ความเจ็บป่วยเนื่องจากโครงสร้างของร่างกายเสียสมดุล
ถ้าเปรียบเทียบร่างกายกับรถยนต์ โครงกระดูกเปรียบเหมือนแชสชีของรถยนต์ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืด เปรียบเสมือนตัวถังของรถยนต์ ถ้าแชสซีบิด ตัวถังก็บิดตามไปด้วย เวลาเคลื่อนไปล้อก็ไม่ตรงเพราะรถเสียศูนย์ ในทำนองเดียวกันถ้าโครงสร้างของร่างกายเสียสมดุล ความผิดปกติ คือ ความเจ็บป่วยย่อมเกิดขึ้นแก่คนเรา
เนื่องจากคนเรามีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืด จึงต้องมีการยึด ๆ หด ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยปกติกล้ามเนื้อเส้นเอ็น และพังผืด เมื่อหดตัวในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็จะคลายโดยอัตโนมัติ ทำให้ช่วงเวลาปกติที่หดตัว แม้การไหลเวียนต่างๆถูกปิดกั้นอยู่ก็ตาม การทำงานของร่างกายก็ยังเป็นไปได้ตามปกติแต่ถ้าหดแล้วไม่คลาย การไหลเวียนต่างๆ ถูกปิดกั้นตลอดเวลาการทำงานของร่างกายก็ผิดปกติ ทำนองเดียวกับการหายใจเข้า-ออก ก็มีจังหวะตามธรรมชาติ ขณะที่หายใจออกหรือกลั้นหายใจปอดก็ยังมีออกซิเจนสำรองให้ร่างกายใช้งานได้ตามปกติอยู่ได้นานในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าหากขาดออกซิเจนนานเกินไป จนที่สำรองไว้หมด การทำงานของปอดก็มีปัญหา ร่างกายก็เกิดความผิดปกติตามมา
ถ้าโครงสร้างของร่างกายเสียสมดุล ก็จะเกิดแรงดึงรั้งทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและพังผืดอยู่ตลอดเวลาของการเสียสมดุลนั้น ทำให้การไหลเวียนถูกปิดกั้น เส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองถูกบีบรัด มีผลให้การไหลเวียนไปยังเส้นประสาทก็บกพร่องตามไปด้วยเส้นประสาทจึงไม่สามารถส่งสัญญาณได้ตามปกติ อวัยวะที่ถูกปิดกั้นดังกล่าวเป็นเวลานาน อวัยวะนั้นก็ทำงานผิดปกติ
ยิ่งกว่านั้น ปัญหาการดึงรั้งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืดที่เกิตขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง ยังสามารถส่งผลกระทบไปถึงจุดอื่นๆ ทั่วร่างกายได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะพังผืดเป็นแผ่นที่เชื่อมโยงไปทั่วร่างกาย หากเปรียบเทียบพังผืดเสมือนเสื้อที่กำลังใส่อยู่ เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งถูกดึง ส่วนอื่นก็พลอยถูกดึงรั้งตามไปด้วย ดังนั้น เมื่อมีการดึงรั้งของพังผืดเกิดขึ้น ณ จุดใด ย่อมจะสามารถส่งผลกระทบไปยังจุดอื่นได้ด้วย
โครงสร้างของร่างกายที่เสียสมดุล จะเป็นปัจจัยหลักในการปิดกั้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อวัยวะที่ได้รับผลกระทบนั้น ก็ทำงานผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย เกิดเป็นโรคต่าง ๆ คุกคามร่างกายให้ได้รับความทุกข์ทรมาน
๑. ตัวอย่างโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะโครงสร้างของร่างกายเสียสมดุล
สาเหตุของการเกิดโรคที่ได้กล่าวมาแล้วในบทแรก มีทั้งสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การได้รับเชื้อโรค การได้รับสารพิษ เป็นต้น และสาเหตุจากปัจจัยภายในตัวของเราเอง ได้แก่การทำงานผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ อันเนื่องมาจากโครงสร้างของร่างกายที่เสียสมุดล
โรคที่เกิดจากการเสียดุลยภาพมีได้สารพัดรูปแบบ แล้วแต่ว่า เส้นประสาทหรือเส้นเลือดส่วนไหนได้รับผลกระทบ
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของโรค และอาการป่วยไข้ซึ่งเกิดจากโครงสร้างของร่างกายที่เสียสมดุล
๑.๑. อาการปวดต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ ไมเกรน ปวดคอ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดประสาท เป็นต้น
๑.๒. โรคเกี่ยวกับตา หู คอ จมูก เช่น ตาแห้ง ตาระคายเคืองเรื้อรัง ตาแพ้แสง เจ็บคอบ่อยหรือเรื้อรัง ปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการได้ยินและการทรงตัว อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลแบบที่เรียกว่า ภูมิแพ้ เป็นต้น
๑.๓. โรคเกี่ยวกับกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ข้อเสื่อม ข้อกระดูกคอหรือกระดูกสันหลังเสื่อม ปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีโรคและอาการอื่นๆ อีก เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะใจสั่น เหนื่อยง่าย ปวดเมื่อย ท้องอืด ซึมเคร่า นอนไม่หลับ หอบหืด โรคกระเพาะ พาร์กินสัน เป็นต้น