การจัดกระบวนการเรียนรู้ การฝึกตัวผ่านวัจจกุฎีวัตร

วันที่ 06 ธค. พ.ศ.2562

การจัดกระบวนการเรียนรู้ การฝึกตัวผ่านวัจจกุฎีวัตร

พระสูตรแม่บทที่ใช้เป็นหลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ ปัญญาวุฑฒิสูตร ซึ่งมี ๔ ขั้นตอน ดังนี้
๑. คบสัตบุรุษ
๒. ฟ้งพระสัทธรรม
๓. ตรองธรรมโดยแยบคาย
๔. ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม


ขั้นตอนที่ ๑ คบสัตบุรุษ

วัตถุประสงค์ : เพื่อให้พระนวกะเห็นต้นแบบที่เป็นมาตรฐานการ-ฝึกตัวผ่านวัจจกุฎีวัตร  จะได้เกิดศรัทธาปสาทะ มีแรงบันดาลใจฝึกตนสมเป็นบรรพชิต

วิธีปฏิบัติ

๑.๑ พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ประพฤติวัจจกุฎีวัตรถูกต้องตามพระวินัย ให้พระนวกะเห็นเป็นแบบอย่างการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

๑.๒ สถานที่ บริเวณ ห้องสุขา สะอาดและแห้งตลอดเวลา จนยกใจพระนวกะให้เลื่อมใส ศรัทธาต่อสถานที่ พระอาจารย์และพระพี่เลี้ยง

๑.๓ พระอาจารย์-พระพี่เลี้ยง มีเมตตาจิต โดยพูดถ้อยคำไพเราะ สละสลวยไม่หยาบคาย ไม่แสลงใจ ประกอบด้วยเหตุผลตามหลัก กฎแห่งกรรม มรรคมีองค์แปด ฆราวาสธรรม ฯลฯ ให้ยกเรื่องจริง เรื่องคุณความดี เรื่องที่พระอาจารย์-พระพี่เลี้ยงฝึกตัวแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันจนทำได้สำเร็จ พระนวกะจึงจะมีแรงบันดาลใจฝึกฝนอบรมตนตามวัตรให้ถูกต้องตรงตามพระวินัย ทั้งนี้ให้ปฏิบ้ติตามลีลาการสอนของพระพุทธเจ้า ดังนี้

๑.๓.๑ ชี้แจงให้พระนวกะเห็นชัด : สนฺทสฺสกา
•    ความรู้พื้นฐานเรื่องพระวินัย
•    ความสำคัญของการประพฤติวัตรในมิติ การเข้าถึงธรรม กฎแห่งกรรม มรรคมีองค์ ๘ ฆราวาสธรรม เป็นต้น

๑.๓.๒ ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ : สมาทปกา

๑.๓.๓ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้าในการปฏิบัติ : สมุตฺเตชกา

๑.๓.๔ ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง : สมฺปหํสกา

 

ขั้นตอนที่ ๒ ฟ้งพระสัทธรรม

วัตถุประสงค์ : เพื่อให้รู้ชัดวัจจกุฏีวัตร รู้ชัดขั้นตอน รู้ชัดวิธีการใช้ห้องสุขาและรู้ชัดเหตุผลแต่ละขั้นตอน

วิธีปฏิบัติ

๒.๑ พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยงและพระนวกะ อ่านเนื้อหาหน่วยฝึกวัจจกุฎีวัตรพร้อมกัน ดังต่อไปนี้

๑) วัจจกุฎีวัตร : วิเคราะห์และขยายความ
๒) ความประพฤติการใช้ห้องสุขาของพระภิกษุ
๓) ระดับความประพฤติการใช้ห้องสุขา ของพระกำลังฝึกตัว พระตั้งใจฝึกตัว และพระต้นแบบ 
๔) บทฝึกวัจจกุฎีวัตร

เมื่ออ่านแล้ว อธิบาย ซักถาม โดยให้พระนวกะเล่า บอก อธิบายว่า เข้าใจอย่างไร ทำไมจึงเข้าใจเช่นนั้นจะนำไปปฏิบัติอย่างไร

๒.๒ พระพี่เลี้ยง บอก อธิบายวัตถุประสงค์การฝึกวัจจกุฎีวัตร ชี้ คุณ-โทษ การปฏิบัติ-ไม่ปฏิบัติวัจจกุฎีวัตร ๒๕ ข้อตามมาตรฐานพระธรรมวินัยเปิดโอกาสให้ซักถามเหตุผลและให้พระนวกะนำมาทดลองปฏิบัติแบบที่ถูกและผิดเพื่อให้เห็นคุณ-โทษและเป็นส่วนสนับสนุนศีล ๒๒๗ ข้อ ให้มีความบริสุทธิ์ ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้ช่วยกันบอกสิ่งที่ปฏิบัติ ๒๕ ข้อ ว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว โดยอธิบายเชื่อมโยงถึงหลักธรรม เช่น อริยมรรคมีองค์ ๘ กฎแห่งกรรม ฆราวาสธรรม สัมมาทิฎฐิ ตัวอย่างเช่น ทานมีผล คือการเอื้อเฟื้อแบ่งปันสิ่งที่ ควรให้เป็นกรรมดีมีผลจริง คือ มีผลชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อๆไป สิ่งที่ควรให้ได้แก่ ให้สิ่งของ ให้ความสะอาด ให้ความมีระเบียบ ให้ความปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุ ไม่เกิดการติดและการแพร่ระบาดเชื้อโรค ทำให้สบายกาย สบายใจ อารมณ์ดี

๑) เพราะความแข็งแรงของกายมนุษย์เป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่งของนักสร้างบารมี 

๒) เพราะความสกปรกทำให้เกิดการติดเชื้อโรคถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

๓) เพราะความสะอาด ความเป็นระเบียบ และการมีสุขภาพดี ทำให้การสร้างบารมีเป็นไปอย่างมีความสุข

๔) เพราะความสะอาด ความมีระเบียบ ทำให้ใจสบาย ปลอดกังวล ไม่มีสิ่งใดที่จะตำหนิตนเอง ไม่มีอะไรผุดมาติดค้างในใจ ไม่มีอะไรหน่วงใจ ส่งผลให้ใจนุ่มนวล ใจจึงเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ทำให้ใจหยุดนิ่ง


๒.๓ พระพี่เลี้ยงบอก กล่าว เล่า อธิบายคำสอนของ มหาปูชนียาจารย์ และครูบาอาจารย์ คือหลวงพ่อธัมมชโย หลวงพ่อทัตตชีโว เกี่ยวกับความหมาย อานิสงส์ความสะอาด ความมีระเบียบ ศึกษากรณีศึกษา

 

ขั้นตอนที่ ๓ ตรองธรรมโดยแยบคาย

วัตถุประสงค์ : เพื่อฝึกคิดพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุหาผลโดยใช้หลักธรรมจนรู้ชัด ด้วยใจตนเอง

วิธีปฏิบัติ

๓.๑ ประชุมกลุ่มเพื่อให้ได้คิดพิจารณาเหตุผลตามที่ระบุในบทฝึกโดยฝึกคิดสืบสาวเหตุไปหาผล เห็นผลที่เกิดก็ตรองไปจนถึงต้นเหตุ เป็นการคิดรู้เหตุรู้ผลด้วยโยนิโสมนสิการ

๓.๒ เปิดโอกาสให้พระนวกะซักถามจนเข้าใจ

๓.๓ พิจารณาข้อควรระวัง
•    อุบัติเหตุทางใจ วัจจกุฎีวัตรไม่ใช่งานของคนรับใช้ เป็นงานการฝึก กาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อเข้าถึงธรรม
•    อุบัติเหตุทางกาย ระวังติดเชื้อจากความสกปรกของวัจจกุฎี

 


ขั้นตอนที่ ๔ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

วัตถุประสงค์ : เพื่อปฏิบัติวัจจกุฎีวัตรด้วยตนเอง จนมีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ มีสติสัมปชัญญะ มีความช่างสังเกตพิจารณา และมีความสำรวม กาย-วาจา-อาชีพ-ใจ

วิธีปฏิบัติ

๔.๑ ปฏิบัติวัจจกุฎีวัตร โดยเน้น ๖ ข้อก่อน (ข้อ ๙, ๑๐, ๑๓, ๑๖, ๑๙, ๒๓) อย่างมี 
๑) สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ 
๒) มีสติสัมปชัญญะ 
๓) สังเกต พิจารณา 
๔) สำรวมกาย วาจา อาชีพ ใจ อีกทั้ง 
๕) รู้เหตุผลการปฏิบัติ

๔.๒ เมื่อปฏิบัติแล้วให้มาประชุมแบ่งปันประสบการณ์กับพระอาจารย์ และพระพี่เลี้ยง พร้อมกับประเมินตัวเองว่า ทำได้ตามมาตรฐานพระธรรมวินัยหรือไม่ โดยเทียบกับเกณฑ์ระดับความประพฤติการใช้ห้องสุขาของพระภิกษุ เพื่อให้รู้จักสังเกต จับอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ของตนเองขณะปฏิบัติ

๔.๓ เพิ่มระดับการปฏิบัติวัจจกุฎีวัตรจาก พระกำลังฝึกตัว เป็นพระตั้งใจฝึกตัว เป็นพระต้นแบบ ฝึกปฏิบ้ติตามระดับความประพฤติการใช้ห้องสุขาของพระภิกษุ จากนั้นทบทวนและประเมินตัวเองว่าทำได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ และกราบเรียนถามพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงถึงแนวทางการปฏิบัติให้สำรวมระวังยิ่งๆขึ้นไป
 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาหลวงพ่อทัตตชีโว

จากหนังสือ ล้างก้น ล้างใจ ไปนิพพาน ฉบับเเก้ไข

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.044033833344777 Mins