ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ตอนที่แล้วได้อธิบายถึง "ในทางสายกลาง" ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำได้พบว่า มีดวง ๖ ดวง และกายในกาย ๑๘ กาย
ดวง ๖ ดวงคือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
กายในกาย ๑๘ กาย คือ ๑. กายมนุษย์ ๒. กายมนุษย์ละเอียด ๓. กายทิพย์ ๔. กายทิพย์ละเอียด ๕. กายรูปพรหม ๖. กายรูปพรหมละเอียด ๗. กายอรูปพรหม ๘. กายอรูปพรหมละเอียด ๙. กายธรรม (หรือกายธรรมโคตรภู) ๑๐. กายธรรมโคตรภูละเอียด ๑๑. กายธรรมพระโสดาบัน ๑๒.กายธรรมพระโสดาบันละเอียด ๑๓. กายธรรมพระสกทาคามี ๑๔. กายธรรมพระสกทาคามีละเอียด ๑๕. กายธรรมพระอนาคามี ๑๖. กายธรรมพระอนาคามีละเอียด ๑๖. กายธรรมพระอรหัต ๑๗. กายธรรมพระอรหัตละเอียด
ทั้งหมดนี้หลวงพ่อบอกว่า เป็นแผนผังในทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักปฏิบัติที่แน่นอนจับตัววางตาย ไม่เลอะเลือน เหลวไหล
ดวงและกายในกายเหล่านี้ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมากมายหลายที่ แต่ไม่ติดต่อหรือต่อเนื่องเป็นหมวดหมู่เดียวกัน คล้ายกับแผนผัง หรือแผนที่ที่ฉีกขาดถูกแบ่งแยก กระจัดกระจายสูญหายไปก็มี ความรู้ในเรื่องดวงและกายในกายเหล่านี้จึงดูเลือนลางแผนผังทางไปนิพพานจึงเห็นได้ยาก หรือเห็นได้ไม่กระจ่างชัดนัก
จนกระทั่งเมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำได้เข้าถึงธรรมกาย ด้วยการค้นคว้าจากการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อ ความรู้เรื่องดวงและกายในกายเหล่านี้ จึงกลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง แผนผังทางไปนิพพานที่ฉีกขาดกระจัดกระจาย ก็ได้รับการรวบรวมเข้าเป็นเส้นทางเดียวกันส่องทางให้ผู้มีความปรารถนาแสวง หานิพพานได้เห็นหนทางอย่างชัดเจน
ความรู้ความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกของหลวงพ่อวัดปากน้ำมีมากพอที่จะค้นคว้าหาความรู้ใดๆ ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่างๆ ได้อย่างไม่ยาก เพราะหลวงพ่อได้ทุ่มเท ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในพระไตรปิฎกเป็นเวลาถึง ๑๑ ปี
หลวงพ่อได้กล่าวถึงการเรียนปริยัติของท่านว่า
"ถึงพรรษา ๑๑ ก็สำเร็จในการเล่าเรียนคันถธุระได้พอสมควรแก่ที่ตั้งใจไว้ว่า ต้องเรียนแปลให้ออก จะได้ค้นธรรมในมคธภาษา (ภาษาบาลี) ได้ตามต้องการ ก่อนแต่จะมาเรียนคันถธุระนั้น ได้ตั้ง 'หนังสือใบลาน มหาสติปัฏฐานลานยาว' ไว้ที่วัดสองพี่น้องผูกหนึ่งว่า ถ้าไปเล่าเรียนคราวนี้ ต้องแปลหนังสือผูกนี้ให้ออก จึงเป็นที่พอแก่ความต้องการ ถ้ายังแปลไม่ออก ก็เป็นอันไม่หยุดในการเรียน แต่พอแปลออกก็หยุด"
หนังสือใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาว เป็นหนังสือที่กล่าวถึงพระสูตรชื่อ มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยเรื่องกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม มีความยาวและความยากมาก พอที่จะให้ผู้แปลต้องใช้ประดับความรู้ความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีมากพอทีเดียว การแปลหนังสือนี้ได้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และจากคำสอนที่มีอยู่ในพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อ ก็เป็นสิ่งยืนยันความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีของท่านเป็นอย่างดี เพราะทุกครั้งในการเทศน์หลวงพ่อจะยกภาษาบาลีขึ้นมาก่อนจากนั้นท่านก็จะแปลภาษาบาลีให้เป็นภาษาไทย บางกัณฑ์หลวงพ่อบอกชัดทีเดียวว่าที่ภาษาบาลีตรงนี้ทำไมต้องสะกดอย่างนั้น เขียนอย่างนั้น ไม่เขียนเป็นอย่างอื่น เพราะเป็นหลักอะไรในภาษาบาลี แล้วจึงขยายความไปสู่แนวการปฏิบัติจนเป็นที่เข้าใจ
