นกแขกเต้ากับรวงข้าวสาลี

วันที่ 13 พค. พ.ศ.2562


เรื่อง นกแขกเต้ากับรวงข้าวสาลี

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้ามคธราช ครองราชสมบัติในพระนครราชคฤห์.ครั้งนั้น ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากพระนคร มีบ้านพวกพราหมณ์ ชื่อว่า สาลินทิยะ. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านนั้น เป็นไร่ของชาวมคธ. ในที่นั้น พราหมณ์ โกสิยโคตรชาวสาลินทิยะ จับจองไร่ไว้ประมาณ ๑,๐๐๐ กรีส หว่านข้าวสาลีไว้. 
ครั้นข้าวกล้างอกขึ้นแล้ว ให้คนทำรั้วอย่างแข็งแรง แบ่งให้ของบริวารของตน ดูแลรักษา บางคนประมาณ ๕๐ กรีส บางคน ๖๐ กรีส จนครบพื้นที่ไร่ประมาณ ๕๐๐ กรีส ที่เหลือ ๕๐๐ กรีส กั้นรั้วให้ลูกจ้างคนหนึ่ง. 
ลูกจ้างปลูกกระท่อมลงตรงนั้น อยู่ประจำทั้งกลางคืนและกลางวัน. ก็ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไร่ มีป่างิ้วใหญ่อยู่ที่ภูเขาอันมียอดเป็นที่ราบลูกหนึ่ง. ฝูงนกแขกเต้าหลายร้อยพากันอาศัยอยู่ในป่างิ้วนั้น. ครั้งนั้น  มีพญานกแขกเต้าตัวหนึ่ง มีรูปงาม สมบูรณ์ด้วยกำลัง ร่างกายใหญ่ขนาดดุมเกวียน. ครั้นถึงเวลาบิดาแก่ บิดาของท่านได้มอบความเป็นพญาให้ด้วยคำว่า บัดนี้ฉันไม่สามารถจะบินไปไกล ๆ ได้ เจ้าจงปกครองฝูงนกนี้เถิด.
ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่ยอมให้บิดามารดาไปหากิน เมื่อได้ปกครองฝูงนกแขกเต้าก็ไปสู่ป่าหิมพานต์ จิกกินข้าวสาลีที่เกิดเองในป่า จนอิ่ม เวลากลับก็คาบอาหารที่เพียงพอแก่มารดาบิดามาเลี้ยงมารดาบิดา. 
อยู่มาวันหนึ่งนกแขกเต้าพากันบอกว่า ครั้งก่อนในระยะกาลนี้ คนเคยหว่านข้าวสาลีในไร่แคว้นมคธ บัดนี้จะยังกระทำอยู่หรืออย่างไรไม่ทราบ. 
พญาแขกเต้าใช้นกแขกเต้าสองตัวไปว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงสืบดู. 
นกแขกเต้าทั้งสองบินไป เมื่อจะร่อนลงในมคธเขต ไปร่อนลงในไร่ที่ลูกจ้างนั้นเฝ้า จิกกินข้าวสาลี แล้วคาบรวงข้าวสาลีรวงหนึ่ง บินกลับมาสู่ป่างิ้ว วางรวงข้าวสาลีไว้แทบเท้าพญานกแขกเต้า กล่าวว่า ในที่นั้นมีข้าวสาลีเช่นนี้. 
วันรุ่งขึ้นพญาแขกเต้าแวดล้อมด้วยฝูงนกแขกเต้าบินไปในที่นั้นร่อนลงในไร่ของลูกจ้างนั้น. 
ฝ่ายบุรุษนั้นเห็นนกแขกเต้าทั้งหลายพากันจิกกินข้าวสาลี แม้จะวิ่งกลับไปกลับมาห้ามอยู่ ก็สุดที่จะห้ามได้. นกแขกเต้าที่เหลือพากันจิกกินข้าวสาลีพออิ่ม ต่างก็บินไปปากเปล่ากัน
ทั้งนั้น. แต่พญาแขกเต้ารวบรวมข้าวสาลีเป็นอันเดียวกัน คาบด้วยจะงอยปากบินออกหน้ามาให้แก่มารดาบิดา. 
ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น ฝูงนกแขกเต้า ก็พากันจิกกินข้าวสาลีในที่นั้นแห่งเดียว ครั้นบุรุษนั้นเห็นฝูงนกแขกเต้ากำลังลงจิกกินข้าวสาลี ก็วิ่งกลับไปกลับมาห้ามปราม แต่ก็มิอาจที่จะห้ามได้จึงคิดว่า ถ้า นกแขกเต้าเหล่านี้พากันลงกินอย่างนี้ สักสองสามวันเท่านั้น จักต้องไม่มีข้าวสาลี
เหลือเลย พราหมณ์คงต้องปรับเราให้ชดใช้ เราต้องไปบอกพราหมณ์เสียก่อน. เขาถือเอาบรรณาการตามมีตามได้ กับฟ่อนข้าวสาลีไปสู่สาลินทิยคามพบพราหมณ์แล้วให้บรรณาการ ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง 
พราหมณ์ถามว่า เป็นอย่างไร พ่อเอ๋ย ไร่ข้าวสาลีสมบูรณ์ดีหรือ 
ครับ ท่านพราหมณ์สมบูรณ์ แต่ นกแขกเต้าทั้งหลายพากันมากินเสีย ข้าพเจ้าขอคืนนานั้นให้แก่ท่าน เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะห้ามนกแขกเต้า เหล่านั้นได้ ก็ในนกแขกเต้าเหล่านั้น มีนกแขกเต้าตัวหนึ่งงามกว่าทุก ๆ ตัว กินข้าวสาลีตามต้องการแล้วยังคาบเอาไปด้วยจะงอยปากอีก.
พราหมณ์ฟังถ้อยความของคนเฝ้าไร่นั้น เกิดความรักในพญานกแขกเต้าขึ้น ถามคนเฝ้าไร่ว่า พ่อเอ๋ย เจ้ารู้จักดักแร้วไหม. 
 รู้ครับ. 
เจ้าจงดักบ่วงพอที่จะให้นกนั้นติดได้ แล้วจง      จับนกนั้นทั้งยังเป็นมาให้เราเถิด.
คนเฝ้าไร่ฟังคำนั้นแล้ว ยินดีว่าท่านพราหมณ์ไม่ตีราคาให้ตนต้องชดใช้ รีบไปขวั้นบ่วงด้วยขนหางม้า กำหนดดูที่ร่อนลงของพญานกแขกเต้าว่าวันนี้ต้องร่อนลงตรงนี้ วันรุ่งขึ้นไม่ทำกังหัน ทอดบ่วงไว้แต่เช้าทีเดียวคอยดูการมาของฝูงแขกเต้า นั่งเฝ้าอยู่ในกระท่อม. 
ฝ่ายพญานกแขกเต้าแวดล้อมด้วยฝูงนกแขกเต้าบินมา ร่อนลงในที่ที่หากินเมื่อวาน เท้าพอดีสอดเข้าไปในบ่วงที่วางดักไว้. พญานกแขกเต้านั้นทราบว่าตนติดบ่วงแล้ว คิดว่า ถ้าเราร้องเอะอะในเวลานี้ พวกญาติของเราต้องพากันกลัวตาย ไม่เป็นอันหากินบินหนีไปเลย เราต้องอดกลั้นไว้จนกว่าพวกนั้นจะหากินกันจนอิ่ม ครั้นทราบว่า พวกนั้นอิ่มหนำสำราญแล้ว ความกลัวตายคุกคามเข้า จึงเอะอะสามครั้ง. 
ครั้งนั้นนกแขกเต้าทั้งปวงได้ยินแล้วพากันหนีไปหมดเลย. 
พญานกแขกเต้ารำพึงรำพันว่า บรรดาญาติของเรา แม้เพียงตัวเดียวที่จะเหลียวมาดู ก็ไม่มีเลย เราผู้เดียวติดบ่วง เราทำบาปอะไรไว้เล่าหนอ 
คนเฝ้าไร่ได้ยินเสียงร้องเอะอะของพญานกแขกเต้า และเสียงฝูงนกแขกเต้าบินไปในอากาศ ดำริว่า อะไรกันเล่าหนอ จึงลงจากกระท่อมไปที่วางบ่วง เห็นพญานกแขกเต้าดีใจว่า เราวางบ่วงดักนกตัวใด จำเพาะติดตัว นั้นพอดีเลย ครั้นปลดพญานกแขกเต้าจากบ่วงแล้ว ผูกเท้าทั้งสองติดกันจับไว้แน่นไปสู่สาลินทิยคาม ให้พญานกแขกเต้าแก่ท่านพราหมณ์ 
ท่านพราหมณ์จับพระมหาสัตว์ด้วยมือทั้งสองข้างอย่างแน่นแฟ้นด้วยความรักอันมีกำลัง ให้นั่งบนตัก แล้วกล่าวกับพญานกแขกเต้าว่า    ดูก่อนนกแขกเต้า ท้องของเจ้าเห็นจะใหญ่กว่า  ท้องของนกเหล่าอื่นเป็นแน่ เจ้ากินข้าวสาลีตามต้อง  การแล้ว ยังคาบเอาไปด้วยจะงอยปากอีก เจ้าจะบรรจุฉางในป่าไม้งิ้วนั้นให้เต็มหรือ  หรือว่าเจ้ากับเรามีเวรกันมา สหายเอ๋ย เราถามเจ้าแล้ว  เจ้าจงบอกแก่เราเถิด เจ้าฝังข้าวสาลีไว้ที่ไหน 
พญานกแขกเต้าได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าว ด้วยภาษามนุษย์อันไพเราะว่า ข้าพเจ้ากับท่านมิได้มีเวรกัน ฉางของข้าพเจ้าก็ ไม่มี ข้าพเจ้านำเอาข้าวสาลีของท่านไปถึงยอดงิ้วแล้ว ก็เปลื้องหนี้เก่า ให้เขากู้หนี้ใหม่ และฝังขุมทรัพย์ไว้ที่ ป่างิ้วนั้น ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด.
การให้กู้หนี้ของท่านเป็นอย่างไร และการเปลื้องหนี้ของท่านเป็นอย่างไร ท่านจงบอกวิธีฝังขุมทรัพย์ แล้วท่านจะหลุดพ้นจากบ่วงได้.
ข้าแต่ท่านโกสิยะ บุตรน้อยทั้งหลายของข้าพเจ้ายังอ่อน ขนปีกยังไม่ขึ้น บุตรเหล่านั้นข้าพเจ้าเลี้ยง มาแล้ว เขาจักเลี้ยงข้าพเจ้าบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า จึงชื่อว่าให้บุตรเหล่านั้นกู้หนี้ มารดาและบิดาของ ข้าพเจ้าแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว ข้าพเจ้าคาบ เอาข้าวสาลีไปด้วยจะงอยปาก เพื่อท่านเหล่านั้นชื่อว่า เปลื้องหนี้ที่ท่านทำไว้ก่อน อนึ่ง นกเหล่าอื่นที่ป่าไม้งิ้วนั้น มีขนปีกอันหลุดหมดแล้ว เป็นนกทุพพลภาพ   ข้าพเจ้าต้องการบุญ จึงได้ให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น   บัณฑิตทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่า เป็นขุมทรัพย์     การให้กู้หนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ การเปลื้องหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าบอกการฝังขุมทรัพย์ไว้เช่นนี้ ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด. 

พราหมณ์ฟังธรรมกถาของพญานกแขกเต้าแล้ว  มีจิตเลื่อมใส จึงกล่าวว่า  นกตัวนี้ ดีจริงหนอ เป็นนกมีธรรมชั้นเยี่ยม   ในมนุษย์บางพวกยังไม่มีธรรมเช่นนี้เลย เจ้าพร้อมด้วย ญาติทั้งมวล จงกินข้าวสาลีตามต้องการเถิด ดูก่อน  นกแขกเต้า เราอยากเห็นเจ้าอีก เพราะการที่ได้เห็นเจ้าเป็นที่ยินดีของเรา.
พราหมณ์อ้อนวอนพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว มองดูด้วยจิตอันอ่อนโยนประหนึ่งมองดูลูกรัก พลางแก้เชือกที่มัดออกจากเท้า ทาเท้าทั้งคู่ด้วยน้ำมันที่หุงแล้วร้อยครั้ง ให้เกาะที่ตั่งอันงดงาม ให้บริโภคข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งด้วยจานทอง ให้ดื่มน้ำเจือน้ำตาลกรวด. 
ครั้งนั้นพญานกแขกเต้ากล่าวว่า ข้าแต่มหาพราหมณ์ ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ข้าพเจ้าได้กินและดื่มแล้วใน ที่อยู่ของท่าน ท่านเป็นที่พึ่งพำนักของพวกเราทุกวันคืน ขอท่านจงให้ทาน ในท่านที่วางอาชญาแล้ว   และจงเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าแล้วด้วย.
พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นแล้ว ดีใจจึงเปล่งอุทานคาถาว่า  วันนี้ สง่าราศีเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ที่เราได้เห็น   ท่านผู้เป็นยอดแห่งฝูงนก เพราะได้ฟังคำสุภาษิตของ นกแขกเต้า เราจักทำบุญให้มาก.
พญานกแขกเต้าได้คืนไร่ประมาณ ๑,๐๐๐ กรีสที่พราหมณ์ให้แก่ตนเสีย ขอรับไว้เพียง ๘ กรีสเท่านั้น. 
พราหมณ์จึงจารึกหลักมอบไร่แก่พญานกนั้น แล้วบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ขอขมาเสร็จส่งไปด้วยคำว่า เชิญไปเถิด นายเอ๋ย โปรดปลอบบิดามารดาผู้กำลังร้องไห้ฟูมฟายอยู่เถิด. 
พญานกแขกเต้านั้นดีใจคาบรวงข้าวสาลีไปวางไว้ข้างหน้ามารดาบิดา พลางกล่าวว่า
คุณพ่อคุณแม่ขอรับ เชิญลุกขึ้นเถิด. มารดาบิดาทั้งสองของพญานกแขกเต้านั้นพากันลุกขึ้นหัวเราะได้ทั้งน้ำตา. 
