ดิถีเพ็ญแห่งมาฆมาส

วันที่ 03 มีค. พ.ศ.2547

ดิถีเพ็ญแห่งมาฆมาส

.....วันมาฆบูชา เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนแสดงความเคารพต่อพระธรรม มาฆะเป็นชื่อของเดือน ๓ มาฆบูชาย่อมาจากคำว่า "มาฆปูรณมี" แปลว่าการบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๓ ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เหตุที่เกิดวันมาฆบูชาขึ้นเนื่องจาก เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ ในตอนต้นพุทธกาล ถึงวันมาฆปูรณมี ดิถีเพ็ญแห่งมาฆมาส พระสงฆ์ที่ไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่เมือง ราชคฤห์ พระองค์จึงประทานโอวาทปาติโมกข์ การประชุมครั้งนี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมพร้อมกัน ๔ ประการ อันได้แก่

.....๑. พระสาวกที่เข้าประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการอุปสมบทจาก พระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

.....๒. พระอรหันต์สาวกที่เข้ามาร่วมประชุมที่เวฬุวนารามมีจำนวนถึง ๑,๒๕๐ รูป

.....๓. พระอรหันต์สาวกทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อนเลย

.....๔. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์เต็มบริบูรณ์

 

 

          สาวกสันนิบาตในแต่ละพุทธกาล

.....วันมหาสมาคมของเหล่าพระอรหันต์ โดยมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นองค์ประธานนั้น ในอดีตมีนับครั้งไม่ถ้วน เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน เสด็จอุบัติแต่ละครั้งก็มีเหล่าเวไนยสัตว์ตรัสรู้ธรรมตามมากมายนับไม่ถ้วน ขอยกพอเป็นสังเขปดังนี้ ยุคของ “พระปทุมุตตรพุทธเจ้า” มีสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เป็นการประชุมสาวกแสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ เก้าหมื่นโกฏิ ครั้งที่ ๓ แปดหมื่นโกฏิ

.....การประชุมสาวกของ “พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร” มี ๓ ครั้ง พระองค์มีพระชนมายุแสนปี สูง ๘๐ ศอก ครั้งแรกประชุมเทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ มีเหล่าอรหันตสาวกมาประชุมกันร้อยโกฏิ ครั้งที่ ๓ มีพระอรหันต์ประชุมกันเก้าหมื่นโกฏิ

.....พระศาสดาพระนามว่า “สุมนะ” เสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์ก็มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง ในการประชุมครั้งแรก มีภิกษุแสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ มีภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ ครั้งที่ ๓ มีภิกษุแปดหมื่นโกฏิ

.....พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า “มังคละ” ได้มีการประชุมสาวก ๓ ครั้ง ในการประชุมครั้งแรกมีภิกษุแสนโกฏิ ครั้งที่ ๒ แสนโกฏิ ครั้งที่ ๓ เก้าสิบโกฏิ

.....ดังนั้น เราทั้งหลายควรทำจิตให้เลื่อมใสต่อเหตุการณ์อันเกิดขึ้นได้อยากในแต่ละยุคแต่ละสมัย ให้มีจิตซาบซึ้งต่อพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ที่ทรงบากบั่นฝึกฝนอบรมบ่มบารมีจนแก่รอบเต็มเปี่ยม เพื่อหวังยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่ฝั่งพระนิพพานแดนเกษม

 

          คำถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันมาฆบูชา 

.....ในโอกาสนี้ จึงได้นำคำกล่าวถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันมาฆบูชา เพื่อให้สาธุชนทั้งหลายใช้กล่าวบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนี้

.....“ดิถีเพ็ญฤกษ์มาฆะนี้ ถึงพร้อมวันนี้แล้ว ในดิถีเพ็ญ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ขึ้น ในที่ประชุมสาวก พร้อมองค์สี่ประการ พระภิกษุซึ่งประชุมนั้น ๑๒๕๐ รูป ล้วนแต่ขีณาสพอรหันต์ อุปสมบทด้วย เอหิภิขุอุปสัมปทา ไม่มีผู้ใดเรียก มายังสำนักพระผู้มีพระภาค ณ อารามเวฬุวัน เวลาตะวันบ่าย ณ ดิถีมาฆปุณณมีนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมนั้น การประชุมใหญ่ของพระสาวก ๑,๒๕๐ รูป ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ครั้งนี้มีเพียงครั้งเดียวเท่านี้ ข้าพเจ้าทั้งหลาย มาถึงมาฆปุณณมีนี้ คล้ายวันสาวกสันนิบาตนั้นแล้ว ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานนานแล้ว ขอบูชาพระผู้มีพระภาค กับสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูปนั้น ด้วยสักการะ มีเทียนธูปดอกไม้เหล่านี้ ณ เจดียสถาน คือ พระสถูปและพระพุทธรูป ซึ่งเป็นพยานของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ขอสมเด็จพระผู้มีพระเจ้ากับพระสงฆ์สาวก แม้ปรินิพพานนานด้วยดีแล้ว ยังดำรงอยู่ด้วยพระคุณทั้งหลาย จงทรงรับเครื่องสักการะ บรรณาการของคนยากเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์เพื่อความสุข เพื่อมรรคผลนิพพาน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ” (ที่มา: วิจิตร สมบัติบริบูรณ์, คู่มือประทักษิณ, ๒๕๒๐)

 

          มาฆบูชาในประเทศไทย

.....พิธีวันมาฆบูชานี้ เดิมทีเดียวในประเทศไทยไม่เคยทำมาก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายไว้ว่าเกิดขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยทรงถือตามแบบของโบราณราชบัณฑิตได้ประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและ เหล่าพระอรหันต์สาวกทั้งหลายให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส

.....“การประกอบพิธีมาฆะบูชา ได้เริ่มในพระบรมมหาราชวังก่อนในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า พระสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารและวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำ เสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมี สวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ ๑ กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลีและภาษาไทย เครื่องกัณฑ์ มีจีวรเนื้อดี ๑ ผืน เงิน ๓ ตำลึง และขนมต่าง ๆ เทศนาจบพระสงฆ์ ซึ่งสวดมนต์ ๓๐ รูป สวดรับสัพพีเป็นเสร็จการ”

.....ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จออกประกอบพิธีมาฆบูชาด้วยพระองค์เองทุกปีมิได้ขาด สมัยต่อมามีการเว้นบ้างเช่น รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกเองบ้าง มิได้เสด็จออกเองบ้างเพราะมักเป็นเวลาที่ประสบกับเวลาเสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ หากถูกคราวเสด็จไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงประกอบพิธีมาฆบูชา ในสถานที่นั้น ๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาก็ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบสืบมาจนปัจจุบันมีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ (ที่มา: พระราชพิธีสิบสองเดือน)

.....สำหรับในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๔๗ พลตำรวจโท อุดม เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชน ทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ละเว้นอบายมุขทั้งปวง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ พุทธมณฑล เวลา ๗.๓๐ น. การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๓๐๐ รูป เวลา ๑๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ประกอบพิธีเวียนเทียน เวลา ๑๗.๓๐ น. การแสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์ ปิดงานเวลา ๒๒.๓๐ น. ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม รหัสไปรษณีย์ ๗๓๑๗๐ โทร.๐ ๒๔๔๑ ๙๐๐๙,๐ ๒๔๔๑ ๙๐๑๒-๓

 

วุฑฒิวงศ์

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014460166295369 Mins