นิพพาน
นิพพานเป็นเป้าหมายชีวิตที่มนุษย์ทุกคนต้องเดินทางไปถึง แม้ว่าจะรู้จักหรือไม่รู้จักนิพพานในขณะนี้ก็ตาม เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อหมดกิเลส แล้วก็ต้องเข้านิพพานไป
ความรู้เรื่องนิพพานที่เป็นเป้าหมายชีวิตของมนุษย์นั้นได้หายไป
เส้นทางที่จะไปนิพพาน คือทางสายกลางก็ได้หายไป และวิธีการที่จะไปนิพพาน คือวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย ด้วยการฝึกใจให้ "หยุด" ก็ได้หายไปด้วย
ความรู้เรื่องนิพพานได้กลับคืนสู่โลก มาให้ความกระจ่าง แก่มวลมนุษย์ในโลกนี้อีกครั้ง ก็ด้วยการค้นพบของหลวงพ่อวัดปากน้ำ
นิพพานเป็นเป้าหมายที่มนุษย์ทุกคนควรตั้งใจจะไปให้ถึง แต่เพราะไม่มีการสั่งสอนให้รู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ไม่ได้มีการชี้หนทางไปนิพพานให้เข้าใจ มนุษย์ ในโลกนี้จึงได้ตั้งเป้าหมายชีวิตของตนเองจนห่างไกลไปจากนิพพาน
แม้แต่คำกล่าวในการถวายสังฆทาน ในตอนท้ายที่มีการตั้งจิตอธิษฐานโดยอาศัยผลบุญที่เกิดจากการถวายสังฆทาน ขณะนี้มีเหลือกล่าวไว้เพียง "เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ" มีเพียงวัดไม่กี่วัดที่ยังคงคำอธิษฐานไว้ว่า "เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข เพื่อมรรคผลนิพพาน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ"
เพื่อความเข้าใจในเรื่องนิพพาน ตามรอย ขอนำพระธรรมเทศนาบางตอนที่หลวงพ่อกล่าวถึงเรื่องนิพพาน มาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาดังนี้
ในพระธรรมเทศนา เรื่อง อาทิตตปริยายสูตร แสดงเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อได้กล่าวไว้ว่า
"อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นผล อะไรเป็นนิพพาน มรรคผล นิพพาน
กายธรรมอย่างหยาบ กายธรรมโคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา อรหัตอย่างหยาบ นั่นแหละเป็นตัวมรรค
กายธรรมอย่างละเอียด โสดาอย่างละเอียด สกทาคาอย่างละเอียด อนาคาอย่างละเอียด อรหัตอย่างละเอียด นั่นแหละเป็นตัวผล นั่นแหละมรรคนั่นแหละผล
แล้วนิพพานล่ะ
ธรรมทีทำให้เป็นกายโคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา อรหัต พอถึงธรรมทีทำให้เป็นพระอรหัต ก็ถึงนิพพานกัน นิพพานอยู่อย่างนี้
ถ้าไม่มีธรรมทีทำให้เป็นพระอรหัต ก็ไปนิพพานไม่ได้
ธรรมทีทำให้เป็นพระอรหัต เป็นวิราคธาตุวิราคธรรม
ตัวนิพพานเป็นวิราคธาตุวิราคธรรม เขาก็ดึงดูดกัน พอถูกส่วนเข้า ก็ดึงดูดกันรั้งกันไปเอง
เหมือนมนุษย์ในโลกนี้ คนมั่งมีเขาก็เหนี่ยวรั้ง คนมั่งมีไปรวมกัน
คนยากจน มันก็เหนี่ยวรั้งคนยากคนจนไปรวมกัน
นักเลงสุรามันก็เหนี่ยวรั้งนักเลงสุราไปรวมกัน
นักเลงฝินมันก็เหนี่ยวรั้งนักเลงฝินไปรวมกัน
ภิกษุก็เหนี่ยวพวกภิกษุไปรวมกัน
สามเณรก็เหนี่ยวพวกสามเณรไปรวมกัน
อุบาสกก็เหนี่ยวพวกอุบาสกไปรวมกัน
อุบาสิกาก็เหนี่ยวพวกอุบาสิกาไปรวมกัน มีคล้ายๆ กันอย่างนี้
