สกุณชาดก ชาดกที่ว่าด้วยการรู้จักเลือกที่อยู่

วันที่ 02 พย. พ.ศ.2565

ข้อคิดจากชาดก  สกุณชาดก  ชาดกที่ว่าด้วยการรู้จักเลือกที่อยู่

ข้อคิดจากชาดก

สกุณชาดก

ชาดกที่ว่าด้วยการรู้จักเลือกที่อยู่

 

สถานที่ตรัสชาดก

เชตวันมหาวิหาร นครสาวัตถี

 

สาเหตุที่ตรัสชาดก

       ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระกรรมฐาน จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างดี ครั้งใกล้เวลาเข้าพรรษาจึงได้กราบทูลลาพระพุทธองค์ไปเจริญภาวนาตามลำพังในเขตชนบทแคว้นโกศล โดยอาศัยศาลาแห่งหนึ่งพักพิง

       แต่ต่อมาไม่กี่วัน ศาลานั้นถูกไฟไหม้ไปส่วนหนึ่งไม่สามารถใช้คุ้มแดดคุ้มฝนได้ พระภิกษุรูปนั้นจึงขอร้องชาวบ้านให้ช่วยซ่อมแซมให้ แม้จะข้อร้องอยู่หลายครั้ง แต่ชาวบ้านก็ขอผลัดไปก่อนเสียทุกครั้ง โดยอ้างว่าขอระบายน้ำเข้านาก่อนบ้าง ขอหว่านข้าวก่อนบ้าง ขอเก็บเกี่ยวก่อนบ้าง เป็นอยู่เช่นนี้ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยไปถึง ๓ เดือน ท่านจึงไม่สามารถเจริญภาวนาให้ก้าวหน้าได้ดังที่ตั้งใจไว้

       ครั้งออกพรรษาแล้ว พระภิกษุรูปนั้นจึงกลับไปกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหาร พระพุทธองค์ตรัสถามถึงความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม พระภิกษุรูปนั้นจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่สามารถปฏิบัติธรรมให้เจริญก้าวหน้าได้ เพราะไฟไหม้ศาลาที่พักไปแถบหนึ่ง ต้องอยู่ด้วยความลำบากตลอดพรรษา พระพุทธเจ้าข้า”

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สดับดังนั้น จึงทรงตำหนิว่า “ ดูก่อนภิกษุ ในกาลก่อน แม้สัตว์เดียรัจฉานยังรู้จักเลือกที่อยู่ให้สบาย เหตุใดเธอจึงไม่รู้ว่าที่ไหนควรอยู่ ที่ไหนไม่ควรอยู่ ” ตรัสดังนี้แล้ว ทรงนำ สกุณชาดก มาตรัสเล่าเปรียบเทียบ ดังนี้

 

เนื้อหาชาดก

       ในอดีตกาล ณ ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีพญานกตัวหนึ่งได้พาบริวารนับพันๆ ตัวเข้ามาอยู่ที่ต้นไม้ใกล้ๆ กัน นกทั้งหลายต่างหากินอยู่กันในป่าด้วยความผาสุขตลอดมา อยู่มาวันหนึ่ง มีลมพัดแรงจัดเป็นเวลานาน ทำให้กิ่งไม้แห้งในบริเวณนั้นเสียดสีกันจนเกิดควันขึ้น พญานกเห็นเช่นนั้นจึงคิดว่าสักวันหนึ่ง ไฟจะต้องลุกไหม้ต้นไม้เหล่านี้อย่างแน่นอน จึงบอกกับบริวารทั้งหลายว่า

       “ นกทั้งหลายเอ๋ย ใครอาศัยต้นไม้ต้นใด บัดนี้ต้นไม้ต้นนั้นจะเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้ว พวกเจ้าทั้งหลายจงพากันไปอยู่ที่อื่นเถิดภัยกำลังจะเกิดจากที่พึ่งของเราแล้ว ” บริวารที่เชื่อฟังก็พากันบินตามพญานกไปหาที่อยู่ใหม่ แต่บริวารอีกส่วนหนึ่งกลับดื้อดึง อวดดี ไม่ยอมทิ้งรังตามไปด้วย ซ้ำยังกล่าวว่า

       “ โธ่เอ๋ย ทำเป็นขี้ขลาดตาขาวไปได้ แค่เห็นน้ำหยดเดียวก็กลัวว่าจะมีจระเข้เสียแล้ว ” บางตัวก็ทำเป็นอวดรู้ว่า “ ธรรมดาไฟไหม้ป่า ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เราอยู่มาตั้งแต่เกิดแล้ว ไม่เห็นจะมีอันตรายอะไรเลย ”

       ต่อมาไม่นาน มีลมพายุพัดอื้ออึงมาเป็นเวลานาน กิ่งไม้ถูกลมพัดเสียดสีไปมาจนเกิดเป็นสะเก็ดไฟ กระเด็นไปถูกใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นอยู่ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เปลวไฟจึงลุกโชติช่วงขึ้นและลามติดต้นไม้ในบริเวณนั้นอย่างรวดเร็ว นกทั้งหลายเหล่านั้นต่างบินออกจากรังไปคนละทิศคนละทาง แต่ไม่ว่ามันจะบินไปทางใด ก็เห็นแต่ควันไฟหนาทึบปิดกั้นไว้ทุกทาง นกเหล่านั้นต่างสำลักควันไฟสิ้นแรงตกลงในกองเพลิงอย่างอเนจอนาถ

 

ประชุมชาดก

       ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสชาดกจบลง ทรงแสดงอริยสัจ ๔ โดยอเนกปริยายไปตามลำดับ พระภิกษุรูปนั้นสามารถทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ได้เข้าถึงธรรมกายพระโสดา บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ณ ที่นั้นเอง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า

นกทั้งหลายที่เชื่อฟังในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้

พญานก ได้มาเป็นพระองค์เอง

 

ข้อคิดที่ได้จากชาดก

       ๑. การจะทำกิจทั้งหลายทั้งทางโลกและทางธรรมให้สำเร็จลุล่วงได้ผลดีนั้น ที่อยู่อาศัยตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สบาย เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง จึงสมควรศึกษาให้รู้ให้เข้าใจอย่างถูกต้องและรู้จักเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง

       ๒. หมั่นฝึกฝนให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักระวังภัยเมื่อมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นอย่าเพิกเฉย ต้องตื่นตัว รู้จักคิดพิจารณาถึงเหตุถึงผลที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าแล้วหาทางป้องกันและแก้ไขเสีย ดังเช่น พญานกเห็นควันไฟเพียงเล็กน้อยก็สามารถพิจารณาเห็นภัยที่จะตามมา และตัดสินใจแก้ไขโดยไม่รอช้า

       ๓. ไม่ควรยึดถือในวิ่งที่คุ้นเคย เช่น ที่อยู่ที่สุขสบาย จนไม่ตระหนักถึงภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ดังเช่น พญานกตัดสินใจทิ้งต้นไม้ที่ตนเคยอยู่อย่างสุขสบาย โดยไม่อาลัยอาวรณ์เพื่อไปหาที่อยู่ใหม่

       ๔. การเป็นคนดื้อ ว่ายากสอนยากเป็นการทำลายประโยชน์ตน และเป็นโทษต่อตนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่โง่แล้วยังอวดฉลาด ในที่สุดมักจะได้รับโทษภัยอย่างมหันต์ จนอาจถึงแก่ชีวิติได้

 

 

นิทานชาดก สกุณชาดก ​ ชาดกที่ว่าด้วยการรู้จักเลือกที่อยู่

ข้อคิดจากชาดก
สกุณชาดก
ชาดกที่ว่าด้วยการรู้จักเลือกที่อยู่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.040330668290456 Mins