เรื่อง พระราชาผู้ทรงพิโรธ
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัต ครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี ทรงบำเพ็ญมหาทาน. พระองค์มีคนเฝ้าพระราชอุทยานคนหนึ่ง ชื่อสุมังคละ.
ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ออกจากเงื้อมภูเขานันทมูลกะ จาริกไปถึงพระนครพาราณสี อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน วันรุ่งขึ้นเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร.
พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นแล้ว ทรงเลื่อมใส ไหว้แล้วนิมนต์ให้ขึ้นไปสู่ปราสาท นั่งบนราชอาสน์ ทรงอังคาสด้วยของเคี้ยวของฉันมีรสเลิศต่าง ๆ ครั้นได้ทรงสดับอนุโมทนาแล้ว ทรงเลื่อมใสยิ่งขึ้น ขออาราธนาให้อยู่ในพระราชอุทยานของพระองค์ ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าไปพระราชอุทยาน แม้พระองค์เองพอเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ก็เสด็จไปจัดแจงที่พักกลางคืน และที่พักกลางวัน ให้คนเฝ้าพระราชอุทยานทำหน้าที่ไวยาวัจกร แล้วเสด็จเข้าพระนคร.
จำเดิมแต่นั้นมาพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ฉันที่พระราชมณเฑียรเป็นนิตย์ และอยู่ที่พระราชอุทยานนั้น สิ้นกาลนาน. แม้นายสุมังคละก็บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยเคารพ.
อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเรียกนายสุมังคละมาบอกว่า เราจักอยู่อาศัยบ้านโน้น ๒-๓ วัน แล้วจักมา ท่านจงกราบทูลพระราชาด้วย ดังนี้แล้วก็หลีกไป.
นายสุมังคละ ก็ได้กราบทูลพระราชาแล้ว.
พระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่ที่บ้านนั้น ๒-๓ วัน เวลาเย็น พระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว กลับมาสู่พระราชอุทยาน.
นายสุมังคละไม่รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ามา ได้ไปเรือนของตน.
พระปัจเจกพุทธเจ้า เก็บบาตรจีวร แล้วจงกรมหน่อยหนึ่ง นั่งอยู่บนแผ่นหิน.
ก็ในวันนั้นมีแขกมาเรือนของคนเฝ้าพระราชอุทยานหลายคน. นายสุมังคละคิดว่า เราจักฆ่าเนื้อที่พระราชาไม่ห้ามในพระราชอุทยาน เพื่อปรุงอาหารเลี้ยงแขก จึงถือธนูไปสู่สวน สอดสายตาหาเนื้อ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าใจว่าชะรอยจักเป็นเนื้อใหญ่ จึงเอาลูกศรพาดสายยิงไป.
พระปัจเจกพุทธเจ้า เปิดผ้าคลุมศีรษะกล่าวว่า สุมังคละ.
เขามีความกลัว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่รู้ว่าท่านมาแล้ว เข้าใจว่า
เป็นเนื้อจึงยิงไป ขอท่านได้โปรดยกโทษแก่กระผมเถิด
พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ข้อนี้ยกไว้เถอะ บัดนี้ท่านจะกระทำอย่างไร จงมา
ถอนเอาลูกศรไปเสีย
เขาไหว้ท่านแล้วถอนลูกศรออก.
เวทนาเป็นอันมากเกิดขึ้นแล้ว. พระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพาน ณ ที่นั้นเอง.
คนเฝ้าสวนคิดว่า ถ้าพระราชาทรงทราบ คงไม่ยอมไว้ชีวิตเรา จึงพาลูกเมียหนีไป.
ในทันใดนั้นเอง ด้วยเทวานุภาพ ได้ดลบันดาลให้เกิดโกลาหลทั่วพระนครว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว.
วันรุ่งขึ้น ผู้คนพากันไปยังพระราชอุทยาน เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว กราบทูลพระราชาว่า คนเฝ้าสวนฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วหนีไป.
พระราชาเสด็จไปพร้อมบริวารเป็นอันมาก ทรงบูชาศพเจ็ดวัน แล้วทรงทำฌาปนกิจด้วยสักการะใหญ่ เก็บพระธาตุ ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุ บูชาพระเจดีย์นั้น ครอบครองราชสมบัติโดยธรรม.
พอล่วงไปหนึ่งปี นายสุมังคละ คิดว่า เราจักรู้วาระน้ำพระทัยของพระราชา จึงมาหาอำมาตย์คนหนึ่ง กล่าวว่า ขอท่านช่วยดูน้ำพระทัยของพระราชาว่า ทรงรู้สึกในเราอย่างไร ?
อำมาตย์นั้นรับคำ แล้วเข้าไปเฝ้าพระราชา กล่าวพรรณนาคุณของนายสุมังคละหน้าพระพักตร์.
พระราชาทำเป็นไม่ได้ยินเสีย.
อำมาตย์ไม่ได้กล่าวอะไร ๆ อีก กลับมาบอกนายสุมังคละว่า พระราชาทรงไม่พอพระทัย. พอล่วงไปปีที่สอง นายสุมังคละย้อนมาอีก พระราชาได้ทรงนิ่งเสียเช่นคราวก่อน
พอล่วงไปปีที่ ๓ นายสุมังคละได้พาลูกเมียมา.
อำมาตย์รู้ว่า พระราชามีพระทัยอ่อนลงแล้ว จึงพานายสุมังคละ ไปยืนที่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายสุมังคละมา พระเจ้าข้า.
พระราชารับสั่งให้เรียกนายสุมังคละมา ทรงทำปฏิสันถาร แล้วตรัสว่า สุมังคละ เหตุไรท่านจึงฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุญเขตของเราเสีย ?
นายสุมังคละกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ข้าพระองค์มิได้มีเจตนาฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าข้าพระองค์เข้าใจผิด คิดว่าเป็นเนื้อจึงได้ยิงไป ดังนี้แล้วได้กราบทูลเหตุการณ์ที่เป็นมานั้นให้ทรงทราบ.
พระราชาทรงสดับเรื่องทั้งหมดแล้ว ทรงปลอบโยนเขาว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านอย่ากลัวเลย แล้วตั้งให้เป็นผู้เฝ้าพระราชอุทยานอีก.
อำมาตย์ได้กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ เหตุไรพระองค์ แม้ได้ฟังคุณของนายสุมังคละถึง ๒ ครั้ง ก็ไม่ตรัสอะไรเลย แต่ครั้นได้ฟังในครั้งที่ ๓ เหตุไรจึงทรงเรียกมาอนุเคราะห์ พระเจ้าข้า.
พระราชาตรัสว่า แน่ะพ่อ ธรรมดาพระราชากำลังพิโรธ ทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผันไม่สมควร ฉะนั้นครั้งก่อน ๆ เราจึงนิ่งเสีย ครั้งที่ ๓ เรารู้ใจของเราว่า ความโกรธนายสุมังคละอ่อนลงแล้ว จึงให้เรียกเขามา ดังนี้แล้ว จึงตรัสแสดงราชวัตร ว่า
พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้ว่า เรากำลังกริ้วจัด ไม่พึงลงอาชญา อันไม่สมควรแก่ตน โดยไม่ใช่ฐานะก่อน พึงเพิกถอนความทุกข์ของผู้อื่นอย่างร้ายแรงไว้.
เมื่อใดพึงรู้ว่าจิตของตนผ่องใส พึงใคร่ ครวญความผิดที่ผู้อื่นทำไว้ พึงพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่ส่วนประโยชน์ นี่ส่วนโทษ เมื่อนั้น จึงปรับสินไหมบุคคลนั้น ๆ ตามสมควร.
อนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ใดไม่ถูกอคติครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่นที่ควรแนะนำ และไม่ควรแนะนำได้ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ชื่อว่าไม่เผาผู้อื่นและพระองค์เอง
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดในโลกนี้ ทรงลงอาชญาสมควรแก่โทษ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น อันคุณงามความดีคุ้มครองแล้ว ย่อมไม่เสื่อมจากสิริ.