ทันใดนั้นฝูงนกแขกเต้าประชุมกัน ถามว่าท่านผู้ประเสริฐ ท่านรอดได้อย่างไรขอรับ. 
ท่านเล่าเรื่องทั้งหมดแก่พวกนั้น 
แม้ท่านโกสิยะฟังโอวาทของพญานกแขกเต้าแล้ว ตั้งแต่บัดนั้น ก็เริ่มตั้งมหาทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม.
     
จบเรื่อง นกแขกเต้ากับรวงข้าวสาลี
ประเด็นน่าสนใจ
    การแบ่งข้างสาลีที่พญานกแขกเต้าได้มา เป็นดุจการที่มนุษย์พึงใช้จ่ายทรัพย์แสวงหามาอย่างเหมาะสมตามสมควร 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงหลักในการใช้จ่ายทรัพย์ไว้หลายแห่ง เป็นต้นว่า ในสิงคาลกสูตร พระองค์ตรัสว่า 
บัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างเพียงดังไฟ เมื่อบุคคลสะสมโภคสมบัติอยู่ เหมือนแมลงผึ้งสร้างรัง โภคสมบัติย่อมถึง ความเพิ่มพูนดุจจอมปลวกอันตัวปลวกก่อขึ้น  ฉะนั้น
            คฤหัสถ์ในตระกูลผู้สามารถ ครั้นสะสม โภคสมบัติได้อย่างนี้แล้ว พึงแบ่งโภคสมบัติ ออกเป็น ๔ ส่วน เขาย่อมผูกมิตรไว้ได้ พึงใช้สอยโภคทรัพย์ด้วยส่วนหนึ่ง พึงประกอบการงานด้วยสองส่วน พึงเก็บส่วนที่สี่ไว้ด้วยหมายจักมีไว้ในยามมีอันตราย ดังนี้.
    ใน ปัตตกัมมสูตร ทรงประทานโอวาทแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ว่า
ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกนั้นย่อมเป็นผู้ทำกรรมที่สมควร ๔ ประการด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นขยัน ที่สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน ที่ต้องทำงานจนเหงื่อไหลโทรมกาย ที่ได้มาโดยชอบธรรม สิ่งที่สมควรทำ ๔ ประการคืออะไรบ้าง คือ
    อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว  เลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา บุตร ภริยา บ่าว ไพร่ คนอาศัย เพื่อนฝูง ให้เป็นสุขเอิบอิ่มสำราญ 
ข้อที่สอง อริยสาวกได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว  ย่อมบำบัดอันตรายทั้งหลาย จากน้ำ จากไฟ  จากพระราชา  จากโจร เกิดจากทายาทอันไม่เป็นที่รัก ย่อมทำตนให้สวัสดีจากอันตรายเหล่านั้น 
ข้อที่สาม อริยสาวกได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว  ย่อมเป็นผู้ทำพลี ๕ คือญาติพลี สงเคราะห์ญาติ  อติถิพลี ต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ราชพลี ช่วยราชการ มีการเสียภาษีอากรเป็นต้น เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา 
ข้อที่สี่ อริยสาวกได้ทรัพย์มาโดยชอบธรรมแล้ว  ย่อมบริจาคทักษิณาทาน ที่จะอำนวยประโยชน์ มีสุขเป็นผล เป็นหนทางไปสู่สวรรค์ ในสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ห่างไกลจากความประมาทมัวเมา มั่นคงอยู่ในขันติโสรัจจะ ฝึกฝนตนอยู่ผู้เดียว สงบตนอยู่ผู้เดียว ผู้ดับกิเลสในตน 
    ดูก่อนคฤหบดี อริยสาวกนั้นย่อมเป็นผู้ทำสิ่งที่สมควรทำ ๔ ประการนี้ ด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นขยัน ที่สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน ที่ต้องทำงานจนเหงื่อไหลโทรมกาย ที่ได้มาโดยชอบธรรม 
ดูก่อนคฤหบดี โภคทรัพย์ทั้งหลายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถึงความหมดเปลืองไปด้วยเหตุอื่น เว้นเสียจากสิ่งที่สมควรทำ ๔ ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้เรียกว่าหมดไปโดยมิใช่เหตุ หมดเปลืองไปโดยไม่สมควร ใช้ไปโดยทางที่ไม่ควรใช้ โภคทรัพย์ทั้งหลาย ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถึงความหมดเปลืองไปด้วยสิ่งที่สมควรทำ ๔ ประการนี้ โภคทรัพย์เหล่านี้เรียกว่าหมดเปลืองไปโดยชอบแก่เหตุ หมดเปลืองไปโดยด้วยเหตุอันสมควร ใช้ไปในทางที่ควรใช้

Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017157200972239 Mins