะบุญที่อุบาสกผู้ ละชีวิตเพื่อรักษาศีลไว้มิให้ภินทนาการลง ตัวอุบาสกนั้นก็ร้อนประดุจถ่านเพลิง งูเหลือมมิอาจจะทนรัดอยู่ได้ จึงคลายออกแล้วหนีไป อุบาสกนั้นจึงรอดชีวิต เช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่า สมาทานวิรัติอันเป็นสัมมากัมมันตะ
การที่บุคคลมิได้สมาทานศีล และเว้นจากการฆ่าสัตว์ ได้ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติ หากได้สมาทานแล้ว จึงเว้นจากการฆ่าสัตว์ ได้ชื่อว่า สมาทานวิรัติ วิรัติทั้ง 2 ประการนี้เกิดด้วยกุศลจิตจึงได้ชื่อว่าสัมมากัมมันตะ อันเป็นโลกิยมรรค
เรื่องราวของอริยบุรุษต่อไปนี้ ย่อมเป็นตัวอย่างอันดีของสมุจเฉทวิรัติ ในสมัยพุทธกาลปรากฏว่า มีบุรุษผู้หนึ่งชื่อว่า อริยะ หาเลี้ยงชีพด้วยการตกปลาทุกวันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของบุรุษนั้นด้วยพระทิพพจักขุญาณว่า จะบรรลุถึงซึ่งพระโสดาปัตติผลจึงไปสู่สถานที่ซึ่งบุรุษนั้นกำลังตกเบ็ดอยู่ โดยมีพระภิกษุตามเสด็จไปด้วย ครั้นแลเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล บุรุษนั้นก็บังเกิดหิริโอตตัปปะ คือความอายบาปและกลัวบาป จึงซ่อนเบ็ดไว้ เมื่อเสด็จไปประทับยืนอยู่ต่อหน้าบุรุษนั้นแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสถามพระสารีบุตรว่าท่านชื่อใด พระสารีบุตรจึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าชื่อสารีบุตร พระพุทธองค์จึงตรัสถามชื่อพระภิกษุตามลำดับลงไปอีก พระสงฆ์ทั้งปวงก็กราบทูลนามของตนตามลำดับต่อ ๆ ไป
ขณะที่นั่งฟังพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลนามของตนต่อ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่โดยลำดับนั้น อริยบุรุษจึงดำริว่า เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาทรงถามนามพระสงฆ์ทั้งปวงครบแล้วก็คงจะทรงถามชื่อของตนบ้างกระมัง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้วาระจิตแห่งบุรุษนั้นจึงตรัสถามชื่อของเขา บุรุษนั้นก็กราบทูลว่าตนชื่ออริยะ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทราบนามของบุรุษนั้นแล้วจึงตรัสพระคาถาเทศนามีเนื้อความสำคัญว่า บุคคลใดเบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลายด้วยวิธีใดก็ตาม บุคคลนั้นจะได้ชื่อว่าอริยะ เพราะการกระทำของเขานั้นหามิได้ ตถาคตตรัสเทศนาว่า บุคคลผู้ชื่ออริยะนั้น ก็เพราะมิได้เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย อริยบุรุษได้ ดับพระธรรมเทศนาเช่นนั้นแล้วก็บรรลุพระโสดาปัตติผล เมื่อเป็นอริยบุคคลแล้วก็มิได้กระทำปาณาติบาตอีกเลย การเว้นจากปาณาติบาตกรรมเป็นสมุจเฉทวิรัติเช่นนี้ ชื่อว่า เป็นสัมมากัมมันตะ อันเกิดด้วยโสดาปัตติมรรคจิต
2. สัมมากัมมันตะอันเว้นจากอทินนาทาน
องค์อริยมรรคสัมมากัมมันตะอันเว้นจากอทินนาทานนี้ เรื่องราวของนางขุชชุตราย่อมเป็นตัวอย่างอันดี นางขุชชุตรานี้มีเรื่องปรากฏว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น นางเป็นสาวใช้ของพระนางสามาวดีและเหล่านางกำนัลอีกห้าร้อย ซึ่งเป็นบริวารของพระเจ้าอุเทนราช ตามปกติพระเจ้าอุเทนราชได้พระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้แก่พระนางสามาวดีและ ตรีบริวารห้าร้อยคนนั้นวันละหนึ่งพันกหาปณะ นางขุชชุตรามีหน้าที่ซื้อดอกไม้ เมื่อเบิกพระราชทรัพย์วันละพันกหาปณะแล้วก็ยักยอกไว้เป็นของตนห้าร้อยกหาปณะ ซื้อดอกไม้เพียงห้าร้อยกหาปณะ มาถวายพระนางสามาวดีและเหล่านาง นมกำนัลทั้งห้าร้อยนั้นทุก ๆ วัน
อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าของร้านดอกไม้ได้อาราธนาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปรับภัตตาหารยังเรือนของตน จึงขอให้นางขุชชุตราอยู่ช่วยถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนาก่อน นางขุชชุตราจึงอยู่ด้วยความเต็มใจ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็บรรลุโสดาปัตติผล นางจึงมิได้ยักยอกเงินไว้อีกเลยจึงซื้อดอกไม้หมดทั้งพันกหาปณะ แล้วนำดอกไม้นั้นไปถวายพระนางสามาวดีและพระสนมกำนัลทั้งห้าร้อยสตรีทั้งปวงเห็นดอกไม้ในวันนั้นมีจำนวนมากมายจึงถามขึ้นว่า วันนี้พระราชาพระราชทานทรัพย์ให้มากกว่าทุกวันหรือ จึงได้ดอกไม้มากกว่าทุกวัน
