แบบสอนนาคที่ ๑
ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอนงคาราม
เมื่อนาคกล่าวคำขอบรรพชาจบแล้ว พระอุปัชฌาย์พึงสอนตามสมควรแก่สมัยโอกาสดังต่อไปนี้ ฯ
บัดนี้ (ตัวท่าน) นำผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าย้อมน้ำฝาด เย็มย้อมต้องตามพระบรมพุทธานุญาตมามอบให้ท่ามกลางสงฆ์ เปล่งวจีเภทขอบรรพชาอุปสมบทดำรงเพศบรรพชิตในศาสนา ธรรมวินัยของสมเด็จพระธรรมสามิศร์อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ก็อันการบรรพชานี้เป็นอธิกุศลยากที่บุคคลจะพึงได้พึงประสบ เพราะต้องสมบูรณ์ด้วยขณะสมัยช่องโอกาสคือได้ชาติกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เกิดในตระกูลสัมมาทิฐิมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงจะบรรพชาอุปสมบทได้ "กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ" การที่ได้ชาติกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากที่สุดที่จะได้ประสบเพราะกำเนิดของสัตว์มีประเภทเป็นอันมากเทียบเคียงเพียงแต่สัตว์ดิรัจฉานก็จะพึงเห็นได้ว่ามีมากกว่ามนุษย์สักเพียงไร “กิจฺโฉ พุทธานมุปฺปาโท" แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็ยากที่สุดที่จะได้ประสบพบขณะสมัยเป็นที่บังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกเป็นบางครั้งบางสมัยต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรมนับโดยโกฏิแห่งกัลป์ แต่คำว่า "พุทโธๆ" นี้ก็ยากที่จะได้ยินได้ฟัง "กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ" เมื่อเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ยังต้องมีชีวิตยืนมาถึงกำหนดได้ก็ยาก เพราะตายเสียในครรภ์ก็มีคลอดจากครรภ์แล้วตายเสียแต่ยังเป็นเด็ก ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ยังไม่ทันถึงกำหนดก็อเนกอนันต์ "ทุลฺลภา ขณสมฺปตฺติ" และเมื่อพร้อมด้วยขณะสมบัติดังกล่าวมาแล้วนั้น ถ้าเกิดเสียในประเทศที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนา ก็หาได้บรรพชาอุปสมบทไม่ ขณะสมัยที่จะได้สัมมาทิฐิความเห็นชอบได้ศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยก็ยากที่จะได้ประสบ เพราะประเทศถิ่นฐานของมนุษย์ก็กว้างขวาง และมีความเห็นต่างๆกัน ถือศาสนาตามชาติบ้านเมืองของตนๆ การบรรพชาอุปสมบทประพฤติพรหมจรรย์ก็นับว่าได้ด้วยยาก ต้องสมบูรณ์ด้วยขณะสมัยดังกล่าวมาแล้วนั้น บัดนี้ตัวท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยขณะสมัยซ่องโอกาส คือได้ชาติกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เกิดในตระกูลสัมมาทิฐิ มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ส่วนตัวก็มีฉันทะอัธยาศัยในการบรรพชาอุปสมบท ทั้งไม่มีบรรพชาโทษมีการขัดข้อง นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐแล้ว จงปลูกฝังตั้งศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสให้แน่วแน่ลงในคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ปลงจิตให้ดิ่งลงในการบรรพชาอุปสมบทผลของการบรรพชานี้นับว่าประเสริฐ เพราะพรากกายให้ห่างจากกามารมณ์เป็นเครื่องอบรมใจให้ตั้งอยู่ในความสงบ เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพาน ผู้บรรพชาอุปสมบทท่านกล่าวว่า "เป็นศาสนทายาท" คือเป็นญาติอันสนิทสนมกับพระศาสนา เพราะได้ร่วมสิกขาสาชีพกับพระสงฆ์ด้วยตนเองและจะได้สืบศาสนวงศ์ให้ถาวรสืบต่อไป
