กายธรรม (ธรรมกาย)

วันที่ 21 กค. พ.ศ.2560

กายธรรม (ธรรมกาย)

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , กายธรรม (ธรรมกาย)

 

                        ตามรอย ได้นำพาท่านผู้อ่านไปในหนทางสู่นิพพาน ด้วยการเดินตามทางสายกลาง กลางกายที่ศูนย์กลางกาย ดวง ๖ ดวง และกายภายในมาได้ ๘  กายแล้ว ในตอนนี้ยังมีกายอีก ๑๐ กาย ซึ่งทั้ง ๑๐ กายนี้เรียกว่า กายธรรมทั้งนั้น เป็นกายที่จะได้เดินทางให้ถึงกันต่อไป

                         คำว่า "กายธรรม" หรือ "ธรรมกาย" เป็นคำอยู่คู่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำ เพราะหลวงพ่อเป็นผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย หรือเป็นผู้ค้นพบวิทีปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย

                         ธรรมกายเป็นสิ่งที่หลวงพ่อเน้นย้ำทุกๆ ครั้งในพระธรรมเทศนาของท่านว่า "ควรปฏิบัติให้เข้าถึงให้ได้" ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๐ กาย คือ

กายธรรม (หรือกายธรรมโคตรภู) กายธรรมโคตรภูละเอียด

กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระโสดาบันละเอียด

กายธรรมพระ สกทาคามี กายธรรมพระสกทามีละเอียด

กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอนาคามีละเอียด

กายธรรมพระอรหัต กายธรรมพระอรหัตละเอียด

                        ดังนั้น เพื่อความเข้าใจในเรื่องของธรรมกายยิ่งขึ้น ตามรอย จึงนำเรื่องราวของธรรมกายที่หลวงพ่อได้กล่าวไว้ในพระธรรมเทศนาของท่านมาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษา

                       คำว่า "ธรรมกาย" นั้นมีกล่าวยืนยันไว้ในพระไตรปิฎก หลวงพ่อได้ค้นคว้ามา ยืนยันไว้ในพระธรรมเทศนาของท่าน ดังนี้

ธรรมกาย คือ พระพุทธเจ้า

                       "กายมนุษย์เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องเป็นธรรมกาย ธรรมกายเท่านั้นเป็นพระพุทธเจ้าได้

                        พระองค์รับสั่งด้วยพระองค์เองว่า

'ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ

เราตถาคต คือ ธรรมกาย'

                         ธรรมกายนั้นเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระตถาคตแท้ๆ ไม่ใช่อื่น อีกนัยหนึ่งในพระสุตตันตปิฎกแท้ๆ ตรัสไว้ว่า

                          'เอตํ โข วาเสฏสา ธมฺมกาโยติ ตถาคตสฺส อธิวจนํ

                          ดูก่อน วาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย ธรรมกายนั้นเป็น ตถาคตโดยแท้' รับสั่งอย่างนี้ ธรรมกายนั่นเอง คือพระตถาคตเจ้า"

(จาก ภัตตานุโมทนาคาถา ๙  พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗  )

ธรรมกายเป็นชื่อตถาคต

                         "พระสิทธัตถะทรงกระทำความเพียรอยู่ถึง ๖ พรรษา จึงพบรัตนะ อันลี้ลับซับซ้อนอยู่ในพระองค์ คือ ธรรมกาย มีสัณฐานเหมือนพระปฏิมากรเกตุดอกบัวตูม มี สีใสเหมือนกระจก ปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกาย

                          ที่ว่านี้มีหลักฐานในอัคคัญญสูตรที่พระองค์ตรัสแก่ วาเสฏฐสามเณรว่า 'ตถาคตสฺส เหตํ วา เสฏฐาธิวจนํ ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ' ในสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายสาฏิกวรรค ยืนยันความว่า 'ดูกร วาเสฏฐสามเณร คำว่าธรรมกาย ธรรมกายนี้เป็นชื่อตถาคตโดยแท้'"

(จาก พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ)

