เศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก

วันที่ 22 พค. พ.ศ.2562

เรื่อง เศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก

ในพระนครราชคฤห์ มีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อว่า กาฬวฬิยะ เขาต้องทำงานรับจ้างอย่างหนักเพื่อเลี้ยงชีพไปวันๆ   ไม่มีเวลาจะนึกบุญกุศลใดๆ ทั้งสิ้น วันหนึ่งภรรยาของเขาหุงข้าวยาคูกับต้มผักดอง เพื่อนำไปให้เขาในที่ทำงาน.
และในขณะนั้นนั่นเอง  พระมหากัสสปเถระเข้านิโรธสมาบัติตลอด ๗ วัน  ครั้นออกจากนิโรธสมาบัติในวันนั้น ได้รำพึงว่า เราจะทำการสงเคราะห์ใคร เห็นภรรยาของนายกาฬวฬิยะเข้ามาในข่ายคือญาณ พิจารณาดูว่า นางจะสามามารถอนุเคราะห์เราได้หรือไม่  ทราบว่านางสามารถทำการอนุเคราะห์ได้ จึงได้ไปยืนที่ประตูบ้านของนาง
นางเห็นพระเถระมายืนอยู่หน้าประตู  เกิดความเลื่อมใสศรัทธา คิดว่า การที่เราต้องลำบากตรากตรำเป็นคนที่ยากจนเข็ญใจอยู่ทุกวันนี้ นั่นเพราะเรามิได้กระทำบุญไว้ในอดีต  วันนี้พระคุณเจ้าผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกได้ยืนอยู่ ณ ที่นี้ อีกทั้งไทยธรรมของเราก็มีพร้อม อย่ากระนั้นเลย เราพึงถวายภัตที่มีอยู่นี้ทั้งหมดแก่พระเถระ  เพื่อปลดเปลื้องตนจากความทุกข์ยากลำเค็ญนี้เสียที ว่าแล้วนางก็กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จากนั้นรับบาตรใส่ข้าวยาคูทั้งหมดซึ่งเตรียมไว้ให้สามีของตน ลงในบาตรนั้น  แล้วถวายแก่พระเถระ.
พระเถระกล่าวคำอนุโมทนาแก่นาง  จากนั้นจึงไปยังวิหารแล้วน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเอาแต่พอยังอัตภาพของพระองค์  แล้วรับสั่งว่าให้แบ่งข้าวยาคูที่เหลือแก่ภิกษุในวิหาร ด้วยอานุภาพแห่งบุญ ข้าวยาคูนั้นมีมากเพียงพอสำหรับพระภิกษุถึง ๕๐๐ รูป  
ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระภิกษุสงฆ์กำลังฉันข้าวยาคูของคนเข็ญใจด้วยความอนุเคราะห์นั้น  นายกาฬวฬิยะได้ฟังข่าวว่า ภรรยาถวายภัตส่วนที่เป็นของตนแก่พระมหากัสสปเถระ ก็เกิดความปลื้มปีติเป็นที่ยิ่ง  จึงได้ตามไปยังวิหาร. เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จแล้ว เขาได้มีโอกาสรับประทานส่วนที่เหลือหน่อยหนึ่ง
เพื่อจะยังความปีติปราโมทย์ให้เกิดแก่นายกาฬวฬิยะ  พระมหากัสสปจึงทูลถามถึงวิบากกรรมของนายกาฬวฬิยะกะพระศาสดาว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภรรยาของนายกาฬวฬิยะได้ถวายบิณฑบาตทานด้วยความศรัทธา  ส่วนนายกาฬวฬิยะเองเมื่อทราบข่าว ก็เกิดความปีติปราโมทย์อย่างยิ่ง วิบากกรรมของเขาทั้งสองจะเป็นเช่นไร พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า ในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ไป เขาจักได้รับฉัตรเศรษฐีจากพระราชาพิมพิสารจอมเสนามคธราช
นายกาฬวฬิยะฟังพระดำรัสนั้นไม่อาจอดกลั้นความยินดีปรีดาได้ ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปีติโสมนัสใจ แล้วกราบถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและนมัสการลาพระมหากัสสปเถระ  กลับไปยังเรือนของตน บอกพุทธพยากรณ์ทั้งหมดนั้นแก่ภรรยา ภรรยาของเขาครั้นได้ฟังดังนั้นก็เกิดปีติโสมนัสใจ เลื่อมใสในบิณฑบาตทานที่ถวายแก่พระมหากัสสปเถระ ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติเป็นอย่างยิ่ง.
ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเลียบพระนคร  ได้ทอดพระเนตรเห็นโจรคนหนึ่งถูกหลาวเสียบเพื่อรอประหารชีวิต อยู่ในป่ามหาเปรต  นอกพระนคร.
บุรุษนั้นเห็นพระราชาจึงตะโกนทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวยมาให้ข้าพระองค์เถิดพระเจ้าข้า.
พระราชาเกิดความสงสารเขาเป็นอย่างยิ่ง  จึงตรัสว่า ได้สิ เดี๋ยวเราจะสั่งให้คนนำมาให้ ครั้นพวกพ่อครัวหลวงตระเตรียมพระกระยาหารตอนเย็นเรียบร้อยแล้ว   จึงทรงระลึกขึ้นได้ เพื่อจะทรงปลดเปลื้องคำกล่าวของพระองค์ ตรัสว่า พวกเจ้าจงหาคนที่สามารถนำอาหารนี้ไปให้เขา.
ธรรมดาว่าป่ามหาเปรตซึ่งเป็นสถานที่เสียบหลาวรอการประหารนั้น เป็นสถานที่ที่มีอมนุษย์สิงสถิตอยู่มากมาย  จึงเป็นที่ครั่นคร้ามของคนทั้งหลาย ไม่เพียงกลางคืน แม้เป็นเวลากลางวันก็ยากที่จะมีคนย่างกรายเข้าไป ด้วยเหตุนี้เอง  พระราชาจึงรับสั่งให้หาผู้ที่มีความกล้า สามารถเข้าไปยังป่ามหาเปรต ด้วยการว่าจ้างทรัพย์ถึงหนึ่งพันกหาปณะ
พวกราชบุรุษเมื่อรับพระราชดำรัสแล้ว  จึงเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งเที่ยวป่าวร้องหาผู้มีความสามารถในพระนคร. พวกเขาป่าวประกาศอยู่อย่างนี้ถึงสองครั้ง ไม่มีผู้ใดแสดงความอาจหาญ  รับอาสาไปยังป่ามหาเปรตลานประหารนอกเมืองได้เลย แต่ในครั้งที่ ๓ ภรรยาของนายกาฬวฬิยะได้รับเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งไป ด้วยขันอาสาจะไปยังที่นั้นเอง
พวกราชบุรุษได้เบิกตัวนางเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หญิงนี้มีความกล้าหาญ ขันอาสาจะนำเอาอาหารไปยังป่ามหาเปรตพระเจ้าข้า .
พระราชาตรัสถามว่า  เจ้าเป็นหญิง จะไปในที่นั้นได้หรือ  
นางทูลยืนยันว่า  ได้ พระเจ้าข้า
พระราชารับสั่งว่า  ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงปลอมเป็นชายไปเถิด ตรัสดังนั้นแล้ว ทรงสั่งให้นางปลอมตัวเป็นชาย ผูกสอดอาวุธ ๕ ประการ ถือถาดอาหารออกจากพระนครไป.
ยักษ์ชื่อทีฆตาละสิงอยู่ที่ต้นตาลนอกพระนคร เห็นนางเดินไปตามโคนไม้จึงกล่าวว่า หยุด หยุด เจ้าเป็นอาหารของเรา.
เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูต เดินทางไปด้วยราชกิจของพระเจ้าพิมพิสาร   นางตอบด้วยความไม่หวาดหวั่นใดๆ ทั้งสิ้น
ยักษ์เมื่อฟังดังนั้นก็ให้นึกครั่นคร้าม  ด้วยเกรงกลัวต่อบารมีของพระเจ้าพิมพิสาร อีกทั้งเห็นอากัปกิริยาที่ไม่หวาดหวั่นของนาง จึงถามว่า  เจ้าบอกว่าเป็นราชทูต แล้วเจ้าจะไปไหนล่ะ ?
ข้าพเจ้าจะไปยังที่ที่บุรุษถูกหลาวเสียบเพื่อการประหารชีวิต.
เจ้าสามารถนำข่าวของเราไปสักข่าวหนึ่งได้หรือไม่ ?
ได้สิ หากไม่เหลือบ่ากว่าแรงของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้ายินดีทำให้ บอกมาเถิด
ยักษ์กล่าวว่า เจ้าพึงบอกดังนี้ว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชาย ที่โคนตาลต้นนี้ มีขุมทรัพย์อยู่ ๗ ขุมเจ้าจงถือเอาขุมทรัพย์นั้นไปเถิด.
