อิทธิบาท
อิทธิบาท คือ คุณเครื่องที่ทำให้สำเร็จความประสงค์ 4 อย่าง
1. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น ๆ หรือปลูกความรักให้เกิดขึ้นในด้านการศึกษาก็ดี ในการทำหน้าที่การงานก็ดี ที่เมื่อทำแล้วย่อมอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตนเองและผู้อื่น เป็นไปเพื่อคุณงามความดี
2. วิริยะ หมายถึง ความเพียรพยายามที่จะทำสิ่งนั้นให้เสร็จด้วยความกล้าหาญ แม้จะยากลำบากก็ตามต้องมุ่งมานะบากบั่นไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่มาขัดขวาง ตั้งหน้าตั้งตาทำไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ
3. จิตตะ หมายถึง การเอาใจฝักใฝ่ จดจ่อ มีสมาธิในสิ่งนั้นไม่วางธุระ หากมีอุปสรรคเข้ามา ก็มีสติสัมปชัญญะคอยกำกับอยู่เสมอไม่ปล่อยวาง
4. วิมังสา หมายถึง การหมั่นตรึกตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำด้วยปัญญา ใช้ปัญญาพิจารณาถึงสิ่งที่ทำว่าถูกต้องหรือไม่ มีผลดีอย่างไรจากการทำสิ่งนั้น ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
สรุป อิทธิบาท 4 ข้อนี้ เป็นธรรมที่เกื้อหนุนกัน ต้องทำให้ครบทุกข้อจึงจะสมความประสงค์อย่างแน่นอน
1. มีความเพียรย่อมมีชัย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในวัณณุปถชาดก ว่า
"ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน ขุดภาคพื้นที่ทางทราย ได้พบน้ำในทางทรายนั้น ณ ที่ลานกลางแจ้งฉันใด มุนีผู้ประกอบความเพียรและกำลัง และเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน พึงได้ความสงบใจฉันนั้น"
บุคคลจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ รักในสิ่งที่ทำ เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ทำอย่างทุ่มเทไม่ทิ้งกลางคัน ไม่ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคใด ก็ไม่ล้มเลิกไม่ท้อแท้ท้อถอย ย่อมสามารถบรรลุผลได้ในที่สุด
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหารในเมืองสาวัตถี มีกุลบุตรคนหนึ่งได้ไปฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ แล้วมีจิตเลื่อมใสเห็นโทษในกามคุณและอานิสงส์ของการออกจากกาม จึงสละเพศฆราวา ออกบวช เมื่ออุปสมบทได้ 5 พรรษา เรียนมาติกาได้ 2 บท และเรียนกัมมัฏฐานตามที่จิตของตนชอบในสำนักของพระศาสดา ต่อมาได้เข้าไปจำพรรษาบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าแห่งหนึ่งจนตลอดพรรษา ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอะไรได้เลย เมื่อไม่เห็นแม้นิมิต หรือแสงสว่าง ท่านก็เลยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคล 4 จำพวกเอาไว้ ในบุคคล 4 จำพวกนั้น งสัยเราจะเป็นพวกปทปรมะ คือบัวใต้น้ำเป็นแน่ เห็นทีเราจะไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลในปัจจุบันชาตินี้ อย่ากระนั้นเลย จะมีประโยชน์อะไรกับการอยู่ในป่า เราจะไปสำนักของพระศาสดา แลดูพระวรกายอันงดงามยิ่งของพระองค์ และฟังพระธรรมเทศนาอันไพเราะจะดีกว่า เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็กลับมายังวัดพระเชตวันมหาวิหารอีก
เมื่อภิกษุผู้เป็นสหธรรมิก เป็นกัลยาณมิตรต่อกันเห็นท่านกลับมาก็ถามท่านว่า
"อาวุโสท่านเรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเข้าไปป่า ด้วยความหวังว่าจะทำสมณธรรมมิใช่หรือ แต่บัดนี้กลับมาเที่ยวรื่นรมย์กับการคลุกคลีด้วยหมู่คณะกิจแห่งบรรพชิตของท่านถึงที่สุดแล้วหรือ ท่านจะเป็นผู้ไม่มีการเกิดอีกแล้วหรือ"
ฝ่ายภิกษุนั้นก็ตอบว่า
"ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย เราไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใดเลย ตัวเรานั้นน่าจะเป็นอภัพพบุคคล จึงได้ละความเพียรแล้วมายัง ถานที่แห่งนี้"
ภิกษุทั้งหลายจึงพูดขึ้นว่า
"อาวุโสท่านบวชเรียนในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียรมั่นคง แล้วกลับมาละความเพียรเสีย ท่านกระทำสิ่งอันไม่ใช่เหตุแล้ว มาเถิดท่าน พวกเราจะไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดากัน"
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น จึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอพาภิกษุผู้ไม่ปรารถนารูปนี้ มาทำไม"
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุรูปนี้บวชในบวรพระพุทธศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ เมื่อไม่สามารถกระทำสมณธรรมให้เกิดขึ้น ก็ละความเพียรเสียแล้ว"
ลำดับนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุนั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอละความเพียรจริงหรือ"
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า "จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า"
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุ เธอบวชเรียนในพระศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์อย่างนี้ ทำไมจึงไม่ให้เขารู้จักเธออย่างนี้ว่า เป็นผู้มีความมักน้อย หรือว่าเป็นผู้มีความสันโดษ เป็นผู้สงัด เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยหมู่ หรือว่าเป็นผู้หมั่นปรารภความเพียรอยู่เสมอ แต่เธอกลับให้เขารู้จักว่า เป็นผู้ละความเพียร เมื่อก่อนเธอเป็นผู้มีความเพียรพยายามอยู่ไม่ใช่หรือ เมื่อเกวียน 500 เล่ม แล่นไปในเส้นทางทุรกันดาร พวกมนุษย์และโคทั้งหลายได้ดื่มน้ำอย่างมีความสุข ก็เพราะอาศัยความเพียรซึ่งเธอผู้เดียวกระทำแล้ว แต่เพราะเหตุไรในบัดนี้ เธอจึงละความเพียรเสียเล่า"
ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสอย่างนั้น จึงอ้อนวอนพระพุทธองค์ว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเพียรที่ภิกษุรูปนี้ละแล้วย่อมปรากฏแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในบัดนี้ แต่ในกาลก่อน การที่โคและมนุษย์ทั้งหลายได้ดื่มน้ำอย่างมีความสุขในทางกันดาร ในทะเลทราย เพราะอาศัยความเพียรของภิกษุรูปนี้พวกข้าพระองค์ยังไม่รู้ ขอพระองค์จงตรัสเหตุของเรื่องนี้แก่พวกข้าพระองค์ด้วยเถิด" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า
ในอดีตกาล เมื่อคราวที่พระเจ้าพรหมทัตครองเมืองอยู่ที่นครพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน ได้เดินทางในทะเลทรายตลอด 60 โยชน์ ในทางกันดารนั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็มีแต่ความร้อนประดุจกองถ่านเพลิง ไม่อาจข้ามไปได้ เพราะเหตุนั้นพระโพธิสัตว์เมื่อดำเนินไปในทางกันดาร จึงเอาเกวียนบรรทุกฟืน น้ำมัน และน้ำเป็นต้นไป พักผ่อนเวลากลางวัน ออกเดินทางเฉพาะในยามที่พระอาทิตย์อัสดงคต ด้วยสัญญาณของดวงดาว พ่อค้าเกวียนทั้งหลายเดินทางอย่างนั้นจนสิ้นระยะทาง 59 โยชน์ จึงคิดว่า เหลืออีกคืนเดียวเท่านั้นที่พวกเราก็จะออกจากทะเลทรายแล้ว จึงบริโภคอาหารเย็น ใช้ฟื้นและน้ำจนหมด แล้วจึงออก