แต่ที่จริงที่แท้เป็นอายตนะสำคัญ อายตนะดึงดูด เช่น โลกายตนะ อายตนะของโลก ในกามภพ อายตนะของกาม มันดึงดูดให้ข้องอยู่ในกามคือ กามภพ
รูปภพ อายตนะรูปพรหมดึงดูด เพราะอยู่ในปกครองของรูปฌาณอายตนะดึงดูดให้รวมกัน
อรูปภพ อายตนะของอรูปพรหม อรูปฌาณดึงดูดเข้ารวมกัน
อตฺถิ ภิกฺขเว สฬายตนํ นิพพานเป็นอายตนะ อันหนึ่ง เมื่อหมดกิเลส แล้ว นิพพานก็ดึงดูดไป นิพพานเท่านั้น ให้รู้จักหลักจริง อันนี้ก็เอาตัวรอดได้"
อีกตอนหนึ่งหลวงพ่อได้กล่าวไว้ในพระธรรมเทศนา เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่า
(ถาม) นิพพานอยู่อย่างไรกัน อยู่ที่ไหน เขาว่านิพพานอยู่ในใจ
(ตอบ) คำว่า นิพพาน นะ
นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ ใจของเราออกจากกิเลส เครื่องร้อยได้ เป็นตัวนิพพาน นี่นิพพานไม่อยู่กับใจเสียแล้ว ใจออกจากกิเลส เครื่องร้อยรัดไป
(ถาม) ตัวใจที่ออกจากกิเลส เครื่องร้อยรัดนั่นหรือตัวนิพพาน กิเลส เข้าไปเย็บร้อยอยู่นั่น หลุดออกเสียจากกิเลส ขาดออกไปเสียจากกิเลสนั่นหรือเป็นตัวนิพพาน
(ตอบ) นั่นเป็นตัวออกจากกิเลส เครื่องร้อยรัด เมื่อออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัดแล้วจึงไปสู่นิพพานอีกครั้งหนึ่ง
นิพพานแยกออกเป็นสอง
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
" สอุปาทิเสสนิพพาน" เหมือนพระพุทธเจ้าได้สำเร็จพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ว่าขันธปัจก (ขันธ์ ๕ = ร่างกาย กายเนื้อ) ยังปรากฏอยู่สั่งสอน เวไนยสัตว์อยู่ ๔๕ ปี ในระหว่างนั้นเป็น อนุปาทิเสสนิพพานธาตุทั้งนั้น เป็น สอุปาทิเสสนิพพาน
ส่วน "อนุปาทิเสสนิพพาน" เมื่อพระพุทธเจ้าครบ ๘๐ พรรษาแล้ว ที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน.....เมื่อพระพุทธเจ้าถึงอายตนนิพพานนั่นแล้ว อยู่ในนิพพานแล้วขณะใด ขณะนั้นเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน..............
(ถาม) อายตนนิพพานนั้น เมื่อธรรมกายของพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ เข้าไป มีอยู่ไหมละ
(ตอบ) มีอยู่ เรียกว่า อายตนนิพพาน
บาลี บริหารตำรับตำราไว้ว่า
อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ.... ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย นิพพานเป็น อายตนะมีอยู่.....
พระพุทธเจ้ายังไม่ได้เข้านิพพาน พระอรหันต์ยังไม่ได้เข้านิพพาน ก็เป็นอายตนะคอยรองรับอยู่ เหมือนอย่างกับตาของเรามีอยู่ ยังไม่เห็นรูป รูปมันยังมาไม่ถึง ตายังไม่มา ถึงรูป รูปยังไม่มาถึงตา ก็ไม่เห็นกัน (แต่)ก็มีอายตนะอยู่แล้ว......อายตนะคือหู เสียงมันยังไม่มาถึงก็ไม่ได้ยินกัน พอเสียงมาถึงก็ได้ยินกัน เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มีอายตนะเครื่องรับทั้งนั้น นี่เป็นอายตนะของโลก อายตนนิพพานเป็นของละเอียด ละเอียดทีเดียว...........