ที่ยกเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรมของหลวงพ่อมาเอ่ยถึงนี้ ก็เพราะจะยืนยันว่าเรื่องดวง ๖ ดวง และกาย ๑๘ กาย ที่หลวงพ่อได้ค้นพบจากการปฏิบัติธรรมนั้น มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก และหลวงพ่อก็ได้สอบทานความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมของท่าน กับพระไตรปิฎกไว้แล้ว มีหลายตอนที่ท่านได้อธิบายถึงดวง ๖ ดวง และกาย ๑๘ กายนี้ ไว้อย่างชัดเจน
ตามรอย จึงขอน้อมนำคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องดวง ๖ ดวง และกาย ๑๘ กาย ที่หลวงพ่อกล่าวถึงนี้มาเสนอกับท่านผู้อ่าน พร้อมทั้งจะได้ค้นเรื่องราวของดวง ๖ ดวง และกาย ๑๘ กาย ที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมาเพิ่มเติมไว้ให้ศึกษากันด้วย โดยจะเริ่มกันที่ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค
จากพระสูตรและอรรถกถาแปล ของมหามงกุฏราชวิทยาลัย ในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ตติยโพธิสูตร กล่าวว่า
"ก็อวิชชาที่นำสัตว์ไปสู่อบาย ถูกปฐมมรรคละได้" ในสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฐมราคะสูตร กล่าวว่า
"บรรดากิเลส เหล่านั้น ราคะ โทสะ โมหะ ที่จะให้ไปอบาย จะละได้ด้วยปฐมมรรค" แสดงว่าในพระไตรปิฎกกล่าวถึงปฐมมรรคว่าเป็นธรรมที่ควรปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อจะได้ละกิเลส และอวิชชาได้
เราจะปฏิบัติให้เข้าถึงได้อย่างไร หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านได้กล่าวถึงการเกิดขึ้น ของดวงปฐมมรรคไว้ในพระธรรมเทศนา เรื่อง พุทธคุณ ธรรมคุณสังฆคุณ ว่า
"เพียรทำกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น เพียรรักษากาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์แล้วให้คงที่และทวีขึ้น ความที่มีขึ้นแล้วแห่งความบริสุทธิ์นั้นให้รักษาไว้ อย่าให้หายไปเสียนึกถึงความบริสุทธิ์นั้นแหละร่ำไป จนใจของตนบริสุทธิ์เหมือนกับความบริสุทธิ์ แล้วก็จะเห็นความบริสุทธิ์ใสปรากฏอยู่ตรงกลางของกายมนุษย์ เหนือสะดือขึ้นมาราว ๒ นิ้ว ตรงนั้นเรียกว่าศูนย์ เป็นดวงประมาณเท่าฟองไข่แดง ใสบริสุทธิ์ดุจกระจกที่ส่องดูหน้าในเวลาแต่งหน้า แต่งตัวประมาณของดวงไม่คงที่ บางทีโตกว่าเล็กกว่าก็ได้ อย่างโตไม่เกินดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ อย่างเล็กไม่เกินดวงตาดำข้างใน นี้เป็นเครื่องกำหนดดวง ดวงนั้นแหละ คือ ปฐมมรรค"
ถ้าปรารถนาจะเข้าถึงดวงปฐมมรรค ก็ต้องรักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ และ หมั่นนึกถึงความบริสุทธิ์อยู่เรื่อยๆ ดังคำสอนที่หลวงพ่อกล่าวไว้
"กายสังขารสงบ คือ ลมหายใจหยุด
วจีสังขารสงบ คือ ความตรึกตรองหยุด
จิตสังขารสงบ คือ ใจหยุด อยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ชื่อว่าสันติ ลมหยุดลงไปในที่เดียวกัน ชื่อว่า อานาปานะ ซึ่งแปลว่า ลมหยุดนิ่ง หรือไม่มี
เมื่อสังขารทั้ง ๓ หยุดถูกส่วนเข้าแล้ว เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยส่วนหนึ่ง
เมื่อสังขารสงบมีความสุขเกิดขึ้น เรียกว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตคิดว่าเป็นสุข เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในเมื่อสติปัฏฐานทั้ง ๓ส่วนพร้อมกันเข้า เกิดเป็นดวงใสขึ้น เท่าฟองไข่แดง หรือเท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์ สนิทเหมือนกระจกส่องเงาหน้า นั่นแหละธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน..."
ดวงนี้บางท่านเรียกว่า "พระธรรมดวงแก้ว"
โบราณท่านใช้แปลใน มูลกัจจายน์ ว่า "ปฐมมรรค"
เป็นการยืนยันว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค ที่หลวงพ่อกล่าวไว้ในการปฏิบัตินั้น มีพระโบราณจารย์ท่านได้กล่าวถึงไว้แล้ว
มีเรื่องน่าศึกษาตรงนี้นิดหนึ่งเกี่ยวกับคัมภีร์มูลกัจจายน์ว่า การศึกษาบาลีไวยากรณ์ในปัจจุบันนี้ใช้หลักการศึกษาจากหนังสือบาลีไวยากรณ์ ซึ่งแต่งโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก่อนหน้านี้การศึกษาบาลีไวยากรณ์ ใช้คัมภีร์มูลกัจจายน์เป็นหลัก
หลักสูตรที่ใช้กันในปัจจุบันได้ สรุปหลักภาษาเท่าที่จำเป็น ตัดทอนตอนที่ยุ่งยากออกไปทำให้เข้าใจง่ายขึ้นสะดวกในการเรียนรู้ การแปลบางเรื่องบางพระสูตรจะให้เข้าใจกระจ่าง รู้ถึงที่มาของคำนั้นๆ อย่างแท้จริงแล้ว ก็ต้องศึกษาในคัมภีร์เดิมคือ คัมภีร์มูลกัจจายน์ ซึ่งมูลกัจจายน์เป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในประเทศไทย โดยอาศัยคัมภีร์กัจจายนะจากประเทศอินเดียเป็นหลักในการแต่ง มีการใช้กันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือ อาจก่อนหน้านี้ มาเลิกใช้ในรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง
นับจากวันที่หลวงพ่อวัดปากน้ำบวช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ ถึงวันที่ท่านยุติการเรียนปริยัติธรรมในพรรษาที่ ๑๑ (ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ) หลวงพ่อศึกษาบาลีไวยากรณ์จากหนังสือชื่อ มูลกัจจายน์ เล่มที่ท่านกล่าวถึงในเทศนานี้
อีกตอนหนึ่งในพระธรรมเทศนา เรื่อง การแสดงศีล แสดงเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗ หลวงพ่อได้อธิบายถึงเรื่องดวงปฐมมรรคไว้ดังนี้
"ดวงใสนี้แหละ เรียกว่า เอกายนมรรค เป็นหนทางไปชั้นเอก ไม่มีทางไปอื่นดีกว่านั้นอีกต่อไป อีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่าปฐมมรรค หนทาง เบื้องต้นมรรคผลนิพพาน ผู้ที่จะไปสู่มรรคผลนิพพานก็ไปกลางดวงนั้น ไปหยุดอยู่กลางดวงนั้น นี่หนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน
อีกนัยหนึ่งท่านเรียกว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลว่า ดำเนินไปตามทางของพระอริยเจ้า"
ดวงปฐมมรรคเป็นหนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน คือเป็น 'ต้นทาง' ที่จะไปสู่นิพพานได้ นักปฏิบัติบางท่านเมื่อปฏิบัติเข้าถึงดวงนี้แล้ว ไม่ทราบว่าคือดวงอะไร และ ไม่ทราบว่าจะฝึกใจอย่างไรต่อไปอีกทำให้บางท่านเข้าใจถึง "ปลายทาง" คือนิพพานแล้ว แต่หลวงพ่อบอกไว้อย่างชัดๆ ว่า นี่เป็นเพียง "ต้นทาง" ไปสู่นิพพานเท่านั้น หาใช่เป็น"ปลายทาง" คือนิพพานไม่
เหตุที่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงดวงนี้แล้วไม่รู้ว่าคือดวงอะไร ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก็เพราะไม่รู้เรื่องกลาง ไม่รู้เรื่องการเข้ากลาง เข้ากลางดวงนี้ไม่ได้ คือ ไม่รู้วิธีที่จะฝึกใจตาม "ทางสายกลาง" จึงไม่พบความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปสมดังคำที่หลวงพ่อวัดปากน้ำกล่าวว่า "กลางนี้ลึกซึ้งนัก"
บัดนี้มาศึกษาคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว ก็พบว่ายังมีความรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าดวงที่เข้าถึงนี้อีก ซึ่งจะเรียนรู้ต่อไปได้ก็ด้วยการทำใจให้ "หยุด" อยู่กลางดวงปฐมมรรคนี้ต่อไป คำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงเป็นการเปิดช่องชี้ทางสว่างให้ความกระจ่างในเรื่องดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างชัดแจ้ง