การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

วันที่ 21 กพ. พ.ศ.2563

การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?


               การสวดปาฏิโมกข์ คือการ "ว่าปากเปล่า" หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย ๑๕๐ ข้อ
ในเบื้องแรก และ ๒๒๗ ข้อในกาลต่อมาทุก ๆ ถึงเดือนหรือ ๑๕ วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัย
ที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก ๑๕ วัน ถ้าขาด
โดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้
ท่องจำ ซึ่งข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือ
คอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด


              ส่วนการสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่าร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่
พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำ สืบ
ต่อ ๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบ
หมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏมีการถือผิด ตีความหมายผิด ก็มีการชำระ
วินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดย
การทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบ
ใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็
เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความจริงเมื่อพิจารณา
รูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ การปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มี
ประโยชน์ครั้งหนึ่ง เหมือนการทำความสะอาด การจัดระเบียบที่อยู่อาศัย


                 การสังคายนาจึงต่างจากการสวดปาฏิโมกข์ ในสาระสำคัญที่ว่าการสวดปาฏิโมกข์เป็น
การทบทวนความจำของที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เกี่ยวกับข้อปฏิบัติทางพระวินัย ส่วนการ
สังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจผิด
ได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันสมควรแม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดเข้าใจผิด แต่เห็นสมควร
ตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษร หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ก็ถือกันว่าเป็นการ
สังคายนา ดังจะกล่าวต่อไป


ปัญหาเรื่องการนับครั้งในการทำสังคายนา


               ในปัจจุบันนี้ ทางประเทศพม่าถือว่า ตั้งแต่เริ่มแรกมามีการทำสังคายนารวม ๖ ครั้ง
โดยเฉพาะครั้งที่ ๖ พม่าจัดทำเป็นการใหญ่ ในโอกาสใกล้เคียงกับงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
แล้วฉลองพร้อมกันทีเดียวทั้งการสังคายนาครั้งที่ ๖ และงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ แต่ตาม
หลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การสังคายนา
กล่าวว่า สังคายนามี ๙ ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงกระทำใน
รัชสมัยของพระองค์ คือการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้วจารลงในใบลานเป็นหลักฐาน


                โดยเหตุที่ความรู้เรื่องการสังคายนา ย่อมเป็นเรื่องสำคัญในความรู้เรื่องความเป็นมาแห่ง
พระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น จะได้รวบรวมมติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสังคายนา และ
ปัญหาเรื่องการนับครั้งมารวมเป็นหลักฐานไว้ในที่นี้ รวมเป็น ๕ หัวข้อ คือ


๑) การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป


๒) การนับครั้งสังคายนาของลังกา


๓) การนับครั้งสังคายนาของพม่า


๔) การนับครั้งสังคายนาของไทย


๕) การสังคายนาของฝ่ายมหายาน


                  ในการรวบรวมเรื่องนี้ ผู้เขียนได้อาศัยหลักฐานจากวินัยปิฎกเล่ม ๗ พร้อมทั้งอรรถกถา,
จากหนังสือมหาวงศ์, สังคีติยวงศ์ และบทความของท่าน B. Jinananda ในหนังสือ ๒๕๐๐ Years
of Buddhism ซึ่งพิมพ์ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดียและหนังสืออื่น ๆ

 


การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป


                  การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไปก็คือ สังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งทำในอินเดีย
อันเป็นของฝ่ายเถรวาท กับอีกครั้งหนึ่งในอินเดียภาคเหนือ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ อัน
เป็นสังคายนาผสมรวมเป็น ๔ ครั้ง แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้งที่ ๔ นั้น เพราะ
การสืบสายศาสนาแยกกันคนละทาง ตลอดจนภาษาที่รองรับคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือ
ของเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย พม่า ลังกา เขมร ลาว นับถือ ใช้ภาษาบาลี


                     1ส่วนของฝ่ายมหายานหรือศาสนาพุทธแบบที่ญี่ปุ่น จีน ธิเบต ญวน และเกาหลีนับถือ ใช้
ภาษาสันสกฤต ในสมัยที่ตำราภาษาสันสกฤตสาบสูญก็มีเฉพาะคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาจีนและ
ภาษาธิเบตเป็นหลัก แล้วมีผู้แปลสู่ภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นอีกต่อหนึ่ง


สังคายนาครั้งที่ ๑


                กระทำที่ถ้าสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระ
มหากัสสปเถระเป็นประธาน และเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางวินัย
พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป กระทำอยู่ ๗
เดือนจึงสำเร็จ ในการนี้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ สังคายนาครั้งนี้กระทำภายหลังที่
พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน ข้อปรารภในการสังคายนา คือพระมหากัสสปะ
ปรารภถ้อยคำของภิกษุชื่อ สุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ เมื่อรู้ข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุ
ทั้งหลายร้องไห้เศร้าโศก สุภัททะภิกษุก็ห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้เสียใจร้องไห้ เพราะต่อไปนี้จะทำ
อะไรได้ตามใจแล้วไม่ต้องมีใครคอยมาชี้ว่านี่ผิด นี่ถูก นี่ควร นี่ไม่ควรต่อไปอีก พระมหากัสสปะ
สลดใจในถ้อยคำของสุภัททภิกษุ จึงนำเรื่องเสนอที่ประชุมสงฆ์ แล้วเสนอชวนให้ทำสังคายนา
ร้อยกรองจัดระเบียบพระธรรมวินัย ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบ



                  มีข้อน่าสังเกตว่า ประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ ๑  และครั้งที่ ๒ มีปรากฏอยู่ใน
พระไตรปิฎก เล่ม ๗ จุลวรรค หน้า ๓๗๙ ถึง ๔๒๓ อันแสดงว่าประวัติเรื่องนี้คงเพิ่มเข้ามาใน

วินัยปิฎก ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓  นอกจากนั้น ในครั้งที่  ๑ และครั้งที่ ๒ แห่งการทำ
สังคายนานี้ ไม่มีคำกล่าวถึงปิฎกเลย ใช้คำว่า วินัยวิสัชนา (ตอบเรื่องพระวินัย) และธัมมวิสัชนา
(ตอบเรื่องพระธรรม) สำหรับครั้งที่ ๑ และใช้คำว่า ทสวัตถุปุจฉาวิสัชนา (ถามตอบเรื่องวัตถุ
๑๐) สำหรับครั้งที่ ๒ จึงน่าจะเห็นได้ว่า สังคายนาครั้งแรกและครั้งที่ ๒ ยังไม่ได้แยกเป็น ๓
ปิฎก แต่เรียกว่าธรรมวินัยรวม ๆ ไป โดยรวมสุตตันตปิฎกกับอภิธัมมปิฎกอยู่ในคำว่า ธรรม


               แต่ในหนังสือชั้นอรรถกถา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎก ภายหลังพุทธปรินิพพาน
เกือบพันปี อธิบายเป็นเชิงว่าสุดแต่จะจัดประเภท จะว่าพุทธวจนะมี ๑ ก็ได้ คือมีความหลุดพ้น
เป็นรสเหมือนทะเล แม้จะมีน้ำมากก็มีรสเดียว คือรสเค็ม จะว่ามี ๒ ก็ได้ คือเป็นพระธรรมกับ
พระวินัย จะว่าเป็น ๓ ก็ได้ คือไตรปิฎก อันแยกออกเป็นวินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก
จะว่าเป็น ๕ ก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย หรือ ๕ หมวด คือ


๑. ทีฆนิกาย (หมวดยาว)


๒. มัชฌิมนิกาย (หมวดปานกลาง)


๓. สังยุตตนิกาย (หมวดประมวลเรื่องเป็นพวก ๆ)


๔. อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่งด้วยองค์ คือจัดข้อธรรมเป็นหมวด ๑ หมวด ๒ เป็นต้น) และ


๕.ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อยหรือหมวดเบ็ดเตล็ด) การจัดอย่างนี้ จัดตามหลัก
สุตตันตปิฎก แล้วเอาวินัยปิฎกและอภิธัมมปิฎกมาย่อรวมในขุททกนิกาย คือ หมวดเบ็ดเตล็ด
นอกนั้นยังอธิบายถึงการแบ่งพระพุทธวจนะเป็น ๙ ส่วน เป็น ๘๔,๐๐๐ ส่วน ซึ่งของดไว้ไม่นำมา
กล่าวในที่นี้


สังคายนาครั้งที่ ๒


               กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสะ กากัณฑกบุตร เป็น
ผู้ชักชวน พระเถระที่เป็นผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ ที่ปรากฏชื่อมี ๘ รูป คือ ๑. พระสัพพกามี
๒. พระสาฬหะ ๓. พระขุชชโสภิตะ ๔. พระวาสภามิกะ ทั้ง ๔ รูปนี้ เป็นชาวปาจีนกะ
(มีสำนักอยู่ทางทิศตะวันออก) ๕. พระเรวตะ ๖. พระสัมภูตะสาณวาสี  ๗. พระยสะ กากัณฑกบุตร

และ ๘. พระสุมนะ  ทั้ง ๔ รูปหลังเป็นชาวเมืองปาฐา  ในการนี้พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้ตอบปัญหาทางวินัยที่เกิดขึ้น มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป กระทำอยู่ ๘ เดือนจึง
แล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วได้ ๑๐๐ ปี ข้อปรารภใน
การทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ พระยสะกากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน ๑๐ ประการทาง
พระวินัย ของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่น ถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขนง (เขาสัตว์) เพื่อเอาไว้ฉันได้
ตะวันชายเกินเที่ยงไปแล้ว ๒ นิ้วควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินทองได้เป็นต้น พระยสกากัณฑก
บุตรจึงชักชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้


               รายละเอียดแห่งการสังคายนาครั้งนี้ ปรากฏในวินัยปิฎก เล่ม ๗ หน้า ๓๙๖ เป็นต้นไป แต่
ไม่ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบพระไตรปิฎก คงกล่าวเฉพาะการชำระข้อถือผิด ๑๐ ประการของ
ภิกษุพวกวัชชีบุตร ทั้งไม่ได้บอกว่าทำสังคายนาอยู่นานเท่าไร ในอรรถกถา2 กล่าวว่า ทำอยู่ ๘
เดือนจึงสำเร็จ


                ข้าพเจ้าได้กล่าวเป็นข้อสังเกตไว้ท้ายเรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ แล้วว่า หลักฐานในวินัยปิฎก
ที่กล่าวถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ไม่มีกล่าวถึงคำว่า ไตรปิฎกเลย แต่ถ้ากล่าวตาม
หลักฐานที่ปรากฏในหนังสือสมันตปาสาทิกา ซึ่งแต่งขึ้นอธิบายวินัยปิฎกเมื่อพุทธปรินิพพาน
ล่วงแล้วเกือบพันปี ท่านได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า การทำสังคายนาจัดประเภทพระพุทธวจนะ เป็น
รูปพระไตรปิฎกได้มีมาแล้วตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๑ แม้ครั้งที่ ๒ ก็ทำซ้ำอีก

                  เพราะฉะนั้น ถ้าถือตามหลักฐานของอรรถกถา การสังคายนาจัดระเบียบเป็นรูป
พระไตรปิฎกก็มีมาแล้วตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ ๑ เป็นต้นมา

 


สังคายนาครั้งที่ ๓


                   ได้กล่าวแล้วว่า เรื่องสังคายนาที่ปรากฏในวินัยปิฎกมีเพียงครั้งที่ ๑ กับครั้งที่ ๒ ส่วนเรื่อง การสังคายนาครั้งที่ ๓ มีปรากฏในชั้นอรรถกถาอันพอเก็บใจความได้ดังนี้


                   สังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคลีบุตร
ติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป ทำอยู่ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้ง
นี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ หรือ ๒๓๕ ปี3


                    ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้ คือพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวชแล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่า เป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคลีบุตรติสสเถระ
ได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นจากพระ
ธรรมวินัยได้แล้ว จึงสังคายนาพระธรรมวินัย


                   มีข้อน่าสังเกตว่า ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคลีบุตรได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ในอภิธัมมปิฎกเพิ่มขึ้นด้วย ตามประวัติว่าบทตั้งมีอยู่เดิมแล้ว แต่ได้แต่งขยายให้พิสดาร
ออกไป เรื่องกถาวัตถุเป็นเรื่องคำถามคำตอบเกี่ยวกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีคำถาม
๕๐๐ คำตอบ ๕๐๐ และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็ได้ส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาใน
ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรสพระเจ้าอโศก ได้นำพระพุทธศาสนาไป
ประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก การส่งสมณทูตไปในทิศต่าง ๆ ครั้งนั้นถือหลักว่าให้ไปครบ ๕
รูป เพื่อจะได้ให้การอุปสมบทแก่ผู้เลื่อมใสได้ แต่คงไม่ได้ระบุชื่อหมดทั้ง ๕ โดยมากออกนาม
เฉพาะท่านผู้เป็นหัวหน้า

 

 


สังคายนาครั้งที่ ๔


                  การสังคายนาครั้งนี้ผสมกับฝ่ายมหายาน กระทำกันในอินเดียภาคเหนือ ด้วยความ
อุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ ได้กล่าวแล้วว่า สังคายนาครั้งนี้ทางฝ่ายเถรวาท คือฝ่ายที่ถือ
พระพุทธศาสนาแบบที่ไทย ลาว เขมร พม่า ลังกานับถือ มิได้รับรองเข้าอันดับเป็นครั้งที่ ๔
เพราะเป็นการสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท ซึ่งแยกออกไปจากเถรวาททำผสมกับฝ่าย
มหายาน และเพราะมีสายแห่งการสืบต่อสั่งสอนอบรมไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกัน จึงไม่มีบันทึก
หลักฐานเรื่องนี้ทางเถรวาท ทั้งภาษาที่ใช้สำหรับพระไตรปิฎกก็ไม่เหมือนกัน คือ ฝ่ายมหายานใช้
ภาษาสันสกฤต (บางครั้งก็ปนปรากฤต) ฝ่ายเถรวาทใช้ภาษาบาลี


                    แม้สังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้น ทางฝ่ายจีนและธิเบตก็ไม่มีบันทึกรับรองไว้เพราะเป็นคนละสายเช่นเดียวกัน

                   แต่เนื่องจากการสังคายนาครั้งนี้ เป็นที่รู้กันทั่วไปในวงการของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา
จึงนับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ควรนำมากล่าวไว้ด้วย และเมื่อคิดตามลำดับเวลาแล้ว
ก็นับเป็นสังคายนาครั้งที่ ๔ ที่ทำในอินเดีย เมื่อประมาณ ค.ศ. ๑๐๐ หรือ พ.ศ. ๖๔๓ เรื่องปีที่ทำ
สังคายนานี้ หนังสือบางเล่มก็กล่าวต่างออกไป สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ เมืองชาลันธร แต่บาง
หลักฐานก็ว่าทำที่กาษมีระหรือแคชเมียร์ รายละเอียดบางประการจะได้กล่าวถึงตอนที่ว่าด้วยการ
สังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท


                  มีข้อน่าสังเกต คือหนังสือประวัติศาสตร์ของอินเดียบางเล่ม4 กล่าวว่า ใน ค.ศ. ๖๓๔
(พ.ศ. ๑๑๗๗) พระเจ้าศิลาทิตย์ ได้จัดให้มีมหาสังคายนาขึ้นในอินเดียภาคเหนือ มีกษัตริย์

ประเทศราชมาร่วมด้วยถึง ๒๑ พระองค์ ในพิธีนี้มีพระสงฆ์ผู้คงแก่เรียน และพราหมณ์ผู้ทรง
ความรู้มาประชุมกัน ในวันแรกตั้งพระพุทธรูปบูชาในพิธี ในวันที่ ๒ ตั้งรูปสุริยเทพ ในวันที่ ๓
ตั้งรูปพระศิวะ การสังคายนาครั้งนี้จึงมีลักษณะผสม คือ ทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ภิกษุที่เข้าประชุมก็
มีทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน แต่เมื่อสอบดูหนังสือประวัติของภิกษุเฮี่ยนจัง5  ซึ่งบันทึกเหตุการณ์

ตอนนี้ไว้ด้วย  กลายเป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจังผู้แต่งตำรายกย่อง
พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไป หาใช่การสังคายนาอย่างไรไม่ ที่บันทึกไว้ในที่นี้ด้วยก็เพื่อให้
หมดปัญหาประวัติการสังคายนาในประเทศอินเดีย



 

 

เชิงอรรถอ้างอิง

1ภาษาบาลี เป็นภาษาคล้ายกับภาษามคธในอินเดีย ใช้เมื่อ 2,500 กว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันนี้ไม่มีการใช้แล้ว เพราะภาษาบาลีถือเป็นภาษามคธที่เก็บเฉพาะคำสอนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงเรียกว่า “บาลี

2คือคำอธิบายวินัยปิฎก มีชื่อว่าสมันตปาสาทิกา

3เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน คือ พระเจ้าอโศกมหาราช เสวยราชย์ ๒๑๘ ปี หลังพุทธปรินิพพาน ต่อมาอีก ๑๖ ปี (บางฉบับว่า ๑๗ ปี) จึงได้ทำสังคายนา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องนับ ๑ ตั้งแต่ปีเสวยราชย์)

4Brief History of the Indian Peoples ของ Sir W.W. Hunter หน้า ๘๑
5ในภาษาไทยมีหนังสือชื่อประวัติพระถังซัมจั๋ง นายคงเหลียน สีบุญเรือง แปลจากภาษาจีน มีข้อความตอนนี้ หน้า ๒๓๘

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024080157279968 Mins