เราจะเห็น “โลกุตตรธรรม” ได้อย่างไร
ในพระพุทธศาสนาแบ่งความรู้ความเข้าใจ หรือเรียกว่าปัญญา ออกเป็น ๓ ระดับ คือ
๑. สุตมยปัญญา หมายถึง ปัญญาอันเกิดจากการศึกษาค้นคว้า การรับฟังข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วเก็บเป็นข้อมูลสะสมไว้ ใครที่มีข้อมูลมาก ก็ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากหรืออาจจะเรียกว่า มีปัญญามากก็ไม่ผิด
๒. จินตามยปัญญา หมายถึง ปัญญาอันเกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผล ดังที่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า วิสัยแห่งตรรกะ
๓. ภาวนามยปัญญา หมายถึง ปัญญาอันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนา จนกระทั่งใจรวมเป็นหนึ่งนิ่งสนิทอยู่ ณ ที่ตั้งถาวรของใจในกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมากตาม
ที่ต้องการ ก่อให้เกิดพลังและความสว่างโพลงราวตะวันเที่ยงหลายร้อยดวงมาประชุมรวมกัน ณ ที่ตั้งของใจตรงศูนย์กลางกาย ความสว่างโพลง (อาโลกะ) นี้เองที่เอื้อให้ผู้เจริญภาวนาเห็นแจ้งรู้ แจ้งในสัจธรรมต่าง ๆ ละเอียดลึกซึ้ง ไปตามลำดับแห่งปรมาณความสว่างในใจของตน ความเห็นแจ้งรู้แจ้งนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า ญาณทัสสนะ
ผู้บำเพ็ญภาวนาที่มีประสบการณ์สูง มีทักษะมาก ความสว่างโพลงของดวงจิตก็ทับทวีมากขึ้น อันเป็นเหตุให้มีญาณทัสสนะกว้างไกล ละเอียด ประณีตยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อถามว่า เราจะเห็นโลกุตตรธรรมได้อย่างไร คำตอบก็คือ เห็นได้ด้วยญาณทัสสนะ อันเกิดจากการเจริญสมาธิภาวนานั่นเอง๑
ผู้บำเพ็ญภาวนาที่มีญาณทัสสนะสามารถเห็นแจ้งรู้แจ้งความจริงตามธรรมชาติแล้ว ย่อมเกิดปัญญาเข้าใจโดยไม่ต้องคิดหาเหตุผลจึงเกิดความเชื่อมั่นอย่างสนิทใจ ไร้ข้อกังขา เฉกเช่นผู้ที่เห็นดวงอาทิตย์ก็รู้ว่าเป็นดวงอาทิตย์ ไม่สงสัยว่าจะเป็นดวงจันทร์ หรือดวงดาว แล้วพยายามปรับปรุงตนให้ประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอยู่เป็นนิจ
เช่น ผู้มีญาณทัสสนะที่ได้เห็นได้รู้ว่า นรก สวรรค์นั้นมีอยู่จริง ได้เห็นว่า สัตว์ที่ต้องรับโทษทัณฑ์อย่างสุดแสนทรมานอยู่ในนรก ก็เพราะทำผิดศีลเป็นอาจิณ หรือได้เห็นว่าเทวดาที่กำลังเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ก็เพราะบุญบารมีที่ตนเคยสั่งสมมาตั้งแต่ครั้งเกิดเป็นคนอยู่ในมนุษยโลก ผู้มีญาณทัสสนะเห็นแจ้งรู้แจ้งเช่นนี้นอกจากจะประคองตนไม่ให้พลัดออกไปนอกเส้นทางแห่งการสร้างบุญกุศลแล้ว ยังจะมี วิริยอุตสาหะขวนขวายอบรมตนให้มีญาณทัสสนะกว้างไกลยิ่ง ๆ ขึ้นอีก
เพื่อจะได้เห็นสัจธรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพราะตระหนักดีว่า ยิ่งเห็นสัจธรรมมากเท่าใด ใจตนก็บริสุทธิ์ผุดผ่องมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งได้เห็นอริยสัจ ๔ ด้วยแล้ว ก็จะทำกิเลสให้หลุดล่อนออกจากใจ ดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในวันตรัสรู้ ระหว่างที่พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียร เมื่อทรงเห็นแจ้งรู้แจ้งรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ (ติปริวฏฺฏํ ทฺวาทสาการํ) ในอริยสัจ ๔ ๒กิเลสที่แฝงอยู่ในพระทัยของพระองค์ก็สงบระงับไปได้ส่วนหนึ่ง และเมื่อบรรลุธรรมไปโดยลำดับจนกระทั่งรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจ ๔ มีความบริสุทธิ์หมดจด กิเลสในพระทัยก็อันตรธานไปหมดสิ้น เข้าถึงความหลุดพ้น ที่เรียกว่า วิมุตติ เมื่อทรงหลุดพ้นแล้วก็ทรงเห็นว่า ทรงหลุดพ้นแล้ว ที่เรียกว่า วิมุตติญาณทัสสนะ จึงได้ทรงปฏิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุด
ดังนั้น ธรรมในระดับโลกุตตรธรรมหรือปรมัตถธรรมนี้ จึงเห็นได้ด้วยญาณทัสสนะอันเกิดจากสมาธิภาวนานั่นเอง
แต่ทว่า ในระหว่างที่เรายังอยู่ในขั้นตอนของการฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อให้บรรลุธรรมในระดับของโลกุตตรธรรมดังกล่าว บางท่านสามารถบรรลุธรรมหมดกิเลสได้ในปัจจุบันชาติ บางท่านต้องอาศัย
เวลาข้ามภพข้ามชาติ ดังนั้น นอกจากการเจริญสมาธิภาวนาดังกล่าวแล้ว การศึกษาและปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธองค์นำมาเทศนาสั่งสอน ที่เรียกว่า ศาสนธรรมนั้น จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
เชิงอรรถ อ้างอิง
๑ สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ญาณทัสสนะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ใน พระเผด็จ ทตฺตชีโว. ที่สุดแห่งธรรมถึงได้ด้วยความเคารพ ๑ ตอน พุทธคารวตา. (ปทุมธานี:กองวิชาการ อาศรมบัณฑิต มูลนิธิธรรมกาย. ๒๕๖๑) หน้า ๙๓-๑๑๐
๒ วิ.มหา. ๔/๑๖/๒๓-๒๔ (แปล.มจร) และ สํ.ม. ๑๙/๑๐๘๑/๕๙๔-๕๙๕ (แปล.มจร)
จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
โดยคุณครูไม่เล็ก