เดินทางต่อ
ในขณะนั้น คนนำทางเกิดความเหน็ดเหนื่อย เพราะไม่ได้นอนมาเป็นเวลานาน จึงเผลอหลับไป โคทั้งหลายก็หวนกลับเข้ามาตามเส้นทางเดิม เดินทางไปอย่างนี้ตลอดคืนยันรุ่ง เมื่อคนนำทางตื่นขึ้นมาแล้วมองดูดาวนักษัตรก็รู้ว่า นี่เป็นที่ตั้งค่ายพักแรมของเราเมื่อวานนี้ เมื่อพวกพ่อค้าทราบเหตุการณ์นั้น ต่างก็ปริเวทนาคร่ำครวญ เพราะเสบียงในการเดินทางพวกตนได้ใช้ไปหมดแล้ว จึงพากันตั้งปะรำ นอนเศร้าโศกอยู่ภายใต้เกวียนของตน
ในขณะนั้นเองพระโพธิสัตว์คิดว่า "เมื่อเราละความเพียรเสียแล้ว คนทั้งหลายจักพากันฉิบหาย" พอรุ่งเช้าจึงสำรวจพื้นทราย ก็ได้เห็นกองหญ้าแพรกกอหนึ่งจึงคิดว่า หญ้าเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยความชื้นของน้ำข้างล่าง จึงสั่งให้คนขุดลึกลงไปได้ 60 ศอก จอบก็ได้กระทบกับหินดานข้างล่าง พอจอบกระทบกับหินเท่านั้น คนทั้งหลายต่างก็พากันถอดถอนใจละความเพียรเสีย
ฝ่ายพระโพธิสัตว์คิดว่าภายใต้หินนี้ต้องมีน้ำแน่ จึงลงไปยืนที่พื้นหิน ก้มลงแล้วเงี่ยหูฟังได้ยินเสียงน้ำเบื้องล่าง จึงขึ้นมาบอกกับคนรับใช้ว่า "พวกเรายังพอมีหวัง เมื่อเธอละความเพียรเสียแล้ว พวกเราจะฉิบหายกันหมด ขอเธออย่าละความเพียรเลย จงเอาค้อนเหล็กนี้ลงไปทุบแผ่นหินเถอะ"
คนรับใช้ก็รับคำของพระโพธิสัตว์ แล้วยืนทุบแผ่นหินนั้น จนกระทั่งแผ่นหินแตกออกเป็น 2 ซีก แล้วกระแสน้ำประมาณเท่าลำตาลก็พวยพุ่งขึ้นมา คนทั้งหลายต่างพากันดื่มน้ำอาบน้ำปรุงอาหาร และเมื่ออาทิตย์อัสดงแล้วก็พากันออกเดินทางไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้ ภิกษุนั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาก็เกิดกำลังใจ ตั้งใจประกอบความเพียรใหม่ ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล มความปรารถนา
จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน แม้จะอยู่ในที่ที่ทุรกันดาร มีแต่ความลำบาก ก็สามารถผ่านวิกฤติจนกระทั่งประสบความสำเร็จได้ เพราะอาศัยความเพียร บุคคลจึงเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ เหมือนอย่างพระบรมศาสดาของพวกเรา ก่อนที่ท่านจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น พระองค์ทรงมีความเพียรอย่างยิ่งยวด ทรงตั้งสัตยาธิษฐานอยู่ในใจว่า "แม้เลือดเนื้อของเราจะเหือดแห้งหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม หากยังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วละก็ จะไม่ยอมลุกจากที่" นักศึกษาทุกท่านในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ผู้เดินตามรอยบาทพระศาสดา ก็ต้องมีความเพียร ไม่เกียจคร้านในการสร้างความดีสร้างบุญสร้างบารมี เหมือนอย่างพระองค์ท่าน ให้ใช้วันเวลาของชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เร่งสร้างบุญบารมี และปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 007 พุทธธรรมทีปนี 1
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree