เเสดงความเคารพพระพุทธเจ้าอย่างไร

วันที่ 13 พย. พ.ศ.2562

แสดงความเคารพพระพุทธเจ้าอย่างไร


               จากธรรมบรรยายที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มีอยู่มากมายสุดจะนับจะประมาณ   ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งมวลตลอดจนผู้มีปัญญาทั้งหลาย แม้มิได้เป็นพุทธศาสนิกชน นอกจากจะมีความเคารพ คือตระหนักในพระพุทธคุณเเล้วยังต้องรู้จักเเสดงความเคารพต่อพระพุทธองค์อย่างเหมาะสม ถูกต้องอีกด้วย 

 

                แต่โดยเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว การที่จะกล่าวถึงการแสดงความเคารพต่อพระพุทธองค์ ควรแบ่งออกเป็น ๒ สมัย คือ

ก) สมัยเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
ข) สมัยหลังพุทธปรินิพพาน

 

ก) การแสดงความเคารพสมัยเมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่
 

เรื่องเกี่ยวกับการแสดงความเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวไว้ในอรรถกถาสามคามสูตร เทวทหวรรค๑๗ เกี่ยวกับการแสดงความไม่เคารพในพระศาสดา เพราะฉะนั้นการแสดงความเคารพในพระศาสดา  ย่อมมีลักษณะตรงข้ามกับที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ และอาการที่แสดงความเคารพนั้น ประมวลได้ ๘ ประการ คือ


๑) ไปสู่ที่บำรุงทั้ง ๓ กาล คือ เวลาเช้า เวลาเพล และเวลาเย็น  หมายความว่า พระภิกษุที่มีความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า พึงไปสู่ที่ประทับของพระองค์ทุกวัน ตามเวลาดังกล่าว จุดมุ่งหมายของการไป คือ


• เพื่อน้อมรับใช้ในกิจธุระบางประการของพระองค์บ้าง
• เข้าไปทูลถามปัญหาธรรมบ้าง
• หรือมิฉะนั้นก็ทูลถามทุกข์สุขส่วนของพระองค์บ้าง


การไปสู่ที่บำรุงบ่อย ๆ เช่นนี้ ประโยชน์สำคัญที่จะเกิดกับภิกษุที่ไปเข้าเฝ้าอย่างน้อยที่สุดก็คือ

(๑) สามารถควบคุมทุกอิริยาบถทางกายและวาจา ให้อยู่ในลักษณะอ่อนน้อม อ่อนโยน ละมุนละไม ไม่เก้งก้าง กระโดกกระเดก ซึ่งจะส่งผลทำให้จิตใจของพระภิกษุนั้นอ่อนโยนละมุนละไมตามไปด้วย จิตใจยิ่งนุ่มนวลเพียงใด ก็ยิ่งจะทำให้มองเห็นคุณความดีของพระองค์ดียิ่งขึ้นเพียงนั้น

(๒) เมื่อควบคุมกาย วาจาได้มาก ย่อมมีผลให้ศีลของตนบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

(๓) ย่อมทำให้ใจนิ่งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถเจริญสมาธิได้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น  คือเพิ่มพูนความสว่างโพลงในจิตใจได้อย่างรวดเร็ว ความสว่างยิ่งมากขึ้น  ญาณทัสสนะก็เกิด

(๔) ปัญญาทางธรรมก็ตามมา นี่คือประโยชน์ของการไปสู่ที่บำรุงทั้ง ๓ กาล

 

๒) เมื่อพระศาสดาไม่ทรงฉลองพระบาท เสด็จจงกรมอยู่ภิกษุก็ต้องไม่สวมรองเท้าจงกรม
๓) เมื่อเสด็จจงกรมอยู่ในที่จงกรมต่ำ ภิกษุก็ต้องไม่จงกรมอยู่ในที่สูงกว่า
๔) เมื่อพระศาสดาประทับอยู่เบื้องต่ำ ภิกษุก็ต้องไม่อยู่ในที่สูง ที่แลเห็นพระศาสดา
๕) ไม่ห่มคลุมไหล่ทั้ง ๒ ข้าง ในที่ทอดพระเนตรเห็น
๖) ไม่กางร่มในที่ทอดพระเนตรเห็น
๗) ไม่สวมรองเท้าในที่ทอดพระเนตรเห็น
๘) ไม่ถ่ายอุจจาระ - ปัสสาวะ ในที่ทอดพระเนตรเห็น และ
ที่ท่าอาบน้ำ

 

"  การหมั่นไปสู่ที่ประทับของพระพุทธองค์
ทำให้สามารถควบคุมกาย วาจา ให้อ่อนน้อม
อ่อนโยน ส่งผลให้จิตใจนุ่มนวล ละมุนละไม
มองเห็นพระพุทธคุณได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เมื่อควบคุมกาย วาจาได้มาก ศีลย่อมบริสุทธิ์
ทำให้สมาธิก้าวหน้า
ปัญญาทางธรรมก็เกิดตามมา  "

 


ข) การแสดงความเคารพสมัยหลังพุทธปรินิพพาน
 

สำหรับการแสดงความเคารพในพระศาสดา ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ย่อมใช้ได้กับทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ คือ
๑) ไปไหว้พระเจดีย์ตามโอกาสอันควร
๒) ไปไหว้สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้แสดงธรรม ปรินิพพาน
๓) แสดงความเคารพพระพุทธรูปด้วยการกราบไหว้
๔) แสดงความเคารพพุทธาวาส
๕) ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์
๖) ไม่กางร่มในลานพระเจดีย์
๗) เวลาเดินไปใกล้พระเจดีย์พึงเงียบสงบ ไม่เดินพูดคุยกัน
๘) เข้าไปในเขตวัด (ภิกษุ) ต้องลดไหล่ หุบร่ม ถอดรองเท้า
๙) ไม่ทำอคารวะทุก ๆ อย่างที่ไม่สมควร
๑๐) กราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์
๑๑) เปล่งวาจาด้วยถ้อยคำที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ
๑๒) ตามระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง
๑๓) ปฏิบัติตามโอวาท ๓ (ส่วนหนึ่งแห่งโอวาทปาฏิโมกข์) เป็นนิจด้วยจิตใจเคารพจริง ๆ

 


ผลแห่งการเคารพหรือไม่เคารพในพระพุทธเจ้า


พระพุทธคุณที่ได้พรรณนามาแล้ว แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งพระพุทธคุณอันแท้จริง ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นแล้วว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระคุณประเสริฐสุดพรรณนา สมควรยิ่งนักที่เราท่านทั้งหลาย จะต้องมีความเคารพบูชาพระองค์ท่าน แน่นอนเมื่อเรามีความเคารพ คือ จับดี (จับจ้องมอง
หาความดี) หรือพากเพียรถ่ายทอดซึมซับคุณความดีของพระองค์มาสู่ตัวเรา เราก็จะสามารถพัฒนาตนเองตามเส้นทางของพระพุทธองค์

 

ซึ่งจะยังผลให้เรามีกุศลธรรมนำชีวิต ไปสู่ความสุข เเละความสำเร็จทั้งทางโลกและทางธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ ทั้งสองสิ่งนี้ จะยังไม่สิ้นสุดลงในชาตินี้เท่านั้น แต่ยังจะสามารถส่งผลข้ามภพข้ามชาติให้แก่เรา
ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่เรายังมีความเคารพในพระพุทธองค์อยู่

 

คุณของความเคารพในพระพุทธองค์


บรรดาท่านผู้อ่าน หรือพุทธศาสนิกชนผู้มีความเคารพในพระพุทธองค์ แล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติตน สั่งสมบุญบารมีตามแนวทางของพระพุทธองค์ ย่อมรู้ซึ้งใจดีว่า ตนเป็นผู้โชคดีอย่างมหาศาล ที่ได้เกิดมาในศาสนาของพระองค์ เนื่องจากได้เกิดมาพบการปฏิบัติอันเป็นสายกลาง หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ โดยไม่ต้องเสียเวลาศึกษาค้นคว้า วิจัย ลองผิดลองถูกชนิดเสี่ยงกับความตาย ค้นหาอริยมรรคมีองค์ ๘ ดังเช่นพระพุทธองค์ เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์


เพื่อให้เข้าใจง่าย อาจจะเปรียบเทียบพระพุทธองค์ว่าเป็นพระบิดาของพวกเรา ก็อาจจะเปรียบได้ว่าพระพุทธองค์นั้น เป็นเสมือนมหาเศรษฐี ซึ่งกว่าจะก่อร่างสร้างตัวไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในฐานะมหาเศรษฐีได้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคชนิดเลือดตากระเด็นหลายครั้งหลายครา

 

ส่วนพวกเราชาวพุทธนั้น เสมือนบรรดาลูกเศรษฐี ซึ่งในทันทีที่เกิดมาก็ได้ประสบความพร้อมนานาประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนทางอันประเสริฐ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ โดยไม่ต้องขวนขวายลงแรงให้เหนื่อยยากดังเช่นบิดาแต่ประการใด เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเคารพในพระพุทธองค์ เราก็มีโอกาสบรรลุหนทางอันเกษม เช่นเดียวกับพระองค์ มิวันใดก็วันหนึ่ง มิชาติใดก็ชาติหนึ่ง  นี่คือความโชคดีอย่างมหาศาลของพวกเราชาวพุทธทั้งหลาย

 

" ผู้ใดเคารพพระพุทธองค์ ย่อมมีกุศลธรรม
นำชีวิตไปสู่ความสุข ความสำเร็จ
ทั้งทางโลกและทางธรรม
และมีโอกาสบรรลุหนทางอันเกษม
เช่นเดียวกับพระองค์
ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘
ที่พระองค์เอาชีวิตเป็นเดิมพันค้นหามาให้  "

 

โทษของความไม่เคารพในพระพุทธองค์


หากเราเพิกเฉยไม่มีความเคารพในพระพุทธองค์ ไม่สนใจ ประพฤติปฏิบัติตนตามหนทางอันประเสริฐนั้น ก็คงจะเข้าทำนองบุตรของมหาเศรษฐีที่ไม่สนใจไยดีกับกิจการของบิดา ใช้ชีวิตอยู่กับความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ผลาญทรัพย์สมบัติของวงศ์ตระกูลด้วย  พฤติกรรมเสเพลต่าง ๆ นานา เสี่ยงกับคุกตะราง เสี่ยงกับนรกอเวจี
 

ดังที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมปัจจุบัน ถ้าเป็นเช่นนี้ นอกจากจะชื่อว่าขาดความเคารพบิดาเป็นบุตรอกตัญญูแล้ว ยังจะทำร้ายตนเอง  อย่างน่าสงสารยิ่งกว่าวานรได้แก้วหลายร้อยเท่า พวกเราชาวพุทธทั้งหลายที่ยังเพิกเฉยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระพุทธองค์นั้น ควรจะรีบเร่งพัฒนาปัญญาปลุกตัวเองให้ตื่นจากหลับเสียที

 

๑๗ ม.อุ.อ. สามคามสูตร เทวทหวรรค ๒๒/๙๗

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.10202465057373 Mins