สัมมาอาชีวะ

วันที่ 05 กค. พ.ศ.2560

สัมมาอาชีวะ
 

แม่บทแห่งธรรม , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , มัชฌิมา ปฏิปทา , ธัมมจักกัปปวัตตสูตร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , อริยสัจสี่ , สัมมาอาชีวะ , มรรคมีองค์ 8

     สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการค้าขายเลี้ยงชีวิตโดยผิดธรรม หรือมิจฉาอาชีวะ ซึ่งประกอบด้วยการค้าขาย 5 ประการ คือ

      1.สัตตวณิชชา คือ ขายมนุษย์ ได้แก่ การซื้อมนุษย์มาในราคาต่ำ แล้วขายเอากำไรมาเลี้ยงชีวิต เป็นต้น

    2.สัตถวณิชชา คือ ขายศาสตราวุธทั้งปวงเพื่อนำไปประหารชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วเอาทรัพย์นั้นมาเลี้ยงชีวิต เป็นต้น

     3. มังสวณิชชา คือ เลี้ยงสัตว์ทั้งหลาย มีโคสุกร เป็ด ไก่ เป็นอาทิ แล้วฆ่าเองก็ดี ให้ผู้อื่นฆ่าก็ดี ขายได้ทรัพย์แล้วนำมาเลี้ยงชีวิต

      4. มัชชวณิชชา คือ ขายน้ำเมา เป็นต้นว่าสุราและเมรัย แล้วนำทรัพย์นั้นมาเลี้ยงชีวิต

      5. วิสวณิชชา คือ ประกอบยาพิษ เพื่อใช้ฆ่าชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วขายเอาทรัพย์มาเลี้ยงชีวิต

การค้าขายทั้ง 5 ประการนี้แม้กระทำเพียงประการใดประการหนึ่งเพียงประการเดียวก็จัดเป็น มิจฉาอาชีวะ ได้ชื่อว่า เลี้ยงชีวิตอันผิดธรรม

    นอกจากนี้ บุคคลผู้ประกอบอาชีพค้าขายแล้วคดโกงตราชั่ง ก็จัดเป็นมิจฉาอาชีวะ การคดโกงตราชั่งนั้นมี 4 ประการ คือ

     1. การกระทำเครื่องชั่งขึ้น 2 เครื่อง ให้มีลักษณะเหมือนกัน แต่เครื่องหนึ่งหนัก อีกเครื่องหนึ่งเบา เมื่อจะซื้อของจากผู้อื่นก็ใช้เครื่องหนักชั่ง เมื่อจะขายของให้ผู้อื่นก็ใช้เครื่องเบาชั่งให้

     2. กระทำการคดโกงด้วยมือ เมื่อจะซื้อของจากผู้อื่นก็ถือตราชู ขึ้นไว้ แล้วเอานิ้วก้อยกดข้างปลายคันชั่งไว้ เมื่อจะขายของให้ผู้อื่น ก็เอานิ้วก้อยกดข้างหัวคันชั่งลง

   3. การคดโกงด้วยวิธีถือตราชั่ง เมื่อจะซื้อของจากผู้อื่นจะจับตราชั่งไว้ให้มั่น มิให้ทางด้านหัวชั่งนั้นปักลงส่วนเวลาจะขายของให้ผู้อื่นก็จะจับตราชั่งให้ด้านหัวปักลง

    4. การคดโกงด้วยการทำคันชั่งให้กลวงดุจลำไม้ไผ่ แล้วเอาผงเหล็กหรือปรอทใส่ไว้ เมื่อจะซื้อของจากผู้อื่นก็ทำให้ผงเหล็กหรือปรอทกลิ้งไหลไปทางปลายคันชั่ง เมื่อจะขายของให้ผู้อื่นก็ทำให้ผงเหล็กหรือปรอทนั้นกลิ้งไปอยู่ทางด้านหัวคันชั่ง

     บุคคลใดซื้อขายด้วยกลมายาดังกล่าว แล้วเอาทรัพย์นั้นมาเลี้ยงชีวิต ก็ได้ชื่อว่า มิจฉาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีวิตผิดธรรม

   นอกจากการคดโกงด้วยเครื่องชั่งแล้ว ยังมีการคดโกงด้วยเครื่องตวงอีก เครื่องตวงขนาดเล็กอย่างหนึ่งที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในสมัยโบราณนั้นเรียกว่า ทะนาน ทำด้วยกะลามะพร้าวขนาดใหญ่ มีรูอยู่ตรงก้นทะนาน ขณะตวงของเหลว ต้องใช้นิ้วอุดรูนั้นไว้ บุคคลใดเมื่อซื้อของเหลวจากผู้อื่น เป็นต้นว่า น้ำมัน น้ำมันเนย น้ำอ้อย และน้ำตาลเหลวก็ดี จะถือทะนานตวงของเหลวโดยเผยอนิ้วที่อุดรูทะนาน ปล่อยให้ของเหลวไหลลงในภาชนะแห่งตน ต่อเมื่อจะตวงของขายให้ผู้อื่นจึงใช้นิ้วปิดรูทะนานไว้ มิให้ของไหลออกมา

    ครั้นเวลาจะตวงถั่ว งา ข้าวเปลือก หรือข้าวสาร ด้วยทะนานก็ดี ด้วยกระบุง กระเชอ หรือสัต ก็ดี เมื่อซื้อของจากผู้อื่นก็จะค่อย ๆ เทสิ่งของเหล่านั้นลงในเครื่องตวงอย่างช้า ๆ ทีละน้อย ๆ แต่เมื่อขายของให้ผู้อื่น ก็จะเทสิ่งของเหล่านั้นทีเดียวให้เต็ม

   ใดค้าขายด้วยเล่ห์กลมายาในการใช้เครื่องชั่ง เครื่องตวงเช่นนี้ แล้วเอาทรัพย์มาเลี้ยงชีวิต ก็ได้ชื่อว่า มิจฉาอาชีวะ

   นอกจากการชั่งและการตวงแล้ว ยังมีการวัดอีก ตัวอย่างเช่น บุคคลผู้มีหน้าที่รังวัดไร่นาถ้ามีผู้ซื้อให้ทรัพย์สินหรือที่เรียกว่าติดสินบน แม้มีที่ดินมากก็วัดให้น้อย ครั้นไม่ใด้สินจ้างรางวัล แม้มีที่ดินน้อยก็วัดให้มากเกินความเป็นจริง

    อนึ่งสำหรับผู้เป็นตุลาการชำระคดี ถ้าผู้ใดให้สินจ้างก็ย่อมตัดสินให้ผู้นั้นชนะ เอาทรัพย์นั้นมาเลี้ยงชีวิต เช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า มิจฉาอาชีวะ

   การเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีพนั้นยังมีอีกมากมาย บางคนก็ใช้วิธีทำสินค้าปลอม เป็นต้นว่า ทำภาชนะทองคำไว้สำรับหนึ่งส่วนภาชนะนอกนั้นทำด้วยทองเหลืองเคลือบไว้ด้วยทองคำ เมื่อมีผู้มาซื้อก็จะนำชุดทองคำมาให้ลูกค้าขีด หรือฝนดูก่อนเป็นการพิสูจน์ ครั้นลูกค้าตกลงซื้อก็จะให้ภาชนะทำปลอมไป การกระทำกลมายาค้าขายเอาทรัพย์มาเลี้ยงชีวิตเช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่ามิจฉาอาชีวะ

   บางคนก็ใช้ถ้อยคำฉลาดทำกลอุบายแก่ผู้ที่เบาปัญญากว่า ดังมีเรื่องปรากฏว่า พรานเนื้อผู้หนึ่งล่าเนื้อมาได้สองตัว ตัวหนึ่งใหญ่อีกตัวหนึ่งเล็กแล้วนำไปขาย มีชายนักเลงผู้หนึ่งมาถามซื้อนายพรานจึงบอกราคาตัวใหญ่ องกหาปณะ ตัวเล็กราคาหนึ่งกหาปณะ นักเลงผู้นั้นจ่ายเงินหนึ่งกหาปณะ แล้วก็จูงลูกเนื้อตัวเล็กไป อีกสักครู่จึงหวนกลับมาใหม่ บอกพรานเนื้อว่าตนเปลี่ยนใจอยากได้เนื้อตัวใหญ่ และขอคืนตัวเล็ก พรานจึงบอกให้เขาจ่ายเงิน องกหาปณะแล้วเอาเนื้อตัวใหญ่ไป ฝ่ายนักเลงก็โต้ว่า เขาให้ทรัพย์นายพรานไปหนึ่งกหาปณะแล้วส่วนลูกเนื้อตัวนี้ก็ราคาหนึ่งกหาปณะ เมื่อรวมกันแล้วก็เท่ากับ องกหาปณะ ดังนั้นนักเลงผู้นั้นก็จะขอคืนเนื้อตัวเล็ก และเอาเนื้อตัวใหญ่ไป นายพรานเนื้อคิดไม่ทันนักเลง ก็เห็นว่าถูกต้องแล้ว จึงยอมให้เนื้อตัวใหญ่ไป เก็บเอาตัวเล็กไว้ เป็นอันว่านายพรานขายเนื้อตัวใหญ่ ได้เงินเพียงกหาปณะเดียวบุคคลใดทำกิริยาล่อลวงเช่นนักเลงนั้น แล้วเอาทรัพย์มาเลี้ยงชีวิตตน ย่อมชื่อว่า มิจฉาอาชีวะ

   บางคนก็กระทำโจรกรรมโดยตรง มีการฉกชิงวิ่งราว จี้ปล้น ทำร้าย ข่มเหง แย่งชิงเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเลี้ยงชีวิต ดังนี้ย่อมได้ชื่อว่า มิจฉาอาชีวะ

   สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเมื่อจะตรัสเทศนาสัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีวิตอันชอบธรรมนั้น พระองค์จะตรัสเทศนามิจฉาอาชีวะคือการเลี้ยงชีวิตผิดธรรมนี้ให้ทราบกันก่อนดุจบุคคลผู้จะบอกหนทางอันปราศจากภัย ย่อมจะบอกหนทางอันประกอบด้วยภัยให้รู้ก่อน เมื่อเว้นจากหนทางอันประกอบด้วยภัยเสียได้แล้ว ก็ย่อมเดินไปตามหนทางอันปราศจากภัย ข้อนี้มีอุปมาฉันใด การประพฤติตนเพื่อเลี้ยงชีพโดยเว้นจากมิจฉาอาชีวะได้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ ก็มีอุปไมยฉันนั้น

   การค้าขายโดยชอบธรรมเพื่อเลี้ยงชีวิตนี้ ยังมีปรากฏในเสรีวะชาดก ตั้งแต่ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ในพระชาตินั้นทรงบังเกิดเป็นพ่อค้าเครื่องประดับ มีชื่อว่าเสรีวะพาณิช ด้วยเหตุว่าอยู่ในเมืองเสรีวนครส่วนเทวทัตนั้นบังเกิดเป็นพ่อค้าเหมือนกัน และมีนามเช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์นั้น พ่อค้าทั้งสองข้ามแม่น้ำนีลพาหา แล้วเดินทางไปยังอันธปุรนคร เทวทัตนั้นเข้าไปก่อน ร้องขายเครื่องประดับ ไปจนถึงบ้านเศรษฐีแห่งหนึ่งซึ่งกำลังตกทุกข์ได้ยาก เหลือแต่ยายกับหลานอยู่ด้วยกัน องคน

  เมื่อได้ยินเสียงร้องขายเครื่องประดับ กุมารีผู้หลานก็อ้อนวอนให้ยายซื้อเครื่องประดับจึงเรียกเทวทัตพาณิชเข้าไป ยายก็เอาถาดทองคำเก่าคร่ำคร่า เปรอะเปอนจนดูไม่รู้ว่าเป็นทองคำนำมาให้เทวทัตพาณิชดูพลางบอกให้พ่อค้านำถาดนี้ไปเพื่อแลกกับ ร้อยให้แก่กุมารีตามแต่จะให้ฝ่ายเทวทัตพาณิชหยิบถาดทองมา แล้วใช้เข็มขูดขีดดูก็รู้ว่าถาดนั้นเป็นทองคำแท้ควรค่าแก่ราคาหมื่นตำลึง จึงบังเกิดความโลภด้วยคิดว่าเจ้าของไม่รู้ว่าถาดนั้นเป็นทองแท้ จึงคิดจะล่อลวงเอาถาดทองคำนั้นเสีย จึงกล่าวตอบไปว่าถาดใบนั้นเก่าคร่ำคร่า หาราคามิได้ถึงครึ่งมาสกจึงวางถาดนั้นไว้แล้วเลยไปเร่ขายที่อื่น

   สักครู่ต่อมาโพธิสัตว์พาณิช ก็ร้องขาย ร้อยมาถึงหน้าบ้านยายหลานคู่นั้น ทั้ง องจึงเรียกโพธิสัตว์พาณิชเข้าไป แล้วนำถาดใบเดิมนั้นมาให้ดู พร้อมทั้งบอกให้โพธิสัตว์พาณิชนำถาดใบนั้นไปแล้วขอ ร้อยตามแต่จะให้แก่กุมารี พระโพธิสัตว์พ่อค้าหยิบถาดใบนั้นมาพิจารณาดู ก็รู้ว่าเป็นทองคำแท้ควรจะมีราคาสักหมื่นตำลึง จึงบอกไปตามความจริงว่า ถาดใบนี้มีราคาหนึ่งหมื่น ทรัพย์ทั้งหมดของเขามีราคารวมกันแล้วยังห่างไกลกับราคาถาดใบนั้นมาก ผู้เป็นยายจึงกล่าวว่า พาณิชคนก่อนกล่าวว่าถาดใบนี้เก่าคร่ำคร่า จะหาราคาเพียงครึ่งมาสกก็หามิได้จึงวางถาดไว้เสีย บัดนี้ท่านบอกว่า ถาดเป็นทองแท้ควรมีราคาถึงหมื่นตำลึง คงจะเป็นบุญวาสนาของท่านเองแล้ว ท่านจงเอาถาดใบนี้ไปเถิด แล้วให้ ร้อยแก่กุมารีตามแต่ท่านจะให้เถิดโพธิสัตว์พาณิชจึงยกเครื่องประดับทั้งปวงที่มีอยู่ คิดเป็นราคาห้าร้อยกหาปณะ รวมกับเงินสดอีกห้าร้อยกหาปณะ รวมทั้งสิ้นได้หนึ่งพันกหาปณะ ให้แก่ยายหลานคู่นั้นแล้วก็รับเอาถาดทองนั้นไป แล้วรีบไปลงเรือจ้างข้ามแม่น้ำไป

   ต่อมาอีกครู่หนึ่ง เทวทัตพาณิชก็กลับไปสู่บ้านนั้นอีก บอกให้ยายหลานคู่นั้นนำถาดมาให้แล้วตนจะให้ ร้อย ยายหลานจึงตอบว่า ท่านกล่าวว่าถาดใบนั้นเก่าคร่ำคร่าหาราคามิได้ แต่มีพาณิชผู้เป็นธรรมให้ราคาแก่เราหนึ่งพันกหาปณะ และเอาถาดนั้นไปแล้ว

   ฝ่ายเทวทัตพาณิช เมื่อได้ฟังยายหลานคู่นั้นแล้ว ก็บังเกิดโศกาอาดูรยิ่งนัก พร่ำรำพันถึงถาดทองอันมีราคาหมื่นตำลึง ที่ตนควรจะได้ครอบครอง แต่ต้องสูญเสียไป ยิ่งรำพึงก็ยิ่งโทมนัสจนมิอาจจะดำรงสติสมปฤดีได้ จึงขว้างปาทรัพย์สินสิ่งของของตนในบ้านนั้น ฉวยได้ไม้คันชั่งทำเป็นตะบอง แล้วไปตามโพธิสัตว์พาณิช เมื่อไปถึงริมฝังจึงร้องเรียกเรือจ้างซึ่งมีโพธิสัตว์พาณิชกำลังโดยสารอยู่ให้ข้ามกลับมารับ แต่เจ้าของเรือจ้างก็มิได้กลับไป เทวทัตพาณิชยิ่งขึ้งโกรธเป็นอย่างยิ่งถึงกับอาเจียนออกมาเป็นโลหิต ถึงแก่ความตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง และก่อนที่จะสิ้นใจได้กำเอาทรายมาเต็มสองกำมือ แล้วเปล่งวาจาผูกเวรอาฆาตแก่พระโพธิสัตว์ไว้ตั้งแต่ชาตินั้นเป็นต้นมา เนื้อความนี้มีพิสดารอยู่ในเสรีววาณิชชาดก

   บุคคลผู้เป็นพาณิชค้าขายเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรมดุจพระโพธิสัตว์นี้ ย่อมได้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ ท่านทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่าการเลี้ยงชีวิตโดยธรรม มิได้ฉ้อฉลคดโกงผู้อื่นมาเลี้ยงชีวิต ก็ได้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ

  อนึ่ง บุคคลผู้ค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ โดยซื้อสินค้าในประเทศที่มีราคาถูก ไปขายในประเทศที่มีราคาแพง ได้ทรัพย์สินเงินทองมามากมาย โดยมิได้ทำผิดกฎหมายหรือคดโกงผู้ใดก็ได้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ นักปราชญ์ผู้มีวิจารณปัญญาพึงเข้าใจเถิดว่าสัมมาอาชีวะเป็นปฏิปักษ์ต่อมิจฉาอาชีวะ โดยนัยดังวิสัชชนามาฉะนี้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 006 แม่บทแห่งธรรม
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0025412162144979 Mins