กษัตริย์เหล่าใด ถูกอคติครอบงำ ไม่ทรงพิจารณาเสียก่อนแล้วทำลงไป ทรงลงอาชญาโดยผลุนผัน กษัตริย์เหล่านั้น ประกอบไปด้วยโทษ น่าติเตียน ย่อมละทิ้งชีวิตไป และพ้นไปจากโลกนี้แล้ว ก็ย่อมไปสู่ทุคติ.
พระราชาเหล่าใด ทรงยินดีในทศพิธราชธรรม อันพระอริยเจ้าประกาศไว้ พระราชาเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยกาย วาจา และใจ
พระราชาเหล่านั้น ทรงดำรงมั่น อยู่ในขันติ โสรัจจะ และสมาธิ ย่อมถึงโลกทั้งสอง คือจากมนุษยโลกถึงเทวโลก จากเทวโลกถึงมนุษยโลก ไม่ต้องไปเกิดในทุคติ โดยวิธีอย่างนั้น.
เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าเราโกรธขึ้นมาก็ต้องไม่ลุอำนาจความโกรธ ตั้งตนไว้ในแบบอย่าง อันโบราณราชทรงบัญญัติไว้ ไม่ทำลายหลักธรรมอันเป็นเครื่องวินิจฉัยของท่านเสีย คอยห้ามปรามประชาชนอยู่อย่างนั้น ลงอาชญาโดยอุบายอันแยบคาย ด้วยความปราณี.
เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ตรัสแสดงคุณของพระองค์แล้ว ราชบริษัททั้งหมดพากันชื่นชมยินดี กล่าวสรรเสริญคุณของพระราชาว่า คุณสมบัติคือศีล และอาจาระนี้ สมควรแก่พวกเราทีเดียว.
ส่วนนายสุมังคละ เมื่อเหล่าชนทั้งหลายกล่าวจบแล้ว ก็ลุกขึ้นถวายบังคมพระราชา ประคองอัญชลีกล่าวสรรเสริญพระราชา
ข้าแต่กษัตริย์ผู้ชนาธิปัตย์ บริวารสมบัติและปัญญา มิได้ละพระองค์ในกาลไหน ๆ เลย พระองค์มิได้มักกริ้วโกรธ มีพระหฤทัย ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ขอพระองค์ทรงปราศจากทุกข์ บำรุงพระชนม์ชีพ ยืนอยู่ตลอดร้อยพรรษาเถิด.
ข้าแต่กษัตริย์ ขอพระองค์จงประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ โบราณราชวัตรมั่นคงพระราชทานอภัยให้ทูลเตือนได้ ไม่ทรงกริ้วโกรธ มีความสุขสำราญไม่เดือดร้อน ปกครองแผ่นดินให้ร่มเย็น แม้จุติจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จงทรงถึงสุคติเถิด.
พระเจ้าธรรมิกราช ทรงฉลาดในอุบาย เมื่อครองราชสมบัติด้วยอุบายอันเป็นธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ อันบัณฑิตแนะนำกล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ พึงยังมหาชนผู้กำเริบร้อนกายและจิต ให้ดับหายไป เหมือนมหาเมฆ ยังแผ่นดินให้ชุ่มชื้นด้วยน้ำ ฉะนั้น.
จบเรื่องพระราชาผู้ทรงพิโรธ
ประเด็นน่าสนใจ
การตัดสินใจทำอะไรด้วยอารมณ์ความโกรธ มักผิดพลาดและเกิดผลเสียเสมอ ฉะนั้นพึงหมั่นฝึกฝนใจมิให้ความโกรธครอบงำได้ หรือหากความโกรธเกิดขึ้นพึงละ พึงข่ม หรือพึงระงับเสีย
ธรรมสำหรับละความโกรธหรือความพยาบาท มี ๖ ประการ คือ
๑ การเรียน การกำหนด เมตตานิมิตเป็นอารมณ์
๒ หมั่นเจริญเมตตาเนืองๆ
๓. การพิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน
๔. ความเป็นผู้มากไปด้วยการพิจารณา
๕. ความมีกัลยาณมิตร
๖. การกล่าวคำที่เป็นสัปปายะ
Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย