เรื่อง โอวาทพระฤาษี
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต ครองราชย์สมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระฤาษีท่านหนึ่ง เลี้ยงอัตภาพด้วยผลไม้น้อยใหญ่ ในป่าหิมพานต์เป็นเวลาช้านาน เพื่อต้องการเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว จึงไปเมืองพาราณสี พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นจึงเข้าไปสู่พระนครเพื่อภิกษา.
ครั้งนั้น พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมาถึงพระลานหลวง เลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงทรงนำเข้าไปภายในเมืองให้ฉันเสร็จ ทรงรับปฏิญญาแล้วให้ท่านอยู่ในพระราชอุทยาน ได้เสด็จไปยังที่อุปัฏฐากวันละครั้ง.
พระฤาษีทูลถวายโอวาทพระราชานั้นทุกวันว่า ขอถวายพระพรมหาราช ธรรมดาพระราชาควรเว้นการลุอำนาจอคติทั้ง ๔ เป็นผู้ไม่ประมาท สมบูรณ์ด้วยพระขันติ พระเมตตา และพระกรุณาธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม ขอมหาบพิตรอย่าทรงพิโรธเลย พระราชาผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ประชาชนของรัฐ ราษฎรย่อมบูชา. อาตมภาพของถวายอนุศาสน์ในที่ทุกสถาน จะเป็นในบ้าน ในป่า หรือที่ดอนที่ลุ่มก็ตาม ข้าแต่มหาบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธ.
ในทุกวันที่พระราชาเสด็จมา พระฤาษีได้ถวายโอวาทเหล่านี้. พระราชามีพระราชหฤทัยเลื่อมใส ได้พระราชทานหมู่บ้านชั้นดีให้ ๑ ตำบลเก็บส่วยได้ ๑ แสนกหาปณะ แก่พระฤาษี
พระฤาษีทูลปฏิเสธ. ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้อยู่ ณ ที่นั้นแห่งเดียวเป็นเวลา ๑๒ ปี
ครั้งนั้นท่านดำริว่า เราอยู่ที่นี่มานานแล้ว ควรจะเที่ยวจาริกไปในชนบทก่อนแล้วค่อยกลับมา คิดดังนี้แล้ว ไม่ทูลลาพระราชาเลย เรียกคนเฝ้าสวนมาสั่งว่า อาตมาจักจาริกไปสู่ชนบท แล้วจึงจะมา ขอให้ท่านทูลให้พระราชาทรงทราบด้วย แล้วก็หลีกไปถึงท่าเรือที่แม่น้ำคงคา.
ที่ท่านั้นมีคนแจวเรือจ้างชื่อ อาวาริยปิตา. เขาเป็นคนพาลไม่รู้จักคุณของผู้มีคุณเลยทั้งไม่รู้จักอุบายเพื่อตนเองด้วย. เขาสั่งคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำคงคา ข้ามก่อนแล้วจึงขอค่าจ้างภายหลัง เมื่อทะเลาะกับคนที่ไม่ให้ค่าจ้าง ก็ใช้วิธีด่าและทุบตีกันเท่านั้น จึงจะได้ค่าจ้างมาก.
พระฤาษีเข้าไปหาคนแจวเรือจ้างคนนั้น แล้วพูดว่า ขอจงนำอาตมภาพข้ามฟากเถิด.
เขาครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงตอบว่า ท่านสมณะ ท่านจักให้ค่าจ้างเรือผมเท่าไร
โยม อาตมภาพจักบอกความเจริญแห่งโภคทรัพย์ความเจริญแห่งอรรถ และความเจริญแห่งธรรมให้.
คนแจวเรือจ้างครั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว เข้าใจว่า สมณะรูปนี้จักให้อะไรแก่เราแน่นอน จึงนำท่านข้ามฟาก แล้วกล่าวว่าขอพระคุณเจ้าจงให้ค่าจ้างเรือแก่ผมเถิด.
ดีแล้วโยม เมื่อจะบอกความเจริญแห่งโภคะแก่เขาก่อน จึงกล่าวว่า โยมชาวเรือ โยมจงขอค่าจ้างกะคนที่ยังไม่ข้ามไปฝั่งโน้นก่อน เพราะว่าจิตใจของคนที่ข้ามฟากแล้ว เป็นอย่างหนึ่ง ของ คนที่ต้องการจะข้ามฟากยังไม่ได้ข้าม ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน.
คนแจวเรือได้ฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า เราได้โอวาทนี้ก่อน แต่บัดนี้ สมณะนี้ จักให้อะไรอื่นแก่เราอีก.
ครั้งนั้น พระฤาษีได้กล่าวว่า โยมนี้เป็นความเจริญแห่งโภคทรัพย์ของโยมก่อน บัดนี้โยมจงฟังความเจริญแห่งอรรถและธรรม เมื่อให้โอวาทเขา จึงได้กล่าวว่า อาตมาจะตามสอนโยมทุกหนทุกแห่ง ทั้งในบ้านทั้งในป่า ทั้งในที่ลุ่มและที่ดอน ดูก่อนโยมชาวเรือ ขอโยมจงอย่าโกรธนะ.
พระฤาษี ครั้นบอกความเจริญแห่งอรรถและธรรม แล้ว จึงกล่าวว่า นี้เป็นความเจริญแห่งอรรถและความเจริญแห่งธรรมของโยม.
แต่เขาเป็นคนดุ ไม่สำคัญโอวาทนั้นว่าเป็นอะไร จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านสมณะ นี้หรือคือค่าจ้างเรือที่ท่านให้ผม.
ถูกแล้วโยม.
ผมไม่ต้องการค่าจ้างอย่างนี้.
โยมนอกจากโอวาทนี้แล้ว อาตมาไม่มีอย่างอื่น.
เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไร ? ท่านจึงลงเรือผม แล้วผลักพระฤาษีให้ล้มลงที่ฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งทับอกแล้วตบปากท่าน
เมื่อคนแจวเรือนั้นกำลังตบอยู่นั่นแหละ ภรรยาถืออาหารมาเห็นดาบสเข้า จึงบอกว่า พี่ ดาบสนี้เป็นชีต้นประจำราชตระกูล พี่อย่าตีท่าน
เขาโกรธแล้วพูดว่า แกนี่แหละ ไม่ให้ข้าตีดาบสขี้โกงคนนี้แล้วลุกขึ้นตบภรรยานั้นให้ล้มลงไป. เมื่อเป็นเช่นนั้น ถาดข้าวก็ตกแตก.และเด็กในท้องของภรรยาท้องแก่ ได้คลอดออกตกลงที่พื้นดิน.
ครั้งนั้นมหาชนพากันมาล้อมดู เห็นดังนั้นจับเขามัดด้วยความเข้าใจว่า เป็นโจรฆ่าคน แล้วนำไปมอบถวายพระราชา. พระราชาทรงวินิจฉัยแล้วลงพระราชอาญาแก่เขา.
จบเรื่อง โอวาทพระฤาษี
ประเด็นน่าสนใจ
ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ให้ของชอบใจย่อมได้ของชอบใจ
แต่ต้องให้สิ่งที่ควรให้ และต้องให้กับคนที่ควรให้ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับก็ไม่ควรให้ เพราะให้ไปมีแต่ก่อให้เกิดโทษ หรือแม้สิ่งที่ดีแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นที่ชอบใจของผู้รับ สิ่งนั้นอาจกลับกลายเป็นภาระของผู้รับ ผู้ให้เองครั้นทราบภายหลังอาจไม่ปลื้ม จนกลายเป็นความรู้สึกเสียดายได้
สิ่งใดเป็นประโยชน์แต่ผู้รับไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ต้องการ ก็ไม่ควรให้เช่นกัน เพราะนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์กับผู้รับ อาจเกิดโทษกับผู้ให้ เหมือนโอวาทพระฤาษีที่ให้แก่คนแจวเรือ
Cr.ขุนพลไร้เงา
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนตรัย