เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเคารพพระธรรม

วันที่ 07 กพ. พ.ศ.2563

เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ชื่อว่าเคารพพระธรรม

                   พระธรรมในบริบทนี้ หมายรวมทั้งโลกุตตรธรรมและศาสนธรรม ซึ่งการปฏิบัติของบุคคลที่แสดงว่ามีความเคารพในพระธรรมควรมีทัศนคติและการปฏิบัติอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้           

 

                 ๑. ศึกษาพระปริยัติสัทธรรม หมายความว่า ต้องศึกษาพระปริยัติสัทธรรม จนตระหนักว่า คุณของพระธรรมที่แท้จริงนั้นอยู่ที่           

                 ๑) เป็นความจริงของโลกและชีวิต


                 ๒) เป็นหลักแห่งความประพฤติที่ถูกต้องดีงามสำหรับการครองชีวิต

 

                 ๓) การปฏิบัติตามพระธรรมจะเกิดผลดีแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง คือนอกจากจะคุ้มครองป้องกันผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในทางชั่วแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้มีความสุขกายสบายใจ มีความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานมีครอบครัวที่อบอุ่น สงบสุข              

 

                 ๔) การปฏิบัติตามพระธรรม นอกจากจะนำความสุขความเจริญมาสู่ชีวิตในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการสั่งสมบุญบารมีไว้สำหรับชีวิตในปรโลก และเพื่อการบรรลุมรรคผล และนิพพานอีกด้วย     

 

                 ๕) ชุมชน หมู่บ้าน สังคม ประเทศ และโลก จะมีสันติสุขก็เพราะทุก ๆ คนปฏิบัติตามพระธรรม

 

                  ๖) บุคคลที่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ย่อมตกไปในทางชั่ว ย่อมมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์และเดือดร้อน อย่างยากที่จะแก้ไข ยากที่จะมีผู้มีความเมตตากรุณายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูล และชุมชนใด หมู่บ้านใด สังคมใดมีบุคคลไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม แม้เพียงคนเดียว ชุมชน หมู่บ้าน และสังคมนั้น ก็ยากที่จะมีสันติสุข

 

                 การศึกษาพระปริยัติสัทธรรมมีขอบเขตเพียงใด

 

                การศึกษาพระปริยัติสัทธรรมให้ครบบริบูรณ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คงต้องเป็นเรื่องของบรรพชิตหรือผู้ครองเรือนที่ต้องการเป็นนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา เพราะบุคลากรทั้ง ๒ กลุ่มดัง
กล่าวนี้ มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนธรรมโดยตรง จึงจำเป็นต้องศึกษาพระปริยัติสัทธรรมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ 

 

              สำหรับผู้ครองเรือน ซึ่งยังต้องแบกภาระเกี่ยวกับการทำมาหากิน เพื่อตนเอง ครอบครัว และเพื่อทำหน้าที่เป็นกองเสบียง อุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา คงไม่สามารถปลีกเวลามาศึกษาพระปริยัติสัทธรรมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ได้

 

               กระนั้นก็ตาม ผู้ครองเรือน จำเป็นต้องศึกษาให้รู้ว่า หมวดธรรมที่สำคัญยิ่ง สำหรับยึดไว้เป็นหลักปฏิบัติในการครองชีวิตให้เป็นสุขนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งถ้าไม่ศึกษาจากการ อ่านพระไตรปิฎกหรือตำราพระพุทธศาสนาที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย

 

              ในปัจจุบัน ก็อาจศึกษาด้วยการไปฟังพระธรรมเทศนาที่วัดหรือจากสื่อรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแสดงธรรมโดยพระภิกษุผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมและประพฤติดีปฏิบัติชอบ

 

              เกี่ยวกับการศึกษาพระปริยัติสัทธรรมนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพุทธสาวกไว้ว่า

 

             “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือผู้พูดมากว่า เป็นผู้ทรงธรรม ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้คาถาเดียวแล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ทรงธรรมบุคคลไม่ชื่อว่าทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก
ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วยนามกาย(ใจ) บุคคลใด ไม่ประมาทธรรม บุคคลนั้นแลเป็น
ผู้ทรงธรรม”

 

             ๒. ทุ่มเทเวลาให้แก่การปฏิบัติสัทธรรม หมายความว่า เมื่อเห็นคุณของพระธรรมที่แท้จริงแล้วก็ต้องตั้งใจปฏิบัติสัทธรรมเรื่อยไปชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จนกว่าจะบรรลุปฏิเวธสัทธรรม คือ มรรคผลและนิพพาน ตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้

 

             ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ปฏิบัติสัทธรรม คือ การปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งย่อลงเป็นไตรสิกขา ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

 

             สำหรับผู้ครองเรือน ผู้ต้องมีหน้าที่เป็นกองเสบียงให้พระศาสนานั้น ควรยึดการปฏิบัติตามหมวดธรรมที่ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ ให้เคร่งครัด ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ความรู้อันประมวลมาจากพระปริยัติสัทธรรมนั้น ได้กล่าวถึงอานิสงส์ของบุญกิริยาวัตถุ ๓ ให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

           

             ๑) ทาน จะยังผลให้ผู้ปฏิบัติมีความมั่งคั่งบริบูรณ์ข้ามภพข้ามชาติ มีเสบียงพร้อมพรั่ง ไม่ขาดตกบกพร่อง ตลอดเวลาแห่งการสั่งสมบารมีขณะเดินทางไกลในสังสารวัฏ ทำให้มีเวลาเต็มที่สำหรับการ
บำเพ็ญเพียร อีกทั้งไม่ต้องประพฤติทุศีล เพื่อเลี้ยงชีวิตให้รอดพ้นจากความอดอยากยากจน

 

              ๒) ศีล จะยังผลให้ผู้ปฏิบัติบริสุทธิ์ด้วยกายและวาจา ซึ่งจะมีผลให้จิตใจผ่องใสไม่เศร้าหมอง อันเป็นเหตุให้มีโอกาสถือกำเนิดในสุคติภูมิตลอดไป ถ้าได้บังเกิดในโลกสวรรค์ ก็จะได้บังเกิดในอาณา
บริเวณของพระโพธิสัตว์ผู้ทุ่มเทชีวิตเพื่อการบรรลุธรรมแต่ประการเดียว

 

                ไม่เสียเวลากับเรื่องโลกิยะอื่น ๆ ถ้าได้บังเกิดในโลกมนุษย์ ก็จะได้บังเกิดในดินแดนที่ผู้คนทั้งหลายมุ่งมาดปรารถนาปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฏิรูปเทสสำหรับมนุษย์ทีเดียว  

 

                 อนึ่ง บุคคลที่รักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ นอกจากจะเป็นเครื่องประกันว่า ตนจะไม่ไปสู่ทุคติ ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ยังจะเป็นเครื่องประกันว่า จะไม่เกิดเป็นคนพิกลพิการ ใบ้บ้า ปัญญาอ่อน
ถูกรุมล้อมด้วยโรคภัยไข้เจ็บ อายุสั้น แต่จะเป็นบุคคลที่มีรูปกายแข็งแรงสง่างาม เหมาะสมกับการบำเพ็ญภาวนาอีกด้วย

 

                 ๓) ภาวนา การเจริญสมาธิภาวนาจะยังผลให้เกิดความสว่างขึ้นในจิตใจ เมื่อความสว่างในจิตใจถึงขั้นที่เรียกว่า สว่างโพลง คือเสมอ อนึ่งมีตะวันเที่ยงร้อยดวงพันดวงมาประชุม รวมกันที่กลางใจเรา

 

               ก็จะทำให้เราเกิดญาณทัสสนะ สามารถเห็นแจ้งความเป็นไปของโลกและชีวิตตามความเป็นจริง โดยเริ่มจากระดับต้นเรื่อยไปตามลำดับจนถึงระดับสูงสุด คือ อริยสัจ ๔ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ดีแล้ว

 

                ความเห็นแจ้งอันเกิดจากญาณทัสสนะนี้เอง ที่ก่อให้เกิดความรู้แจ้งแก่ผู้ปฏิบัติ และเกิดปัญญามองเห็นมหันตโทษของกิเลสที่แอบแฝงอยู่ในใจมาตั้งแต่เกิด จึงพยายามกำจัดกิเลสเหล่านั้นให้หมดไปจากใจไปตามลำดับ ๆ ก้าวพ้นความเป็นปุถุชนผู้มีกิเลสหนาก้าวขึ้นสู่ความเป็นอริยบุคคลระดับโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ไปตามลำดับ จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้

 

             อนึ่ง นอกจากการบำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือทาน ศีลภาวนาแล้ว พุทธบริษัทก็พึงสนใจและให้ความสำคัญต่อการศึกษาและปฏิบัติตามทศบารมีด้วย เพราะธรรมหมวดนี้จะช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา หรือบุญกิริยาวัตถุ ๓ มีความก้าวหน้ามั่นคงได้ง่ายขึ้น

         

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ ขุ.ธ.อ. ๔๓/๒๙/๗๔-๗๕ (แปล.มมร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 2
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.048513662815094 Mins