ตถาคต คือ ธรรมกาย

"พระองค์รับสั่งกับวักกลิภิกขุว่า

'อเปหิ วกฺกลิ วักกลิจงถอยออกไป

อิมํ ปูติกาย ทสฺสนํ มาดูไยเล่าร่างกายตถาคตที่เป็นของเปื่อยเน่า

โย โข วกฺกลิ ธมฺมํ  ปสฺสติ โส มํ  ปสฺสติ แน่ะสำแดงวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต

ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ผู้ตถาคตคือธรรมกาย'

                       นั่นแน่ะ บอกตรงนั้นแน่ะว่า เราตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกาย นั่นเองเป็นตัวตถาคตเจ้า"

(จาก พุทธรัตนะ  ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗  )

                       นอกจากคำกล่าวยืนยันที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกแล้ว หลวงพ่อยังได้อธิบาย เรื่องราวของธรรมกายไว้ในพระธรรมเทศนาของท่านอีกหลายตอน เช่น

                       "ธรรมกายนี้ คือ พุทธรัตนะ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น เรียกว่า ธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดอยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะนั้นเรียกว่าสังฆรัตนะ"

(จาก ภัตตานุโมทนาคาถา ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗)

ธรรมกายเป็นแก่นสารของพระธรรมวินัย

                         "...ทำให้มี ให้เป็นธรรมกายขึ้นนั่นนะ เป็นแก่นเป็นสาระในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็นแก่นแน่นหนาทีเดียว ได้ชื่อว่ายึดไว้ได้ซึ่งแก่นสารของตนทีเดียว

                         อาทยิ สารเมว อตฺตโน ยึดไว้ได้ซึ่งแก่นสารของตนทีเดียว

                         ได้ธรรมกายแล้วทำธรรมกายนั่นให้เป็นพระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล เป็นลำดับขึ้นไป อย่างนี้พบแก่นสารในธรรมวินัย ของพระศาสดาแท้"

(จาก กรณียเมตตสูตร ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗  )

ธรรมกายเป็นตัวแท้

                        "อัตตาสมมุติ ได้แก่ กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กาย อรูปพรหม เพราะกายเหล่านี้ยังมีเกิดมีตาย เป็นกายส่วนโลกีย์ ยังมีกายอีก กายหนึ่งซึ่งเป็นกายโลกุตตระ คือ ธรรมกาย ธรรมกายนี้แหละเป็นอัตตาแท้ หรือตนแท้"

(จาก พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ)

ธรรมกายเป็นนิจจังสุขัง อัตตา

                        "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว หลีกจากสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยงสังขารทั้งหลายที่เป็นทุกข์ หลีกจากสังขารเหล่านั้นไปเสีย ธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่ตัว หลีกจากธรรมที่ไม่ใช่ตัวไปเสีย เข้าถึงตัวให้ได้ เข้าถึงธรรมกายให้ได้ ธรรมกายเป็นตัวธรรมกายเที่ยง อื่นจากธรรมกายเป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตา....ส่วนธรรมกายนั้นเป็นนิจจังสุขัง อัตตา"

(จาก ติลักขณาทิคาถา ๑สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๗  )

                        ถึงตอนนี้ก็คงจะพอรู้จักเรื่องของธรรมกายบ้างแล้ว คุณของการเข้าถึงธรรมกาย มีอย่างไรบ้าง หลวงพ่อท่านได้ให้ความรู้ไว้หลายตอน ดังจะยกมาแสดงต่อไปนี้

ธรรมกายรู้จักภูตผีปีศาจ

                         "พวกธรรมกายเขาเห็นด้วยกันทุกคน ภูตผีปีศาจเหล่านี้ มีธรรมกายแล้วก็เห็น เห็นชัดๆ เอามาเล่าให้ฟังได้ รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร นี่วัดปากน้ำมีธรรมกายมากนะ ถ้าอยากจะรู้ว่าภูตผีปีศาจมี รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไรแล้ว ก็ไปไถ่ถามกันได้ พูดกันได้ว่ากุมภัณฑ์ นั้นเป็นอย่างไร ไปไถ่ถามกันได้ พูดกันได้ แล้วยังมีอีกมากมายที่เรา ยังไม่รู้จักน่ะ"

(จาก พุทธรัตนะ  ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗  )

