ในทางสายกลาง (๒)
ตอนที่แล้วได้อธิบายถึงการเข้าถึงธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ โดยอาศัยข้อมูลจากหนังสือเดินไปสู่ความสุขทำให้เข้าใจว่าทางสายกลางคือ "การเข้ากลาง" เข้ากลางดวงที่เห็นเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหลวงพ่อได้ เข้าถึงธรรมกายที่อยู่ในทางสายกลางนั้น
เพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องทางสายกลางเด่นชัดขึ้นอีก ในตอนนี้จึงขอขยายความในเรื่องทางสายกลางอีกครั้ง
ในพระสูตรชื่อธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงปฐมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้ตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ให้ได้ทราบถึงสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ ใจความสำคัญในพระสูตรนี้กล่าวว่าให้ปฏิบัติในทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ไม่ควรปฏิบัติในทางตึงเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค) และในทางหย่อนเกินไป (กามสุขัลลิกานุโยค) ดังที่ท่านผู้เคยศึกษามาคงจะพอเข้าใจ
ในพระสูตรนี้กล่าวถึงทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ว่าประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘ ดังจะยกคำแปลที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้แปลไว้ในเทศนาของท่านเรื่องสัมมจักกัปปวัตตนสูตร มาแสดงดังนี้
"อยเมว อริโย อฏฐงฺคิโก มคฺโคฯ เสยฺยถีทํ หนทาง ๘ ประการไปจากข้าศึก คือกิเลสได้ คือ
สมฺมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบ
สมฺมาวาจา กล่าววาจาชอบ
สมฺมากมฺมนฺโต ทำการงานชอบ
สมฺมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ
สมฺมาวายาโม เพียรชอบ
สมฺมาสติ ระลึกชอบ
สมฺมาสมาธิ ตั้งใจชอบ
นี่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ
อยํ โข สา ภิกฺขเว มชฺฌิมา ปฏิปทา ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา จกฺขุกรณี ญาณกรณี อุปสมาย อภิญฺญาย สมฺโพธาย นิพฺพานาย สํวตฺตติ ฯ
อย่างนี้แหละภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แหละข้อปฏิบัติอันเป็นกลาง ที่ พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง กระทำความเห็นให้เป็นปกติกระทำความรู้ให้เป็นปกติ ย่อมเป็นไปเพื่อความออกไปสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง รู้พร้อม ซึ่งพระนิพพาน"
ในคืนวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ประทับนั่งสมาธิ "ฝึกใจ" ของพระองค์ท่าน เพียงอย่างเดียวเท่านั้นทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ ๘ คงไม่น่าจะหมายถึงความประพฤติทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน แต่น่าจะหมายถึงการ "ฝึกใจ" ที่ทำให้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เมื่อพิจารณาดูตามความรู้ที่มีปรากฏอยู่ในพระสูตรนี้เพื่อหาหนทางการ "ฝึกใจ" ตามทางสายกลาง ก็ไม่พบวิธีการ "ฝึกใจ" เลย
ความมืดมนของการค้นหาการ "ฝึกใจ" ตามทางสายกลางมีมานานนับพันปี ไม่อาจจะมีใครให้ความหมายทำความเข้าใจในการ "ฝึกใจ" ตามทางสายกลางนี้ได้เลย จนเมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านได้เข้าถึงธรรมกายทางสายกลางที่ดูมืดมัวเลือนลาง เหมือนจะเห็นแต่ก็ไม่เห็น ก็ได้ปรากฏหนทางการปฏิบัติ "ฝึกใจ" ตามทางสายกลางได้อย่างชัดเจน
หลวงพ่อได้อธิบายไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ถึงเรื่องการปฏิบัติ "ฝึกใจ" ตามทางสายกลางว่า
"กลางนี่ลึกซึ้งนัก ไม่มีใครรู้ใครเข้าใจกันเลยธรรมที่เรียกว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นกลางน่ะ ในทางปฏิบัติ แปลว่า ถึงเฉพาะซึ่งกลาง อะไรถึงต้องเอาใจเข้าถึงซึ่งกลางสิ เอาใจเข้าไปถึงซึ่งกลาง
กลางอยู่ตรงไหน...มีมนุษย์นี่ มีแห่งเดียวเท่านั้น ศูนย์กลางกายมนุษย์"
จากพระธรรมเทศนาของท่านทำให้พอเข้าใจได้ว่า การเอาใจ "ถึงเฉพาะซึ่งกลาง" ที่ศูนย์กลางกาย คือ หลักการปฏิบัติ "ฝึกใจ" ตามทางสายกลาง
ถ้าเช่นนั้นในพระสูตรกล่าวว่าทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ นั้นคืออะไรเล่าหลวงพ่อได้อธิบายไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า
"นี่ี่ไปถึงพระตถาคตเจ้าอย่างนี้ ไปถึงธรรมกายเช่นนี้ไม่ได้ไปทางอื่นเลย ไปทางปฐมมรรค ไปกลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ดวงปฐมมรรค) ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ดวงศีล คืออะไร ดวงศีลน่ะคือสัมมาวาจาสัมมากัมมันโตสัมมาอาชีโว อริยมรรค ๓ องค์นั้นเรียกว่า ดวงศีล
ดวงสมาธิ สัมมาวายาโมสัมมาสติสัมมาสมาธิ อริยมรรค อีก ๓ องค์
ดวงปัญญาสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปโป เป็นแปดองค์ในอริยมรรคนั้นทั้งสิ้น"
รายละเอียดของมรรคมีองค์ ที่หลวงพ่อกล่าวว่าอยู่ในนั้น คืออยู่ในดวงศีลสมาธิ ปัญญา เป็นอย่างไร คงต้องอาศัยการปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายแล้วเข้าไปเรียนรู้ ในสิ่งเหล่านี้ต่อไปอีก แต่ในการศึกษาภาคปริยัติก็มีกล่าวถึงมรรคมีองค์ ๘ ว่า ถ้าย่นย่อ ลงมาแล้วก็เหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งหลักปริยัติและปฏิบัติตรงกัน
ส่วนการเอาใจ "ถึงเฉพาะซึ่งกลาง" นั้น จะมีวิธีการปฏิบัติอย่างไร หลวงพ่อก็ได้ กล่าวว่าทำด้วยวิธีการทำใจให้ "หยุด" เพียงอย่างเดียว หลวงพ่อได้กล่าวไว้ในพระธรรม เทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า
"ไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลาง นั่นแหละได้ชื่อว่ามัชฌิมา พอหยุดก็หมดดี หมดชั่ว ไม่ดีไม่ชั่วกัน หยุดทีเดียว พอหยุดจัดเป็นบุญก็ไม่ได้พอหยุดจัดเป็นบาปก็ไม่ได้ จัดเป็นดีก็ไม่ได้ชั่วก็ไม่ได้ ต้องจัดเป็นกลาง ตรงนั้นแหละกลางใจ หยุดก็เป็นกลางทีเดียว นี้ี่พระองค์ให้นัยไว้กับองคุลิมาลว่า " สมณะหยุด สมณะหยุด" พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มา " สมณะหยุดแล้ว" ท่านก็หยุด นี้ต้องเอาใจไปหยุดตรงนี้ หยุดตรงนั้นถูก "มัชฌิมาปฏิปทา" ทีเดียว
พอหยุดแล้ว ก็ตั้งใจอันนั้นที่หยุดนั้น อย่าให้กลับมาไม่หยุดอีกนะ ให้หยุดไปท่าเดียวนั่นแหละ
พอหยุดแล้วก็ถามสิว่า หยุดลงไปแล้ว ยังตามอัตตกิลมถานุโยคมีไหม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตัวรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ยินดีไหมไม่มี นั่นกามสุขัลลิกานุโยคไม่มี
ลำบากยากไร้ประโยชน์ (อัตตกิลมถานุโยค) ไม่มี
หยุดตามปกติของเขา ไม่มีทางเขา ไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีทางดังกล่าวแล้ว นี่ตรงนี้แหละที่พระองค์รับสั่งว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา พระตถาคตเจ้ารู้แล้วด้วยปัญญายิ่ง
ตรงนี้แห่งเดียวเท่านั้น (ตรงหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย) ตั้งต้นนี้แหละ จนกระทั่งถึงพระอรหัตผล"
วิธีการฝึกใจอย่างไรให้ใจหยุด หลวงพ่อได้กล่าวสอนไว้ในพระธรรมเทศนาของท่านในหลายๆ เรื่อง กับทั้งในปัจจุบันนี้พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ก็ได้อบรมสั่งสอนในทุกๆ วันอาทิตย์มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และในการจัดปฏิบัติธรรมที่ทางวัดพระธรรมกายจัดขึ้น ก็มีการสอนวิธีการทำใจให้หยุด ซึ่งสามารถ เข้าฝึกอบรมได้ไม่ยากนัก
สำหรับท่านที่สนใจศึกษาปฏิบัติแล้ว มีความสงสัย เพราะเคยได้ยินมาว่า วิธีการปฏิบัติตามที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนให้ทำใจ "หยุด" โดยการบริกรรมภาวนาว่าสัมมาอะระหังและนึกถึงดวงแก้วเป็นบริกรรมนิมิต เป็นวิธีที่ไม่อยู่ในหลักปฏิบัติสมถกรรมฐาน ๔๐ วิธี ที่มาปรากฏเป็นตำราทางพุทธศาสนา ที่อธิบายเรื่องทางสายกลางมานี้จะถูกผิดอย่างไร ก็อยากจะขอยกคำอธิบายที่หลวงพ่อได้กล่าว ไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่องหลักการเจริญสมถวิปัสสนากรรมฐาน ว่า
" สมถะมีภูมิ ๔๐ (คือ) กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ อรูปฌาน ๔ทั้ง ๔๐ นี้ เป็นภูมิของสมถะ"
ในคัมภีร์ต่างๆ ก็ยืนยันว่าทั้ง ๔๐ นี้เป็นวิธีปฏิบัติสมถกรรมฐาน หรือเรียกว่าอยู่ใน ภูมิของสมถะ ภูมิของสมถะคืออะไร หลวงพ่อได้อธิบายว่า
"ภูมิของสมถะที่เราจะพึงเรียนต่อไปนี้ เริ่มต้นต้องทำใจให้หยุด จึงจะเข้าภูมิของสมถะได้ ถ้าทำใจให้หยุดไม่ได้ ก็เข้าภูมิสมถะไม่ได้สมถะเขาแปลว่าสงบ แปลว่าระงับ แปลว่าหยุด แปลว่านิ่ง ต้องทำใจให้หยุด"
นั่นหมายความว่า ภูมิของสมถะ คือ การทำใจให้ "หยุด" นั่นเองวิธีการปฏิบัติ ตามสมถกรรมฐาน ๔๐ วิธีคือ วิธีการทำใจให้ "หยุด" และเมื่อใจหยุดได้ แล้วก็ต้องเอาใจ "ถึงเฉพาะซึ่งกลาง" ที่ศูนย์กลางกาย การสอนของ หลวงพ่อที่ให้บริกรรมภาวนาว่าสัมมา อะระหัง และนึกถึงดวงแก้วเป็น บริกรรมนิมิต ก็เป็นวิธีการแบบเก่าที่มีการ สอนอยู่แล้วในสมถกรรมฐาน ๔๐ แต่ที่หลวงพ่อแนะนำให้ทำต่อไป คือ ทำใจ "หยุด" อยู่ที่ศูนย์กลางกาย แล้วเข้ากลางกายไป และการ"เข้ากลาง" ไปนี้เองที่ทำให้ท่าน พบ "ธรรมกาย" ซึ่งเป็นกายภายใน
หลวงพ่อกล่าวถึงเรื่องการเข้ากลางไว้ในพระธรรมเทศนาเรื่อง โพธิปักขิยธรรมกถา ว่า
"เข้ากลางไม่ถูก เป็นลูกพระตถาคตไม่ได้ ถ้าเข้ากลางถูกเป็นลูกพระตถาคตได้ เหตุฉะนั้นวิธีเข้า กลางจึงสำคัญนัก เมื่อเข้ากลางถูก ก็เป็นลูกพระ ตถาคตทีเดียว"
"ทางสายกลาง" เริ่มต้นด้วยการทำใจให้หยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย และเข้ากลางกายไปนี้เองที่ทำให้หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ค้นพบ "ธรรมกาย"
หากไม่ใช่เพราะบุญบารมีที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสั่งสมมาอย่างดี ประกอบกับการทุ่มเทชีวิตในการศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังของท่านในปัจจุบันชาตินี้แล้ว ความรู้เรื่อง การปฏิบัติ "ฝึกใจ" ตาม "ทางสายกลาง" จะไม่บังเกิดขึ้น อย่างแน่นอน และหากมิใช่เพราะความเมตตาที่หลวงพ่อสั่งสอนเผยแผ่ความรู้ที่ท่านพบมาตลอดชีวิตของท่านแล้ว ความรู้เรื่อง "ทางสายกลาง" นี้คงไม่มีตกทอดมาให้ได้ศึกษากันจนถึงปัจจุบันนี้
พระคุณของหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้นจึงยิ่งใหญ่ไพศาล มากกว่าการจะเอื้อนเอ่ยด้วยวจีใดพรรณนาพระคุณของท่านได้หมดสิ้น