ผู้บรรพชาจะต้องศึกษาให้เข้าใจในพระกรรมฐานก่อน เพราะพระกรรมฐานเป็นเครื่องสะกดใจป้องกันความฟุ้งซ่านได้ ท่านจงตั้งใจรับเรียนพระกรรมฐานตามแบบโบราณาจารย์แต่ปางก่อนที่ได้สอนกันสืบๆ มาเป็นตามไปโดยบทบาลีดังนี้ก่อน "เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ" นี้เรียกว่าอุบายสำหรับจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งกองปัญญาต่อไป จงศึกษาอนุโลม คือว่าไปตามลำดับ แล้วถอยกลับเข้ามาเป็นปฏิโลมว่า "ตโจ ทนฺตานขา โลมา เกสา"
จงศึกษาให้รู้เนื้อความ เกสา แปลว่าผมทั้งหลาย โลมา แปลว่าขนทั้งหลาย นขา แปลว่าเล็บทั้งหลาย ทนฺตา แปลว่าฟันทั้งหลาย ตโจ แปลว่าหนัง บัดนี้ตัวท่านจงน้อมใจพิจารณาสิ่งทั้ง ๕ นี้ ให้เห็นเป็นของปฏิกูลพึงเกลียด เมื่อพิจารณาโดยอาการย่นย่อเพียงเท่านี้ไม่พอที่จะให้เห็นของปฏิกูลน่าเกลียดได้ ก็จงพิจารณาร่างกายทั้งมวล หรือแยกพิจารณาเป็นส่วนๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เบื้องบนตั้งแต่บนศีรษะตลอดถึงปลายเท้าเบื้องต่ำ เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายเท้าตลอดถึงศีรษะเบื้องบนให้เห็นเป็นของน่าเกลียด โสโครก โดยปกติของมัน ทั้งในกายตนและกายผู้อื่น ถ้ายังไม่ได้อสุภสัญญา และความสังเวชสลดใจปรากฏเป็นของปฏิกูลต้องเพิ่มพูนพิจารณาโดยอาการทั้ง ๕ คือ โดยสี โดยสัณฐาน โดยรูปร่างโดยกลิ่น โดยที่เกิด โดยที่อยู่ของอาการเหล่านั้นก็จะปรากฎเห็นว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นั้นมีสีก็ไม่งาม มีสัณฐานก็ไม่น่ารัก มีกลิ่นก็เหม็น มีที่เกิดที่อยู่ล้วนแต่เป็นที่โสโครกเต็มไปด้วยบุพโพโลหิต เขาจึงต้องตกแต่งทะนุบำรุงเป็นนิตย์ ถ้าทอดทิ้งไว้สักเวลาไม่ได้บริหาร ก็จะแสดงอาการความปฏิกูลให้ปรากฏ เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ความเห็นปฏิกูลย่อมจะปรากฏในขณะนั้นจิตก็พ้นจากอาสวะกิเลส เป็นอันได้บรรลุถึงธรรมวิเศษคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมชาติดับเพลิงกิเลส และกองทุกข์อันเป็นผลที่สุดในพระพุทธศาสนาเหตุฉะนั้น (ตัวท่าน) จงตั้งใจมุ่งต่อพระนฤพาน ดังเช่นว่ามาแล้ว ขอบรรพชาอุปสมบทต่อไป ฯ
บัดนี้ จะมอบผ้ากาสายะให้เพื่อสำเร็จส่วนเบื้องต้นแห่งการบรรพชาตามพระพุทธานุญาต ฯ
แบบสอนนาคที่ ๒
บัดนี้ (ตัวเจ้า) มีศรัทธาน้อมนำผ้ากาสาวพัสตร์ เย็บย้อมด้วยน้ำฝาดถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตแล้ว มามอบให้ในท่ามกลางสงฆ์ เปล่งอุทานวาจาขอบรรพชาอุปสมบทบวชในพระพุทธศาสนาเช่นนี้เป็นความดีความชอบของ (เจ้า) แล้ว ก็การบรรพชานี้เบื้องต้นต้องปลูกศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสของตนให้แน่วแน่ดิ่งไปในคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ก่อน เพราะพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนา และทรงอนุญาตการบรรพชาอุปสมบทนี้ เบื้องต้นที่จะปลูกศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสนั้นต้องศึกษาให้รู้จักว่า พระพุทธเจ้ามีคุณความดีอย่างไรก่อน ?
พระพุทธเจ้านั้นมีคุณความดี คือมีปัญญา ปรีชาฉลาดรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นทั้งคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ตลอดถึงอริยสัจ ๔ ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์สั่งสอน ส่วนนี้เป็นพระปัญญาคุณ ทรงละสิ่งที่เป็นโทษคืออาสวะกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้หมด กับทั้งวาสนาคือกิริยาวาจาที่กิเลสอบรมมานาน ทรงบริบูรณ์ด้วยความดีที่เป็นคุณธรรมโดยอเนกประการส่วนนี้เป็นพระบริสุทธิคุณ มีพระบวรสันดานเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาในหมู่สัตว์ ซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้สัตว์ได้ฟังแล้วปฏิบัติตาม ดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์เสียได้ มิได้ทรงเห็นแก่ความลำบากทุกข์ยากเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ ส่วนนี้เป็นมหากรุณาคุณ ฯ
ท่านผู้ดำรงอยู่ในพระคุณทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า พระพุทธเจ้า แปลว่า ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบ
เมื่อพระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบเช่นนี้แล้ว ทรงเอ็นดูกรุณาในหมู่สัตว์ จึงได้ทรงแสดงธรรมแนะนำสั่งสอน ฯ คำสั่งสอนของพระองค์นั้นเรียกว่าพระธรรมเพราะเป็นสภาพที่ทรงผู้ปฏิบัติไว้ให้เป็นคนดีไม่ให้เป็นคนชั่ว และให้ตั้งอยู่ในที่ดีมิให้ตกไปในที่ชั่ว มีทุคติอบายเป็นต้น ฯ หมู่ชนที่ได้สดับฟังธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ตั้งใจปฏิบัติชอบตามพระ ธรรม เรียกว่าพระสงฆ์เพราะเป็นหมู่เป็นพวกที่จะประพฤติเสมอเหมือนกัน ด้วยศีลและทิฐิ"
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง ๓ รัตนะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ผู้จะมาขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อปลูกศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสของตนให้แน่วแน่ดิ่งลงในพระคุณทั้ง ๓ เช่นนี้แล้ว จึงสมควรได้รับบรรพชาอุปสมบทต่อไป ฯ
จงตั้งใจเรียนพระกรรมฐาน ตามแบบโบราณาจารย์แต่ปางก่อน ที่ได้สอนกันสืบๆ มาเป็นอุบายสำหรับจะทำสมาธิให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่ตั้งของปัญญาต่อไป จงศึกษาตามไปโดยบทบาลีดังนี้ก่อน "เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ" นี้เรียกว่าอนุโลม คือ ว่าไปตามลำดับแล้วถอยถลับเข้ามาเป็นปฏิโลม “ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกศา" สิ่งทั้ง ๕ นี้เป็นมูลกรรมฐาน หรือกรรมฐานเดิมเรียก ตจปญฺจกกมฺมฏฺฐาน แปลว่า กรรมฐานมีหนังเป็นที่ ๕ จงศึกษาให้ได้เนื้อความดังนี้ เกสา ผม, โลมา ขน, นขา เล็บ, ทนตา ฟัน ตโจ หนัง, พิจารณาสิ่งทั้ง ๕ นี้ให้เห็นเป็นของปฏิกูลพึงเกลียด ทั้งในกายตนและกายผู้อื่น เมื่อพิจารณาเช่นนี้ จิตก็จะเกิดความสลดสังเวชหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส เป็นอันได้บรรลุถึงธรรมวิเศษ คือพระนิพพาน ฯ