หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๑๒๒)
สิงคาลกสูตรและมงคลสูตร
ในขณะที่ทางต่างประเทศกำลังทำงานกันอย่างสนุกสนานเบิกบานโดยการทำตามนโยบายหลวงพ่อที่ให้ขยายงานพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายด้วยการเอาธรรมปฏิบัติหรือวิชชาสมาธิให้เข้าไปสู่ใจของชาวโลก อาตมาก็มองย้อนกลับมาที่วัดใหญ่ของเรา วันแล้ววันเล่าก็ปลื้มไปกับการที่ทุกท่านได้ตั้งใจทุ่มเทสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่ แต่ในใจลึก ๆ ก็อดใจหายและเสียดายบางคนบางท่าน ที่เมื่อก่อนก็เคยมีเจตนาที่ดี แต่ ณ วันนี้กลายเป็นทำให้เกิดรอยด่างของการสร้างบารมีขึ้น แม้ใครจะเตือนจะบอกก็ไม่ฟัง ทำให้สังคมภายนอกเข้าใจวัดและคณะกรรมการบริหารผิด ๆ ทั้งที่คณะกรรมการบริหารแต่ละท่านก็เป็นผู้ที่ครูบาอาจารย์ได้พิจารณาเห็นสมควรแล้ว ทำให้อาตมาต้องย้อนกลับมานึกถึงว่าอะไรทำให้อดีตนักสร้างบารมีเปลี่ยนไปได้ถึงเพียงนี้
เมื่อหลายปีมาแล้ว อาตมาได้กราบเรียนถามหลวงพ่อทัตตชีโวว่า “หลวงพ่อครับ ระหว่างพระสูตรสองพระสูตรคือ สิงคาลกสูตรกับมงคลสูตร เราควรทำความศึกษาพระสูตรไหนก่อนหลังครับ”
หลวงพ่อได้ให้ความกระจ่างว่า “เดิมทีในยุคแรกๆ หลวงพ่อเองก็ใช้มงคลสูตรหรือที่รู้จักกันว่ามงคลชีวิต ๓๘ ประการเป็นหลักในการเทศน์สอน ต่อมาจึงได้พบว่าสิงคาลกสูตรเป็นพระสูตรสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก”
“ความแตกต่างของพระสูตรทั้งสองนี้เป็นอย่างไรครับหลวงพ่อ”
“ที่หลวงพ่อบอกว่าเราต้องทำความเข้าใจสิงคาลกสูตรก่อนก็เพราะว่า ในพระสูตรนี้จะเป็นตัวบอกให้เรารู้ว่า การจะเป็นคนดีต้องทำอย่างไร สรุปง่าย ๆ คือ การเป็นคนดีต้องเป็นคนรับผิดชอบ ทั้งรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม ต่อเศรษฐกิจ ต่อสิ่งแวดล้อมและต่อความดี เป็นพระสูตรที่บอกให้เรารู้ว่า เราจะต้องทำอย่างไรกับบุคคลที่อยู่รอบข้างเรา หรือจะพูดสั้น ๆ ว่า พระสูตรนี้บอกเราว่า การจะเป็นคนดีได้นั้นต้องทำอย่างไร
ส่วนมงคลสูตรนั้น เป็นพระสูตรที่สอนให้เรารู้ว่า เมื่อเราเป็นคนดีแล้ว เราจะรักษาความดีไว้ได้อย่างไร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ขึ้นต้นมาข้อแรกเลยพระพุทธองค์สั่งไว้เลยนะ อย่าไปคบคนพาล เพราะหากไปคบคนพาลเข้า เดี๋ยวมันจะติดเชื้อพาล ความดีที่สั่งสมมาเท่าไร มันจะไม่เหลือเลยนะลูก”
อาตมาก็ได้แต่หวังว่าบทความนี้จะทำให้หลายท่านได้เก็บไปเป็นข้อคิด ข้อพิจารณาและกลับมาทบทวนมาศึกษาพระสูตรทั้งสองนี้ให้ดี แล้วจะทำให้เราเข้าใจว่าการสร้างบารมีให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยไม่มีรอยด่างพร้อยนั้นควรทำอย่างไร
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๒๗ ต.ค. ๒๕๖๑
http://anacaricamuni.blogspot.com