องค์สมบัติของพระอุปัชฌายะ ๕ อย่าง
ภิกษุผู้จะเป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบท เป็นอาจารย์ให้นิสัยต้องประกอบด้วยองค์สมบัติ ๕ ประการ (๓ องค์เหมือนข้างต้น) คือ
๑. เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีวิริยะ มีสติ ฯ
๒. เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอาจาระ ความเห็นชอบ เคยได้ยินได้ฟังมากมีปัญญา ฯ
๓. รู้จักอาบัติ มิใช่อาบัติ อาบัติเบา อาบัติหนัก จำปาฏิโมกข์ได้แม่นยำ ฯ
๔. อาจพยาบาลเองหรือสั่งผู้อื่นให้พยาบาลสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกผู้อาพาธ อาจระงับเองหรือหาผู้อื่นให้ช่วยระงับความกระสันของสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก อาจบรรเทาเองหรือหาผู้อื่นให้ช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายอันเกิดขึ้นแก่สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก โดยทางธรรม รู้จักอาบัติ รู้จักวิธีออกจากอาบัติ ฯ
๕. อาจฝึกสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ในสิกขาบทเป็นส่วนอภิสมาจารคือมรรยาท อาจแนะนำสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก ในสิกขาบทเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ คือพระบัญญัติอันเป็นหลักแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ อาจแนะนำธรรมวินัยให้ยิ่งขึ้นไป และอาจเปลื้องทิฐิผิดล้องอันเกิดขึ้นแก่สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก โดยทางธรรม ฯ ทั้งมีพรรษาได้ ๑๐ หรือยิ่งกว่า องค์เหล่านี้แม้บกพร่องบางอย่างก็ได้ ที่ขาดไม่ได้คือกำหนดพรรษา ฯ
นอกจากนี้ โดยระเบียบบริหารคณะสงฆ์ พระอุปัชฌายะจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในสังฆาณัติ ระเบียบพระอุปัชฌายะพุทธศักราช ๒๔๘๗ มาตรา ๑๓ ดังนี้
(๑) มีตำแหน่งในทางปกครอง ชั้นรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป ฯ
(๒) มีพรรษาพ้น ๑๐ ฯ
(๓) ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรืออาพาธเป็นโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อน หรือวัณโรคในระยะอันตราย ฯ
(๔) ประวัติความประพฤติดี ฯ
(๕) เป็นที่นับถือของประชาชน ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ฯ
(๖) เป็นเปรียญ หรือนักธรรมชั้นเอก เว้นแต่ในบางท้องถิ่น ซึ่งเจ้าคณะพิจารณาเห็นสมควรผ่อนผัน ฯ
(๗) สามารถฝึกสอนนิสสิตให้เป็นภิกษุสามเณรที่ดีตามพระธรรมวินัย ฯ
(๘) มีความรู้ความสามารถทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระวินัย และระเบียบของคณะสงฆ์