เรื่อง คู่กรรม(คู่เวร)

วันที่ 20 กค. พ.ศ.2562

เรื่อง คู่กรรม(คู่เวร)

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสีได้มีบ้านช่างไม้อยู่ภายนอกพระนคร. ในบ้านนั้นมีพราหมณ์ช่างไม้ผู้หนึ่ง หาไม้มาจากป่า ทำรถขายเลี้ยงชีวิต
ครั้งนั้นในหิมวันตประเทศ มีต้นตะคร้อใหญ่. มีหมีตัวหนึ่งเที่ยวหากินแล้ว มานอนที่โคนไม้ตะคร้อนั้น. อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อลมระดมพัด กิ่งแห้งกิ่งหนึ่งของต้นตะคร้อหักตกถูกคอหมีนั้น.
พอกิ่งไม้ทิ่มคอมันหน่อยก็สะดุ้งตกใจลุกขึ้นวิ่งไป แล้วหวนกลับมาใหม่ มองดูทางที่วิ่งมา ไม่เห็นอะไรคิดว่า สีหะหรือพยัคฆ์อื่น ๆ ที่จะติดตามมา มิได้มีเลย แต่เทพยดาที่เกิด ณ ต้นไม้นี้ชะรอยจะไม่อาจทนดูเราผู้นอน ณ ที่นี้ได้  เอาเถิดคงได้รู้กัน แล้วผูกโกรธในที่มิใช่ฐานะจากนั้นทุบฉีกต้นไม้ ตะคอกรุกขเทวดาว่า ข้าไม่ได้กินใบต้นไม้ของเจ้าเลย ทั้งไม่ได้หักกิ่ง ทีมฤคอื่น ๆ พากันนอนตรงนี้ เจ้าทนได้ ทีข้าเจ้าทนไม่ได้ โทษอะไรของข้าเล่า รอสักสองสามวันต่อไปเถิด ข้าจักให้เขาขุดต้นไม้ของเจ้าเสียทั้งรากทั้งโคน ให้ตัดเป็นท่อนเล็กท่อนน้อยให้จงได้   ครั้นกล่าวแล้วจึงเที่ยวสอดส่องหาบุรุษผู้หนึ่งเรื่อยไป.
ครั้งนั้น พราหมณ์ช่างไม้ผู้นั้นพาลูกมือสองสามคน นั่งยานน้อยไปถึงที่นั้น เพื่อแสวงหาไม้ทำรถ จอดยานน้อยไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งถือพร้าและขวานเลือกเฟ้นต้นไม้ ได้เดินไปจนใกล้ไม้ตะคร้อ.
หมีพบเข้าแล้วคิดว่า วันนี้น่าที่เราจะได้เราจะได้จัดการกับศัตรูของเรา จึงมายืนอยู่ที่โคนต้น. ฝ่ายนายช่างไม้เล่า มองดูทางโน้นทางนี้ ผ่านไปใกล้ต้นตะคร้อ.
หมีคิดว่า เราต้อง บอกเขาทันทีก่อนที่เขาจะผ่านไป คิดดังนี้แล้วกล่าวว่า   ท่านเป็นบุรุษถือขวาน มาสู่ป่ายืนดูอยู่ ท่านต้องการจะตัดไม้หรือ.
เขาฟังคำของมันแล้ว คิดว่า น่าอัศจรรย์จริง มฤคพูดภาษามนุษย์ เราไม่เคยพบมาก่อนเลย เจ้านี่คงจะรู้จักไม้ที่เหมาะกับการทำรถ ต้องถามมันดู จึงกล่าวว่า  เจ้าเป็นหมี เที่ยวอยู่ทั่วไปทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง      ขอเจ้าจงบอกแก่เรา ไม้อะไรที่จะทำกงรถ ได้มั่นคงดี.
หมีได้ฟังดังนั้น คิดว่า บัดนี้ มโนรถของข้าจักถึงที่สุดแล้ว จึงกล่าวว่า ไม้รังก็ไม่มั่นคง ไม้ตะเคียนก็ไม่มั่นคง ไม้หูกวาง จะมั่นคงที่ไหนเล่า แต่ว่าต้นไม้ชื่อว่าต้นตะคร้อนั่นแหละ ทำเป็นกงรถมั่นคงดีนัก.

เขาฟังคำของมันนั้นแล้ว เกิดโสมนัสว่า วันนี้เป็นวันดีจริงเทียวละที่เราเข้าป่า สัตว์ดิรัจฉานบอกไม้อันเหมาะที่จะกระทำรถแก่เรา โอ ดีจริง เมื่อจะถามจึงกล่าวว่า  ต้นตะคร้อนั้นใบเป็นอย่างไร อนึ่ง ลำต้นเป็นอย่างไร ขอเจ้าจงบอกเรา  เราจะรู้จักไม้ตะคร้อได้อย่างไร.
หมีกล่าวว่า   ต้นไม้ที่กิ่งทั้งหลายย่อมห้อยลงด้วย ย่อมน้อมลงด้วย แต่ไม่หัก ต้นไม้นั้นชื่อว่าต้นตะคร้อ  ตรงที่เรายืนอยู่ใกล้โคนต้นนี่. ต้นไม้นี้แหละ ชื่อว่าต้นตะคร้อ เป็นต้นไม้   ควรแก่การงานของท่านทุกอย่าง คือควรทำล้อ ดุมงอนและกงรถ.
หมีนั้นครั้นบอกอย่างนี้แล้ว ดีใจ เดินเที่ยวไปเสียข้างหนึ่ง
ช่างไม้เล่าก็เตรียมการที่จะตัดต้นไม้.
รุกขเทวดาคิดว่า เรามิได้ทำอะไรให้ตกใส่บนตัวหมีนั้น มันผูกอาฆาตโดยมิใช่เหตุเลย กำลังจะทำลายวิมานของเราเสีย และตัวเราก็จักพลอยย่อยยับไปด้วย ต้องล้างผลาญไอ้หมีตัวนี้ด้วยอุบายอย่างหนึ่งให้ได้ จึงจำแลงเป็นคนทำงานในป่า เข้ามาช่างไม้นั้น แล้วถามว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านได้ต้นไม้ที่เหมาะแล้ว ท่านจะตัดต้นไม้นี้ไปทำอะไร.
ข้าพเจ้าจะกระทำกงรถ ด้วยต้นไม้นี้ จักทำเป็นตัวรถก็ได้.
ใครบอกท่าน.
หมีตัวหนึ่งบอก.
ที่หมีนั้นบอก รถจักงามด้วยไม้นี้ แต่เมื่อท่านลอกหนังคอหมีประมาณ ๔ นิ้วแล้วเอาหนังนั้นหุ้มกงรถ ดุจหุ้มด้วยแผ่นเหล็ก กงรถก็จะแข็งแรง และท่านจักได้ทรัพย์มาก.
ข้าพเจ้าจักได้หนังหมีมาจากไหนเล่า
ท่านเป็นคนโง่หรือ ต้นไม้นี้ตั้งต้นอยู่ในป่าไม่หนีหายไปดอกนะ ท่านจงไปหาไอ้หมีตัวที่มันบอกต้นไม้นั้น หลอกมันว่า นายเอ๋ย ข้าพเจ้าจะตัดต้นไม้ที่ท่านชี้ให้ตรงไหนเล่า พามันมา ขณะที่มัน
คลายความระแวงกำลังยื่นจะงอยปากบอกอยู่ว่า ตัดตรงนี้และตรงนั้น ท่านจงฟันเสียด้วยขวานใหญ่อันคมให้สิ้นชีวิต ถลกหนังกินเนื้อที่ดี ๆ แล้วค่อยตัดต้นไม้ 
เป็นอันว่ารุกขเทวดาจองเวรสำเร็จ.นำความทุกข์มาให้แก่หมีทั้งหลาย ที่เกิดแล้ว และยังไม่เกิด ด้วยประการฉะนี้.


