ชาวนาขายก้อนหิน..
มีชาวนาคนหนึ่ง อาศัยอยู่ที่เชิงเขาสูงเสียดฟ้า เต็มไปด้วยหน้าผาสูงชัน ไม่เคยมีใครขึ้นไปถึงยอดเขาได้ แล้ววันหนึ่งขณะที่ชาวนาคนนั้นกำลังตัดฟืนอยู่ที่หลังเขา เขาได้พบทางเล็กๆ สายหนึ่งโดยบังเอิญ ด้วยความสนใจจึงได้เลาะเลียบไปตามทางเล็กๆ คดเคี้ยวไปมา ค่อยๆ ปีนขึ้นไปอยู่นานมาก ในที่สุดก็ถึงยอดเขา
ค า ด ไ ม่ ถึ ง...
...บนยอดเขากลับเป็นที่ราบ โล่ง ทุ่งหญ้าเขียวขจี มีดอกไม้ป่าที่ไม่รู้จักชื่อบานสะพรั่งอยู่เต็มไปหมด บรรยากาศสงบสงัดและทัศนียภาพงดงามยิ่งนัก เขาเดินต่อไปได้อีกครู่หนึ่งก็พบสระน้ำแห่งหนึ่ง น้ำใสมาก สามารถมองเห็นปลาว่ายไปมาได้อย่างชัดเจน ที่ริมสระมีหินจำนวนมากส่งประกายระยิบระยับ มีสีสรรต่างๆ งดงาม ชาวนาคนนั้นเคยได้ยินคนเล่าถึงอัญมณี แต่ไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเพชรนิลจินดาต่างๆ มีลักษณะอย่างไร เขาคาดคะเนว่า หินที่งดงามเหล่านี้คงจะเป็นอัญมณีเป็นแน่ ในที่สุดก็เลือกเอาหินที่สวยที่สุดก้อนหนึ่งนำกลับบ้าน
วันรุ่งขึ้น เขาเข้าไปในเมือง หาเจอร้านอัญมณีแห่งหนึ่ง ได้นำหินก้อนนั้นให้เจ้าของร้านดู เจ้าของร้านอัญมณีรับหินก้อนนั้นไปพินิจพิจารณาดูอย่างละเอียด แล้วบอกเขาว่า
"นี่เป็นอัญมณีที่ล้ำค่าหายากชนิดหนึ่ง แกขายให้ฉันก็แล้วกัน ฉันให้ราคา 1 หมื่นเหรียญ"
ชาวนาได้ยินคำพูดนั้นแล้ว รู้สึกดีใจมาก แต่แสดงท่าทางทำเป็นเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น ตอบไปว่า
"ตอนนี้ฉันยังไม่อาจตัดสินใจได้ว่าจะขายหรือไม่ พรุ่งนี้เราค่อยคุยกันอีกทีก็แล้วกัน"
พอชาวนานั้นกลับถึงบ้าน ก็รีบระดมทุกคนในครอบครัว ขึ้นเขาไปขนก้อนหินหลากสีเหล่านั้นลงมา ช่วยกันขนตลอดวัน ขนหินเหล่านั้นได้มา 2 กระสอบใหญ่
เขาใช้เกวียนขนหิน 2 กระสอบนั้นเข้าไปในเมือง กระหยิ่มใจว่าคราวนี้จะต้องร่ำรวยมหาศาลแน่นอน แต่พอเจ้าของร้านอัญมณี เห็นหินเหล่านั้นแล้วกลับยิ้มอย่างเย็นชา พลางบอกกับเขาว่า
"หิน 2 กระสอบใหญ่นี้ ฉันให้ราคาแก 1 เหรียญเอาไหม"
ท่านสาธุชนทั้งหลาย...
"สิ่งดีที่มากเกินก็อาจทำให้ดูด้อยค่า" โดยทั่วไปคนเราตัดสิน ใจเรื่องต่างๆ ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ ด้วยเหตุผลและด้วยอารมณ์ และคนจำนวนไม่น้อยเลยที่องค์ประกอบด้านอารมณ์ ความพอใจ มีอิทธิพลเหนือกว่าองค์ประกอบด้านเหตุผล เหมือนอาหารแม้มีสารอาหารครบถ้วนบริบูรณ์ แต่ถ้าไม่อร่อยก็ไม่ค่อยมีใครอยากรับประทาน ตรงกันข้าม อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียงพอประมาณ แต่มีรสชาติอร่อย ผู้คนกลับนิยมชมชอบ เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ในการติดต่อสัมพันธ์กับคนทั้งหลาย เราจึงต้องคำนึงถึงอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งให้มากๆ ด้วย จะคิดแต่เพียงว่าเราถูก เรามีเหตุผลเพียงเท่านั้นไม่ได้ ต้องมีศิลปะในการนำเสนอ รู้จังหวะจะโคน รู้กาลเทศะ เราจะประสบความสำเร็จในการงาน บางครั้งเรื่องดีๆ แต่เสนอมากไป พูดมากไป อาจถูกแปลเจตนาผิด หวังดีเลยกลายเป็นร้าย หรือถูกมองเป็นของไร้ค่าไปได้ เหมือนชายชาวนาในเรื่องนี้เป็นต้น
จากหนังสือ มังกรสอนใจ
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D., Ph.D.