อย่าเสี่ยงดีกว่า

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2561

อย่าเสี่ยงดีกว่า

dhammakaya , Dhammakaya Temple , Meditation , ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , อานุภาพพระของขวัญวัดปากนํ้า , คำสอนหลวงปู่ สู่โลกปัจจุบัน , วิธีปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกาย , อย่าเสี่ยงดีกว่า

       “...ถ้าเราคอยระวังรักษาไว้ให้ดีบำเพ็ญสมาธิให้ดวงขาวใสปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกายเสมอ
เราจะทำอะไรก็เป็นไปในทางดี...”


    หากเปรียบเทียบอัตราเสี่ยงระหว่างการคมนาคมในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว การเดินทางทางอากาศนับว่าปลอดภัยและเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าการคมนาคมประเภทอื่น... คือ ทุก ๆ ๑ล้านเที่ยวบินจะเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยไม่ถึง ๑ ครั้ง (รวมตั้งแต่อุบัติเหตุเล็กน้อยจนไปถึงขั้นร้ายแรง) ซึ่งนับว่ามีอัตราเสี่ยงที่น้อยมาก ต่างจากการจราจรทางบกที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน

         มนุษย์เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ทั้งความเสี่ยงในปัจจุบันชาติ และในสังสารวัฏที่ตลอดการเดินทางเต็มไปด้วยความเสี่ยงมหาศาล ซึ่งอาจวัดคร่าว ๆ ได้ในอัตราเท่ากับ เขาโค : ขนโค ดังที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าผู้ที่จะไปสู่สุคติภูมิมีปริมาณเปรียบได้กับเขาโค ส่วนผู้ที่จะไปสู่ทุคติภูมิมีปริมาณเปรียบได้กับขนโค

        พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านห่วงใยสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะท่านทั้งรู้ทั้งเห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านจึงอยากให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงพระธรรมกาย จะได้มีชีวิตที่ปลอดภัยทั้งในปัจจุบันชาติและในภพชาติเบื้องหน้า ท่านจึงเมตตาเตือนให้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ ๆ ว่า

          “...อุตส่าห์พยายามทำกันไปอย่าได้ดูแคลนหนา อย่าได้เห็นแก่เหน็ด แก่เหนื่อย แก่ยากแก่ลำบากแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อมาประสบพบพุทธศาสนา พบของจริงละ เข้าถึงของจริงให้ได้เอาของจริงใส่ไว้กับตัวไว้ให้ได้ ติดกับตัวไว้ให้ได้อย่าดูถูกดูหมิ่นหนา...”

             “...อย่าเล่นเอาอย่างเด็ก ถ้าเมื่อเล่นอย่างเด็กแล้วก็ เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เล่นฝุ่นเล่นทรายอยู่ละก็ ชีวิตจะไม่พอใช้...”

           “...เข้าถึงธรรมกายให้ได้..ก็จะรู้ตัวทีเดียวว่าอ้อ! เราเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ได้รู้จักของจริง เห็นของจริงอย่างนี้ ไม่เสียทีที่พ่อแม่อาบน้ำป้อนข้าวมา อุ้มท้องมาไม่หนักเปล่า...”

        ถ้าเราปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงดวงปฐมมรรคเข้าถึงกายต่าง ๆ ไปจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายและตั้งใจปฏิบัติเรื่อยไปไม่ละทิ้งความเพียร ก็จะมีชีวิตที่ปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายในสังสารวัฏ

        “...ถ้าเราคอยระวังรักษาไว้ให้ดี บำเพ็ญสมาธิให้ดวงขาวใสปรากฏอยู่ในศูนย์กลางกายเสมอเราจะทำอะไรก็เป็นไปในทางดี พูดอะไรก็พูดไปทางดีคิดอะไรก็คิดไปทางดี เพราะฉะนั้น จึงควรบำเพ็ญตนให้เป็นฝ่ายขาวเสมอ เวลาจะตายถ้าปล่อยให้ตกอยู่ในฝ่ายดำเรียกว่าหลงตายจะไปสู่ทุคติ ถ้าอยู่ในฝ่ายขาวเรียกว่าไม่หลงตายจะไปสู่สุคติแน่แท้ จึงเป็นการจำเป็นยิ่งที่จะระวังให้อยู่ฝ่ายขาว...”

          “...เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้ละก็ นั่นแหละได้รัตนะอันประเสริฐแล้ว ...ถ้าว่าใครอยู่กับรัตนะเช่นนี้ละก็ มีความสวัสดีเรื่อย ปลอดภัยเรื่อยทีเดียวอยู่ในธรรมรัตนะ สังฆรัตนะให้ใส อยู่กับรัตนะนั่นแหละปลอดภัยทีเดียว ไม่ต้องมีภัยอีกต่อไปทีเดียว ได้รับความสุขทีเดียว...ถ้าได้เข้าถึงพุทธรัตนะแล้วอย่าปล่อยเด็ดขาด ใจขาด ขาดไป ตาย ตายไป ใจติดอยู่กับพุทธรัตนะนั่นแหละเอาตัวรอดได้...”

           ประโยชน์อื่น ๆ ของการทำสมาธิภาวนานอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้วยังมีอยู่อีกมาก แต่การจะเข้าถึงประโยชน์ต่าง ๆเหล่านั้นได้ ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผล

          “...ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง ต้องทำเสมอ ทำเนือง ๆ ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไปอย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่ง ไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไรท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง...”

            นี้คือตัวอย่างของผลอันวิเศษจากการทำสมาธิภาวนาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่กล่าวไว้

            สมาธิกับความสุข : “...สุขในฌานอะไรจะไปสู้ ในภพนี่ไม่มีสุขเท่าถึงดอก สุขในฌานนะ สุขลืมสมบัตินั่นแหละ สมบัติกษัตริย์ก็ไม่อยากได้ สุขในฌานนะ สุขนักหนา...”

          สมาธิกับความฉลาด : “...ถ้าว่าทำธรรมกายเป็นละก็ มันฉลาดกว่ามนุษย์หลายสิบเท่าเชียวนะ นี่พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็ฉลาดกว่าเท่าหนึ่งแล้ว สูงกว่าเท่าหนึ่งแล้ว เข้าถึงกายทิพย์ก็สองเท่าแล้ว กายทิพย์ละเอียดก็สามเท่าแล้ว กายรูปพรหมสี่เท่า กายรูปพรหมละเอียดห้าเท่า กายอรูปพรหมหกเท่า กายอรูปพรหมละเอียดเจ็ดเท่าเข้าถึงกายธรรมและกายธรรมละเอียด ๘-๙ เท่าเข้าไปแล้ว มันมีความฉลาดกว่ากันอย่างนี้นะ...”


        ความเสี่ยงของการเดินทางในสังสารวัฏมีอัตราเท่ากับเขาโค : ขนโค ก็ไม่ทราบว่าโค ๑ ตัวมีขนมากเท่าไร ทราบแต่ว่า ศีรษะมนุษย์ที่มีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยนี้มีผมประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ เส้น อัตราเสี่ยงของการเดินทางในวัฏสงสารจึงเป็นอัตราเสี่ยงที่สูงที่สุด น่ากลัวที่สุด

           นี่ถ้าพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านไม่ชี้ทางรอดให้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ด้วยการนำใจไปหยุดนิ่งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ โอกาสที่แต่ละคนจะได้อยู่ในประเภทเขาโคจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์?

 

 


จากหนังสือ คำสอนหลวงปู่ สู่โลกปัจจุบัน

หนังสือธรรมะแจกฟรี .pdf สุนทรพ่อ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.091736916700999 Mins