ในทางสายกลาง

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2560

ในทางสายกลาง

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , ในทางสายกลาง

 

                     ตามรอย ในตอนที่แล้วได้ชี้แจงถึงทางสายกลางในทางปฏิบัติ "ฝึกใจ" ตามที่หลวงพ่อสอนไว้ โดยสรุปได้ว่าทางสายกลางในทางปฏิบัติ "ฝึกใจ" นั้นคือ การเอาใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกาย แล้วเข้ากลางไปส่วนวิธีการจะทำได้อย่างไรนั้น หลวงพ่อสอนให้ทำใจ "หยุด"

                     ในตอนนี้จะได้อธิบายขยายความในทางสายกลางต่อไปอีกว่า เมื่อเอาใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายแล้ว เมื่อเข้ากลางไปจะไปพบอะไรบ้าง โดยจะขอน้อมนำคำสอนของหลวงพ่อ จากพระธรรมเทศนาเรื่อง  รัตนสูตร ตอนสังฆรัตนะ แสดงเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๗   ดังนี้

                      "เริ่มต้นต้องทำใจให้หยุด...

                     พอใจหยุด ก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่นแหละ กลางของกลางๆๆ ซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบน นอกใน ไม่ไปกลางของกลางๆๆ อยู่นั่น

                     พอถูกส่วนเข้า พอไปถึงกำเนิดกลางเข้าเท่านั้น เห็นดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์กลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เป็นจุดอยู่อีกเหมือนกันหยุดเป็นทางอยู่ ใจก็หยุดตรงจุดนั้น เป็นที่ดูดใจอยู่จุดนั้น กลางนั่นพอใจหยุด ก็เข้ากลางของใจหยุดนั่นแหละ กลางของกลาง กลางของกลางที่หยุดของใจนั่นแหละ ไม่ได้เดินทางอื่น เดินทางใจอย่างเดียวกลางของกลาง กลางของกลางในใจหนักเข้า พอถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงศีล อยู่กลางดวงใจนั่นแหละ ไม่ใช่อยู่ที่อื่น

                     ก็หยุดอยู่กลางดวงศีลอีก มีรอยหยุด มีที่หยุดอีก หยุดนิ่งอยู่กลางนั่น พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีกนั่นแหละ กลางของกลางๆ พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงสมาธิ

                     ก็หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นแหละ ในกลางที่หยุดอีก พอหยุดก็เข้ากลางของหยุดนั่น กลางของกลางๆ พอถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงปัญญา

                     ใจหยุดอยู่กลางดวงปัญญานั่นแหละ พอหยุดถูกส่วนเข้า ก็เข้ากลางของหยุดอีก กลางของกลางๆ พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงวิมุตติ

                     หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติอีกนั่นแหละ หยุดอันเดียวนั่นแหละ พอหยุดแล้วก็เข้ากลางของกลางๆ ที่ใจหยุดนั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าเข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

                     ใจก็หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะอีก พอหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดอีก กลางของกลางๆ พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด"

                     ขอพักคำสอนของหลวงพ่อไว้เท่านี้ก่อน เพื่อให้ง่ายขอสรุปคำสอนของหลวงพ่อไว้ ในตอนนี้ก่อนว่า เมื่อทำใจหยุดไว้ที่ศูนย์กลางกายแล้ว เข้ากลางใจที่หยุด จะเข้าถึงดวงธรรม ๖ ดวง คือ ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญาดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ และเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด

                     จากนั้นขอสรุปโดยย่อ หลวงพ่อได้สอนต่อไปอีกว่า ให้เข้ากลางกายมนุษย์ละเอียด แบบเดียวกับวิธีการข้างต้น ถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงดวงธรรมอีก ๖ ดวง คือ ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ และเข้าถึงกายทิพย์

                     ทำแบบเดียวกันนี้จะเข้ากายภายในกายต่างๆ ไปตามลำดับ นับรวมตั้งแต่ กายแรกที่เป็นกายมนุษย์ก็ได้ทั้งสิ้น ๑๘  กาย หลวงพ่อได้กล่าวถึงกายทั้ง ๑๘  กายนี้ ใน

                     พระธรรมเทศนาเรื่อง หลักการเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน ว่า

                     "ที่มาเรียนสมถวิปัสสนาวันนี้ ต้องเดินแนวนี้ ผิดแนวนี้ไม่ได้ และ ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ผิดอย่างนี้ไปไม่ได้ ผิดอย่างนี้ไปก็เลอะเหลว ต้องถูกแนวนี้

เราต้องยึดกายมนุษย์นี่เป็นแบบ เข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียด

ต้องยึดกายมนุษย์ละเอียดเป็นแบบ เข้าไปถึงกายทิพย์

ต้องยึดกายทิพย์เป็นแบบ เข้าไปถึงกายทิพย์ละเอียด

ต้องยึดกายทิพย์ละเอียดเป็นแบบ เข้าไปถึงกายรูปพรหม

ต้องยึดกายรูปพรหมเป็นแบบ เข้าไปถึงกายรูปพรหมละเอียด

ต้องยึดกายรูปพรหมละเอียดเป็นแบบ เข้าไปถึงกายอรูปพรหม

ต้องยึดกายอรูปพรหมเป็นแบบ เข้าไปถึงกายอรูปพรหมละเอียด

ต้องยึดกายอรูปพรหมละเอียดเป็นแบบ เข้าไปถึงกายธรรม

ต้องยึดกายธรรมเป็นแบบ เข้าไปถึงกายธรรมละเอียด

ยึดกายธรรมละเอียดเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระโสดา

ยึดกายธรรมพระโสดาเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระโสดาละเอียด

ยึดกายธรรมพระโสดาละเอียดเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคา

ยึดกายธรรมพระสกทาคาเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคาละเอียด

ยึดกายธรรมพระสกทาคาละเอียดเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระอนาคา

ยึดกายธรรมพระอนาคาเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระอนาคาละเอียด

ยึดกายธรรมพระอนาคาละเอียดเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระอรหัต

ยึดกายธรรมพระอรหัตเป็นแบบ เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตละเอียด นี้เป็นหลักฐานในพระพุทธศาสนา

                       ในหนังสือที่ได้รับแจกกันทั่วๆ หน้านั้น ๑๘  รูป หน้าปกที่อธิบายมานี้นับได้

๑. กายมนุษย์

๒. กายมนุษย์ละเอียด

๓. กายทิพย์

๔. กายทิพย์ละเอียด

๕. กายรูปพรหม

๖. กายรูปพรหมละเอียด

 ๗. กายอรูปพรหม

 ๘. กายอรูปพรหมละเอียด

 ๙. กายธรรม

๑๐. กายธรรมละเอียด

๑๑. กายพระโสดา

๑๒. กายพระโสดาละเอียด

๑๓. กายพระสกทาคา

๑๔. กายพระสกทาคาละเอียด

๑๕. กายพระอนาคา

๑๖. กายพระอนาคาละเอียด

๑๗ . กายพระอรหัต

๑๘ . กายพระอรหัตละเอียด

                          นี้แหละหลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ต้องแน่นอน จับตัววางตายอย่างนี้ ไม่เลอะเลือน เหลวไหล"

                          ในขณะที่หลวงพ่อเทศน์เรื่อง หลักการเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐานนี้ เป็นเวลาประมาณหลังปี พ.ศ.๒๔๙๓ ในบันทึกเทศนาของหลวงพ่อไม่ได้ระบุวันเวลาที่เทศน์ไว้ จึงได้แต่ประมาณเวลาจากเนื้อหาในพระธรรมเทศนา ที่มีการกล่าวถึงพระของขวัญ เพราะพระของขวัญรุ่นแรก แจกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ แสดงว่าในขณะที่หลวงพ่อเทศน์เรื่องนี้เป็นเวลาที่หลวงพ่อได้เผยแผ่เรื่องกาย ๑๘ กายนี้ มาเป็นเวลาได้ประมาณ ๓๐ กว่าปี

                           การเผยแผ่คำสอนในยุคนั้นเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศและการคมนาคมไม่ได้เจริญก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบันนี้ ความเข้าใจของคนทั่วไปที่จะเข้าใจหลักปฏิบัติเช่นนี้จึงมีน้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นการปัดฝุ่นของเก่าซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติดั้งเดิมที่สูญหายไปแล้ว ก็หาได้มีผู้เข้าใจว่าเป็นของเก่าไม่ กลับมีความเข้าใจว่าเป็นวิธีใหม่ที่ไม่มีกล่าวไว้ในคำสอนของพระพุทธศาสนา

                          อีกทั้งทางการคณะสงฆ์และบ้านเมืองในสมัยนั้น ก็ไม่ค่อยเข้าใจในการสอนของหลวงพ่อ การที่หลวงพ่อกล่าวแบบฟันธงว่า

 

"ต้องเป็นอย่างนี้ ผิดอย่างนี้ไปไม่ได้

ผิดอย่างนี้ไปก็เลอะเหลว ต้องถูกแนวนี้" และ

"ต้องแน่นอนจับตัววางตายอย่างนี้

ไม่เลอะเลือน เหลวไหล"

 

                        จึงเป็นการท้าทายการพิสูจน์ความจริงในการปฏิบัติตามที่หลวงพ่อสอนเป็นอย่างมากกับทั้งคงต้องมีกระแสต่อต้านการสอนแบบนี้อย่างแน่นอน

                        อย่างไรก็ตามยุคนั้นในปี พ.ศ.นั้น ได้มีผู้ปฏิบัติเข้าถึงกันเป็นจำนวนมาก เล่ากันว่าหลวงพ่อมีสมุดไว้ให้ผู้ที่เข้าถึงมาลงชื่อไว้เป็นสักขีพยานของการเข้าถึงธรรมนับเป็นจำนวนมาก ที่หลวงพ่อกล่าวไว้ในพระธรรมเทศนาของท่าน เป็นคนใกล้ชิดที่ท่านรู้จักก็เป็นจำนวนหลักร้อยขึ้นไป หลวงพ่อบอกว่ายังไม่ได้นับให้แน่นอน แต่ถ้าคะเนกันเองทั่วประเทศก็มีจำนวนหลายหมื่นคน

                         ธรรมะของจริง เรื่องจริง ที่เข้าถึงได้จริง มีคนพิสูจน์ได้ เข้าถึงกันเป็นจำนวนมาก เมื่อหลวงพ่อกล่าวแบบยืนยันฟันธงเช่นนี้ จึงหาผู้โต้แย้งได้ยาก นอกจากพวกที่ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติแล้วยังเข้าไม่ถึงส่วนที่เข้าถึงแล้วก็เป็นสักขีพยานได้ หลวงพ่อกล่าวไว้ในพระธรรมเทศนาของท่านชักชวนให้ไปสอบถามคนที่เข้าถึงแล้วได้เลย

                         ดวง ๖ ดวง และกาย ๑๘ กายนี้ เหมือนแผนผัง หรือแผนที่ชี้ทางไปนิพพานแผนผังทางไปนิพพานนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง คงต้องกล่าวกันอีกหลายตอน แต่จะขอสรุปไว้ในตอนนี้ก่อนว่า ดวง ๖ ดวง และกาย ๑๘ กายนี้ เป็นความรู้ที่ควรศึกษา ควรปฏิบัติให้เข้าถึง ในพระไตรปิฎกก็มีกล่าวถึงชื่อดวงทั้ง ๖ และกาย ๑๘  กายนี้ไว้เช่นกัน เป็นการกล่าวอยู่ในหลายแห่งหลายที่ ในพระสูตรหลายๆสูตรสอดคล้องกับผลการปฏิบัติของหลวงพ่ออย่างเห็นได้ชัด

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017953932285309 Mins