เสขิยวัตร
ต้นบัญญัติมารยาทไทย
หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต
หมวดธรรมว่าด้วยมารยาทในการรับประทานอาหาร
ข้อ ๒๔ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังจับ ๆ”
ข้อ ๒๕ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังซู้ด ๆ”
ข้อ ๒๖ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ”
ข้อ ๒๗ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันขอดบาตร”
ข้อ ๒๘ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก”
ข้อ ๒๙ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ”
ข้อ ๓๐ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทในบ้าน”
---------------------------------------------
ข้อ ๒๔. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังจับ ๆ”
หลาย ๆ คนยังเคี้ยวข้าว เคี้ยวกับข้าวไม่เป็น ได้ยินอยู่บ่อย ๆ เช่น พวกหนึ่งเคี้ยวข้าวแล้วอ้าปากจึงมีเสียงดังจับ ๆ เหมือนหมู ถ้าหุบปากเคี้ยวก็จะหาย อีกพวกหนึ่งเคี้ยวอาหารกร๊อบ ๆ เช่น เคี้ยวแคบหมูเสียงดังกร๊อบ ๆ หรือกัดแตงกวาก็ดังกร๊อบ ๆ ต้องแก้ไขด้วยการไม่กัดให้ขาดทีเดียว กัดครั้งแรกเพียงแค่บุบ ๆ เสียก่อน แล้วกัดซ้ำเป็นครั้งที่สอง ถ้าอย่างนี้ไม่ดังเพราะน้ำลายในปากเราซึมเข้าไปในรอยกัดครั้งแรกทำให้อ่อนตัวลงแล้ว
เวลากินข้าวผัดมักมีต้นหอม หลายคนกัดแล้วเคี้ยวกร้วม ๆ ถ้าเด็ดเสียก่อนให้เป็นชิ้นสั้น ๆ แล้วใส่ปากเคี้ยวย้ำไปครั้งหนึ่งพอให้ช้ำ ๆ แล้วเคี้ยวย้ำอีกทีให้ขาด อย่างนี้จะไม่ดัง ลูกเอ๊ยหัดเสียนะ เป็นผู้ชายยังพอว่า ถ้าเป็นผู้หญิงหมดสวย เดี๋ยวใครเขาจะว่า แม่คนนี้ก็สวยดีนะ แต่พอกินข้าวเคี้ยวเสียงดังอย่างกับหมู ฉันไม่ดูหน้าเธอแล้ว ไปดีกว่า ค่าตัวหมดกันคราวนี้เอง
ข้อ ๒๕. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันดังซู้ด ๆ”
ดังซู้ด ๆ เป็นอย่างไร รู้จักต้มยำโฮกอือไหม เขาเรียกชื่อตามเสียงซู้ด บางคนแทนที่จะตักน้ำแกงซดเงียบ ๆ ไม่เอา เขาบอกว่าไม่แซบต้องออกเสียงซดโฮกหรือซู้ดด้วย คือ สูดเอาลมปนเข้าไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่า ลมปนเข้าไปมากหรือน้อย ถ้าน้อยก็ซู้ด ถ้ามากก็โฮก
เสียงพวกนี้ไม่น่าฟังหรอก บ่งบอกอาการมูมมาม ไปแก้ไขเสียอย่าให้มีเสียง โดยเฉพาะเวลากินของที่เป็นเส้น ๆ ถ้าเผอิญคนที่ทำกับข้าวไม่ได้ตัดให้สั้น ๆ เราก็ใช้ช้อนใช้ส้อมของเราตัดเอง ถ้าตัดไม่ขาดก็ม้วน ๆ พัน ๆ ป้อนเข้าปาก อย่ายกใส่ปากแล้วสูดดึง ปลายเส้นจะสะบัดถูกแก้ม ถูกคางเลอะเทอะ ดีไม่ดีสะบัดเอาน้ำแกงไปถูกคนข้าง ๆ เข้าอีก หมดท่าเลย อย่างไรก็ตาม เป็นประเพณีของญี่ปุ่นทั้งประเทศเวลากินอาหารเส้น ๆ เขานิยมสูดดังซู้ด ๆ ถ้าไม่ดังแสดงว่าอาหารไม่อร่อย ถ้าแม่ครัวไม่ได้ยินเสียงซู้ด ๆ จะเสียใจมาก ก็ให้ถือหลักเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามก็แล้วกัน หรือไม่อย่างนั้นก็ปรับให้พอสมควร
ข้อ ๒๖. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียมือ”
เวลาข้าวติดมือติดช้อนอย่าไปเลีย ให้ทำอย่างหลวงพ่อว่า เอาน้ำแกงกลั้วสักนิดก็หมดปัญหา
ข้อ ๒๗. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันขอดบาตร”
บางคนเวลากินข้าวได้ยินเสียงขอดจานแกรก ๆ เหมือนจานจะทะลุ ขอดข้าวต้องขอดให้เป็น คือ ขณะที่จับช้อนขูดจานข้าวอย่าให้ปลายช้อนกดลง เพราะจะทำให้เกิดเสียงดัง ถ้าใช้ข้างช้อนขอดแรงเท่าไรก็ไม่ดัง ไปแก้ไขเสียอย่าให้เขามาติได้ว่า ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายกินข้าวเสียงดังอย่างกับรบกัน
ข้อ ๒๘. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันเลียริมฝีปาก”
ปากเปรอะเพราะตักข้าวคำใหญ่หรือกับข้าวเป็นน้ำมันมาก ต้องหาผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเช็ดหน้าเช็ดปากติดตัวไว้ อย่าใช้ลิ้นเลียริมฝีปาก แม้แต่เอามือเช็ดก็ไม่ควร บางคนติดนิสัยเลียริมฝีปากทั้งขณะพูดและขณะกิน เป็นกิริยาที่ไม่น่าดู ต้องแก้ไขให้ได้
ข้อ ๒๙ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอามือเปื้อนจับภาชนะน้ำ”
มือเปื้อนจับภาชนะน้ำยังไม่ค่อยห่วง ห่วงพวกเราเวลาดื่มน้ำ โดยเฉพาะพวกผู้หญิง เวลาดื่มน้ำรู้เลยว่าใครดื่ม เพราะมีรอยลิปสติกติดอยู่ที่ขอบแก้วนั้นแหละ ใครก็ตามที่ดื่มน้ำแล้วมีคราบติดอยู่ที่แก้วน้ำ จะเป็นคราบลิปสติกหรือคราบมัน ๆ ถือว่าใช้ไม่ได้แล้ว ต้องแก้ไขให้ได้ มิฉะนั้นจะถูกตำหนิว่า ดื่มน้ำแค่นี้ก็ดื่มไม่เป็น ยิ่งเรียนมาสูง ๆ ยิ่งต้องระวังตัวมาก เทคนิคง่าย ๆ มีเพียงว่าแตะริมฝีปากกับขอบถ้วยนิดหนึ่ง อย่าถึงกับอมขอบถ้วย แล้วดื่มน้ำลงไป รับรองว่าทำอย่างนี้ไม่มีคราบติด บางคนทำท่าดื่มน้ำอย่างกับจะกินถ้วยเข้าไปด้วย
ในหมู่พระภิกษุเท่าที่พบบ่อย ๆ ก็ตอนออกเดินธุดงค์ ท่านต้องมีกาน้ำติดตัวไปด้วย พวกชาวบ้านที่ทำงานกลางแจ้งบางทีก็ใช้กาน้ำขวดน้ำเหมือนกัน พอจะดื่มน้ำจากกา บางคนยกขึ้นแล้วเอาปากอมพวยกาดื่มอั้ก ๆ อย่างนี้หมดท่า น้ำที่เหลือใครเขาจะมากิน เพราะคุณได้เติมน้ำลายลงไปด้วยแล้ว ทางที่ดีควรรินน้ำใส่ฝากาแล้วดื่ม ก็จะดูเรียบร้อยกว่า ถึงจะยกรินต่อเนื่องกลางอากาศก็ไม่น่ารังเกียจ
ข้อ ๓๐. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่เอาน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าวเทในบ้าน”
ถ้าฉันข้าวแล้วล้างบาตรเทลงในบ้านเขาเมล็ดข้าวเกลื่อนบ้าน คนที่สะเทือนใจมากคือแม่บ้าน เพราะแสดงว่ากับข้าวกับปลาที่เขาทำถวายนี้ไม่ดี ไม่อร่อย ท่านจึงฉันไม่หมดต้องเททิ้งเสียบ้าง หรือไม่อย่างนั้นก็ฟ้องถึงความสะเพร่าความไม่รู้จักประมาณ ความไม่ประหยัด
ฝากพวกเราไว้ด้วยนะ ไปกินอาหารบ้านใครก็ดี ให้ตักข้าวแต่น้อย ถ้าไม่อร่อยก็ยังฝืนกินจนหมดจานได้ ถ้าตักมากไปจนกินไม่หมดอย่างนี้แม่ครัวหน้าเสีย เพราะแสดงว่า เขาทำกับข้าวไม่อร่อย ถนอมน้ำใจคนไว้บ้าง
บางทีไม่ใช่แม่ครัวทำกับข้าวไม่อร่อยหรอกแต่เราแวะกินที่อื่นมาบ้างแล้ว พอเขาคะยั้นคะยอให้กินอีก ความไม่รู้จักประมาณท้อง ตักเสียมากแล้วกินไม่หมดเหลือตั้งครึ่งค่อนจาน แม่ครัวเขาไม่รู้หรอกว่าเป็นเพราะอะไร นอกจากเดาว่ากับข้าวไม่อร่อย นั่งใจแป้วว่าทำกับข้าวแล้วชาวบ้านกินไม่ลง
สิ่งละอันพันละน้อยอย่างนี้มีความหมายมาก ถ้าเรารู้จักถนอมน้ำใจคนไปถึงไหนก็ไม่อด เขาจะเตรียมข้าวปลาอาหารไว้ต้อนรับเราเสมอ แต่ถ้าเราเลือกอาหารหรือทำให้เขาเกิดปมด้อยว่า เขาทำอาหารไม่อร่อย ไปถึงไหนอดหัวโตเลย แต่ถ้าทำอย่างหลวงพ่อว่า ไปถึงไหนมีกินเรื่อย ๆ กองเสบียงของเรามีอยู่ตลอดสองข้างทาง
พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อทัตตชีโว