ถึงเวลาธรรมกาย
ผู้ที่สนใจอยากจะเข้าถึงพระธรรมกายนั้นมีมากมาย การเผยแผ่วิชชาธรรมกายจึงขยายไปทั่วโลก หลักสําคัญของการเผยแผ่วิชชาธรรมกายคือการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย โดยเริ่มต้นจากการแนะนําเพื่อนมนุษย์ว่าภายในตัวของทุกคนมีพระธรรมกายอยู่ ส่วนเรื่องอื่น เช่น การทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ถือเป็นส่วนประกอบ เราสร้างศาสนสถานเพื่อรองรับทุกคนที่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันจนเข้าถึงพระธรรมกาย
การสร้างวัดขึ้นใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเราต้องชักชวนผู้อื่นมาร่วมบุญ เนื่องจากทุกคนแสวงหาทรัพย์มาโดยยากลําบากจึงมีความหวงแหนเป็นธรรมดา การบอกอานิสงส์ผลบุญให้ทุกคนได้ทราบก็เป็นไปเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามกฎแห่งการกระทําหรือกฎแห่งกรรมถาวรวัตถุเหล่านี้จะกลายเป็นสมบัติของพระศาสนาเป็นของกลางที่มีไว้ใช้สร้างประโยชน์แก่สาธารณชนไม่ใช่ของผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อทุกคนสร้างเสร็จแล้วก็กลับบ้าน โดยหลวงพ่อและหมู่คณะภายในวัดทุกคนมีหน้าที่ดูแลซ่อมแซมและบํารุงรักษาสืบเนื่องต่อไปแม้จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแต่เราก็ต้องทํา เพราะคุณยายได้อบรมสั่งสอนเอาไว้ว่า “ให้ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างให้คุ้มค่า ประหยัดสุดและก่อให้เกิดประโยชน์สูง” ปัจจุบันนี้วัดพระธรรมกายได้สร้างศาสนสถานคืออาคารและสถานที่เพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรม
จํานวนมากได้แล้ว ส่วนศาสนทายาทคือบุคลากรของวัดก็ได้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เกิดเป็นวัดสาขามากมายหลายแห่งทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ เราจึงสามารถประกอบบุญพิธีและปฏิบัติธรรมพร้อมๆ กัน โดยมีวัดพระธรรมกายเป็นศูนย์กลาง แต่เดิมเคยคิดว่าหากเราจัดพิธีในช่วงเช้าที่ประเทศไทย ก็จะตรงกับเวลาดึกดื่นเที่ยงคืนในอีกซีกโลกหนึ่ง คงจะไม่มีใครมาร่วมงานที่สาขาแห่งนั้นอย่างไรก็ตามหลวงพ่อได้กําหนดให้วัดสาขาทุกแห่งยึด “เวลาธรรมกาย” เป็นหลัก คือจัดงานตามกําหนดการของวัดพระธรรมกายในประเทศไทยในที่สุดทุกคนก็คุ้นเคย แม้จะเป็นเวลาหลับพักผ่อนแต่สาธุชนในต่างประเทศก็ยังมาร่วมงานกันที่วัดสาขา
เวลาบนโลกมนุษย์ของเรานั้นไม่ตรงกันแต่เวลาธรรมกายซึ่งเป็นเวลาแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้นตรงกันโดยมี “ศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก” หรือวัดพระธรรมกาย ประเทศไทย ซึ่งคุณยายเป็นผู้ให้กําเนิดนั้นเป็นหลัก