ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ  วิมุตติญาณทัสสนะ

วันที่ 18 กค. พ.ศ.2560

ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ  วิมุตติญาณทัสสนะ

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ  วิมุตติญาณทัสสนะ

 

                        ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงดวงแรก คือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค ในตอนนี้จะได้กล่าวถึงดวงต่อไป คือ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

                        ชื่อของดวงธรรมที่เหลืออีก ๕ ดวงนี้ ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้รวมกัน มีปรากฏอยู่หลายที่ ยกตัวอย่างเช่น


ผู้มีอุปการะมาก

                       "พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุเหล่าใด สมบูรณ์ด้วยศีลสมบูรณ์ด้วยสมาธิ สมบูรณ์ด้วยปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

                      ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เรากล่าวการเห็น การระลึกถึง การบวชตามการเข้าไปหา การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้น ว่ามีอุปการะมาก ดังนี้' "

                     จากพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อากังเขยสูตร (พระสูตรและอรรถกถาแปลของมหามงกุฎราชวิทยาลัย)


ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก

                     "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๕ ประการ เป็นไฉน

                    คือพระภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย สมาธิ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ของควรคำนับ เป็นผู้ของควรต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า"

                    จากพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ผาสุวิหารวรรค ศีลสูตร (พระสูตรและอรรถกถาแปลของมหามงกุฎราชวิทยาลัย)


ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

                     "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

                     ธรรม ๕ ประการนั้นเป็นไฉน

                    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยศีล

                   เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยสมาธิ

                   เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยปัญญา

        เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติ

                  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ

                  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และชื่อว่าปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น"

                  จากพระสุตตันตปิฎกปัญจกนิบาต จตุตถหิตสูตร (พระสูตรและอรรถกถาแปล ของมหามงกุฎราชวิทยาลัย)


ธรรมขันธ์ ๕

                  ในพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ของมหามงกุฎราชวิทยาลัย จัดทำโดยสุชีพ ปุญญานุภาพ ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่ได้รับการนิยมอย่างกว้างขวาง มีจำนวนการพิมพ์แล้วเป็นแสนเล่ม ได้อธิบายขยายความไว้ว่า

                  "ธรรม ๕ อย่างนี้ (ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ) เคยให้ความหมายไว้บ้างแล้ว

                   ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย

                  สมาธิ คือ การทำใจให้ตั้งมั่น

                  ปัญญา คือ การรู้เท่าทันความจริง

                  วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น

                  วิมุตติญาณทัสสนะ คือ การรู้ด้วยญาณว่าหลุดพ้นแล้ว เรียกว่า ธรรมขันธ์ ๕"

                   ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์แม่บทที่นักปฏิบัติในประเทศไทยนิยมใช้เป็น แหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่องการปฏิบัติธรรม (แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐ จำนวนภาษาไทยชำระโดย วงศ์ ชาญบาลี) ในตอนมรณานุสติ กล่าวไว้ว่า

                     "...อันว่า สมเด็จพระสรรเพชรพุทธองค์ ผู้ทรงพระสวัสดิภาคย์อันงามนั้น พระองค์มีรูปพระโฉมพระสรีระอัน วิจิตรด้วยทวตึงสมหาบุรุษลักษณะ (ลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ) และพระอสีตยานุพยัญชนะ ๘๐ อย่างประเสริฐ ด้วยพระธรรมกาย อันบริบูรณ์ด้วยแก้วอันกล่าวแล้วคือ พระสีลขันธ์สมาธิขันธ์ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง"

                      แสดงถึงธรรมขันธ์ ๕ ที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกสำหรับ ประชาชนนั้น ในคัมภีร์ วิสุทธิมรรคให้ความหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ธรรมขันธ์ ๕ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะนั้นเป็นความบริบูรณ์ที่มีพร้อมอยู่ในพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า


องค์ ๑๐ ของพระอรหันต์

                       นอกจากนี้ในขุทกนิกาย ขุททกปาฐะ สามเณรปัญหา (พระไตรปิฎกและอรรถกถาแล ของมหามงกุฎราชวิทยาลัย) ได้กล่าวว่า

                       "อะไรเอ่ยชื่อว่า ๑๐ ...

                       ท่านผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ ๑๐ท่านเรียกว่าพระอรหันต์"

                      ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำได้อธิบายองค์ ๑๐ นี้ไว้ในพระธรรมเทศนาของท่าน เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗   ดังนี้

                      "ตามตำราท่านวางไว้  ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคโต อรหาติ วุจฺจตีติ ผู้ใดมาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๑๐ ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์

                      องค์นั้น คืออะไรสัมมาทิฏฐิ ๑สัมมาสังกัปโป ๒สัมมาวาจา ๓สัมมากัมมันโต ๔สัมมาวายาโม ๕สัมมาอาชีโว ๖สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ ๘  มี ๘  แล้วสัมมาญาณ  สัมมาวิมุตติ ๑๐ แล้วมีองค์ ๑๐ อย่างนี้