นางเดินไปพลาง ประกาศเสียงดังก้องไปพลางว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์ คลอดบุตรเป็นชาย.
สุมนเทพนั่งอยู่ในยักขสมาคมได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า มนุษย์คนหนึ่งนำข่าวอันน่ายินดีของพวกเรามาป่าวร้อง พวกท่านจงไปเรียกเขามา พวกยักษ์ได้นำนางมาสู่สมาคมของยักษ์  เมื่อสุมนเทพได้ฟังข่าวนั้นทั้งหมด เกิดความชื่นชมต่อข่าวการคลอดบุตรของนางกาฬีธิดาของตน อีกทั้งชื่นชมความกล้าหาญของนางจึงกล่าวว่า ขุมทรัพย์ในปริมณฑลแห่งร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึง  เราให้เจ้าเป็นเครื่องตอบแทนคุณความดีที่เจ้าอุตสาห์นำข่าวอันเป็นมงคลมาแจ้งแก่เรา.
เมื่อนางแจ้งข่าวแก่สุมนเทพแล้วจึงรีบไปยังลานเสียบหลาว จัดแจงให้บุรุษนั้นรับประทานอาหาร  ฝ่ายบุรุษผู้นั่งบนหลาวสำหรับประหารชีวิต บริโภคอาหารแล้ว ถึงเวลานางเอาผ้ามาเช็ดหน้าให้ เพียงสัมผัสถูกต้องเท่านั้นก็รู้ว่านางเป็นหญิง จึงกัดมวยผม นางจึงเอาดาบตัดมวยผมของตน แล้วรีบกลับไปยังราชสำนักทันที.
พระราชาตรัสถามว่า เจ้าได้ให้บุรุษนั้นบริโภคอาหารแล้วหรือ
ข้าพระองค์ได้ให้เขาบริโภคแล้วพระเจ้าข้า
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ?
นางทูลว่า  รู้ได้ด้วยเครื่องหมายของมวยผม ที่ถูกตัดไป พระเจ้าข้า จากนั้นกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ พร้อมทั้งทูลขอให้พระองค์ส่งคนไปขนทรัพย์นั้นที่สุมนเทพให้มา  โดยมีนางเป็นผู้นำทาง. ราชบุรุษได้พากันไปขุดเอาทรัพย์ตามที่นางบอก  ปรากฏว่าได้ทรัพย์มาเป็นของแผ่นดินจำนวนมหาศาล
พระราชาจึงทรงปรึกษากับเหล่าอำมาตย์ราชปุโรหิตทั้งหลาย  ว่าสมควรทำอย่างไรดี ราชปุโรหิตต่างลงมติว่า ควรจะพระราชทานฉัตรเศรษฐีแก่นาง  แต่เนื่องจากนางเป็นหญิง จึงสมควรพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีแก่สามีของนาง เพื่อรักษาราชประเพณีนี้ไว้
พระราชาจึงทรงแต่งตั้งให้นายกาฬวฬิยะ  ไว้ในตำแหน่งเศรษฐีประจำแผ่นดิน โดยให้มีชื่อว่า ธนเศรษฐี พร้อมทั้งพระราชทานฉัตรเศรษฐีให้เป็นเกียรติยศ จากนั้นสองสามีภรรยาก็มีความสุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพ  ด้วยประการฉะนี้

ข้อคิด
บุญเป็นชื่อของความสุข มีกระแสเป็นความใสเย็น มีผลเป็นความชุ่มใจอิ่มเอิบใจ ไม่เดือดร้อนใจ มีแต่ความสุขกายสบายใจในทุกหนทุกแห่ง เมื่อหวังความสุขความสำเร็จในชีวิต ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าท่านผู้รู้ทั้งหลาย ถึงได้สอนให้เราทำแต่บุญกุศลล้วนๆ อย่าได้ไปทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ให้เอาความถูกต้องถูกธรรมมากกว่าความถูกใจ เพราะใจของเราส่วนใหญ่มักถูกดึงไปในฝ่ายต่ำ แต่ถ้าฝึกใจให้สูงขึ้น ให้มุ่งตรงต่อหนทางสวรรค์และพระนิพพานชีวิตหลังความตายก็จะพบแต่ความสุขสวัสดี

จบเรื่องเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก

Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014642000198364 Mins