ในความหมายของคำว่า “หยุด”

วันที่ 10 กค. พ.ศ.2560

ในความหมายของคำว่า “หยุด”

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , ในความหมายของคำว่า “หยุด”

 

                         ตามรอย ใน ๑๐ ตอนที่ผ่านมาได้พาท่านผู้อ่านสัมผัส กับประวัติชีวิตทั่วๆ ไปของหลวงพ่อ นับตั้งแต่ตอนแรกที่ได้พาเที่ยวชมสถานที่สำคัญๆ ตามประวัติชีวิตของหลวงพ่อ และตอนต่อๆ มาก็ได้ตามเก็บหลักฐานต่างๆ ที่มีกล่าวไว้ในประวัติของท่านทำให้ได้เห็นภาพชีวิตของหลวงพ่อตลอดถึงปฏิปทาของท่านอย่างเด่นชัดขึ้น

                         นับจากตอนนี้ไป ตามรอย จะพาท่านผู้อ่านเจาะลึกเข้าไปในปฏิปทาของหลวงพ่อในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกาย โดยอาศัยพระธรรมเทศนา จำนวน  ๗๐ กว่ากัณฑ์ ที่ยังพอมีเหลืออยู่เป็นตำรับตำราให้ชนรุ่นหลังได้ ศึกษาปฏิบัติตามเป็นแนวทางในการศึกษา

                          ความสำเร็จของการปฏิบัติธรรมในชีวิตของท่านนั้น หลวงพ่อสอนว่า "หยุด" หยุดอย่างเดียวเท่านั้น หยุดเป็นตัวสำเร็จ

                          เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายของคำว่า"หยุด" ที่หลวงพ่อได้กล่าวสอนไว้ ผู้เขียนจึงขอน้อมนำความหมายของคำว่า "หยุด" เพียงบางส่วนจากพระธรรมเทศนา ของหลวงพ่อ มาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาพอเป็นแนวทาง


๑.สุขอื่นนอกจากหยุดนิ่งไม่มี

                         "โลกจะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของโลก ธรรมที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของธรรม

                         ท่านได้แนะนำไว้ตามวาระพระบาลีว่า

                         นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่ง ไม่มี หยุดนั่นเองเป็นตัวสำคัญ เพราะเหตุนั้นต้องทำใจให้หยุด"

(จากพระธรรมเทศนาเรื่อง หลักการเจริญภาวนาสมถ วิปัสสนากรรมฐาน)


๒. ไปนิพพานต้องหยุด

                       "ถ้าจะไปสู่มรรคผลนิพพาน ต้องเข้ากลางดวงนั้นแห่งเดียว ไปได้ทางเดียวทางอื่นไม่มี

                       เมื่อเข้ากลางศูนย์ได้แล้ว เรียกว่า ดวงปฐมมรรค นัยหนึ่ง

                       อีกนัยหนึ่ง ดวงนั้นแหละ เรียกว่า เอกายนมรรค แปลว่า หนทางเอกไม่มีโท แปลว่า หนทางหนึ่งสองไม่มี หนึ่งทีเดียว....

                        (อีกนัยหนึ่ง) ดวงนั้นแหละเรียกว่า ดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

                        เป็นทางไปของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหมดในสากลโลกสากลธรรม พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ จะเข้าไปสู่นิพพานต้องไปทางนี้ทางเดียวไม่มีทางแตกแยกจากกัน ไปแนวเดียวทางเดียวกันหมด แต่ว่าการไปนั้น บางท่านเร็ว บางท่านช้า ไม่เหมือนกัน

                         คำว่าไม่เหมือนกันนี้แหละ ถึงจะได้ชื่อว่าไม่ ซ้ำกัน คำว่าไม่ ซ้ำกันเพราะเร็วกว่ากัน ช้ากว่ากัน แล้วแต่นิสัยวาสนาของตนที่สั่งสมอบรมไว้แต่ว่าทางไปนั้นเป็นทางเดียวกันหมด เป็นเอกายนมรรค หนทางเส้นเดียวเมื่อจะไปต้องหยุด

"(จากพระธรรมเทศนา เรื่อง หลักการเจริญภาวนาสมถวิปัสสนากรรมฐาน)


๓.ทางธรรมต้องหยุด

                         "นี่ก็แปลกทางโลกเขาจะไป ต้องขึ้นเรือบิน เรือยนต์ รถยนต์ไปจึงจะเร็วจึงจะถึง

                         แต่ทางธรรมไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อจะไปต้องหยุด ถ้าหยุดจึงจะเร็วจึงจะถึง นั่นแปลกอย่างนี้...จะไปทางนี้ต้อง "หยุด"

                          ทางธรรมเริ่มต้นต้องหยุด ตั้งแต่ตอนต้นจนกระทั่งพระอรหัต ถ้าไม่หยุด มันก็ไปไม่ได้ชัดทีเดียว แปลกไหมละ

                           ไปทางโลก เขาต้องไปกันปราดเปรียว ว่องไว คล่องแคล่ว ต้องเล่าเรียนกันมากมาย จนกระทั่งรู้เท่าทันเหลี่ยมคูผู้คนตลอดสาย จึงจะปกครองโลกให้รุ่งเรืองเจริญได้

                           แต่ว่าทางธรรมนี่แปลก "หยุด" เท่านั้นแหละไปได้ หยุดอย่างเดียวเท่านั้น"

(จากพระธรรมเทศนาเรื่อง หลักการเจริญภาวนาสมถ วิปัสสนากรรมฐาน)


๔. หยุดเป็นตัวสำเร็จ

                            "บริกรรมภาวนาอยู่เรื่อยๆ ว่าสัมมาอะระหังๆๆๆ ที่บริกรรมว่าดังนี้ ก็เพื่อจะประคองใจของเราให้หยุด พอถูกส่วนเข้า ใจก็หยุด จะมืดก็หยุดตรงนั้น หรือว่าจะสว่างก็ต้องหยุดตรงนั้น ไม่ต้องถอยไปถอยมานิ่งอยู่ตรงนั้น พอถูกส่วนเข้า ก็จะเห็นดวงใสเราก็เอาใจหยุดอยู่ที่กลางดวงใสนั้น

                             ถ้าหากว่าใจของเราไม่นิ่งไม่หยุด ซัดส่ายไปอย่างไร เราก็ต้องใช้บริกรรมภาวนาไว้ว่าสัมมาอะระหังๆ ๆ จะกี่ร้อยกี่พันครั้งก็ตาม ให้บริกรรมไป จนกว่าใจของเราจะหยุดนิ่งสนิทดี พอใจของเราหยุดดีแล้ว ก็เลิกบริกรรมภาวนาได้ ให้เอาใจของเราจรดเพ่งเฉยอยู่ที่ดวงใสนั้นวางอารมณ์ให้หยุดเท่านั้น อย่าไปนึกถึงความมืด ความสว่าง หยุด นั่นแหละเป็นตัวสำเร็จ "

 (จากพระธรรมเทศนาเรื่อง หลักการเจริญภาวนาสมถ วิปัสสนากรรมฐาน)


๕.ทำจริงก็หยุดได้ทุกคน

                            "ถ้าไม่หยุดจะถึงธรรมกายไม่ได้ ถ้าทำใจให้หยุดได้ ก็เข้าถึงธรรมกายได้ เราเป็นมนุษย์ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน จะทำให้เป็นธรรมกายอย่างเขาไม่ได้เชียวหรือ เราต้องทำได้ ขอให้ทำจริงๆ เถิดทำได้ทุกคน ถ้าทำไม่จริงละก็ ไม่ได้แน่ๆ

                            ที่ว่าทำจริงนั้นจริงแค่ไหน แค่ชีวิตสิ เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหมดไป จะเหลือแต่กระดูก หนังช่างมัน ถ้าไม่ได้ ไม่ลุกจากที่ นี่จริงแค่นี้ละก็ทำได้ทุกคน

                            ฉันเอง (พระมงคลเทพมุนี) ๒ คราว เมื่อเริ่มปฏิบัติสมถวิปัสสนาใหม่ๆ ได้เข้าที่ทำสมาธิ ตั้งใจว่าถ้าไม่ได้ ก็ให้ตายเถอะ นิ่ง...ทำสมาธิอยู่ พอถึงกำหนดเข้า ก็ทำได้ ไม่ตายสักที"

(จากพระธรรมเทศนาเรื่อง หลักการเจริญภาวนาสมถ วิปัสสนากรรมฐาน)


๖. คนฉลาดไม่ประมาทในการทำใจหยุด

                            "ถ้าว่าไม่ประมาทจริง ไม่ประมาทในการทำใจให้หยุดนิ่งทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ทำใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเห็นดวงใสเท่าดวงจันทร์เท่าดวงอาทิตย์ ถ้าเห็นแล้วก็ ไม่ปล่อยละทีนี้ นั่ง นอน กิน ดื่มทำ พูด คิด อุจจาระสปัสสาวะ ชำเลืองไว้เสมอ มองอยู่เสมอ ใจจรดอยู่เสมอ ไม่เผลอกันละ ไม่ให้ใจหลุดทีเดียวจากดวงธรรมที่เกิดขึ้นนั่น ไม่ให้ใจหลุดทีเดียว ติดทีเดียว

                            ถ้าติดได้ขนาดนั้น ไม่ทำให้หลุดเลย นั่ง นอน เดิน ยืน เว้นไว้แต่หลับนั่นประพฤติตน เขาเรียกว่า สาตฺติกา นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา ผู้มีความเพียรก้าว หน้าหมั่นเป็นนิตย์ มีผลเจริญไปหน้า ไม่มีถอยหลังเลย ดังนั้นเรียกว่า คนฉลาด นั่นเรียกว่าฉลาดจริงๆ ละ ไม่เผลอจริงๆ นะ การไม่เผลอเช่นนั้นแหละ จะเข้าถึงดวงธรรมเป็นลำดับไป"

(จากพระธรรมเทศนา เรื่อง มงคลสูตร)


๗ . หยุดได้ หายเศร้าหมองขุ่นมัว

                           "ใจหยุดเสียแล้ว วิรชํ ปราศจากความขุ่นมัว วิรชํ ปราศจากธุลีเศร้าหมองก็ไม่มีแก่ใจ เพราะใจหยุดเสียแล้ว ไม่เศร้าหมองขุ่นมัวแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยทีเดียว ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัวเลย เพราะใจหยุดเสียแล้ว

                           ถ้าใจไม่หยุดเสียแล้ว โลกธรรมกระทบก็ไม่ได้ เศร้าหมองบ้างขุ่นมัวบ้าง ด้วยประการต่างๆ เหตุนี้ต้องคอยระวังตัวทีเดียว ระวังตัวอย่าให้เศร้าหมองขุ่นมัวได้ ถ้าเศร้าหมองขุ่นมัวได้ เพราะตัวโง่ ไม่ทันกับดวงจิต โง่กว่าดวงจิต ไม่ทำจิตให้หยุดเสียทำจิตปล่อยไปตามอารมณ์ไปกับอารมณ์ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ติเตียนทุกข์ เข้าไประดมได้เช่นนี้ก็ทำจิตให้เศร้าหมองขุ่นมัว ไม่ผ่องใสเมื่อจิตไม่ผ่องใสนั่นลงโทษตัวเองไม่ใช่ลงโทษใคร ลงโทษตัวเอง"

(จากพระธรรมเทศนา เรื่อง มงคลสูตร)


๘. หยุดได้ เงินไหลมา

                            "ถ้าจิตหยุดเช่นนั้นเสียแล้วละก็ เงินนะไม่ต้องหายากหาลำบากแต่อย่างไรหรอก ถ้าจิตผ่องใสขนาดนั้นแล้ว ไม่ต้องทำงานอะไรมากมายหรอก มันไหลเข้ามาเองนะ เงินน่ะไม่เดือดร้อน มีแต่เงินเข้า เงินออกไม่มีนะ ออกก็เล็กๆ น้อยๆ เข้ามามาก ผ่องใสอย่างนั้นละก็ นั่นตัวนั้นเป็นตัวสำคัญทีเดียว

                            ถ้าว่าผู้ครองเรือนต้องการให้มั่งมีเงินทองข้าวของมาก อย่ากระทบกระเทือนใจกันทำใจให้ใสอยู่ท่าเดียวแหละ ใจเป็นแดนเกษมอยู่เสมอไป อย่างนี้ให้ตั้งจิตให้อยู่ ให้ดูของตัวเองไว้ให้ผ่องใสอยู่อย่างนั้นเงินทองไหลมา เป็นมงคลแท้ๆ"

(จากพระธรรมเทศนา เรื่อง มงคลสูตร)


๙ . ใจหยุดได้...ได้บุญช่วย

                             "พอใจหยุดได้แล้ว และถูกส่วนเข้าแล้ว เราจะเห็นดวงบุญของเราเห็นชัดเจนทีเดียว ถ้าเราไปเห็นดวงบุญเช่นนั้น เราจะปลาบปลื้มใจสักเพียงใด ย่อมดีอกดีใจเป็นที่สุด จะหาเครื่องเปรียบเทียบไม่ได้เลย

                              ฉะนั้น จงพยายามอุตส่าห์เอาใจไปหยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ นึกถึงบุญที่เราได้กระทำในวันนี้ อย่าไปนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด

                              ถ้าไปค้าขายติดขัดขึ้น ก็ขอให้บุญช่วย นึกถึงบุญตรงกลางดวงธรรมนั้น

                              ถ้าว่ามีอุปสรรคเข้ามาแทรกแซงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีผู้มารุกรานเบียดเบียนประการใด ก็ขอให้บุญช่วยสิ่งอื่นช่วยไม่ได้ ไม่ต้องไปขอร้องให้ใครมาช่วย ให้เอาใจไปหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงบุญนั่นแหละ หยุดนิ่งอยู่อย่างนั้น บุญเป็นช่วยได้แน่นอน โดยไม่ต้องสงสัย"

(จากพระธรรมเทศนา เรื่อง ภัตตานุโมทนากถา)


๑๐. หยุดไม่ได้ต้องโทษตัวเอง

                         "อย่าไปโทษใครเลย โทษตัวเอง โทษใครก็ไม่ได้ โทษตัวของตัวเอง คนอื่นเขาหยุดได้ ตัวหยุดไม่ได้ ก็โทษตัวเอง โทษคนอื่นไม่ได้ จะไปเวรให้ใครก็ไม่ได้ ต้องว่าตัวเอง โทษตัวเองทีเดียว"

(จากพระธรรมเทศนา เรื่อง ปกิณกะ)


๑๑. หยุดไม่ถอยกลับ

                         "ผู้เทศน์ได้สั่งสอนกันแล้วให้หยุดอย่างนี้ หยุดไม่ถอยกลับ ๒๓ ปี ๒ เดือนเศษแล้ว หยุดในหยุด ไม่ได้ถอยหลังกลับกันเลย ได้พบแล้วสุขอันไพศาลเหลือประมาณมากมาย เล่าไม่ถูก พูดไม่ออก บอกไม่ได้ทีเดียว

                         ด้วยเหตุฉะนั้น ผู้ที่อยู่ทีหลัง ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เมื่อต้องการความสุขแล้ว ก็ต้องทำใจให้หยุด นั่นแหละเป็นตัวสุข เป็นตัวสุขแท้ๆสิ่งอื่นสุขไม่เท่าไม่ทันทั้งนั้น"

(จากพระธรรมเทศนาเรื่องสุขที่สัตว์ปรารถนาจะพึงได้)

 

                          หากท่านผู้อ่านปรารถนาจะทำใจให้หยุด เข้าถึงความหมายของคำว่า "หยุด" ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำได้กล่าวถึงนี้ ก็สามารถทำได้ด้วยการจัดสรรเวลาของชีวิต เปิดโอกาสให้กับตนเองศึกษาการทำใจให้หยุด ด้วยการสมัครเข้าปฏิบัติธรรมในโครงการปฏิบัติธรรมพิเศษ หรือการอบรมต่างๆ ที่ท่างวัดพระธรรมกายจัดไว้ตลอดทั้งปีได้ตามความเหมาะสม

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.06112459897995 Mins