นางขุชชุตราจึงเปิดเผยความจริงว่า พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานค่าดอกไม้วันละหนึ่งพันกหาปณะ แต่นางซื้อดอกไม้เพียงห้าร้อยกหาปณะส่วนที่เหลือก็ยักยอกเอาไว้ทุก ๆ วัน จึงได้ดอกไม้น้อย แต่วันนี้นางได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเทศนาแสดงโทษแห่งอทินนาทานกรรมว่า บุคคลใดกระทำอทินนาทานจนบังเกิดเป็นสันดานแล้วอทินนาทานกรรมย่อมยังบุคคลนั้นให้ไปบังเกิดเป็นดิรัจฉานก็มี เป็นอสุรกายก็มี เป็นเปรตก็มีหากได้บังเกิดเป็นคน ก็อาจจะเป็นคนยากไร้อนาถาหาทรัพย์มิได้ แม้ว่าบังเอิญมั่งมีทรัพย์มากทรัพย์นั้นก็มิได้ตั้งอยู่มั่นคง ย่อมฉิบหายด้วยราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย หรือข้าศึกศัตรู ทั้งนี้ก็เพราะโทษที่กระทำอทินนาทานกรรมไว้ ด้วยเหตุนี้นางจึงเลิกยักยอกทรัพย์และได้ซื้อดอกไม้
ไปทั้งหมดหนึ่งพันกหาปณะ จึงได้ดอกไม้มามากกว่าทุก ๆ วัน ขอพระแม่เจ้าทั้งปวงจงได้กรุณาอดโทษต่อนางด้วยเถิด
แท้จริงแล้วนางขุชชุตรานี้ เมื่อบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ก็มิได้กล่าวคำมุสาอีกเลย บอกแต่ความจริงทุกประการ เช่นนี้ก็เป็นองค์อริยมรรค คือสัมมาวาจา และการที่นางขุชชุตราเลิกยักยอกทรัพย์นั้น ก็เป็นองค์อริยมรรค คือสัมมากัมมันตะ
3. สัมมากัมมันตะอันเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร
องค์อริยมรรคสัมมากัมมันตะอันเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารนี้ มีเรื่องปรากฏในธรรมบทว่า มีชายหนุ่มชื่อเขมะ เป็นบุตรของเศรษฐีผู้หนึ่ง และเป็นหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐีด้วยเขมมาณพนี้ในอดีตชาติเคยสร้างธงด้วยทองคำ สวยงามมาก แล้วนำไปสักการบูชาพระเจดีย์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปะ แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้ผลานิสงส์แห่งการบูชาธงทองนี้ จงบันดาลให้สตรีทั้งหลายทั้งปวงยกเว้นสตรีร่วมสายโลหิตเมื่อแลเห็นเขาแล้วจงมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ในตัวเขาเถิด
ครั้นได้มาเกิดเป็นเขมะบุตรเศรษฐี ตรีผู้ใดได้เห็นก็มีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันด้วยเสน่หาเป็นอันมาก ภาวะเช่นนี้ย่อมเอื้ออำนวยให้เขมมาณพกระทำมิจฉาจารกับภรรยาของผู้อื่นอยู่เนืองๆ อยู่มาวันหนึ่งราชบุรุษทั้งหลายจับตัวเขมะบุตรเศรษฐีนั้นได้ จึงนำไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงมีพระราชโองการตรัสถาม ทราบความว่า เขมมาณพเป็นหลานของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอุบาสกอุปัฏฐากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหากพระองค์จะลงโทษทัณฑ์ให้ปรากฏ อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็จะได้รับความอัปยศอดสูแก่มหาชนทั้งหลายทั้งปวง ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมิได้ลงโทษทัณฑ์แก่เขมมาณพ แต่โปรดฯ ให้ปล่อยไปเสีย ฝ่ายเขมะบุตรเศรษฐีนั้นก็หลงระเริงใจ กระทำมิจฉาจารดังเดิมต่อไปอีกจนถูกราชบุรุษจับได้ถึงสามครั้ง ครั้นราชบุรุษกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ก็ตรัสให้ปล่อยไปเสียทุกครั้ง
ภายหลังต่อมา อนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงพาเขมะผู้หลานนั้นไปเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลพระกรุณาขอให้พระบรมศาสดาตรัสเทศนาสั่งสอน พระพุทธองค์จึงตรัสพระบาลีคาถา มีเนื้อความสำคัญว่า บุคคลใดขาดสติพิจารณากุศลกรรม เอาแต่ซ่องเสพด้วยภรรยาของผู้อื่นทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมจะมีโทษอันก่อให้เกิดทุกข์ 4 ประการ คือ
1. ย่อมเสวยผลแห่งอกุศลกรรมนั้นเป็นอันมาก
2. แม้จะรู้สึกชื่นชมยินดีในอกุศลกรรมที่ตนก่อไว้ ขณะเดียวกันก็ให้หวาดระแวงภัยจนนอนไม่หลับ
3. บุคคลเช่นนี้ย่อมมีแต่ถูกติฉินนินทา หาผู้ใดสรรเสริญมิได้
4. ครั้นจุติจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปเสวยทุกข์ในนรก
เขมะมาณพบุตรเศรษฐีเมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาจบลงแล้ว ก็บรรลุพระโสดาปัตติผลเป็นอริยบุคคล แล้วก็มิได้กระทำมิจฉาจารกรรมสืบไปอีกเลย การละได้โดยเด็ดขาดซึ่งมิจฉาจารกรรมก็เนื่องด้วย อริยมรรคสัมมากัมมันตะ อันบังเกิดจากโสดาปัตติมรรคจิตนั้น
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree