ความไม่ประมาท
บทนำ
อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาท คือ การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะคิด จะพูด จะทำสิ่งใด ๆ ไม่ยอมถลำลงไปในทางที่เสื่อม ในการก่อสร้างอาคารจำเป็นต้องมีเสาเป็นหลักค้ำจุนตัวอาคารไว้ฉันใด ในการสร้างความดีทุกชนิดก็จำเป็นต้องมีความไม่ประมาทเป็นแกนหลักรองรับฉันนั้น ผู้ที่ไม่ประมาท คือผู้มีความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ มีการดำเนินชีวิตที่อาศัยสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัวไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสำหรับความดีงามและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลยการทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และรุดหน้าเรื่อยไป
1.1 สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง
1. ไม่ประมาทในเวลา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า "วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่" อย่ามัวเมาทำในสิ่งไร้สาระ เช่น เล่นไพ่ คุยโม้ ดูแฟชั่น ให้เร่งรีบทำงานให้เต็มที่แข่งกับเวลา เพราะเวลามีน้อย เมื่อกลืนกินชีวิตไปแล้วก็เรียกกลับคืนไม่ได้
2. ไม่ประมาทในวัย มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าตัวยังเป็นเด็กอยู่ จึงเที่ยวเล่นเพลิดเพลินไปวัน ๆ เพราะถ้านับอายุตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้ แต่ละคนต่างมีอายุคนละหลายหมื่นวันแล้ว
3. ไม่ประมาทในความไม่มีโรค มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่อย่างนี้ตลอดไป ถ้ากรรมชั่วในอดีตตามมาทันอาจป่วยเป็นโรค หรือไม่ บายเมื่อไรก็ได้เพราะฉะนั้นในขณะที่สุขภาพยังดีอยู่นี้ ต้องรีบขวนขวายสร้างความดีให้เต็มที่
4. ไม่ประมาทในชีวิต มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า อย่าคิดว่าเรายังมีชีวิตอยู่สุขสบายดี เราจะยังมีชีวิตอยู่อีกนาน เพราะจริง ๆ แล้วเราอาจจะตายเมื่อไรก็ได้ มัจจุราชไม่มีเครื่องหมายนำหน้า จึงเร่งรีบขวนขวายในการละความชั่วสร้างความดีและทำจิตใจให้ผ่องใสอย่างเต็มที่ทุกรูปแบบ ทุกโอกาส
5. ไม่ประมาทในการงาน มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะทำงานทุกอย่างที่มาถึงมือให้ดีที่สุด ทำอย่างทุ่มเทไม่ออมมือ ทำงานไม่ให้คั่งค้าง ไม่ท้อถอย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
6. ไม่ประมาทในการศึกษา มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่อะไรที่ควรอ่านควรท่องก็จะรีบอ่านรีบท่องโดยไม่แชเชือน ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของการศึกษาหาความรู้ ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต
7. ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม มีสติเตือนตนอยู่เสมอว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอไม่ย่อท้อ โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่รอจนแก่ค่อยเข้าวัด จะฟังเทศน์ก็หูตึงฟังไม่ถนัด จะนั่งสมาธิก็ปวดเมื่อยขัดยอกไปหมด ลุกก็โอยนั่งก็โอย เมื่อระลึกได้เช่นนี้จึงมีความเพียรใส่ใจในการปฏิบัติธรรม เพราะทราบดีว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ทำให้เกิดความสุขแก่ตนทั้งโลกนี้และโลกหน้า และเป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งชีวิต คือ
นิพพาน
1.1.1 กุศลธรรมทั้งปวงมีความไม่ประมาทเป็นมูล
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับ...กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่หรือพระเจ้าข้า ฯ"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า มีอยู่ฯ"
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า คืออะไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า คือความไม่ประมาท ฯ"
ดูกรมหาบพิตร "รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่สัญจรไปบนแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่งรอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมถึงการรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างย่อมกล่าวกันว่าเป็นเลิศกว่ารอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นของใหญ่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งที่ยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า คือความไม่ประมาทก็มีอุปไมยฉันนั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
"บุคคลปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง และความยินดีอันโอฬารต่อ ๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า "บัณฑิต" ฯ"
พระผู้มีพระภาคประทับที่กรุงสาวัตถีส่วนพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระโอกาสความปริวิตกแห่งใจบังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้เข้าที่ลับพักผ่อนอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วนั่นแหละสำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว ฯ"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ดูกรมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนมหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกรมหาบพิตร ธรรมที่อาตมภาพกล่าวดีแล้วนั่นแหละสำหรับผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนดี ไม่ใช่สำหรับผู้มีมิตรชั่ว มีสหายชั่ว มีจิตน้อมไปในคนที่ชั่ว ฯ
ดูกรมหาบพิตรสมัยหนึ่ง อาตมภาพอยู่ที่นิคมของหมู่เจ้าศากยะ ชื่อว่านครกะ ในสักกชนบท ดูกรมหาบพิตร ครั้งนั้น ภิกษุอานนท์เข้าไปหาอาตมภาพถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็อภิวาทอาตมภาพ แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ดูกรมหาบพิตร ภิกษุอานนท์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะอาตมภาพว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี เป็นคุณกึ่งหนึ่งแห่งพรหมจรรย์ ดูกรมหาบพิตร เมื่อภิกษุอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว อาตมภาพได้กล่าวกะภิกษุอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น
ดูกรอานนท์ ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดูกรอานนท์ นี่ภิกษุผู้มีมิตรดีพึงปรารถนา ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี จักเจริญอริยมรรคมีองค์แปด จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ ฯ
ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้อย่างไร ฯ
ดูกรอานนท์ ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความ ละคืน ย่อมเจริญสัมมาสังกัปปะ... ย่อมเจริญสัมมาวาจา... ย่อมเจริญสัมมากัมมันตะ... ย่อมเจริญสัมมาอาชีวะ... ย่อมเจริญสัมมาวายามะ... ย่อมเจริญสัมมาสติ... ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสละคืน ฯ
ดูกรอานนท์ ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์แปดให้มากได้ อย่างนี้แล ฯ
ดูกรอานนท์ โดยปริยายแม้นี้ พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ฯ
ดูกรอานนท์ ด้วยว่าอาศัยเราเป็นมิตรดีสัตว์ทั้งหลายผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเกิดได้สัตว์ทั้งหลายผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ได้สัตว์ทั้งหลายผู้มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเจ็บป่วยได้สัตว์ทั้งหลายผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความตายได้สัตว์ทั้งหลายผู้มีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความเสียใจ และความคับแค้นใจได้ ฯ
ดูกรอานนท์ โดยปริยายนี้แล พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดีนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ฯ
ดูกรมหาบพิตร เพราะเหตุนั้นแหละ พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี ดูกรมหาบพิตร พระองค์พึงทรงสำเหนียกอย่างนี้แล ฯ
ดูกรมหาบพิตร ธรรมอย่างหนึ่งนี้ คือความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย พระองค์ผู้มีมิตรดี มี หายดี มีจิตน้อมไปในคนที่ดี พึงทรงอาศัยอยู่เถิด ฯ
ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท หมู่นางสนมผู้ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ฯ
ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้กษัตริย์ทั้งหลายผู้ตามเสด็จจักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้นแม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ฯ
ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้กองทัพ (ข้าราชการฝ่ายทหาร) ก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาทถ้ากระนั้น แม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ฯ
ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็จักมีความคิดอย่างนี้ว่า พระราชาเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ถ้ากระนั้นแม้พวกเราก็จักเป็นผู้ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท ฯ
ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ไม่ประมาท อาศัยความไม่ประมาท แม้พระองค์เองก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้หมู่นาง นมก็จักเป็นผู้ได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว แม้เรือนคลังก็จักเป็นอันได้รับคุ้มครองแล้ว ได้รับรักษาแล้ว"
พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
"บุคคลผู้ปรารถนาโภคะอันโอฬารต่อ ๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า "บัณฑิต" ฯ"
ทางสู่ความเป็นอมตะ
อปฺปมาโท อมตํปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา
ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตายผู้ไม่ประมาท ย่อมไม่ตาย
คนเหล่าใดประมาทแล้ว คนเหล่านั้นเหมือนคนที่ตายแล้ว ถอนตนจากหล่มคือกิเลสได้เพราะไม่ประมาท
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ยินดีในความไม่ประมาท จงตามรักษาจิตของตนเถิดจงถอนตนขึ้นจากหล่ม
ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปอกตม ถอนตนขึ้นได้
เป็นจอมเทพได้เพราะไม่ประมาท
อปฺปมาเทน มฆวา เทวานํ เสฏฺฐตํ คโต
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปมาโท ครหิโต สทา
ท้าวมฆวะ ถึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลาย เพราะความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาท ความประมาทผู้รู้ติเตียนทุกเมื่อ
สมปรารถนาได้เพราะไม่ประมาท
อายุํ อาโรคิยํ วณฺณ สคฺคํ อุจฺจากุลีนตํ
รติโย ปตฺถยนฺเตน อุฬารา อปราปรา
อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ ปฺุญฺญกิริยาสุ ปณฺฑิตา
บุคคลปรารถนาอยู่ซึ่งอายุ ความไม่มีโรค วรรณะ สวรรค์ ความเกิดในตระกูลสูง
และความยินดีอันโอฬารต่อ ๆ ไป พึงบำเพ็ญความไม่ประมาท
บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย
ได้นามว่า บัณฑิต เพราะพิชิตความไม่ประมาท
อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต
ทิฏเสธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก
อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติฯ
บัณฑิตผู้ไม่ประมาทย่อมยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ภพนี้ และประโยชน์ภพหน้า
เพราะยึดไว้ได้ซึ่งประโยชน์ผู้มีปัญญาจึงได้นามว่า "บัณฑิต"
ประสบสุขที่สุดเพราะหยุดความประมาท
ท่านทั้งหลายอย่าตามประกอบความประมาท อย่าตามประกอบความเชยชิดด้วยความยินดีในกาม
เพราะว่าผู้ไม่ประมาทแล้ว เพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุสุขอันไพบูลย์
รักษาทรัพย์ไว้ได้เพราะไม่ประมาท
คนพาลไร้ปัญญาย่อมประกอบเนือง ๆ ซึ่งความประมาทส่วนปราชญ์
ย่อมรักษาความไม่ประมาทไว้ เหมือนทรัพย์อันประเสริฐ
เผากิเลสได้เพราะไม่ประมาท
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท
ย่อมเผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป เหมือนไฟไหม้เชื้อน้อยใหญ่ไปฉะนั้น
อยู่ใกล้นิพพานเพราะไม่ประมาท
ภิกษุยินดีในความไม่ประมาท หรือเห็นภัยในความประมาท
เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะเสื่อม ชื่อว่าอยู่ใกล้พระนิพพานทีเดียว
หมดทุกข์ได้เพราะไม่ประมาท
ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ละความถือมั่นว่าของเราได้
แล้วเที่ยวไป เป็นผู้รู้ พึงละชาติ ชรา โสกะ ปริเทวะ และทุกข์ ในโลกนี้ได้
เจริญได้เพราะไม่ประมาท
ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด
ใคร่ครวญแล้วทำระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท
กำจัดกองทัพมฤตยูได้เพราะไม่ประมาท
จงพากเพียร พยายาม บากบั่น ในพระพุทธศาสนา จงกำจัดกองทัพของมฤตยู
เหมือนกุญชรกำจัดเรือนไม้อ้อฉะนั้น ผู้ใดไม่ประมาทในพระธรรม
วินัยนี้อยู่ จักละชาติสงสาร ทำที่สุดทุกข์ได้
ปัจฉิมโอวาท ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ประทานปัจฉิมโอวาทว่า
"หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ"
แปลความจากภาษาบาลีได้ว่า "ภิกษุทั้งหลายบัดนี้ ตถาคตขอเตือนเธอทั้งหลายสังขารทั้งหลาย เสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
1.1.2 อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม
1. ทำให้ได้รับมหากุศล
2. ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตาย มดังพุทธวจนะ
3. ทำให้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ
4. ทำให้คลายจากความทุกข์
5. ทำให้เพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายในการสร้างความดี
6. ย่อมมีสติอันเป็นทางมาแห่งการสร้างกุศลอื่น ๆ
7. ย่อมได้รับความสุขในการดำรงชีพ
8. เป็นผู้ตื่นตัว ไม่เพิกเฉยละเลยในการสร้างความดี
9. ความชั่วความไม่ดีต่าง ๆ ย่อมสูญสิ้นไปโดยพลัน
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree