บุพกิจแห่งอุปสมบท คือ
๑.ให้บรรพชา (ข้อนี้จึงทำในเมื่ออุปสัมปทาเปกขะเป็นคฤหัสถ์มาถ้าเป็นสามเณรอยู่ก่อนแล้วไม่ต้องทำ)
๒. ขอนิสัย ฯ
๓. ถืออุปัชฌายะ ๆ
๔. ขนานชื่อมคธแห่งอุปสัมปทาเปกขะ
๕. บอกนามอุปัชฌายะ ฯ
๖. บอกบาตรจีวร ฯ
๗. สั่งให้อุปสัมทาเปกขะออกไปยืนข้างนอก มีกำหนดห่างจากท้ายหัตถบาสสงฆ์ ๑๒ ศอก เป็นอย่างน้อย ฯ
๘. ภิกษุรูปหนึ่งสมมติตนเป็นผู้ซักซ้อมอันตรายิกธรรม แก่อุปสัมปทาเปกขะ ฯ
๙. เรียกอุปสัมปทาเปกขะเข้าในสงฆ์ ฯ
๑๐. ให้ขออุปสมบท
๑๑. ภิกษุรูปหนึ่งสมมติตน สอบถามอันตรายิกธรรมแก่อุปสัมปทาเปกขะในสงฆ์
ในกิจเหล่านี้เป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะที่จะต้องฝึกสอนก่อนตั้งแต่แรกและเมื่อบวชจะต้องตรวจตราเครื่องบริขารที่จำเป็นของภิกษุขาดไม่ได้คือจีวรกับบาตรให้มีพร้อมถ้าบกพร่องเป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะจะหาให้และต้องทำเสร็จก่อนสวดประกาศบุพพกิจเหล่านี้ นอกจากบรรพชา หากจะบกพร่องไปบ้าง ท่านไม่นับเป็นวิบัติ
ในการอุปสมบท เมื่อทำบุพพกิจเสร็จแล้วพึงสวดกรรมวาจาตั้งญัตติหนหนึ่ง สวดอนุสสาวนา ๓ หน เรียกว่า ญัตติจตุตถกัมม์
ถ้าหากพระสงฆ์ให้อุปสมบทไม่พร้อมด้วยสมบัติเหล่านั้นไซร้ ก็ชื่อว่าเป็นอันให้อุปสมบทวิบัติ คืออุปสมบทไม่เป็นภิกษุ
นอกจากนี้ กล่าวตามระเบียบบริหารคณะสงฆ์ พระอุปัชฌายะต้องสอบสวนกุลบุตรให้ได้คุณลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในสังฆาณัติ ระเบียบพระอุปัชฌายะ พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๑๔ ดังนี้
(๑) เป็นคนมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม ไม่ใช่คนจรจัด ไม่มีหลักฐาน
(๒) เป็นสุภาพชน มีความประพฤติดีไม่เป็นนักเลง เที่ยวเตร็ดเตร่ไม่มีความเสียหายในทางอื่น เช่น ติดฝิ่น ติดสุรา เป็นต้น ฯ
(๓) มีความรู้อ่านออกและเขียนหนังสือไทยได้ โดยมีประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองซึ่งทางราชการออกให้เป็นคู่มือ
(๔) เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถ หรือทุพพลภาพหรือพิกลพิการ ฯ
(๕) มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามวินัย ฯ
(๖) เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้อง ไม่วิบัติ ฯ