ระเบียบลาสิกขา

วันที่ 15 มค. พ.ศ.2563

ระเบียบลาสิกขา

ระเบียบลาสิกขา

       การลาสิกขา ตามประเพณีโบราณถือว่าเป็นกิจสำคัญ ภิกษุผู้จะลาสิกขาจะต้องหาฤกษ์งามยามดี เมื่อหาฤกษ์ดีได้แล้ว ก่อนจะถึงเวลากำหนด ท่านแนะให้ปฏิบัติโดยสังเขปดังต่อไปนี้
       ๑. ขอขมาเสมา เครื่องสักการะมีกรวย ๑ กรวย เทียน ๑ เล่ม ธูป ๓ ดอก หมากซีก พลู ๑ จีบ และดอกไม้
       ๒. บูชาและขอขมาพระประธาน เครื่องสักการะมี ดอกไม้, ธูป,เทียน, หมากลูกพลูซอง บูชาแล้วอุทิศแก่พระสงฆ์
       ๓. ขอขมาพระสงฆ์ ครู อุปัชฌายะอาจารย์ เครื่องสักการะมี ดอกไม้, ธูป, เทียน, หมาก, พลู
       ๔. เมื่อถึงวันกำหนด ให้หาดอกไม้, ธูป, เทียน, หมาก, พลู ไปถวายสักการะพระเถระผู้ให้ลาสิกขา และควรนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นองค์พยานด้วย เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งประชุมพร้อมกันแล้ว ภิกษุผู้จะลาสิกขาพึงแสดงอาบัติเสียให้บริสุทธิ์แล้ว เข้าไปหาพระมหาเถระ นั่งกระโหย่งหันหน้าตรงเฉพาะต่อพระประธาน กราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ หน ลุกขึ้นยืนประนมมือกล่าวคำขอขมาว่า "อุกาส วนฺทามิ ภนฺเต ฯลฯ" เสร็จแล้วนั่งประนมมือว่านโม ๓ จบแล้วว่าอดีตปัจจเวกขณ์ทั้ง ๔ บท พอให้สงฆ์ได้ยิน เมื่อจบลงแล้วกราบลงอีก ๓ หน ต่อจากเมื่อได้เวลาฤกษ์แล้ว พึงตั้งสติสำรวมใจให้แน่วแน่ดิ่งลง พร้อมด้วยกล่าวคำปฏิญาณที่จะละเพศออกเป็นคฤหัสถ์ ทั้งบาลีทั้งแปลคราวละรูปว่า "สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ" "ข้าพเจ้าขอลาสิกขา" "คิหีติ มํ ธาเรถ" "ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์" ๓ หนฯ ในลำดับนี้พระเถระท่านจะถามถึงเจตนาในการกล่าวปฏิญาณนั้น เมื่อตอบตรงกันแล้ว ท่านจะจับผ้าสังฆาฏิ ปลดออกจากบ่าในขณะเมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์เริ่มสวดชัยมงคลคาถาว่า "ชยนฺโต" ๑ หรือ ๓ จบก็ได้ แล้วแต่กาลเทศะ "ภวตุ สพฺพมงฺคลํฯ" ต่อท้าย
       (ขณะกาลเวลาที่จะสวดชัยมงคลนี้ ยังลักลั่นกันอยู่ พระเถระบางท่านให้สวดในขณะเมื่อปลดผ้าสังฆาฏิ บางท่านให้สวดในขณะเมื่อหลั่งน้ำพระพุทธมนต์สุดแล้วแต่ท่านเมธีจะเห็นควรอย่างไรเถิด ผู้เขียนเห็นว่าควรทั้ง ๒ แต่ขณะเมื่อปลดผ้าสังฆาฏินั้น เวลาปฐมฤกษ์ และเป็นหัวต่ออันสำคัญในขณะที่จะละเพศออกเป็นคฤหัสถ์ฯ)
       เมื่อพระสงฆ์สวดจบแล้ว ผู้ลาสิกขากราบลง ๓ หน ออกไปผลัดผ้าขาวนุ่งโจงกระเบน (การผลัดผ้าท่านให้เอาผ้าขาวสอดเข้าในผ้าเหลือง) ห่มผ้าขาวเฉียงบ่าเข้าไปหาพระเถระ กราบลง ๓ หน ยกบาตรน้ำมนต์ออกไปนั่ง ณ ที่ซึ่งเตรียมไว้อาบน้ำมนต์ นั่งผินหน้าไปทางทิศศรีในวันนั้นพระเถระท่านจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ให้ เสร็จแล้วพึงผลัดผ้าขาวที่อาบน้ำมนต์นั้นเสีย นุ่งผ้าสำหรับคฤหัสถ์เข้ามากราบพระเถระอีก ๓ หน นั่งคุกเข่าประนมมือเปล่งวาจาขอไตรสรณคมน์และศีล เพื่อแสดงตนเป็นอุบาสก ถ้ามากคนให้ว่าพร้อมกัน
       "มยํ ภนฺเต ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม" ๓ หน พระเถระให้ศีลตามความต้องการของผู้อาราธนาจบแล้ว อุบาสกใหม่พึงกราบลงอีก ๓ หน ฯ
       ต่อจากนี้ อุบาสกใหม่บางคนที่มีกำลังศรัทธาก็ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ บางคนก็อังคาสด้วยอาหารบิณฑบาต แล้วแต่กำลังศรัทธาและโอกาส เมื่อการอังคาสเสร็จแล้ว พระสงฆ์ผู้เถระอนุโมทนา "ยถาฯ สพฺพีฯ" อุบาสกคนเดียวใช้ "โส อตฺถลทฺโธฯ" อุบาสกหลายคนใช้ "เต อตฺถลทฺธาฯ" ต่อท้าย "ภวตุ สพฺพมงฺคลํฯ" เมื่อพระเถระเริ่มว่า "ยถาฯ" อุบาสกใหม่พึงกรวดน้ำรินลงในภาชนะ เสร็จแล้วประนมมือฟังจนจบ เมื่อจบแล้วพึงคุกเข่ากราบลงอีก ๓ หน เป็นเสร็จวิธีลาสิกขาเพียงเท่านี้ ฯ
       ถ้าสามเณรจะลาสิกขา ให้กล่าวคำปฏิญาณว่า "สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ" "ข้าพเจ้าลาสิกขา" ๓ หนๆ เพียงเท่านี้เป็นเสร็จพิธี นอกนั้นอนุโลมตามวิธีของภิกษุ ฯ

สัปดาห์พิธีมงคล ๗ ครั้งที่ควรทำแก่ทารกทาริกา

ของเจ้าคุณภัทรมุนี        วัดทองนพคุณ
๑. กณฺณวิชฺฌมงคล       ในคราวเจาะหู
๒. ปริโภคมงคล            ในคราวป้อนข้าว
๓. นามคหณมงคล        ในคราวตั้งชื่อ
๔. อลงฺการมงคล          ในคราวประดับเครื่องประดับ เช่น สวมกำไล
๕. ทุสฺสนิวาสนมงคล     ในคราวหัดให้นุ่งผ้า
๖. นหาติฏฺฐมงคล         ในคราวลงท่าอาบน้ำ
๗. จุฬากมฺมมงคล        ในคราวโกนจุก ๆ

       จุฬากมฺมมงคล เป็นคราวสำคัญต้องมีเครื่องทวาทสมงคล ๑๒ ประการ คือไตรพิธมงคล ๓ อัษฎาพิธมงคล ๘ มุขวาทะมงคล ๑ ฯ

ไตรพิธมงคล ๓ ประการ คือ

๑. พระพุทธรัตนมงคล   พระพุทธรูปประงับสรรพทุกข์
๒. พระธรรมรัตนมงคล   พระพุทธมนต์ขจัดสรรพภัย
๓. พระสงฆ์รัตนมงคล    พระสงฆ์บำบัดสรรพโรค ฯ

อัษฎาพิธมงคล ๘ ประการ คือ

๑. สิริปตฺตมงคล                 บายศรี, แว่นเวียนเทียนสิริวัฒนะ
๒. กรณฺฑกุมฺภมงคล           น้ำเต้า, หม้อน้ำ โภควัฒนะ
๓. สงฺขมงคล                     สังข์ ทีฆายุวัฒนะ
๔. โสวณณรชฏาทิมงคล     เงินทอง แก้ว แหวน สิเนหวัฒนะ
๕. วชิรจกฺกาวุธมงคล          จักรเครื่องอาวุธอิทธิเดชวัฒนะ
๖. วชิรคทามงคล               กระบองเพชร ภูตปิศาจ ปฏิพาหนะ
๗. องฺกุสมงคล                  ขอช้าง, ตาข่ายช้าง อุปัทวันตราย นิวรรณะ
๘. ฉตฺตธชมงคล               ฉัตร, ธงชัย กิตติวัฒนะ ฯ

มุขวาทมงคล ๑ ประการ
๑. มุขวาทมงคล เวียนเทียนทำขวัญให้ศีลให้พร เป็นเครื่องให้เจริญสวัสดิมงคลทุกประการ ฯ

เครื่องสระศีรษะ
       (คือสำหรับใส่ในบาตรทำน้ำมนต์)
       ผิวมะกรูด, ฝักส้มป่อย, ใบมะตูม, ใบสันพร้าหอม, ใบเงิน, ใบทอง, ในนาก, หญ้าแพรก, แฝก, คา (แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้ หรือได้ครบมงคล ๘ ก็ยิ่งดี) ฯ
       ขมิ้น, ดินสอพอง สำหรับเจิมหรือทา ฯ
       ใบพุทธรักษาสำหรับปิดปากหม้อน้ำมนต์โกนจุก ๆ

เครื่องบูชายิ่ง
       อย่างประเพณีโบราณ ๕ อย่าง
       ๑ ดอกหญ้าแพรก ๒ ข้าวสารอันบริสุทธิ์ ๓ เมล็ดพรรณผักกาด ๔ ดอกมะลิ ๕ ข้าวตอก

เครื่องไทยธรรมถวายพระสงฆ์
       ตามคติโบราณมักนิยมกันว่า ต้องประกอบด้วยจตุปัจจัย ๔
       ๑. อายุ ได้แก่        โอสถบำบัดโรค
       ๒. วรรณะ ได้แก่    ผ้า (ไตรจีวร)
       ๓. สุขะ ได้แก่       บริการ เช่น เสื้อ, หมอน, มุ้ง, ร่ม, รองเท้า, คนโทน้ำ, กาต้มน้ำ, ถ้วยน้ำ เป็นต้น
       ๔. พละ ได้แก่      อาหาร เครื่องบริโภค ฯ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.051808432737986 Mins