ธรรมกายรู้วันตายได้

                          "เจ้าภาพผู้บริจาคทานวันนี้ ผู้ที่เป็นหัวหน้าเขาเป็นคนมีธรรมกายเข้าถึงธรรมกายละเอียดแล้วสามารถใช้อะไรได้ต่างๆ ดังนั้นเราที่ยังไม่ได้ จงอุตส่าห์พยายามเพียรเรียนให้เข้าถึงกายธรรมละเอียดนี้บ้าง ให้ถึงธรรมกายเช่นเขานี้บ้าง หากถึงธรรมกายเช่นนี้แล้วจะเอาตัวรอดได้ ตายเสียชาติก่อนก็ได้ ถ้าวันไหนจะตายก็รู้ คือสามารถรู้ได้"

(จาก ภัตตานุโมทนาคาถา ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗  )

ธรรมกายนำบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วได้

                         "ถ้าว่ามีธรรมกายง่ายเต็มทีทำบุญเท่าไรได้หมด เพราะเหตุว่า ธรรมกายนำไปบอกให้อนุโมทนา ก็ได้สำเร็จสมความปรารถนา

                         แม้จะไปตกนรก ธรรมกายนำส่วนกุศลที่ญาติอุทิศส่งไปให้ ไปถึงนรกก็ได้รับส่วนกุศลสมมาดปรารถนาพ้นจากนรกทีเดียว

                         ถ้าว่าเป็นเทวดาบุญหนักศักดิ์ใหญ่ได้ส่งขึ้นไป ถ้าได้เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นมนุษย์ได้ ไปให้แก่กายละเอียด ถ้ากายมนุษย์ไม่รู้เรื่อง ให้กายมนุษย์ละเอียดที่ฝันออกไป กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด แต่ว่า กายมนุษย์ไม่รู้เรื่อง"

(จาก ภัตตานุโมทนาคาถา ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗)

ธรรมกายเป็นผู้เห็นอริยสัจ ๔

                        "สัจจธรรมทั้ง ๔ นี้ใครเป็นคนรู้คนเห็น ธรรมกาย

                        ธรรมกายโคตรภูทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายโสดาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระสกทาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระอนาคาทั้งหยาบทั้งละเอียด ธรรมกายพระอรหัตทั้งหยาบทั้งละเอียด เป็นผู้เห็น เป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็นทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ เหล่านี้ นี้แหละเป็นธรรมสำคัญในพุทธศาสนา"

(จาก เขมาเขมสรณาคมน์ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๗ )

ธรรมกายเท่านั้นไปนิพพานได้

                       "น้อยนักที่จะเข้าถึงฝัง คือนิพพานทีเดียว เข้าถึงนิพพานไม่ใช่เป็นของเข้าถึงได้ง่าย...นอกจากวิชชานี้แล้ว ไม่มีใครไปนิพพานได้เลย ไปนิพพานได้ก็แต่ธรรมกายเท่านั้น"

(จาก ติลักขณาทิคาถา ๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗  )

ธรรมกายไปนิพพานได้ (๑)

                        "ตั้งแต่กายธรรม กายธรรมละเอียด กายธรรมโสดา โสดาละเอียดกายธรรมสกทาคา สกทาคาละเอียด กายธรรมอนาคา อนาคาละเอียดกายธรรมอรหัต อรหัตละเอียด ๑๐ กายนที่ไปนิพพานได้ทั้งนั้น"

(จาก รัตนสูตร ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗  )

ธรรมกายไปนิพพานได้ (๒)

                        "ถ้าว่าโดยย่อแล้วละก็ พอถึงกายธรรมหยาบละเอียดเท่านั้น ไป นิพพานได้แล้ว"

(จาก ขันธ์ ๕ เป็นภาระอันหนัก ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖)

                        ที่กล่าวมาเป็นคุณเพียงเล็กน้อยของการได้เข้าถึงธรรมกายที่หลวงพ่อได้กล่าวไว้ ในพระธรรมเทศนาของท่านยังมีกล่าวไว้อีกมากมาย

                         เมื่อเห็นว่าธรรมกายมีคุณมาก ควรแก่การปฏิบัติให้เข้าถึงแล้ว จะปฏิบัติให้เข้า ถึงได้อย่างไร หลวงพ่อท่านได้อธิบายไว้ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๗  ว่า

