อธิบายอุปสมบท ๓ อย่าง
๑.พระศาสดาได้บรรลุความบริสุทธิ์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนแล้ว จึงเทศนาสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นต่อไป ในชั้นต้นทรงแสดงแก่พวกนักบวชด้วยกันก่อน เมื่อมีผู้เชื่อถือและทูลขอเข้าพวกด้วย ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเหมือนกัน ไม่มีพิธีอะไร เป็นแต่ทรงเปล่งพระวาจาว่า "เอหิ ภิกฺขุ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํสมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย" แปลว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด" เพียงเท่านี้ผู้นั้นก็เป็นภิกษุ การบวชอย่างนี้เรียกว่า "เอหิภิกฺขุอุปสมฺปทา" แปลว่าอุปสมบทด้วยทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุมา ฯ
๒. เมื่อมีสาวกบวชมากขึ้น พระศาสดาทรงส่งสาวกให้ไปประกาศพระศาสนาตามชนบทต่างๆ ครั้นมีผู้เลื่อมใสสมัครจะบวช พระสาวกไม่มีอำนาจที่จะบวชให้ได้ ต้องพามาเฝ้าพระศาสดา ได้รับความลำบากเป็นอันมาก เหตุเพราะทางกันดาร ไปมาลำบาก พระองค์ทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงอนุญาตให้สาวกบวชกุลบุตรได้เอง ท่านทรงบัญญัติไว้ว่า
ก.กุลบุตรต้องโกนผม และหนวดเสียก่อน
ข. ให้นุ่งห่มผ้ากาสายะเข้ามากราบเท้าภิกษุ
ค. ภิกษุเป็นอาจารย์ต้องสอนให้ว่าตาม ว่าข้าพเจ้า ถึงพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ด้วยอาการเคารพจริงๆ เพียงเท่านี้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าบวชเป็นภิกษุได้ การบวชอย่างนี้เรียกว่า "ติสรณคมนูปสมฺปทา" แปลว่า อุปสมบทด้วยถึงสรณะ ๓ ฯ
๓. ต่อมามีสงฆ์สาวกมากขึ้น พระศาสดาทรงปรารภว่า ควรให้อำนาจแก่สงฆ์โดยเต็มที่ การบวชเป็นการเข้าร่วมหมู่ร่วมคณะเป็นการสำคัญสมควรเห็นพร้อมกันเสียก่อน อีกประการหนึ่ง การให้อำนาจแก่บุคคลเช่นในวิธีที่ ๒ นั้น อำนาจอยู่ได้ก็ชั่วอายุคนเท่านั้น แต่ถ้าให้อำนาจแก่คณะแล้ว อำนาจนั้นจะอยู่ตราบเท่าถึงที่สุดแห่งพระศาสนา เมื่ออนุญาตวิธีนี้แล้ว ทรงยกเลิกวิธีที่ ๒ กับพระองค์ก็ไม่ทรงวิธีที่ ๑ ต่อไป ฯ
วิธีที่ ๓ เรียกว่า ญตฺติจตุตฺถกมฺม คือประกาศสงฆ์ให้ทราบด้วยความที่จะอุปสมบทคนชื่อนั้นครั้งหนึ่งก่อน เรียกว่า ญฤติ แล้วประกาศให้สงฆ์รู้ว่าสงฆ์อุปสมบทคนชื่อนั้นอีก ๓ ครั้ง เรียกว่า อนุสาวนา อย่างนี้เรียกว่า "อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม" อย่างที่ใช้อุปสมบทกันอยู่ในบัดนี้
ครั้นทรงเลิกวิธีที่ ๒ ติสรณคมนูปสัมปทาเสียแล้ว ได้ทรงอนุญาตให้เอาวิธีนั้นมาใช้บวชกุลบุตรผู้มีอายุยังหย่อน ให้เป็นสามเณร ฯ ได้ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชราหุลเป็นสามเณร เป็นครั้งแรก ณ นิโครธาราม
แห่งนครกบิลพัสดุ์ ฯ ด้วยเหตุนี้ การบวชจึงหมายความเป็น ๒ คือบวชเป็นภิกษุ เรียก "อุปสัมปทา หรืออุปสมบท" บวชเป็นสามเณร เรียกว่า "บรรพชา" ฯ