“ธรรม” มีลักษณะและอานุภาพอย่างไร

วันที่ 24 มค. พ.ศ.2563

“ธรรม” มีลักษณะและอานุภาพอย่างไร

                   เมื่อกล่าวถึงลักษณะและอานุภาพของธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนัยที่ ๑ คือ โลกุตตรธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ ที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น คงยากที่จะพรรณนาให้หมดสิ้นได้ หากแต่พอจะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้


                     ๑. เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ลึกซึ้ง สงบ ประณีต มีอยู่จริงในตัวทุก ๆ คน แต่รู้เห็นได้ยาก ไม่ใช่วิสัยของการคิด ดังที่พระพุทธองค์ทรงดำริไว้ว่า

 

                    “ธรรมนี้ เป็นความจริงที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยากรู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ (ไม่สามารถคิดได้ด้วยการใช้เหตุผล) ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้ สำหรับหมู่ประชาชนผู้รื่นรมย์ด้วยอาลัย (กามคุณ ๕) ยินดีในอาลัยเพลิดเพลินในอาลัย ย่อมเห็นได้ยาก”

 

                    เพราะเหตุที่ ธรรม คือ ธรรมชาติอันบริสุทธิ์นี้มีคุณวิเศษ ที่ทำให้พระพุทธองค์ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และบรรลสุอุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ (ยังมีชีวิตอยู่) นี่เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังที่ตรัสกับพระวักกลิผู้อาพาธที่ประสงค์จะเข้าเฝ้าพระองค์ แต่ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าเฝ้าว่า

 

                   “วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม วักกลิเป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม”

 

                    จากพระพุทธดำรัสนี้ ย่อมเห็นได้ว่า ธรรม หมายถึง ธรรมชาติบริสุทธิ์อยู่ในพระวรกาย ซึ่งจะต้องเน่าเปื่อยไปเมื่อทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่ธรรม นั้นจะเป็นอมตะอยู่ตลอดไป ด้วยเหตุนี้จึง ทรงชี้แนะพระวักกลิให้บำเพ็ญเพียรเพื่อให้เกิดญาณทัสสนะไว้เป็นเครื่องมือสำหรับเห็นธรรมอันเป็นอมตะนี้

 

                     อนึ่ง ธรรม อันเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์นี้ ที่อยู่ในพระวรกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก มีสัญญา (ความจำ) และมีใจครองนี้เองซึ่งเป็นแหล่งความรู้แจ้ง (วิชชา) ตลอดจนสัจธรรมทั้งปวง มีอริยสัจ ๔ เป็นสำคัญ ดังที่ตรัสไว้ใน โรหิตัสสสูตร ว่า

 

                      “เราบัญญัติโลก (ทุกขอริยสัจ) ความเกิดแห่งโลก(สมุทัยอริยสัจ) ความดับแห่งโลก (นิโรธอริยสัจ) และ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก (นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง”

 

                       ๒. ทุกคนสามารถเห็นและเข้าถึงธรรมชาติบริสุทธิ์นี้ได้เหมือนกันหมด (สนฺทิฏฺฐโก) โดยไม่มียกเว้นว่าผู้นั้นจะเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด เพศใด วัยใด นับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือศาสนาใด ๆทั้งสิ้น หากมีศรัทธามาศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจังและถูกวิธีเมื่อใดกเ็ข้าถึงธรรมนี้ไดเมื่อนั้น (อกาลิโก) และเป็นสิ่งทีรู้ได้เฉพาะตน (ปจจฺตตฺ ํเวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ)

 

                        ๓. เมื่อเข้าถึงธรรมนี้แล้ว ย่อมมีความรัก ความเมตตาปรารถนาให้ผู้อื่นเข้าถึงเหมือนกับตน (เอหิปสฺสิโก) จะทำให้รักเพื่อนร่วมโลกโดยทั่วหน้ากัน

 

                        ๔. เมื่อเข้าถึงแล้ว ธรรมนี้จะมีอำนาจในการกำจัดกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในใจของมนุษย์ผู้นั้นโดยเฉพาะ ให้หมดสิ้นได้โดยลำดับและโดยเด็ดขาด บรรลุความหลุดพ้น คือพระนิพพาน ประสบแต่ความสุขอันเป็นอมตะ โดยไม่มีความทุกข์ใด ๆ มาแผ้วพานใจอีกเลย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน รตนสูตร ว่า

 

                   “ธรรมนี้ เป็นรัตนะ ประณีต ไม่มีรัตนะใด ๆ เสมอ
มีอานุภาพกำจัดกิเลส กำจัดราคะได้ เป็นอมตะ”

 

                        ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนสถานภาพตนเอง จากปุถุชนผู้มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ มาเป็นพระอริยบุคคลระดับสูงสุด พ้นจากอำนาจของพญามารและภัยทั้งปวงในวัฏสงสาร เป็นบุคคลพ้นโลก เมื่อละโลกไปแล้วก็ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏอีกต่อไปโดยสิ้นเชิงดังเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งปวง

 

                        ดังนั้น ลักษณะและอานุภาพของธรรม จึงเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติจริงตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ (นัยที่ ๒ ศาสนธรรม หรือ สมมติสัจจะ) มีความสุขในปัจจุบัน แม้ละโลกไปแล้วย่อมไม่ตกไปสู่ทุกข์ในอบาย อีกทั้งยังทำให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และเมื่อปฏิบัติจนถึงที่สุดแล้ว ย่อมทำ ให้บรรลุมรรค ผล และนิพพาน (นัยที่ ๑ โลกุตตรธรรม หรือ ปรมัตถสัจจะ) ตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ในที่สุด

 

                       ธรรมเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์มีอานุภาพทำให้ผู้ปฏิบัติตามธรรมมีความสุขในปัจจุบัน แม้ละโลกไปแล้วย่อมไม่ตกไปสู่อบาย เมื่อปฏิบัติจนถึงที่สุดย่อมได้บรรลุมรรคผล และนิพพาน

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ วิ.มหา. ๔/๗/๑๑ (แปล.มจร)

๒ สํ.ข. ๑๗/๘๗/๑๕๙ (แปล.มจร)

๓ สํ.ส. ๑๕/๑๐๗/๑๑๙ (แปล.มจร)

๔ ขุ.ขุ. ๒๕/๔/๑๐ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018496513366699 Mins