                          "ที่เราเดินทางศีลสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  ในกายมนุษย์มาถึงกายมนุษย์ละเอียด ในกายทิพย์มาถึงกายทิพย์ละเอียด ในกายรูปพรหมมาถึงกายรูปพรหมละเอียด ในกายอรูปพรหม มาถึงกาย อรูปพรหมละเอียด จนกระทั่งมาถึงธรรมกาย ธรรมกายละเอียดนี้ เราต้องเดินในช่องทางของศีลสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นี่เอง"

                         สำหรับผู้ที่ได้ธรรมกายแล้ว หลวงพ่อได้กล่าวตักเตือน ให้รักษาธรรมกายไว้ใน พระธรรมเทศนา เมื่อวันที่ ๑  มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ว่า

                         "ถ้าเห็นธรรมกาย เป็นธรรมกายแล้ว แก้ไขธรรมกายนั่นให้สะอาด ให้ผ่องใสหนักขึ้น อย่าให้ยุ่ง อย่าให้มัวหมอง ถ้าเห็นบ้างไม่เห็นบ้างอย่างนั้นยังง่อนแง่น ยังใช้ไม่ได้

                         ถ้าเห็นแจ่มใสบริสุทธิ์ ไม่มีราคีเหมือนกระจกส่องเงาหน้า เจ้าของเห็นเวลาไร แล้วยิ้มจ้าเวลานั้น ...แล้วใจต้องนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นธรรมกายทีเดียว ค่ำมืดดึกดื่นเที่ยงคืนไม่ลุก ลืมตาก็แจ่มอยู่ กับธรรมกายนั่น

                        เมื่อนอนหลับเข้าก็แล้วไป เข้าที่ไป จนกระทั่งหลับอยู่กับธรรมกาย ตื่นขึ้นก็ติดอยู่กับดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น แจ่มจ้าอยู่เสมอ" แต่สำหรับบางคน ได้ธรรมกายแล้วกลับทิ้งไปเสียก็มี หลวงพ่อได้ให้โอวาทไว้ในพระธรรมเทศนา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๗ ว่า

                         "บางคนไม่เดียงสา มีธรรมกายใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้แล้ว มาถึง รัตนะอันประเสริฐเช่นนี้แล้วกลับไปวางเสียก็มี แปลกประหลาดนักลืมตาขึ้นแล้วกลับไปตาบอดก็มี อย่างนี้น่าอัศจรรย์นัก

                         เพราะเหตุไร เพราะไม่รู้จักเดียงสา มาพบของวิเศษประเสริฐเลิศล้นพ้นประมาณ ไม่รักษาให้ควรแก่การควรเห็น ควรพบ แม้เป็นอยู่ก็เท่ากับศพ ไม่ประเสริฐเลิศอะไรนัก"ท่านล่ะ ได้ปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายแล้วหรือยัง หลวงพ่อได้ตั้งเป้าหมายเข้าถึงธรรมกายให้ว่า

                         "ถ้าเราไม่พ้นกิเลสตราบใดละก็ เราต้องเวียนว่ายตายเกิดใน กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่จบไม่แล้ว ต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้ ไปดูนิพพานให้ได้ ถ้าไปดูนิพพานเห็นได้แล้วละก็ จะชอบใจสักเพียงใด"

                         เส้นทางไปนิพพาน ตามรอย ได้นำเสนอท่านผู้อ่าน มาตั้งแต่เรื่องทางสายกลางเริ่มจากศูนย์กลางกาย มาถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน และดวงศีลสมาธิ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  จนถึงกายในกายตามลำดับ ถึงธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่จะนำไปสู่นิพพานได้ คงทำให้ท่านผู้อ่านเห็นหนทาง และเข้าใจเส้นทางการไปสู่นิพพานได้อย่างกระจ่างขึ้น

                         แต่ที่ชี้แจงมาตั้งแต่ต้นในหลายตอนที่ผ่านมา ก็เป็นแต่เพียงคลี่แผนผังทางไปนิพพานให้ดูเท่านั้นส่วนวิธีการไปต้องอาศัยวิธีการฝึกใจให้ "หยุด" ตามคำสอน ของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่สอนไว้เท่านั้น คงมิได้ไปด้วยการศึกษาจากตัวหนังสือนี้ได้

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017122348149618 Mins