                     องค์  ๘ นั้น ย่นลงเป็นองค์ ๓

                     สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปโป นี่ย่นเข้าเป็นปัญญา

                    สัมมาวาจาสัมมากัมมันโตสัมมาอาชีโว ย่นลงเป็น ศีล

                   สัมมาวายาโมสัมมาสติสัมมาสมาธิ ย่นลงเป็นสมาธิ

                   รวมเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ๓

                   ถ้าได้ ๓ แล้ว เติมสัมมาญาณ ๔ สัมมาวิมุตติ ๕

                  นี่แหละผู้ใดมาตามพร้อมด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล้ว ผู้นั้นจะพบหลักฐานของพระพุทธศาสนาอย่างแน่นอน

                  นี่อาศัยดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หลักนี้เป็นสำคัญนัก ต้องเข้าถึงหลักนี้ให้ได้"

                   อีกตอนหนึ่งในพระธรรมเทศนาหลวงพ่อ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๗  กล่าวว่า

                  " ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคโต อรหาติ วุจฺจตีติ ผู้ใดมาตามพร้อมด้วย องค์ ๑๐ ผู้นั้นเป็นพระอรหันต์

องค์ ๑๐ คืออะไร

                  สัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปโปสัมมาวาจาสัมมากัมมันโตสัมมา อาชีโวสัมมาวายาโมสัมมาสติสัมมาสมาธิ นี่องค์ ๘  นี่แปดองค์แล้ว สัมมาญาณัง เป็นองค์ ๙ สัมมาวิมุตติ เป็นองค์ ๑๐

                 องค์ ๑๐ ย่อลงเหลือ ๕ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

                 เมื่อรู้จักหลักดังนี้ละก็ นี่แหละหลักพระพุทธศาสนา"


หนทางไปนิพพาน

                  หลักของพระพุทธศาสนาคือ การปฏิบัติตาม "ทางสาย กลาง" และในทางสายกลาง จากการเข้ากลางดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะเข้าถึงดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ การไปตามหนทางซึ่งมีดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ จึงเป็นการปฏิบัติไปตามทางสายกลางตามหลักของพระพุทธศาสนา

                   หลวงพ่อวัดปากน้ำได้กล่าวถึงหนทาง ซึ่งมีดวง ๕ ดวงนี้ไว้ในพระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗   ว่า

                  "ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ เดินไปทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็จะถึงกายมนุษย์ละเอียด

                  กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด เดินไปทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะอีก เข้าถึงกายทิพย์ กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายทิพย์ก็เดินในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด

                 กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ก็เดินในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เดินแบบเดียวกันนี้ทั้ง ๑๘  กาย เดินไป แบบเดียวถึงพระอรหัตทีเดียว

                 นั่นแหละต้องเดินในทาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะทั้งนั้น

                เมื่อรู้จักหลักดังนี้ละก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ นั่นแหละเป็น 'หนทาง' ไม่ใช่ 'ธรรม'

                 บอกเป็น 'หนทาง' อริโย อฏฐงฺคิโก มคฺโค หนทางมีองค์  ๘ ประการ ไปจากข้าศึกคือกิเลสได้ (พุทธพจน์ จากธัมมจักกัปปวัตตนสูตร)

                 ก็พูดถึง 'หนทาง' นี่ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็น 'หนทาง'

                 ถ้าว่าไม่มีศีลสมาธิ ปัญญา ไม่มีทางไป ไปนิพพานไม่ถูก ถ้าจะไปนิพพานให้ถูก ต้องไปทางศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ"

                  ปาก 'ต้นทาง' ไปนิพพานคือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ ดวงปฐมมรรค หลวงพ่อได้บอก 'หนทาง' ไป นิพพานว่า ต้องไปทางศีลสมาธิปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ หนทางนี้มีอยู่ในทุกๆ กายที่เข้าถึง เข้าถึงกายไหนแล้ว ก็ต้องไปตามหนทางนี้เรื่อยไป จึงจะไปสู่นิพพานได้

                   ความรู้เรื่องทางไปนิพพานที่ชัดเจนอย่างนี้ท่านผู้เป็นนักปฏิบัติทั้งหลายคงยืนยันด้วยตนเองได้ว่า ไม่เคยได้ยินได้ฟังได้ศึกษามาก่อนอย่างแน่นอน มีเพียงหลวงพ่อ วัดปากน้ำที่อธิบายหนทางไปนิพพาน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แบบที่ส่องแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน

                   เมื่อระลึกถึงคำสอนของหลวงพ่อที่สอนไว้อย่างชัดแจ้งเช่นนี้แล้ว ก็น้อมนำให้ได้กราบกรานระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านทุกๆ วัน หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเป็นบุคคล ที่ควรบูชาอย่างยิ่ง เป็นมิ่งขวัญที่ให้ความร่มเย็นแก่จิตใจของผู้ที่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0019029498100281 Mins