ช่างไม้ฟังคำของรุกขเทวดา คิดว่า โอ้ วันนี้เป็นวันมงคลของเราฆ่าหมี ตัดต้นไม้ แล้วหลีกไป.
จบเรื่อง คู่กรรม(คู่เวร)
ประเด็นน่าสนใจ
หมีโกรธเคืองต้นตะคร้อ โดยไม่มีเหตุ ถึงขั้นให้ช่างไม้ตัดไม้ ถอนรากถอนโคน ขณะเดียวกันรุกขเทวดา ก็ตอบสนองกลับด้วยการแนะนำให้ช่างไม้ฆ่าหมีเสีย ดูเหมือนจะมีเหตุอันควรที่จะทำร้ายหมีได้   แต่ก็เกิดความพินาศทั้งสองฝ่าย นี่เป็นเวรที่ตั้งอยู่ตลอดกัป
แต่ไม่ว่าจะพยาบาทจองเวรกันด้วยเหตุอันควรหรือไม่ก็ตาม เมื่อจองเวรกันแล้ว ก็มีแต่ความย่อยยับ มีแต่ทุกข์โทษภัยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใด นอกจากความสะใจความสมใจที่ได้ทำร้ายอีกฝ่าย
การตัดวงจรแห่งความพยาบาทจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ
ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละพยาบาท คือการเรียนเมตตานิมิต ๑ การบำเพ็ญเมตตาภาวนา ๑ การพิจารณาว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ๑ ความเป็นผู้มากด้วยการพิจารณา ๑ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ๑ การสนทนาถึงเรื่องที่เป็นสัปปายะ ๑
เมื่อเรียนเมตตาอยู่ ด้วยอำนาจการแผ่ไปโดยเจาะจงทิศ และไม่เจาะจงทิศ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมละพยาบาทได้.
เมื่อเจริญเมตตา โดยแผ่ไปสู่ทิศโดยเจาะจง ย่อมละพยาบาทได้.
เมื่อพิจารณาเห็นว่าตนและคนอื่นมีกรรมเป็นของตนอย่างนี้ว่า เจ้าโกรธเขาแล้ว จักทำอะไรได้ สามารถจะทำคุณธรรมมีศีลเป็นต้นของเขาให้พินาศได้หรือ เจ้ามาตามกรรมของตนแล้ว ก็จักไปตามกรรมของตนนั่นเอง มิใช่หรือ ? ชื่อว่า การโกรธคนอื่นเป็นเหมือนกับการที่บุคคลประสงค์จะคว้าเอาเถ้าที่ปราศจากเปลว หลาวเหล็กที่ร้อนและคูถเป็นต้น ขว้างปาบุคคลอื่น ถึงเขาโกรธเจ้าแล้วก็จะทำอะไรให้ได้ เขาจะสามารถให้คุณธรรมมีศีลเป็นต้น ของเจ้าพินาศได้หรือ ? เขามาตามกรรมของตน ก็จักไปตามกรรมของตนเหมือนกัน ความโกรธนั้นก็จักตกรดหัวเขานั่นแหละ เหมือนของที่ส่งไป ไม่มีใครรับก็จะกลับมาหาผู้ส่ง และเหมือนกำฝุ่นที่ซัดไป ทวนลม ก็จะปลิวกลับมาถูกผู้ขว้างฉะนั้นบ้าง
พิจารณาเห็นว่า ทั้งตนทั้งคนอื่น มีกรรมเป็นของตนและดำรงอยู่ในการพิจารณาบ้าง
คบหากัลยาณมิตรผู้ยินดีในเมตตาภาวนาบ้าง, ย่อมละพยาบาทได้.
การสนทนาถึงสิ่งที่เป็นสัปปายะเกี่ยวเนื่องด้วยเมตตา ในอิริยาบถ มีอิริยาบถยืนและนั่งเป็นต้น.ย่อมละพยาบาทได้เช่นกัน

Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า




 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00225936571757 Mins