"นิพพาน" นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นอายตนะหนึ่ง เรียกว่า "นิพพาน" เฉยๆ ไม่เรียกว่า "พระนิพพาน"
"ธรรมกาย" ของพระสิทธัตถะราชกุมาร เข้าไปอยู่ในนิพพานนั้น เรียกว่า "พระนิพพาน"
"ธรรมกาย" นั้นเรียกว่า "พระนิพพาน"
แต่ว่า "นิพพาน"ที่ยังเป็นเครื่องรองรับนั้นเรียกว่า "อายตนนิพพาน" หรือ เรียกว่า "นิพพาน" เฉยๆ
"พระนิพพาน" คือ "พระเข้านิพพาน" ให้รู้จักหลักอย่างนี้นะ" (หมายเหตุ การถามตอบ ในพระธรรมเทศนานี้ไม่ได้มีผู้ถามในขณะที่หลวงพ่อเทศน์ หลวงพ่อท่านยกคำถามขึ้นมา เพื่อใช้เป็นการอธิบายขยายความ แต่ได้ใส่ข้อความในวงเล็บว่าถามตอบ เพื่อแยกคำให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น)
นอกจากหลวงพ่อจะได้อธิบายถึง "นิพพาน" และ "พระนิพพาน" ให้ได้เข้าใจแล้ว ท่านยังชี้หนทางไปนิพพานให้อีกว่า ถ้าปรารถนาไปนิพพานแล้วก็สามารถทำได้ หลวงพ่อกล่าวไว้ในพระธรรมเทศนา เรื่อง หลักการเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน ว่า
"ถ้าจะไปสู่มรรคผลนิพพาน ต้องเข้ากลางดวงนั้นแห่งเดียว ไปได้ทางเดียวทางอื่นไม่มี
เมื่อเข้ากลางดวงศูนย์นี้ได้แล้ว เรียกว่า ดวงปฐมมรรค นัยหนึ่ง
อีกนัยหนึ่ง ดวงนั้นแหละ เรียกว่า เอกายนมรรค แปลว่า หนทางเอก ไม่มีโท สอง แปลว่า หนทางหนึ่ง สองไม่มี หนึ่งทีเดียว
(อีกนัยหนึ่ง) ดวงนั้นแหละ เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหมดในสากลโลกสากลธรรม พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ จะเข้าไปสู่นิพพานต้องไปทางนี้ทางเดียว ไม่มีทางแตกแยกจากกัน ไปแนวเดียวทางเดียวกันหมด แต่ว่าการไปนั้น บางท่านเร็วบางท่านช้า ไม่เหมือนกัน
คำว่าไม่เหมือนกันนี้แหละ ถึงจะได้ชื่อว่าไม่ ซ้ำกัน คำว่าไม่ ซ้ำกันเพราะเร็วกว่ากัน ช้ากว่ากัน แล้วแต่นิสัยวาสนาของตนที่สั่งสมอบรมไว้ แต่ว่าทางไปนั้นเป็นทางเดียวกันหมด เป็นเอกายนมรรค หนทางเส้นเดียวเมื่อจะไปต้องหยุด"
อีกตอนหนึ่งในพระธรรมเทศนา เรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ แสดงเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ว่า
"ด้วยความอดทน ด้วยความหยุด ด้วยความอดใจนั้นแหละจึงเข้านิพพานได้ ถ้าไม่มีความอดทน ไม่มีความหยุด ไม่มีความนิ่ง อย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว เข้านิพพานไม่ได้"
การฝึกใจให้หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เข้าถึงดวงปฐมมรรคเป็นเบื้องต้น แล้วไป ทางกลางดวงปฐมมรรค เข้าถึงดวงศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จนเข้าถึงกายในกายเป็นลำดับไป จนถึงธรรมกาย ถึงธรรมกายแล้วก็ไปนิพพานได้
หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเป็นผู้หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง และส่องประทีปในที่มืดให้บุคคล ผู้มีนัยน์ตาดีได้เห็น ฉะนั้นอายตนนิพพานมีอยู่ทางไปนิพพานก็มีอยู่ พระนิพพาน คือพระธรรมกายก็มีอยู่ แต่เป็นเหมือนของที่คว่ำไว้ ปิดไว้ไม่ให้ชาวโลกได้รู้ได้เห็น หลวงพ่อหงายอายตนนิพพานที่ถูกคว่ำไว้ และเปิดอายตนนิพพานที่ถูกปิดไว้ ให้ชาวโลกได้เห็น โดยบอกอย่างตรงๆ ว่าอายตนนิพพานนั้นมีอยู่จริง และยังได้บอกหนทาง ไปนิพพานอย่างชัดเจนว่า ต้องไปทางกลาง กลางดวงกลางกาย ด้วยวิธีการ "หยุด"
นิพพานที่ดูเป็นเรื่องไกลความเข้าใจ เป็นเรื่องที่สุดเอื้อม เหมือนของสูงที่อยู่สุดคว้า หลวงพ่อได้ชี้แจงแสดงไว้ว่าสามารถเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติธรรมทำใจให้ "หยุด" ตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้ทำให้มีกำลังใจว่านิพพานที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านดำเนินไปถึงแล้ว เราเองหากปฏิบัติถูกทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายก็สามารถไปถึงนิพพานได้เช่นกัน
โดยเนื้อหาคำเทศน์สอนของหลวงพ่อไม่ได้มีเพียงเรื่องเกี่ยวกับดวง ๖ ดวง กายในกาย ธรรมกาย และนิพพาน ตามที่ตามรอย ได้ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น หากแต่ว่าหมวดธรรมคำสอนอื่นๆ เช่น มงคลสูตรธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาทิตตปริยายสูตรโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ หลวงพ่อก็ได้อธิบายแนวทาง ปฏิบัติที่ตรงต่อนิพพานไว้อย่างชัดเจน
หากว่าธรรมที่หลวงพ่อได้เข้าถึงไม่ใช่ของจริง คงไม่สามารถอธิบายหมวดธรรมที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกได้อย่างกระจ่างชัดเช่นนี้ หมวดธรรมใดๆที่ค้างคาน่าสงสัยหาผู้อธิบายให้ความกระจ่างไม่ได้ หลวงพ่อก็ได้อธิบายให้ความกระจ่างส่องแนวทางในการปฏิบัติตามอย่างชัดเจนทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เกิดปีติ มีกำลังใจสร้างบารมีไปนิพพานได้เสียดายแต่ว่าคำสอนที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่สิบกัณฑ์ หมวดธรรมบางข้อจึงไม่มีคำอธิบายของหลวงพ่อวัดปากน้ำฝากไว้ให้ศึกษา แต่อย่างไรก็ดียังมีหลักปฏิบัติตามทางสายกลางที่ตรงต่อนิพพานไว้ให้ได้ศึกษาปฏิบัติตาม ธรรมหมวดใดที่ยังสงสัยค้างคาใจ ก็คงพอจะมีกำลังใจว่า หากปฏิบัติถูกต้องตามทางสายกลางแล้วสามารถไปเรียนรู้พระธรรมทั้ง ๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ได้ไม่ยากนัก
พระคุณของหลวงพ่อที่ชี้ทางไปนิพพานอย่างกระจ่างใจนี้ เป็นความซาบซึ้งที่อยู่ในจิตใจของผู้ปฏิบัติที่ได้เข้าถึงทุกคน
หากไม่มีหลวงพ่อก็คงไม่มีคำสอนที่มุ่งตรงต่อนิพพาน มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับชาวโลกอย่างเราในวันนี้ พระคุณของท่านจึงมีมากล้นจนถ้าหากจะบรรยายแม้เกิดแล้วตายอีกล้านชาติ ก็มิอาจจะกล่าวบรรยายพระคุณท่านได้หมดสิ้น